อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ยื่นภาษีรายได้ของตนเองครั้งสุดท้ายในปี 1935 นับแต่นั้นมา กรมสรรพากรของมิวนิกก็ยุติการเรียกเก็บเงินภาษีจาก ‘ผู้นำ และนายกรัฐมนตรีแห่งอาณาจักรไรช์’ โดยเพิ่มเป็นเงื่อนไขพิเศษในตัวบทกฎหมาย เป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์และสื่อมวลชนของอังกฤษในภายหลังเชื่อว่า ฮิตเลอร์น่าจะมีเงินเก็บจำนวนสูงถึงหลักร้อยล้าน และถ่ายโอนไปต่างประเทศ
เมื่อปี 2014 Channel 5 ของอังกฤษได้แพร่ภาพหนังสารคดีเรื่อง The Hunt for Hitler’s Missing Millions โดยรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ในยุคนั้นจอมเผด็จการแห่งพรรคนาซีน่าจะมีเงินซุกซ่อนอยู่ราว 1.1 พันล้านไรช์มาร์ค เทียบมูลค่าในปัจจุบันประมาณ 4.5 พันล้านยูโร (ราว 1.8 แสนล้านบาท) หรืออาจจะมากกว่านั้นอีกหลายเท่า
ฮิตเลอร์ได้รับเงินเดือนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 29,200 ไรช์มาร์คต่อปี (ค่าเงินหนึ่งไรช์มาร์คในยุคนั้นเทียบเท่า 4.1 ยูโร รายได้ต่อปีของฮิตเลอร์เท่ากับ 1.2 แสนยูโร หรือราว 4.8 ล้านบาท) ซึ่งเป็นรายได้ที่เขาควรต้องจ่ายภาษี แต่เนื่องจากกรมสรรพากรยกเว้นทั้งภาษีเงินได้และค่าเบี้ยประกันสังคมให้เขา เท่ากับว่าเขาได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน
นอกจากนั้น ภายหลัง พอล ฟอน ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) ประธานาธิบดีแห่งอาณาจักรไรช์เสียชีวิตลงเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 1934 ฮิตเลอร์ได้ควบตำแหน่งและเงินเดือน มีรายรับเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีอีกเช่นกัน และทำให้อาณาจักรไรช์ต้องสูญเสียรายได้จากเงินภาษีของผู้นำไปถึง 405,494 ไรช์มาร์ค หรืออย่างต่ำสี่ล้านยูโร (16 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน
นักประวัติศาสตร์และสื่อมวลชนของอังกฤษในภายหลังเชื่อว่า ฮิตเลอร์น่าจะมีเงินเก็บจำนวนสูงถึงหลักร้อยล้าน และถ่ายโอนไปต่างประเทศ
หากการค้นคว้าของนักวิจัยชาวอังกฤษถูกต้อง เงินของฮิตเลอร์ราวหนึ่งหมื่นล้านยูโรน่าจะถูกเก็บไว้ตามธนาคารหลายแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลเชิงลึกหรือหลักฐานบันทึกของธนาคารที่เกี่ยวข้อง ข้อสันนิษฐานต่างๆ ก็ดูจะขาดความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี เฉพาะเงินเดือนอย่างเป็นทางการอย่างเดียว ถือเป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของรายได้รวมที่ฮิตเลอร์ได้รับเท่านั้น ตลอดช่วงเวลาที่ครองอำนาจ เขายังมีแหล่งที่มาของเงินถึงสามช่องทางที่อู้ฟู่
ในทศวรรษ 1920s พรรค NSDAP ต้องเผชิญกับภาวะล้มละลายทุกปี จึงจำเป็นต้องมีผู้บริจาคสนับสนุน โดยเฉพาะจากเฮเลเน เบคชไตน์ (Helene Bechstein) ภรรยาของผู้ผลิตเปียโนชื่อดังในกรุงเบอร์ลิน หรือฮูโก และเอลซา บรุคมันน์ (Hugo & Elsa Bruckmann) สามี-ภรรยาเจ้าของสำนักพิมพ์ในมิวนิก แม้ว่าฮิตเลอร์จะอาศัยอยู่ในห้องเช่าอพาร์ตเมนต์จนถึงปี 1929 แต่ช่วงเวลานั้น เขาก็มีเลขาฯ ส่วนตัว คนขับรถ และรถเมอร์เซเดสลีมูซีนคันใหญ่แล้ว
พอถึงปี 1930 เขายังมีค่าลิขสิทธิ์จากหนังสือ Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ ยอดพิมพ์หนังสือในปี 1931 มีจำนวนสูงถึง 20,000 เล่ม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 287,000 เล่มตอนปลายเดือนมกราคม 1933 และ 1.18 ล้านเล่มเมื่อปลายปี 1933 กระทั่งในปี 1944 หนังสือมียอดขายรวมทั้งสิ้น 12.45 ล้านเล่ม เฉพาะในเยอรมนี ฮิตเลอร์ได้รับค่าลิขสิทธิ์จากยอดขายหนังสือแต่ละเล่ม จาก 10 เปอร์เซ็นต์จนถึงสูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์ (หนังสือ Mein Kampf วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1925 ราคาเล่มละ 12 ไรช์มาร์ค ตั้งแต่ปี 1928 ปรับขึ้นราคาเป็นเล่มละ 14 ไรช์มาร์ค)
ถึงกระนั้น รายได้เหล่านี้คงไม่เพียงพอที่จะพอกพูนเป็นทรัพย์สินมูลค่าสามหรือสี่หลักล้านได้ เขายังมีรายได้เพิ่มเติมจากเงินบริจาค โดยเฉพาะด้วยกลวิธีพิสดาร – นับแต่ปี 1933 เขาเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ภาพของตนเองสำหรับการพิมพ์ลงในอากรแสตมป์ ที่ใช้ในกิจการไปรษณีย์ ใครก็ตามที่ส่งไปรษณียบัตรหรือจดหมายในเยอรมนี ย่อมต้องจ่ายให้กับฮิตเลอร์ เพราะอากรแสตมป์มีภาพใบหน้าของเขา กฎระเบียบนี้ทำให้ฮิตเลอร์มีรายได้จำนวนมาก โยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ เคยเขียนเรื่องนี้ลงในสมุดบันทึกของเขา
เขาเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ภาพของตนเองสำหรับการพิมพ์ลงในอากรแสตมป์ ใครก็ตามที่ส่งไปรษณียบัตรหรือจดหมายในเยอรมนี ย่อมต้องจ่ายให้กับฮิตเลอร์
เงินบริจาคจากภาคเอกชนรายใหญ่ๆ ต่อปี หรือที่เรียกว่าเป็นการเรียกเก็บเงินรายปีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่จำนวนนับล้านนั้น นับตั้งแต่ปี 1933 ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘การบริจาคเพื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในอุตสาหกรรมเยอรมัน’ แทน แต่จำนวนที่แน่ชัดว่าเท่าไรนั้น สำนักงานพรรค NSDAP ไม่มีเอกสารกำกับ และไม่ได้ลงบันทึกเป็นหลักฐาน
อีกทั้งไม่มีการควบคุมการไหลเวียนหรือปะปนกันระหว่างกองคลังของรัฐและกองทุนเอกชน ฮิตเลอร์ใช้เงินทุนหมุนเวียนในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของตนเองตามอำเภอใจ เหมือนเช่นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ของพรรคนาซี เฉพาะอาคารทำเนียบนายกรัฐมนตรีหลังใหม่ และการออกแบบตกแต่งภายในที่เว่อร์วังของพวกเขา ก็ถลุงเงินกองคลังไปกว่า 100 ล้านไรช์มาร์ค…หรือหนึ่งพันล้านยูโรในปัจจุบัน
ที่นับว่าราคาแพงที่สุดในบรรดามหกรรมงานสร้างคือ บ้านพักตากอากาศแบร์กโฮฟบนเทือกเขาแอลป์ รวมไปถึงค่ายทหารและค่ายพักสำหรับบริพารของฮิตเลอร์ ที่เรียกว่า ‘เรือนรับรองนายกรัฐมนตรีแห่งอาณาจักรไรช์ แบร์ชเทสกาเดน’ เฉพาะบ้านพักตากอากาศได้รับการออกแบบสร้างราวกับพระราชวัง จุดเด่นของอาคารอยู่ตรงห้องนั่งเล่น ที่มีหน้าต่างแบบพับเก็บได้พร้อมทัศนียภาพรอบทิศทาง
อีกทั้งยังมี ‘เคห์ลชไตน์เฮาส์’ หรือ ‘รังอินทรี’ อาคารบนยอดเขาสูงของเคห์ลชไตน์ มีถนนทางเข้า อุโมงค์ และลิฟต์สูง 140 เมตร สำหรับขึ้นไปที่ห้องชา ด้านบนสุดของยอดเขา ที่ซึ่งฮิตเลอร์เคยแวะเวียนมาเพียงไม่กี่ครั้ง และยังมีบังเกอร์ในโอเบอร์ซัลบวร์ก ใช้เงินในการก่อสร้างทุกสิ่งอย่างเหล่านี้ราวหนึ่งพันล้านไรช์มาร์ค และเป็นเงินส่วนใหญ่จากงบประมาณแผ่นดิน
ต่อคำถามว่าทำไมฮิตเลอร์จึงยักยอกเงินออกไปนอกประเทศนั้น ไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ อย่างช้าที่สุด ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1930s ใครๆ พอจะคาดเดาได้ว่า ฮิตเลอร์จะต้องจบชีวิตระหว่างเป็นจอมเผด็จการ และไม่มีทางรอดชีวิตเพื่อลี้ภัยไปไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้
วันที่ 30 เมษายน 1945 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ปลิดชีวิตตัวเองด้วยปืนวอลเธอร์ คาลิเบอร์ 7.65 ม.ม. ทิ้งเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารไครส์สปาร์คัสเซ สาขาแบร์ชเทสกาเดนไว้ หลังจากปฏิรูปค่าเงิน (หลังสงครามยุติ) แล้วเป็นจำนวน 91,698.77 มาร์ค
อ้างอิง:
- www.welt.de
- www.merkur.de
- หนังสารคดี ‘The Hunt for Hitler’s Missing Millions’ (2014) กำกับฯ โดย เวอร์จิเนีย ควินน์ (Virginia Quinn)
Tags: นาซี, ภาษี, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์