H&M แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น (fast fashion) ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีดิชเริ่มต้นปี 2018 ได้ไม่ค่อยดีนัก กำไรลดลงกว่า 62% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี และเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็เพิ่งมีข่าวว่า มีเสื้อผ้าที่ขายไม่ได้อีกมูลค่าประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในการซื้อสินค้าออนไลน์ และชื่อเสียงที่ย่ำแย่ของ H&M จากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ปีนี้เริ่มต้นด้วยความยากลำบาก” คารี-โจฮัน เพอร์สสัน ซีอีโอของบริษัทซึ่งเป็นหลานชายของผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าว
ปัญหาของ H&M อาจจะมาจากการขยายร้านเพิ่มขึ้นกว่า 4,700 ร้าน ซึ่งลูกค้าจำนวนมากหลีกหนีร้านที่มีคนแน่น ยุ่งเหยิง ขณะที่ H&M ก็มีพนักงานบนหน้าร้านออนไลน์ไม่มากพอ
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา H&M ยังเผชิญกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อมและการใช้แรงงานเด็กในพม่า บังกลาเทศ และกัมพูชา
ในปี 2016 นักข่าวสวีเดนเปิดเผยว่า มีแรงงานเด็กพม่าอายุ 14 ปี ที่ต้องทำงานในโรงงานซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้ H&M มากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน และได้ค่าจ้างเพียงแค่ 15 เซนต์ต่อชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งค่าจ้างขั้นต่ำ
H&M ยังเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของธุรกิจสิ่งทอในบังกลาเทศ และจ้างโรงงานกว่า 200 แห่งผลิตเสื้อผ้า หลังจากคนงาน 1,129 คนเสียชีวิตจากอาคารรานา พลาซ่า ถล่มในปี 2013 H&M ได้ลงนามในข้อตกลงด้านการปฏิบัติตามกฎหมายอาคารและอัคคีภัยของบังกลาเทศ แต่ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ไม่ได้มีการปฏิบัติจริง
เสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นอย่าง H&M ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่ละปีมีเสื้อผ้ากว่า 10.5 ล้านตันถูกทิ้ง ยังมีสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการย้อมผ้าและปลูกฝ้าย ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนงานในโรงงานและไร่ฝ้ายทั่วโลก รวมถึงสารเคมีที่แพร่กระจายไปยังน้ำบาดาลด้วย นอกจากนี้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ายังปล่อยคาร์บอนสูงกว่าสายการบินใหญ่ๆ บางแห่ง และใช้น้ำในปริมาณมหาศาลในการผลิตฝ้าย
ทั้งที่ได้ประกาศแคมเปญเมื่อปี 2016 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อนำเสื้อผ้าใช้แล้วของตัวเองกลับมารีไซเคิลใหม่ที่ร้าน แต่ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนของ H&M ยอมรับว่า มีลูกค้าเพียง 0.1% เท่านั้นที่ส่งคืนเสื้อผ้าเพื่อนำไปใช้ใหม่
มีเรื่องหนึ่งที่ชาวสวีเดนอาจต้องขอบคุณ H&M เพราะกองภูเขาเสื้อผ้าที่เหลือทิ้งของ H&M ถูกนำไปบริจาคเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าและความร้อนให้กับเมืองวาสเทรัส ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงสต็อคโฮล์ม แทนการใช้ถ่านหิน
ที่มา:
http://www.dw.com/en/hm-sits-on-billions-of-unsold-clothes-as-profits-plummet/a-43175750
https://www.nytimes.com/2018/03/27/business/hm-clothes-stock-sales.html
Tags: H&M, Fast Fashion