แฟชั่นประท้วงยุคแรก (กลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12)

แฟชั่นสายประท้วงยุคแรกเกิดขึ้นในยุโรปยุคกลางโดยมีที่มาจากความศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ความเชื่อของคริสตจักรยุคนั้นมีผลโดยตรงกับกฎหมายประจำชาติ กฎระบุว่าพระเจ้าสั่งให้อดัมและอีฟสวมเสื้อผ้าเป็นครั้งแรกหลังทำบาปจนถูกขับไล่จากสวนเอเดน การสวมเสื้อผ้าจึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘ตราบาป’ นอกจากมนุษย์ทุกคนซึ่งนับเป็นทายาทของอดัมและอีฟต้องสวมตราบาปตลอดเวลาแล้ว ยังต้องสวมตามชนชั้นวรรณะและเพศกำเนิดของตนเพื่อชดใช้ความผิดของบรรพบุรุษ การสวมเสื้อผ้าในยุคโบราณจนถึงกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 จึงเป็นไปตามฐานันดร มีการกำหนดเนื้อผ้า รูปแบบ ลวดลาย และสีสันอย่างจำเพาะเจาะจง หากไม่สวมใส่ตามกำหนดจะต้องถูกลงโทษ

ครั้นมาถึงราว ค.ศ. 1150 ก็ปรากฏหลักฐานว่ามีกลุ่มบุคคลขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐ เช่น นักแสดงละครเร่ นักแสดงตลก นักโทษ เพชฌฆาต แอบนำผ้าสีสันลวดลายแปลกตามาตัดเย็บด้วยเทคนิคปะติดแล้วสวมใส่เพื่อสร้างจุดยืนว่าเสื้อผ้าไม่ควรเป็นเครื่องกำหนดชนชั้น หลังจากนั้นเป็นต้นมาเสื้อผ้าของตัวตลกและเสื้อผ้าเทคนิคปะติดก็เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยเจ้าหน้าที่รัฐและศาสนจักรไม่อาจควบคุมหรือจับใครมาลงโทษได้

เครดิตภาพ: crfashionbook

แฟชั่นประท้วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1760 – 1920)

ประวัติศาสตร์สิ่งทอได้พลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นในปี 1760 ช่างตัดเสื้อถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร เมื่อเครื่องจักรสามารถผลิตเสื้อผ้าได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น การออกแบบเสื้อผ้าเพื่อใช้ในจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากเป็นเครื่องนุ่งห่มก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว กระนั้นแล้วเสื้อผ้ายังคงถือเป็นของฟุ่มเฟือยที่คนมีเงินเท่านั้นจะสามารถซื้อได้หลายๆ ชุด การทำความสะอาดซักและตากเสื้อผ้าในสมัยนั้นก็เป็นไปได้ยากกว่าปัจจุบัน

ปี 1848 ที่สหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้นมีเพียงผู้ชายที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากซึ่งเห็นต่างจากรัฐธรรมนูญจึงลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้หญิง โดยได้รวมตัวกันตามรัฐต่างๆ เพื่อเขียนข้อเรียกร้องยื่นต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนี้ได้ขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผู้หญิงเป็นสมาชิกส่วนใหญ่แต่ก็ไม่ได้มีสัญลักษณ์ทางแฟชั่นอย่างเป็นทางการ กระทั่งปี 1913 ครั้งนี้ผู้หญิงนับหมื่นลุกขึ้นเดินถนนต่อสู้เพื่อสิทธิการเลือกตั้งโดยร่วมกันแต่งกายด้วยสัญลักษณ์ 3 สี สีม่วงสื่อถึงความซื่อสัตย์ สีทองสื่อถึงดอกทานตะวันจากรัฐแคนซัสซึ่งเป็นบ้านเกิดของแกนนำประท้วง และสีขาวสื่อถึงคุณธรรมและความบริสุทธิ์ ว่ากันว่ามีห้องเสื้อชื่อดังจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนด้านเสื้อผ้าแก่หญิงสาวไฟแรงเหล่านี้

การประท้วงที่เปี่ยมด้วยสีสันทางแฟชั่นนี้กินเวลานาน 8 ปี จนกระทั่งวันที่ 18 สิงหาคม 1920 สภานิติบัญญัติจึงเปลี่ยนกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถเลือกตั้งได้ และในปีเดียวกันนั้นเองผู้หญิงอเมริกันจึงได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเป็นจำนวนถึง 8 ล้านเสียง หากนับตั้งแต่วันแรกที่มีการเรียกร้องสิทธิก็นับว่าใช้เวลา 72 ปี

เครดิตภาพ : Getty Images

แฟชั่นประท้วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1946 – 1969)

เมื่อกล่าวถึงนักปฏิวัติจากแดนลาตินอเมริกาชื่อของ ‘เช เกวารา’ ย่อมต้องโผล่ขึ้นเป็นลำดับต้นๆ และองค์ประกอบแห่งความเป็นเชที่ขาดไม่ได้ก็คือหมวกปฏิวัติอันลือลั่นที่เรียกกันว่าหมวกเบเรต์ หมวกทรงนี้มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าออกแบบและสวมใส่โดยชาวดัตช์ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต่อมาจึงเป็นที่นิยมในฝรั่งเศส เมื่อชาวดัตช์จำนวนมากย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาร์เจนตินาราวปี 1825 ก็นำหมวกทรงนี้มาใส่จนแพร่หลายในแผ่นดินละติน

หมวกเบเรต์กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเมื่อคู่หูนักปฏิวัติ เช เกวารา และ ฟิเดล คาสโตร สวมทุกครั้งที่ปรากฏตัวในที่สาธารณะ พวกเขานำฝูงชนต่อต้านอำนาจจักรวรรดินิยมตลอดจนท้าทายอำนาจรัฐคิวบาซึ่งเอารัดเอาเปรียบประชาชน

เมื่อเชถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1967 หมวกเบเรต์สีดำกับดาวสีเงินก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักปฏิวัติฝั่งซ้ายที่ถือเป็นแฟชั่นระดับตำนาน เป็นตัวแทนของอุดมการณ์แห่งความเท่าเทียมซึ่งใส่กันทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัยจนถึงทุกวันนี้

เครดิตภาพ: crfashion

แฟชั่นประท้วงยุค Punk Movement (ค.ศ. 1970 – 1989)

ข้ามทวีปมาชมแฟชั่นประท้วงกันที่สหราชอาณาจักร พลังขับเคลื่อนทางสังคมอันโดดเด่นเห็นจะเป็นการขับเคลื่อนของชาวพังก์ซึ่งชูประเด็นเสียดสีราชวงศ์ จิกกัดตระกูลขุนนางและกลุ่มนายทุน ช่วงนั้นสินค้าแฟชั่นในเกาะอังกฤษยังมีราคาแพง เสื้อผ้าจำนวนมากต้องนำเข้าจากฝรั่งเศส หากมองในมุมการออกแบบและตัดเย็บ แฟชั่นพังก์จึงคล้ายคลึงกับแฟชั่นประท้วงยุคแรกนั่นคือใช้เทคนิคการตัดปะผ้าหลายชิ้นหลายชนิดเข้าด้วยกัน เกิดจากการนำเสื้อผ้าเก่ามาทำใหม่ นำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าและแสดงจุดยืนทางการเมือง 

แฟชั่นพังก์นี้มีนักออกแบบร่วมคิดร่วมทำเป็นจำนวนมาก แต่ผลงานซึ่งจัดจ้านจนสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ยังต้องเหลียวหลังเป็นของเจ้าแม่วงการพังก์นามว่า ‘วิเวียน เวสต์วูด’ นับเป็นครั้งแรกที่แฟชั่นประท้วงได้หลอมรวมกับดนตรี โดย วิเวียน เวสต์วูด และ มัลคอล์ม แมคลอเรน ได้ช่วยกันสร้างสรรค์เสื้อผ้าให้วงพังก์ยุคบุกเบิกอย่างวง ‘เซ็กซ์ พิสทัลส์’ จำนวนหลายชิ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เจ็บแสบสุดๆ เห็นจะเป็นตัวอักษร ‘God save the Queen’ ซึ่งเป็นประโยคเดียวกับชื่อเพลงของวง และประโยคนี้ก็จงใจพ้องกับชื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 อีกด้วย

นัยยะแอบแฝงอยู่ที่เนื้อเพลง “God save the queen. She’s not a human being and there’s no future and England’s dreaming พระเจ้าได้โปรดคุ้มครององค์ราชินี พระองค์ไม่ใช่คน อนาคตช่างมืดมน อังกฤษคงได้แค่ฝัน” ซิงเกิลท้าทายอำนาจและเสื้อยืดล้อเลียนราชวงศ์นี้ถูกเผยแพร่สู่ประชาชนในวันเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปีของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1977 ถือเป็นการใช้ดนตรีและแฟชั่นท้าทายอำนาจกษัตริย์ครั้งแรกผ่านวิทยุ โทรทัศน์ และเวทีคอนเสิร์ต

อิทธิพลของดนตรีและวัฒนธรรมพังก์นั้นเป็นรากฐานของดนตรีและวัฒนธรรมอัลเทอร์เนทีฟซึ่งยังมีอิทธิพลต่อสังคมและวัฒนธรรมอังกฤษจนถึงปัจจุบัน เป็นจิตวิญญาณขบถผู้ผลักเพดานการวิจารณ์สถาบันหลักโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง

เครดิตภาพ: pinterest

แฟชั่นประท้วงยุคปี 1990 จนถึงปัจจุบัน

เมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอพัฒนาขึ้นจนมีสินค้าแฟชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ การท้าทายอำนาจรัฐและแสดงออกจุดยืนทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องของไม่กี่แบรนด์อย่างในยุคพังก์

ไม่นานมานี้ในปี 2018 ที่งานลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ดาราหญิงฮอลลีวูดหลายคนได้จับมือกับแบรนด์ดังมากกว่า 10 แบรนด์ สวมชุดดำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ Time’s Up เพื่อต่อต้านการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ชูประเด็นที่ผู้หญิงในวงการบันเทิงจำนวนมากถูก ‘ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน’ ล่วงละเมิดทางเพศ สีดำสื่อถึงจุดสิ้นสุดของการล่วงละเมิดทางเพศนั่นเอง

เครดิตภาพ: Fraser Harrison

ในปี 2020 ประเด็นที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าการถูกล่วงละเมิดก็คือประเด็นสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์เกิดขึ้นบนแคตวอล์กกลางงานแฟชั่นโชว์ฤดูใบไม้ผลิของดิออร์เมื่อจู่ๆ หญิงสาวปริศนาได้ขึ้นไปชูป้าย “We are all fashion victim” “เราทุกคนต่างเป็นเหยื่อแฟชั่น” โดยเมื่อเธอขึ้นไปป่วนคนดูก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นการวางแผนของดิออร์หรือเปล่า ส่วนทางดิออร์เองนั้นจำต้องปล่อยเลยตามเลยเนื่องจากมีกติกาเข้มงวดว่าเมื่อมีการเดินแฟชั่น ห้ามให้พนักงานคนไหนขึ้นไปวุ่นวายบนเวที

นี่ไม่ใช่การใช้แฟชั่นประท้วง แต่เป็นการประท้วงวงการแฟชั่นว่าส่งเสริมค่านิยมฟุ้งเฟ้อ ทำลายสิ่งแวดล้อมจากการผลิตขยะจำนวนมากต่อปี หลังเหตุการณ์นั้นจบลงไม่นาน องค์กรนามว่า ‘เอ็กซ์ติงก์ชัน รีเบลเลียน’ หรือ ‘ขบถเพื่อสัตว์สูญพันธุ์’ สัญชาติฝรั่งเศส ได้ออกมาเปิดเผยว่าอยู่เบื้องหลังแผนการดังกล่าว ทางนิตยสารแฟชั่นนิสตาได้สอบถามไปยังหญิงสาวผู้ก่อเหตุถึงแรงจูงใจ เธอตอบดังนี้

“ฉันทำไปเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราต่างเป็นเหยื่อของระบบแฟชั่น ในขณะที่โลกกำลังทรมานจากโรคระบาดและภาวะโลกร้อน ดิออร์ยังไม่แยแสต่อความวิกฤต เดินหน้าผลิตสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่อโลก สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้คน และสัตว์ แฟชั่นวีกคือสัปดาห์แห่งความน่าอาย แคตวอล์กไม่ควรมีในภาวะวิกฤตแบบนี้ เราควรผลิตให้น้อยลง รัฐบาลต้องหันมาสร้างข้อจำกัดให้วงการแฟชั่นอย่างจริงจัง”

เครดิตภาพ: Vogue

จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 900 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้พัฒนาความเชื่อ กระบวนการการผลิตสิ่งทอและได้พัฒนาวิธีการแสดงออกด้านแฟชั่นอย่างไม่หยุดนิ่ง จากการประท้วงในพื้นที่แคบของชุมชนแออัดก็ขยายมาสู่ท้องถนน สู่สภานิติบัญญัติ สู่จอโทรทัศน์ วิทยุ เวทีคอนเสิร์ต สู่งานเทศกาลภาพยนตร์จนถึงแคตวอล์ก

นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแฟชั่นมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากนักออกแบบชาวไทยสนใจขับเคลื่อนประเด็นสังคมผ่านเสื้อผ้ามากขึ้นก็คงจะดีไม่น้อย

—————-

 อ้างอิง

https://www.abc.net.au/radionational/programs/archived/bydesign/from-rembrandt-to-che:-the-history-of-the-beret/5769668#:~:text=pinned%20to%20it.-,The%20beret%20became%20a%20symbol%20of%20revolution%20when%20it%20was,Angels%20in%20the%20late%201970s.

https://www.britannica.com/biography/Che-Guevara

https://www.crfashionbook.com/fashion/a32746575/protest-fashion-beret-suffragette-white-pussyhat/

https://www.crfashionbook.com/fashion/a26261899/the-history-of-women-wearing-suffragette-white/

https://fashionista.com/2020/09/dior-spring-2021-protestor-we-are-all-fashion-victims

https://www.history.com/topics/womens-history/the-fight-for-womens-suffrage#:~:text=The%20women’s%20suffrage%20movement%20was,the%20movement%20more%20than%20once.

https://www.mic.com/articles/146546/the-history-of-the-beret-how-a-peasant-s-hat-turned-into-a-political-statement

https://www.nme.com/news/music/sex-pistols-4-1204013

https://museumofyouthculture.com/punk/

https://www.ultimate-guitar.com/articles/features/the_story_behind_the_controversial_sex_pistols_t-shirt-77443

 

Tags: , ,