เนื้อไก่เป็นเนื้อสัตว์ยอดนิยม แต่ละปี คนทั่วโลกบริโภคไก่ถึง 5 หมื่นล้านตัว เมื่อมีผู้บริโภคต้องการมากขนาดนี้ ก็ทำให้ธุรกิจฟาร์มไก่ต้องหาวิธีสร้างเนื้อไก่ให้ได้มากและราคาถูก

นั่นทำให้เบื้องหลังของกระบวนการสร้างไก่นั้น ต้องทั้งทรมานเจ้าไก่และละเลยเรื่องความสะอาดและสวัสดิภาพของไก่ ซึ่งท้ายที่สุดก็มีผลเสียต่อผู้บริโภคด้วย

เวลานี้ กลุ่มพันธมิตรการคุ้มครองสัตว์แห่งยุโรป ที่ประกอบด้วยองค์กรด้านพิทักษ์สัตว์จากหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) ของอังกฤษ กำลังเรียกร้องให้ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารต่างๆ ลงนามเข้าร่วมว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อไก่ตามแนวปฏิบัติด้านสวัสดิภาพสัตว์ของอียู ซึ่งมีกำหนดจะบังคับใช้ในปี 2020

ปัจจุบัน ไก่กระทงที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นเนื้อเท่านั้น มีจำนวนมากกว่าฟาร์มเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ มีการฆ่าไก่กว่า 5 หมื่นล้านตัวทั่วโลก คาดว่าภายในปี 2020 จะต้องใช้ไก่มากกว่า 10 เท่าของตอนนี้

อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ใช้วิธีการแสนโหด ทั้งคัดเลือกพันธุ์ที่โตเร็ว เร่งโต เร่งผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณไก่ในเวลาอันรวดเร็ว และขุนให้อ้วน ซึ่งมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์นี้ กำหนดให้ฟาร์มไก่ต้องยกระดับมาตรฐานในการผสมพันธุ์ไก่ ห้ามการล่ามไก่ระหว่างเชือด จัดแสงและพื้นที่ให้เป็นธรรมชาติ มีพื้นที่ให้ไก่เกาะ และมีของให้จิก เช่นผักหรือฟางข้าว

ด้านมืดของธุรกิจเนื้อไก่เพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว รายงานจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนและไอทีวีนิวส์ในสหราชอาณาจักรเผยแพร่ภาพการทำงานในโรงงานไก่ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัย จนซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรต้องปิดโรงงานชั่วคราว

ในเบื้องต้น สิ่งที่ร้านค้าปลีกทำได้คือ ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า ไก่ที่ขายมีสวัสดิภาพสูงหรือต่ำ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของสมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) อังกฤษพบว่า ผู้ซื้อไก่ 86% คาดหวังว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะขายเนื้อไก่จากฟาร์มที่มีมาตรฐานสวัสดิภาพสูง

สำหรับผู้ค้าปลีกรายแรกที่ลงนามในข้อเรียกร้องนี้คือ มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ หัวหน้าฝ่ายเกษตรกรรมของบริษัทกล่าวว่าบริษัทให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ถือเป็นหัวใจของธุรกิจ และรู้ดีว่ามันสำคัญต่อลูกค้ามากแค่ไหน เดือนมกราคมบริษัทจะเริ่มออกแบบระบบเพื่อทดสอบมาตรฐานใหม่นี้ และดูว่ามันทำงานอย่างไรในห่วงโซ่อุปทานของฟาร์มในระบบอุตสาหกรรม

ที่มา:

https://www.theguardian.com/environment/2018/jan/13/animal-welfare-groups-call-for-higher-standards-for-farmed-chickens?CMP=fb_gu

https://www.farminguk.com/news/Marks-and-Spencer-commits-to-improving-chicken-welfare-in-new-pledge_48349.html

Tags: , ,