1.
“ผมตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นว่า จะมีชีวิตอยู่ เพื่อหาให้ได้ว่าใครฆ่าน้องสาว”
ไมเคิล แฮร์มันน์ (Michael Herrmann) ได้ยินเสียงประหลาดดังขึ้นที่หูข้างซ้าย มันเริ่มขึ้นในปี 2010 หรือราว 6 เดือนหลังจากที่มีการไต่สวนคดีการเสียชีวิตน้องสาวตัวเอง
เหตุการณ์นี้ทำให้เขาหูอื้อ ตอนแรกศาลบอกว่า มันเกิดจากความเครียดในการเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ คดีฟ้องผู้ต้องหาที่ฆ่าน้องสาว
ตามกฎหมายเยอรมัน ครอบครัวผู้เสียชีวิตมีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมฟ้องกับอัยการในคดีอาญาได้ นั่นหมายความว่าพวกเขามีสิทธิเข้าถึงเอกสารการสอบสวนทุกอย่างของตำรวจ
ไมเคิลเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ เขาได้รับแฟ้มคดีหนา 6,000 หน้า ชายหนุ่มนั่งอ่านมันทั้งวันทั้งคืน จนจำได้ทุกรายละเอียด รู้ทุกอย่าง ในคดีการฆาตกรรมน้องสาวที่จากโลกไปในปี 1981
เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ชายหนุ่มเริ่มพบว่า ข้อมูลทั้งหมดของตำรวจไม่ได้ทำให้เขามั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จับคนร้ายมาถูกตัว แต่กลับทำให้ไมเคิลแน่ใจไปอีกทางว่า จำเลยที่เขาร่วมกับอัยการยื่นฟ้องนั้นน่าจะเป็นแพะ
แม้สุดท้ายศาลจะตัดสินให้ผู้ต้องหารายนี้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และเจ้าหน้าที่ เพื่อนฝูง คนรู้จักมากมาย ต่างขอให้ไมเคิลปล่อยวางเรื่องนี้ ให้โศกนาฏกรรมของน้องสาวจบลงที่ว่าจับคนร้ายได้แล้ว ปิดฉากฝันร้ายที่เกาะกุมมานานหลายสิบปีเสียที แต่ไมเคิลไม่อาจทำตามที่ใครหลายคนบอกไว้ได้
เสียงประหลาดที่ดังในหูเขา เป็นอาการผิดปกติที่เกิดกับชายคนนี้ แต่ในทางกฎหมายมันเป็นข้อดี เขาตัดสินใจยื่นฟ้องทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายแก่จำเลยที่ถูกตัดสินว่าฆ่าน้องสาวเขา เพราะการให้การของฆาตกรรายนี้ ทำให้เขามีอาการหูแว่ว
แต่ผลของมันกว้างไกลยิ่งกว่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายธรรมดา เพราะเป็นการทำให้ผู้พิพากษาต้องรื้อฟื้นคดีนี้มาไต่สวนอีกครั้ง เริ่มต้นใหม่หมดทุกอย่าง
พาทุกอย่างย้อนกลับไปในวันที่ 15 กันยายน 1981
วันที่ชีวิตของไมเคิลจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
2.
เออร์ซูลา แฮร์มันน์ (Ursula Herrmann) เป็นเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ สูง 143 เซนติเมตร ไว้ผมสั้น เธอเป็นลูกสาวของครู และแม่บ้าน ครอบครัวของหนูน้อยไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่มีบ้านซึ่งปู่สร้างไว้นานแล้ว ทิวทัศน์ในเมืองแห่งนี้งดงาม มีคนมาปีนเขา เป็นสังคมชนบทแสนน่าอยู่
แต่ในวันที่ 15 กันยายน 1981 แม่ของเออร์ซูลารอลูกสาวกลับมาทานข้าวเย็นนานมาก ก่อนหน้านี้เธอไปหัดเปียโนกับไมเคิล พี่ชายคนโตของบ้าน ก่อนจะไปเล่นยิมนาสติก แล้วไปบ้านป้า
เมื่อแม่ของเด็กหญิงโทร.หาป้า ถามว่าเออร์ซูลาออกจากบ้านมาหรือยัง เพราะนี่ก็เย็นมากแล้ว และเด็กสาวยังไม่มาถึงบ้านแต่อย่างใด พลันที่อีกฝ่ายบอกว่า เออร์ซูลาออกจากที่นี่ไปเกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว แม่ก็รู้ว่ามีความผิดปกติขึ้นแน่นอนแล้ว
ตำรวจได้รับแจ้ง มีการระดมกำลังค้นพื้นที่โดยรอบ กินเวลาไม่นาน ก็พบจักรยานของเออร์ซูลาถูกทิ้งไว้ในป่า
แต่ไม่มีวี่แววสาวน้อย
เธอหายไปไหน?
36 ชั่วโมงผ่านไป โทรศัพท์ดังขึ้นที่บ้านครอบครัวแฮร์มันน์ ทีแรกมันขึ้นต้นด้วยความเงียบ จากนั้นก็มีดนตรีเปิดรายการของสถานีวิทยุแห่งหนึ่งดังขึ้น กินเวลาไม่นานก็จบ ตามมาด้วยความเงียบแล้วเพลงเดิมก็ดังขึ้น วนไปแบบนี้ 3 รอบ ก่อนที่สายจะถูกตัดไป
ตำรวจตั้งทีมสืบสวนในบ้านของแฮร์มันน์ วันต่อมา บุรุษไปรษณีย์นำจดหมายด่วนมาให้พ่อของเออร์ซูลา ปรากฏข้อความตัดแปะจากหนังสือพิมพ์ แต่อ่านได้ว่า “พวกเราลักพาตัวลูกสาวคุณ ถ้าอยากให้ลูกคุณมีชีวิตอยู่ ก็จ่ายเงินค่าไถ่มา 2 ล้านดอยช์มาร์ก จงให้คำตอบหลังจากเราโทร.มา แล้วเพลงจบลง ว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย หากแจ้งตำรวจ เราจะฆ่าลูกสาวคุณ”
เป็นอันว่าเสียงดนตรีจากโทรศัพท์ปริศนาในตอนแรก คือสัญญาณจากคนร้าย พวกเขาวางแผนให้จดหมายนี้ส่งมาตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว แต่มันผิดแผน กระดาษลักค่าไถ่มาช้ากว่าเสียงโทรศัพท์
ตอนเที่ยงวันเดียวกัน โทรศัพท์ก็ดังขึ้น แล้วตามด้วยเสียงเพลง แม่ของเออร์ซูลาตกลงจ่ายเงินค่าไถ่ แต่ขอดูหลักฐานว่าลูกยังมีชีวิตอยู่ไหม
แต่คนร้ายไม่ได้ตอบอะไรกลับมา
“พูดกับฉันสิ พูดอะไรสักอย่าง ขอฟังเสียงเออร์ซูลาหน่อย”
เย็นวันนั้น จดหมายฉบับที่ 2 มาถึง คนร้ายย้ำให้จ่ายเงินลักพาตัวด้วยแบงก์ 100 ใส่ในกระเป๋าเอกสาร โดยให้พ่อของเด็กขับรถเฟียต 600 สีเหลือง อย่าขับด้วยความเร็วเกินกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องไปคนเดียวด้วย
ย้ำไปแล้วว่าครอบครัวแฮร์มันน์ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก ทางเพื่อนบ้านและตำรวจจึงช่วยระดมเงินให้ รอเพียงสายโทร.เข้า แจ้งจุดที่ต้องเอาเงินค่าไถ่ไปส่งเท่านั้น
แต่ไม่มีโทรศัพท์จากคนร้ายอีกต่อไป
2 สัปดาห์ผ่านไปอย่างสิ้นหวัง ตำรวจสั่งให้ค้นป่าโดยละเอียดอีกรอบ กินเวลาไม่นาน ตำรวจนายหนึ่ง ตรวจเจออะไรบางอย่างฝังดิน เมื่อขุดไปก็พบกล่องขนาดใหญ่กว่า 60 เซนติเมตร เมื่อเปิดออกมาดู ก็พบร่างไร้ลมหายใจนั่งขดตัวอยู่อย่างเดียวดาย
ในที่สุดพวกเขาก็พบเออร์ซูลาแล้ว
3.
เมื่อพวกเขาตรวจดูกล่องโดยละเอียดก็พบว่า ทางผู้ลักพาตัวไม่ได้ต้องการให้เด็กหญิงถูกฝังดินในสภาพไร้ลมหายใจแบบนี้ เพราะมีการเตรียมน้ำ เตรียมอาหารใส่ลงไปด้วย แถมที่เหนือกล่องก็มีการติดท่อให้อากาศถ่ายเทไว้
คนร้ายน่าจะลักพาตัวเออร์ซูลาระหว่างทางกลับบ้าน แล้ววางยาสลบยัดใส่กล่อง เรียกค่าไถ่ แต่ปรากฏว่าท่อที่ติดกับกล่องไม่อาจดูดอากาศเข้าไปได้ นั่นทำให้ขณะที่เด็กหญิงสลบเพราะฤทธิ์ยา ออกซิเจนก็ไหลออกไป ทำให้หนูน้อยขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตในที่สุด
เจ้าหน้าที่ล่าทุกเบาะแส จนไปพบผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง บ้านอยู่ไม่ไกลจากครอบครัวแฮร์มันน์ เขาเป็นช่างซ่อมทีวี มีหนี้จากธนาคารหลายแสน นี่เป็นแรงจูงใจอย่างดี ที่ชายคนนี้น่าจะก่อเหตุดังกล่าว
นักสืบเอาตัว แวร์เนอร์ มาซูเร็ก (Werner Mazurek) มาสอบปากคำ หลังพบว่าวันที่เด็กหญิงหายตัวไป ผู้ต้องสงสัยจำไม่ได้ว่าเขาอยู่ที่ไหนในตอนนั้น ใช้เวลา 24 ชั่วโมง ถึงจะนึกออกว่า เล่นบอร์ดเกมส์กับเมียและเพื่อนอยู่
แต่พอค้นบ้านก็ไม่พบหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับคดีนี้
ในที่สุดตำรวจไม่อาจหาหลักฐานเอาผิดมาซูเร็กได้ แต่ก็เกิดรอยบาดหมางในชุมชนแห่งนี้ ช่างซ่อมทีวีต้องย้ายออกจากชุมชนไปเมืองอื่น
สื่อมวลชนเรียกขานคดีนี้ว่า ปริศนาเด็กหญิงในกล่อง มีนักข่าวมาทำสกู๊ปพิเศษ นักสืบสมัครเล่นพยายามไขคดี กลายเป็นเหตุการณ์ที่คนเยอรมันให้ความสนใจมาก พวกเขาอยากรู้ว่าใครคือฆาตกรโหดนี้
แต่ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้เลย
ในปี 2000 สำนักงานสืบสวนสั่งรื้อคดีนี้มาใหม่ และนำเทคโนโลยีดีเอ็นเอเข้ามาช่วย พอถึงปี 2006 เจ้าหน้าที่ก็ส่งตำรวจเข้าไปแฝงตัวตีสนิทกับมาซูเร็ก
นั่นทำให้พวกเขาค้นพบหลักฐานบางอย่าง เช่นมีการโทรศัพท์ระหว่างชายคนนี้กับคนในเมืองที่เขาจากมา บทสนทนาถามเรื่องคดีเด็กหญิงในกล่องจะหมดอายุความเมื่อใด
ไม่เพียงเท่านั้น ตำรวจยังค้นบ้านและพบเครื่องอัดเสียงเครื่องหนึ่ง เมื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พวกเขายืนยันว่า มันเป็นเครื่องอันเดียวกับที่คนร้ายใช้เปิดเพลงตอนโทร.หาครอบครัวแฮร์มันน์
นอกจากนี้ พฤติกรรมของมาซูเร็กก็ยังไม่น่าไว้วางใจ เขาเคยเอาหมาตัวเองจับยัดตู้เย็น เช้ามาก็แข็งตาย แถมมีคดีฉ้อโกง นั่นจึงทำให้ทางการขออำนาจศาลออกหมายจับ รวบตัวเขาอีกครั้ง และนำไปสู่การไต่สวน
ไมเคิลได้รับแจ้งว่าคดีถูกรื้อฟื้อ ตอนนี้เขาโตมาเป็นครูสอนดนตรี พ่อกับแม่และน้องๆ คนอื่น ไม่ประสงค์จะเข้าไปนั่งในศาลแล้วรื้อฟื้นความเจ็บปวดนี้อีก ไมเคิลในฐานะพี่ชายคนโต คนที่ลั่นวาจาหลังพบศพน้องว่าจากนี้จะมีชีวิตอยู่เพื่อหาว่าใครฆ่าน้อง
นี่คือภารกิจที่เขาสานต่อ นั่นทำให้เขาเดินทางไปนั่งฟังการพิจารณาคดีนี้ด้วยตัวเอง
แต่เมื่อเข้าไปฟังกอปรกับอ่านเอกสารคดีทั้งหมด เขาก็ฉงน มาซูเร็กจะเป็นคนร้ายในคดีนี้ได้อย่างไร และสิ่งที่ไมเคิลสงสัยสุดคือ เครื่องอัดเสียง ที่ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่าอันเดียวกันนั้น มาซูเร็กย้ำว่าเขาซื้อจากตลาดนัดก่อนเกิดเหตุลักพาตัว แต่ไม่มีใครรู้ว่าคนขายคือใคร และไม่มีใครเห็นผู้ต้องหาไปซื้อแต่อย่างใด นั่นยิ่งเพิ่มน้ำหนักความผิดแก่มาซูเร็กเข้าไปใหญ่
อย่างไรก็ดี ไมเคิลในฐานะผู้เชี่ยวชาญดนตรี เชื่อว่า การเอาเครื่องอัดเสียงนี้เล่นดนตรีเทียบกับเสียงที่คนร้ายเล่นเพลงเมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่น่าจะใช้ได้ เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่า คนร้ายใช้โทรศัพท์สาธารณะโทร. ดังนั้น เขาต้องใช้เครื่องอัดเสียงที่เล็กกว่านี้ ไม่น่าจะใช้อันที่มาซูเร็กมีอย่างแน่นอน
ไมเคิลร้องเรียนกับทนาย ซึ่งสร้างความปวดหัวให้ตำรวจและผู้พิพากษา เพราะคดีถูกตัดสินจบไปแล้ว มาซูเร็กคือฆาตกรตัวจริง แต่เมื่อไมเคิลไม่เชื่อ ก็ต้องหาหลักฐานมาฟื้นคดี ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่อยากทำแบบนั้น
เพราะเขาก็ไม่ชัวร์ว่ามาซูเร็กเป็นแพะจริงหรือไม่
อย่างไรก็ดีทั้งสองเคยเขียนจดหมายถึงกัน มาซูเร็กขอบคุณไมเคิล ซึ่งเป็นอะไรที่ออกจะแปลกอยู่หน่อย สำหรับคนซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นฆาตกร กำลังคุยกับพี่ชายเหยื่อ ซึ่งไมเคิลได้เขียนตอบกลับไปว่า
“ถ้าคุณไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริง ก็ขอให้ได้รับการปล่อยตัว แต่ถ้าคุณฆ่าน้องผมจริง… ก็ขอให้ตกนรกหมกไหม้”
4.
ไมเคิลตรวจหลักฐานเอาผิดมาซูเร็กทุกอย่าง จนแน่ใจว่าสิ่งที่ทางการเอามาใช้ปรักปรำมาซูเร็กนั้น เป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนักอย่างมาก เมื่อเป็นข่าวออกไป คราวนี้ก็มีคนช่วยไมเคิลมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ชำนาญเรื่องตัวหนังสือ พบว่ามาซูเร็กไม่น่าจะเรียบเรียงประโยคเรียกค่าไถ่ได้เลย เมื่อตรวจอย่างละเอียด เชื่อได้ว่า คนเขียนต้องมีการศึกษาดี แต่พยายามเขียนให้เหมือนคนต่างชาติที่ไม่ชำนาญภาษาเยอรมัน
นอกจากนี้ประโยคที่ให้พ่อเออร์ซูลาขับรถเฟียต 600 สีเหลืองนั้น ในปี 1981 ไม่มีใครรู้จักรถยนต์รุ่นนี้ แต่มันปรากฏในหนังสือการ์ตูน เป็นไปได้ว่าฆาตกรน่าจะชอบอ่านมัน
ที่สำคัญก็คือ การเอาผิดมาซูเร็กนี้ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์แม้แต่นิดเดียว ไม่มีดีเอ็นเอของมาซูเร็กหรือลายนิ้วมือของเขาปรากฏอยู่ในกล่อง ในตัวศพ ไม่มีแม้แต่นิดเดียวว่าเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ถึงจุดนี้ไมเคิลยิ่งแน่ใจว่า มาซูเร็กไม่น่าใช่คนร้ายตัวจริง
“ตอนแรกผมก็คิดว่าเขาผิดจริง 50% แต่ตอนนี้ ผมคิดว่าเขาผิดจริงแค่ 1% เท่านั้น”
นั่นทำให้เขายืนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมาซูเร็กว่ามีส่วนทำให้เขาเกิดอาการหูแว่ว ซึ่งสุดท้ายศาลตัดสินให้อดีตช่างซ่อมทีวีต้องชดใช้ความเสียหาย
แต่นั่นเป็นเทคนิคทางกฎหมาย เพราะทำให้ผู้พิพากษาต้องออกมายอมรับกลายๆ ว่ามาซูเร็กไม่ใช่คนร้ายในคดีนี้ ตามที่ไมเคิลยื่นเรื่องไปว่า เขาได้ยินเสียงประหลาดนี้ เพราะจำเลยไม่น่าจะใช่คนร้ายที่ฆ่าน้องสาวเขา จึงต้องชดใช้ความเสียหายนี้
เหตุการณ์นี้สร้างความหัวเสียให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษาและคนในสังคมมาก ทำไมไมเคิลต้องไปปกป้องคนอย่างมาซูเร็กด้วย แม้หลักฐานจะไม่ชัดแจ้ง แต่เขาก็อาจเป็นฆาตกรตัวจริงในคดีนี้ แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัวฆ่าเออร์ซูลาแต่อย่างใด
“ผมรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนดี บางทีก็ทำตัวถ่อย คนพยายามป้ายสีว่าผมเป็นคนเลว แต่ผมไม่ใช่ฆาตกรที่จะทำแบบนั้นแน่”
ทนายมาร์ซูเร็กยืนยันว่า เขาไม่เคยเชื่อคำให้การของลูกความ แต่ก็พยายามอย่างดีที่สุดในการย้ำว่าหลักฐานปรักปรำนั้น มันต้องสมบูรณ์ ถูกต้องชอบธรรมเอาผิดได้
“แต่ในเคสของมาซูเร็ก มันไม่ได้ปรากฏหลักฐานชัดขนาดนั้น เขาอาจจะดูเหมือนคนที่ทำอะไรแบบที่ถูกกล่าวหา แต่หลักฐานมันอ่อนมาก ไม่มีอะไรชี้ชัดได้เลย”
ดังนั้นชายคนนี้ไม่ควรถูกจับติดคุก ตามหลักปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าแขวนคอคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว
ส่วนกรณีไมเคิลที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องมาซูเร็ก แต่ดันยื่นคำให้การคัดค้านการกระทำของศาล ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเยอรมันเลย แต่นั่นก็เพราะเขาศึกษาคดีนี้อย่างละเอียด และมั่นใจว่ามาซูเร็กไม่ใช่คนฆ่าน้องสาวของเขาแน่
“แม้เขาจะยอมยืนอยู่อีกด้านของกระบวนการยุติธรรมก็ตาม ช่างเป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่เขาก็พร้อมจะทำ”
ปัจจุบันมาซูเร็กจะพ้นโทษในเดือนมิถุนายนนี้ หลังโดนขังมากว่า 15 ปี ซึ่งชายคนนี้ยังยืนกรานว่าตัวเองคือผู้บริสุทธิ์ และเป็นแพะในคดีนี้
ส่วนไมเคิลนั้น ความหมกมุ่นในคดีน้องตัวเองทำให้เขาหย่าขาดกับภรรยาที่แต่งงานกันมานานและมีลูกด้วยกัน 4 คน ลูกศิษย์ต่างถามว่า ทำไมถึงไปโผล่ในทีวี พานักข่าวไปดูจุดที่น้องถูกฝัง จุดที่น้องหายตัวไป ซึ่งไมเคิลบอกเพียงว่า ต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้กับเออร์ซูลาตามที่ได้สัญญาไว้เท่านั้นเอง
ด้านสมาชิกครอบครัวคนอื่นต่างปิดปากเงียบ พ่อจากโลกไปแล้ว แม่ย้ายออกจากบ้าน เหลือเพียงน้องคนเล็กซึ่งยังเจ็บปวดต่อการหายตัวไปของเออร์ซูลาอยู่ แต่ตามที่ไมเคิลบอกก็คือ ทุกคนในครอบครัวเห็นด้วยในสิ่งที่เขาทำ นั่นก็คือเรียกร้องให้ทางการรื้อคดีนี้มาตรวจสอบใหม่อีกครั้ง แม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วย แต่ไมเคิลยืนยันที่จะทำ
เพราะเขากลัวว่าคนที่ฆ่าน้องตัวจริงจะยังลอยนวลอยู่ข้างนอก ไม่โดนจับกุมตัว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการให้ผู้ก่อเหตุตัวจริง ถูกดำเนินคดีด้วยหลักฐานที่ครบถ้วนหนักแน่นพอ
แม้จะต้องแลกกับการที่โศกนาฏกรรมฝันร้ายนี้จะยังคงลอยนวล และอาจไม่มีวันสิ้นสุดลงตลอดชีวิต
ไมเคิลบอกกับนักข่าว ถึงความมุ่งมั่นเพียรพยายามในเรื่องนี้ แม้จะทำให้คนทั้งโลกเห็นต่างจากเขาว่า
“การที่คดีจบลงแบบนี้ เป็นเรื่องที่ผิดมากๆ ดังนั้น ผมจึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพราะศีลธรรมในใจมันบอกว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว”
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/news/2019/sep/24/ursula-herrmann-germany-kidnapping-mystery
https://www.irishtimes.com/news/mystery-of-child-buried-alive-solved-as-accused-convicted-1.643889
Tags: เยอรมนี, ฆาตกรรม, Haunted History, ฆาตกรปริศนา