นอกจากผลงานด้านการปฏิรูปบ้านเมืองและการเลิกทาส ชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อันเป็นที่จดจำจากหน้าหนังสือเรียนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นตำแหน่งกษัตริย์ที่มีภรรยาเจ้าและสนมเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เป็นจำนวนมากถึง 152 คน

ในอดีต ไม่ใช่แค่เพียงกฎหมายบ้านเมืองของยุคสมัยเท่านั้นที่เอื้อให้ผู้ชายมีภรรยาหลายคน แต่จำนวนของคู่ครองยังเป็นวิธีที่ผู้ชายใช้แสดงฐานะของตน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นค่านิยมเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ลากยาวมาถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่การแต่งงานถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมอำนาจทางการเมือง จนเรียกได้ว่า การมีเมียมากในยุคนั้นไม่ใช่แค่เพียงค่านิยมธรรมดาๆ อีกต่อไป แต่กลายเป็น ‘ประเพณี’ ในสังคมชนชั้นนายของสยามไปโดยปริยาย

ทำให้ยิ่งน่าสงสัยว่า เพราะเหตุใดภายในเวลาเพียงประมาณ 60 ปี นับจากวันที่ในหลวง ร.5 ขึ้นครองราชย์จนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวจึงสามารถก้าวขึ้นมาเป็นค่านิยมหลักของไทยได้

 

1

หากคำถามคือ มโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวในไทยเกิดจากการปรับตัวของสยามเพื่อให้รอดจากเงื้อมมือของอำนาจตะวันตกหรือไม่ ตอบว่าใช่แบบกำปั้นทุบดินอาจไม่ถูกเสียทีเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสารตั้งต้นที่จุดประกายให้ชาวสยามส่วนหนึ่งเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของระบบอื่นนอกเหนือจากระบบผัวเดียวหลายเมีย คือการเข้ามามีบทบาทของชาวตะวันตกจริงๆ

ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 แดน บีช แบรดลีย์ หรือ ‘หมอบรัดเลย์’ คือชาวตะวันตกคนแรกๆ ที่พยายามเผยแพร่แนวคิดผัวเดียวเมียเดียวผ่านหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ โดยระบุว่า รัชกาลที่ 4 มีพระเจ้าจอมมากเสียยิ่งกว่าสมเด็จพระปิ่นเกล้า

จนเรื่องร้อนไปถึง ร.4 ทำให้ทรงต้องออกมา ‘แก้ข่าว’ และยังย้อนหมอบรัดเลย์กลับมาว่า ควรไปห้ามพวกขุนนางชั้นสูงมากกว่าว่า ให้เลิกเสนอบุตรสาวให้เป็นสนมแด่พระเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ดี ความพยายามของหมอบรัดเลย์ มิได้ตั้งอยู่บนแนวคิด ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ แต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อตามหลักศาสนาคริสต์ในฐานะที่เขาเป็นมิชชันนารี

เมื่อถึงยุค ร.5 เริ่มมีการปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก และส่งลูกหลานชนชั้นนำจำนวนมากไปเรียนในยุโรป แนวคิดแบบเสรีนิยมที่กลับเข้ามาในไทยพร้อมๆ กับปัญญาชนรุ่นใหม่เหล่านี้ ทำให้ระบบผัวเดียวเมียเดียวเริ่มสั่นคลอน เริ่มจากที่วรรณกรรมไทยยุคนั้นเริ่มวิพากษ์สังคมที่ยอมให้ผู้ชายมีเมียหลายคน โดยใช้เรื่องราวของลูกเมียน้อยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม

แต่ถึงกระนั้น มโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวก็ยังคงถูกปฏิเสธโดยคนหมู่มากว่าแนวคิดนี้คือ ‘ความเป็นอื่น’ ที่มาจากภายนอกของสังคมไทย

ถ้าให้มีเมียคนเดียว ประเทศของเรายังไม่พร้อม จักทำให้คนเดือดร้อน” ครั้งหนึ่ง กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรัสไว้เช่นนั้น

 

2

อีกหนึ่งจุดพลิกผันที่สำคัญอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แม้พระองค์เองจะมีชายาจำนวน 4 พระองค์ แต่ก็เคยทรงแสดงทัศนะต่อระบบผัวเดียวหลายเมียว่าเป็นประเพณีโบราณ ไม่ศิวิไลซ์เหมือนอย่างฝรั่งที่มีเมียออกหน้าแค่คนเดียว

เคยมีการผลักดันให้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงกฎหมายลักษณผัวเมียในสมัย ร.6 ขณะนั้น รัฐบาลกำลังพยายามปรับปรุงกฎหมายไทย เพื่อให้ประเทศไทยมีเอกราชทางการศาล

สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ คือหนึ่งในชนชั้นเจ้านายที่สนับสนุนระบบผัวเดียวเมียเดียวอย่างเต็มที่ โดยเสนอว่าไม่จำเป็นต้องปรับตามชาติตะวันตกอย่างเคร่งครัด แต่อาจหันไปเอาอย่างญี่ปุ่น ที่แม้จะรองรับระบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็เปิดโอกาสให้จดทะเบียนรองรับบุตรที่เกิดนอกสมรสได้ ซึ่งก็ยังเป็นการยอมรับการดำรงอยู่ของมโนทัศน์ผัวเดียวหลายเมียอยู่กลายๆ

แต่รัชกาลที่ 6 ไม่ทรงเห็นด้วยด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งในแง่ของสังคมและศาสนา นอกจากนี้ยังทรงมองว่า การออกข้อกฎหมายมาเพียงเพื่อเปิดช่องให้คนเลือกไม่ปฏิบัติตาม ถือเป็นการลบหลู่กฎหมาย

เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแสดงตนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย การถกเถียงเรื่องนี้จึงยุติลงในที่สุด6

ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกนำกลับมาให้คณะกรรมการกลับไปพิจารณาต่อในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยมติเสียงส่วนใหญ่ในช่วงแรกก็ยังลงเอยให้อนุญาตให้ผู้ชายมีได้หลายเมียอยู่ดี

กว่าจะสามารถแก้ไขกฎหมายให้ชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวได้สำเร็จ เวลาก็ล่วงเลยผ่านมาจนถึงช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และแน่นอนว่ามโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียวไม่ได้รับการยอมรับโดยทันที แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวได้อีกต่อไปว่า ชาวสยามไม่เปิดใจรับแนวคิดนี้ เพราะในขณะนั้น เมล็ดพันธุ์สตรีนิยมได้ถูกหว่านไถลงในเนื้อนาของสังคมไทยมาแล้วสักระยะหนึ่งแล้ว

 

3

ในช่วงทศวรรษ 2450-2470 ผู้หญิงชนชั้นกลางได้พยายามสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ที่ต่างไปจากชนชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะชนชั้นสูง เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบชายเป็นใหญ่ มีการเขียนถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ และมีความพยายามในการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิที่สตรีควรได้รับ

สก็อต บาร์เม (Scot Barmé) นักวิชาการชาวออสเตรเลีย ได้เขียนถึงข้อกังวลใจของผู้หญิงชนชั้นกลางในเวลานั้นในหนังสือของเขา ‘Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular Culture in Thailand’ เรียบเรียงออกมาเป็น 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่

  1. การศึกษา
  2. การงาน
  3. ระบบผัวเดียวหลายเมีย

ในขณะที่อัตรานักเรียนหญิงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยเริ่มมีโอกาสได้เห็นหัวข้อเขียนขบถๆ อย่าง ‘ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน’ หรือ ‘เหตุไรสัตรีสยามจึงเป็นคนขี้หึงจัด’ ที่วิพากษ์ระบบผัวเดียวหลายเมีย โดยการเชื่อมโยงปัญหาเชิงโครงสร้างกับนิสัยขึ้หึงของหญิงไทย

จริงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ คณะราษฎร และชนชั้นปกครองอาจเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายที่รื้อถอนระบบผัวเมียหลายเมีย แต่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในโลกความเป็นจริงนั้น ล้วนเกิดขึ้นมาได้เพราะถูกขับเคลื่อนจากความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ถูกกดขี่ นั่นคือผู้หญิงที่เติบโตขึ้นมาภายใต้ระบบผัวเดียวหลายเมีย

 

อ้างอิง

https://www.silpa-mag.com/history/article_28423

https://www.silpa-mag.com/history/article_63294

https://www.silpa-mag.com/history/article_73624 

https://www.silpa-mag.com/history/article_15608 

https://pridi.or.th/th/content/2022/06/1122

Tags: , , , , , , , , ,