สำหรับชาวฟินนิช ไม่ว่าจะในการศึกษาระดับใด การสวมชุดเครื่องแบบไปเรียนกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่เก่าแก่และหายากไปแล้ว เนื่องจากกฎหมายข้อหนึ่งของฟินแลนด์ระบุไว้ว่า การบังคับนักเรียนโรงเรียนรัฐสวมเครื่องแบบนักเรียน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

โรงเรียนส่วนใหญ่ในฟินแลนด์จึงไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการแต่งกายใดๆ ที่เฉพาะเจาะจงเกินไปอย่างทรงผม เครื่องประดับ ความยาว รูปทรง หรือสีของเสื้อผ้าได้ เพราะจะถือเป็นการละเมิดเสรีภาพ สิทธิในการแสดงออก และสิทธิเหนือเรือนร่างของผู้อื่น

ทว่าสำหรับประเทศไทย สถานการณ์กลับตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เพราะวิถีปฏิบัติที่ ‘หาได้ยาก’ และห่างไกลจากคำว่า ‘แพร่หลาย’ ในไทย คือการอนุญาตให้ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสวมชุดเครื่องแบบต่างหาก

แม้ประเด็นสิทธิเหนือร่างกายของเยาวชนในสถานศึกษา จะไม่ถือว่าเป็นประเด็นถกเถียงที่แปลกใหม่ของสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว และหยก-ธนลภย์ ผลัญชัย ก็ไม่ใช่เยาวชนคนแรกที่ออกมาต่อต้านกฎการแต่งกายที่ไม่สมเหตุสมผลของสถานศึกษา แต่ไม่ว่าจะมีคนออกมาเรียกร้องเรื่องนี้กี่ครั้ง ทุกคนที่ ‘บังอาจ’ ออกมาส่งเสียง ล้วนไม่พ้นต้องรับแรงกระแทกจากฝ่ายตรงข้าม ในรูปแบบของคำพูดสอนใจ คำวิจารณ์ ตลอดจนคำด่าทอว่าร้าย

‘ทุกสังคมย่อมมีกฎระเบียบเป็นของตัวเอง เพื่อความสุขสงบและความเสมอภาค หากปฏิบัติตามไม่ได้ ก็แค่ลาออกไปเรียนที่อื่น’

‘ขนาดนักท่องเที่ยวจีนยังชื่นชมชุดนักเรียนไทย ใส่ออกมาแล้วน่ารัก น่าเอ็นดู แล้วนักเรียนไทยเป็นอะไรกันไปหมด’

‘ทำแบบนี้ไม่ได้อะไรนอกจากความสะใจ เอาตัวเองให้รอด เรียนให้จบก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขกันที่ระบบดีกว่าไหม’

นอกจากคำพูดเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกหวงแหนและภาคภูมิใจที่พลเมืองไทยมีต่อชุดเครื่องแบบแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความตื่นกลัวที่จะปะทะซึ่งหน้า และวิธีคิดแก้ปัญหาด้วยการยอมโอนอ่อนต่ออำนาจเหนือหัวที่เข้ามาคอยควบคุมจัดแจง

และนั่นจึงนำไปสู่คำถามสำคัญ 2 ข้อ คือชุดเครื่องแบบนักเรียนที่เราสวมกันอยู่จนถึงทุกวันนี้มีที่มาจากไหน และเหตุใดคนไทยจึงรู้สึกผูกพันและเคารพเชื่อฟังกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายถึงเพียงนี้

ต้นกำเนิดของชุดเครื่องแบบนักเรียน

เป็นการยากที่จะระบุว่า วัฒนธรรมการสวมชุดเครื่องแบบเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร และใครเป็นคนเริ่ม เมื่อพูดถึงชุดเครื่องแบบนักเรียนในบริบทยุคปัจจุบัน คนอังกฤษอาจนึกถึงโรงเรียนเอกชนค่าเทอมแพง และโรงเรียนมัธยมในฝันของบรรดาลูกผู้ดีทั้งหลาย เช่น วิทยาลัยอีตัน (Eton College) หรือโรงเรียนแฮร์โรว์ (Harrow School)

แต่จุดเริ่มต้นสำหรับชุดเครื่องแบบนักเรียนในอังกฤษ คือเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี สั่งให้ออกแบบชุดคลุมยาวสำหรับใช้เป็นเครื่องแบบของนักเรียนศาสนาที่เรียกว่า ‘คัปปาคลอซา’ (Cappa Clausa)

และอีกครั้งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยโรงเรียนในโรงพยาบาลพระคริสต์ (Christ’s Hospital School) ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลสำหรับเด็กฐานะยากจนและเด็กกำพร้า เครื่องแบบดังกล่าวประกอบด้วยเสื้อนอกตัวยาวสีน้ำเงินและถุงเท้ายาวเท่าเข่าสีเหลือง

ชุดเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษในยุคเริ่มต้น จึงไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอภิสิทธิ์ชนอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นกฎระเบียบที่บังคับใช้กับเด็กสามัญชนทั่วไป ที่จับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของอังกฤษที่กำลังตั้งไข่

ชุดเครื่องแบบในฐานะ ‘มรดก’ ลัทธิล่าอาณานิคม

ก่อนที่โครงสร้างการศึกษาในระบบจะเข้มแข็งพอให้มีพื้นที่สำหรับบังคับใช้เครื่องแบบนักเรียน มีชุดเครื่องแบบอีกอย่างหนึ่งที่แพร่หลายมาอย่างช้านาน ผ่านการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก นั่นคือเครื่องแบบข้าราชการ

อาชีพที่เรียกกันว่า ‘ข้าราชการ’ เป็นผลผลิตของการเกิดรัฐสมัยใหม่ในยุโรปเมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพราะสิ่งที่ทำให้รัฐสมัยใหม่แตกต่างจากรัฐโบราณ คือการที่รัฐเริ่มก่อร่างสร้างระบบต่างๆ เพื่อเข้ามามีบทบาทในการกะเกณฑ์ ควบคุม และกำกับชีวิตของพลเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี หรือการออกเอกสารอนุญาตกิจการต่างๆ และเครื่องมือที่จะขาดไปไม่ได้เลยในการบริหารจัดการระบบที่อุตส่าห์ลงทุนสร้างขึ้นมาก็หนีไม่พ้นเหล่า ‘แรงงาน’ ที่เราเรียกกันว่าเจ้าพนักงาน หรือข้าราชการนั่นเอง

แน่นอนว่าข้าราชการกลุ่มแรกที่มีเครื่องแบบเป็นของตัวเอง ย่อมเป็นทหาร ซึ่งเดิมทีแล้วก็อาจกล่าวได้พอกล้อมแกล้มว่า เป็นการออกระเบียบบังคับที่มีความจำเป็นและสมเหตุสมผล เพราะเป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการแยกเขาแยกเรา แยกมิตรออกจากศัตรู ทหารพวกเดียวกันจะได้ไม่ฆ่าฟันตัดกำลังกองทัพของตัวเอง

ส่วนข้าราชการพลเรือนนั้น เพิ่งเริ่มมีเครื่องแบบเป็นของตัวเอง ก็ตอนที่รัฐในยุโรปเริ่มเข้ามาครอบครองและบริหารอาณานิคมของตนในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งโดยมากก็จะแต่งตัวคล้ายกัน ด้วยเสื้อกางเกงสีกากีและถุงเท้ายาว

สาเหตุที่พวกเขาต้องแต่งชุดเครื่องแบบ ทั้งที่ตอนทำงานอยู่ที่รัฐบ้านเกิดก็แต่งตัวเหมือนคนทั่วไป ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับการแยกเขาแยกเราเช่นเคย เพราะก่อนหน้าที่คนเหล่านี้จะเดินทางมาถึง ก็มีคนขาวรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายกันอีกกลุ่ม ที่เดินทางมาถึงและตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือมิชชันนารีและพ่อค้า

ชุดเครื่องแบบจึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้าง ‘ระยะห่างทางสังคม’ ขึ้นระหว่างคนทั่วไปกับคนของทางการ ก่อเกิดเป็นความรู้สึกถึง ‘อาญาสิทธิ์’ บางอย่างที่คนขาวเหล่านี้มี ในฐานะตัวแทนเหนือหัวคนใหม่ ที่ไม่ใช่กษัตริย์แต่เป็น ‘เจ้าอาณานิคม’

ภารกิจการไล่ตามความ ‘ศิวิไลซ์’ ของรัฐไทย

หากสยาม ‘ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น’ ของตะวันตกอย่างที่รัฐไทยภูมิใจนำเสนอจริง แล้วเรารับเอาเครื่องแบบต่างๆ และค่านิยมในการ ‘แต่งตัวสุภาพ’ ด้วยเสื้อผ้าของชาวตะวันตกมาได้อย่างไร

คำตอบนั้นง่ายนิดเดียว เพราะอยู่ในคำถาม หลายคนที่ผ่านการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในระบบ คงพอจำได้ว่าหนึ่งในผลงานของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ถูกยกย่องมากที่สุด ก็คือการปฏิรูปแผ่นดินที่ทำให้สยาม ‘ทัดเทียม’ ชาติตะวันตกและรอดพ้นจากภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมมาได้

การแต่งกายก็เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มใส่เสื้อเข้าเฝ้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ตลอดจนการจัดระเบียบการแต่งกายของคนในชาติ ด้วยการออกประกาศ ‘รัฐนิยม’ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์และการจับจ้องจากชาติตะวันตกว่า ชาวสยามดูโป๊เปลือยและล้าหลังเกินไป

นอกจากนี้ ระบบบริหารราชการของไทย ยังเป็นระบบที่ลอกเลียนมาจากประเทศอาณานิคม โดยเฉพาะจากพม่าและอินเดีย ดังนั้น ถึงแม้จะไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่ได้รับอิทธิพลจากวิธีคิด วิธีบริหารกิจการ รวมไปถึงการแต่งตัวแบบเจ้าอาณานิคมด้วย

เมื่ออำนาจเหนือร่างกายไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของโรงเรียน

การควบคุมและสร้างมาตรฐานเครื่องแบบในสถานศึกษาของไทย เพิ่งเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังหลังการปฏิวัติสยาม 2475 โดยเริ่มจากเครื่องแบบลูกเสือก่อนเป็นอย่างแรก แต่เนื่องจากวิชาลูกเสือไม่ใช่วิชาที่มีสอนทุกโรงเรียน เครื่องแบบลูกเสือจึงไม่ได้แพร่หลายเป็นวงกว้างในทันที

รัฐไทยเริ่มให้ความสำคัญกับเครื่องแบบนักเรียนมากขึ้นในปี 2492 หลังจากการขยายตัวของระบบการศึกษาและการเพิ่มขึ้นของโรงเรียน ทำให้มีการออกระเบียบกระทรวงและปลูกฝังค่านิยมการสวมใส่ชุดเครื่องแบบ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ คุณค่า และเกียรติยศของสถาบันศึกษา

และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ความหมกมุ่นในการควบคุมเรือนร่างของเยาวชนของรัฐก็เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการบัญญัติระเบียบเกี่ยวกับชุดนักเรียนออกมาติดๆ กันหลายฉบับในช่วงปี 2500-2518 ไหนจะความพยายามระบุสังกัดนักเรียน โดยกำหนดให้ปักชื่อย่อโรงเรียนบนอกเสื้อ หรือการออกกฎไม่ให้โรงเรียนใดใช้ชุดเครื่องแบบอื่นนอกเหนือจากที่กำหนด ยกเว้นว่าจะได้รับอนุญาตและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อการแต่งกายไม่ได้สะท้อนถึงตัวตนของผู้สวมใส่ แต่กลับสะท้อนอัตลักษณ์ของกลุ่มสังกัดที่ผูกอยู่กับชุดคุณค่าบางอย่างมาโดยตลอด ร่างกายและเนื้อตัวของนักเรียน จึงไม่เคยเป็นของนักเรียนอย่างแท้จริง แต่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าในครอบครองของสถานศึกษา ที่ผู้มีอำนาจจะเลือกห่มทับด้วยผืนผ้าสีใด สั้นยาวแค่ไหนก็ได้ตามแต่ใจต้องการ

และเพราะเยาวชนไทยแทบไม่เคยได้ลิ้มรสสิทธิเหนือร่างกายของตนเองในพื้นที่สถานศึกษาเลย การเรียกร้องเรื่องระเบียบเครื่องแต่งกายของโรงเรียนจึงถูกมองเป็นของแปลกใหม่ เพราะรสชาติเดียวที่เยาวชนไทยทุกรุ่น ถูกจับป้อนให้คุ้นเคยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คือรสชาติของการสยบยอม แล้วรับเอาผืนผ้าที่แสดงถึงอำนาจของสถานศึกษามาสวมใส่แต่โดยดี

อ้างอิง

https://themomentum.co/school-uniforms-of-the-world/

https://www.aljazeera.com/opinions/2017/8/14/ugandas-colonial-style-dress-code

https://www.bbc.com/news/uk-england-29047752

https://www.sm-thaipublishing.com/content/12061/thai-school-uniform

https://www.matichonweekly.com/column/article_83628

https://www.matichonweekly.com/culture/article_24176

https://www.matichonweekly.com/column/article_565867

https://www.thepeople.co/history/nostalgia/51497

Tags: , , , ,