กัวเตมาลาคือประเทศที่มีการสังหารผู้หญิง (femicide) สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากคนในครอบครัวเอง และเว็บไซต์ The Guardian ได้รายงานถึงคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามแก้ปัญหานี้ โดยเริ่มจาก ‘บริการสุขภาพ’ ก่อน
ในช่วงปี 2014-2016 มีผู้หญิงกัวเตมาลาถูกกระทำความรุนแรงจนเสียชีวิต 2,264 คนด้วยกัน มีเพียง 611 รายเท่านั้นที่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าถูกกระทำความรุนแรงโดยคนในครอบครัว และมีผู้ก่อเหตุเพียง 59 คนที่ได้รับโทษตามกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นในบางชุมชนเองก็ไม่ได้มองว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหา แม้แต่ตัวผู้หญิงเองก็ตาม
“ผู้หญิงยังกลัวที่จะแจ้งความเพราะอยู่ในสังคมที่ต้องพึ่งพาผู้ชายมาช้านาน พวกเธอกลัวที่จะอยู่โดยไร้คนสนับสนุนทางการเงิน อีกส่วนหนึ่งกลัวว่าลูกจะเติบโตขึ้นโดยไม่มีพ่อ พวกเธอนึกถึงทุกอย่าง ยกเว้นตัวเอง” นักจิตบำบัดลิเจีย โกเมซ (Ligia Gomez) ว่าอย่างนั้น ขณะที่ลิลี่ วัก (Lily Wug) ผู้อำนวยการบ้านพักสำหรับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในเมืองเกตซัลเตนังโก (Quetzaltenango) กล่าวว่า สังคมเองควรมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานจากความรุนแรงแบบนี้
เธอยังบอกอีกว่าอันที่จริงระบบบริการสุขภาพในกัวเตมาลา สามารถเป็นพื้นที่ในการแจ้งเรื่องความรุนแรงเพื่อส่งต่อไปยังกระบวนการทางกฎหมายได้ เพียงแต่บุคลากรทางสุขภาพเองก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะสังเกตหรือสืบค้นต่อว่าผู้หญิงที่เข้ามารับบริการทางสุขภาพกำลังถูกกระทำความรุนแรงอยู่หรือไม่
ดังนั้นทั้งลิเจีย โกเมซ และลิลี่ วัก จึงมองว่าบุคลากรด้านสุขภาพสามารถเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหานี้ ไม่เพียงแต่สังเกตสอบถามเกี่ยวกับร่องรอยที่ปรากฏบนร่างกาย แต่รวมถึงสุขภาพจิตด้วย โดยโกเมซเล่าถึงกรณีที่หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งฆ่าตัวตายพร้อมลูกสาวอีกคน เนื่องจากต้องการหนีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในฐานะนักจิตบำบัด เธอวิเคราะห์ว่าหญิงคนดังกล่าวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ทั้งที่ระหว่างฝากครรภ์ เธอต้องเข้าตรวจสุขภาพหลายขั้นตอน แต่ไม่มีใครที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเธอเลย
แนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นคือ ผู้หญิงทุกคนที่มาฝากครรภ์จะต้องตอบแบบสอบถามเบื้องต้นหกข้อเกี่ยวกับสุขภาพจิตและการถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งหากพบว่าพวกเธออยู่ในภาวะดังกล่าวก็จำเป็นต้องพบนักจิตบำบัด และนักจิตบำบัดจะต้องเป็นผู้โน้มน้าวให้พวกเธอเข้าแจ้งความแทนที่จะปล่อยผ่าน
โกเมซเองได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อโปรโมตแคมเปญนี้ของเธอ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย “มันยากที่จะชวนให้ผู้หญิงเราก้าวไปด้วยกัน พวกเรารู้ว่าความรุนแรงมีอยู่ แต่ผู้คนยังมองไม่เห็นว่าบริการสุขภาพจะมาช่วยได้อย่างไร เคยมีคนที่เข้ามาคุยกับฉัน แต่เมื่อฉันเริ่มอธิบายกระบวนการแจ้งเรื่องผ่านหมอที่จะส่งเรื่องต่อให้ตำรวจ พวกเธอก็ไม่ได้ไปต่อ”
อาจจะเป็นอย่างที่ลิลี่ วักเล่าไว้ข้างต้นว่าปัญหาบางส่วนอาจอยู่ที่ความกลัวของผู้หญิงเอง ซึ่งเธอทั้งคู่เข้าใจปัญหานี้ดี แต่ก็เลือกที่จะค่อยๆ เปลี่ยนมัน แม้จะต้องใช้เวลานานแสนนานก็ตาม
ที่มา:
Tags: ความรุนแรง, การแพทย์, ผู้หญิง, Guatemala, กัวเตมาลา, Femicide