1

“สุภาพบุรุษทั้งหลาย นี่คือการปล้น”

ตอนที่ ริชาร์ด อบาธ (Richard Abath) อายุเพียง 23 ปี โลกอยู่ในคริสต์ศักราชที่ 1990 เขาอยู่ในวัยหนุ่มแน่น และมากด้วยความฝัน ริชาร์ดเลิกเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าสู่เส้นทางแห่งการเป็นนักดนตรี เขามีวงเล็กๆ ฝึกฝนฝีมือ วันหนึ่งคงดัง มีชื่อเสียง กลายเป็นศิลปินแห่งโลกเสียงเพลงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดีในปี 1990 ริชาร์ดกำลังตามหาความฝันแบบชีวิตลำเค็ญ รายได้จากการเล่นดนตรีกลางคืนไม่พอยาไส้ ประกอบกับการใช้ชีวิตนักดนตรีที่สุดเหวี่ยง เขาชอบปาร์ตี้ สังสรรค์ เป็นฮิปปี้ เหล้ายา และกัญชา เป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตอย่างมาก

ถ้าเส้นทางของริชาร์ดเป็นไปตามที่หวัง เขาจะพาวงดนตรีของตัวเองโด่งดัง มีชื่อเสียง เพลงที่ประพันธ์จะมีคนรู้จักมากมายไปทั้งโลก สาวๆ เข้าหา เงินทองไหลมา

แต่นั่นคือสิ่งที่ฝัน ถึงที่สุดเส้นทางของมันก็ตบหน้าให้เขาต้องตื่นมาพบความจริงอันโหดร้าย

วงดนตรีที่เขาอยู่เป็นเพียงวงกิ๊กก๊อก เล่นในบาร์ตอนกลางคืน มีคนเมาฟังบ้าง แต่ไม่มีวี่แววจะประสบความสำเร็จ และด้วยชีวิตที่เดินสู่เส้นทางเมรัยและกัญชา เขาจึงต้องหางานเสริมทำ

จะมีที่ไหนรายได้ดีและงานสบายไปกว่าการเป็นยาม ณ พิพิธภัณฑ์ที่ชื่อว่า อิสซาเบลลา สจวร์ต การ์ดเนอร์ (Isabella Stewart Gardner Museum) ตั้งตามชื่อเศรษฐินีคนหนึ่งในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ที่สะสมภาพวาดและงานศิลปะชื่อก้องโลกมากมาย

เมื่อเธอตาย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ได้รับการดูแลโดยหน่วยงานเอกชน ขายตั๋วเข้าชมภาพวาดอันล้ำค่า ซึ่งในช่วงปี 1990  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขาดแคลนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง

นั่นทำให้ริชาร์ดไปสมัครเป็นยามกะกลางคืน โดยจะเข้าเวรร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 1 คน เป็นงานที่สบายอย่างยิ่ง ชายหนุ่มเคยเมาทั้งเหล้าและยาไปทำงาน ก็ไม่มีใครรู้และไม่มีใครว่า มิเพียงเท่านั้น เขายังพาเพื่อนไปปาร์ตี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

รายได้งาม ชีวิตสบาย ริชาร์ดสุขใจยิ่งนัก

ความเพลิดเพลินของตัวเขาจะสิ้นสุดลง เมื่อนาฬิกาแจ้งเวลา 01.24 น. ของวันที่ 18 มีนาคม 1990 

2

ในเวลาดังกล่าว ริชาร์ดนั่งอยู่ที่โต๊ะยามหน้าพิพิธภัณฑ์ เขาสังเกตเห็นตำรวจ 2 นาย แต่งกายดูก็รู้ว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แห่งเมืองบอสตัน เจ้าหน้าที่เดินมาที่ประตูทางเข้า และเคาะเพื่อขออนุญาตบางอย่าง

ริชาร์ดเล่าให้นักข่าวฟัง ณ เวลาต่อมาว่า รปภ.ที่ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถ้าไม่เป็นคนแก่ ก็เป็นนักศึกษา ไม่มีใครที่จะสู้กับอาชญากรจริงๆ ได้

“เมื่อตำรวจ 2 นาย มาเคาะประตู พวกเขามีหมวก มีตรา เหมือนเจ้าหน้าที่จริงๆ ผมเลยปล่อยเขาเข้ามาข้างใน”

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งหายนะที่จะสร้างบาดแผลแก่ริชาร์ดไปทั้งชีวิต

ชีวิตที่ริชาร์ดหวังจะได้เป็นนักดนตรี จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

จากที่จะได้อ้าปากร้องเพลงให้คนฟัง เขาต้องเปิดปากแก้ตัวไปทั้งชีวิตแทน

ทางตำรวจถาม รปภ.หนุ่มว่า “คุณอยู่คนเดียวเหรอ”

“ผมมีเพื่อนอีกคนกำลังออกตรวจ”

“เรียกเขามานี่”

ริชาร์ดทำตามคำสั่งเจ้าหน้าที่แบบว่านอนสอนง่าย เมื่อแจ้งวอแก่เพื่อนร่วมงานเสร็จ หนึ่งในตำรวจก็พูดประโยคเรียบๆ ออกไปว่า “สุภาพบุรุษทั้งหลาย นี่คือการปล้น”

เสี้ยววินาทีต่อมา ริชาร์ดโดนจับล็อก ดันตัวกดกับกำแพง ถูกใส่กุญแจมือ สั่งให้นั่งลงกับพื้น ตอนนั้นเขารู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเพื่อน รปภ.อีกคนมาถึง ก็โดนแบบเดียวกัน 

โจรแสบเอาสก็อตเทป มัดหน้าปิดตาเขาไว้อย่างแน่นหนา แล้วลากริชาร์ดกับเพื่อนร่วมงานไปขังที่ห้องใต้ดินคนละจุด เพื่อจะไม่ต้องติดต่อกัน แล้วขังตายไว้ในนั้น

เมื่อจัดการ รปภ.สำเร็จ 2 มิจฉาชีพก็ใช้เวลาเพียง 81 นาที ในการกวาดทรัพย์สินมีค่าจำนวน 13 รายการ มีทั้งภาพวาดของ เรมบรันต์ ฟัน ไรจน์ (Rembrandt van Rijn) ศิลปินชาวดัตช์ จำนวน 3 ภาพ ผลงานของ เอดัวร์ มาแน (Édouard Manet) ถ้วยชามโบราณจากจีน และนกอินทรีสัมฤทธิจากปลายด้ามธง ซึ่งเป็นของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) อีกด้วย

โดยภาพวาดนั้น วายร้ายใช้การกรีดออกจากกรอบรูปออกไป ทิ้งไว้เพียงกรอบเปล่าๆ ซึ่งความเป็นมืออาชีพของอาชญากร 2 รายนี้ก็คือ พวกเขาใส่ถุงมือ เพื่อจะไม่ทิ้งลายนิ้วมือ และเอาเทปวงจรปิดติดตัวไปด้วย เมื่อออกมาได้ ก็ขึ้นรถขับหายตัวไปตลอดกาล

ด้านริชาร์ด ถูกขังอย่างไม่รู้อนาคต อยู่ภายใต้ความมืดในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์อย่างโดดเดี่ยว เขาฮัมเพลงของ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) และพยายามตั้งสติ

“ตอนแรกผมแพนิกอย่างมาก แต่ก็ค่อยๆ ร้องเพลงเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะไม่รู้ว่าถูกขังอยู่นานแค่ไหน แต่รู้ว่ามันช่างยาวนานอย่างมาก”

7 ชั่วโมงคือช่วงเวลาที่ริชาร์ดโดนพันธนาการ เมื่อถึงเวลา 8 โมงเช้านิดๆ เมื่อ รปภ.ชุดใหม่มาเปลี่ยนเวร พวกเขาแปลกใจที่ยามชุดกลางคืนหายตัวไป จึงออกสำรวจ แล้วก็พบเด็กหนุ่มผู้มีฝันอยากเป็นนักดนตรีถูกมัดอย่างแน่นหนา

คราวนี้หลังจากเจอตำรวจปลอม ริชาร์ดจึงได้พบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ตัวจริงเสียที

3

เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าสืบสวนก็ประเมินความเสียหาย พบว่าภาพวาดที่โจรลักไปนั้นมีมูลค่าถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน มิจฉาชีพกวาดทรัพย์สินไปสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) เลยทีเดียว

นี่จึงถือเป็นการปล้นซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกทันที

มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ ตำรวจบอสตันลงพื้นที่ระดมกำลังกันมา ด้านพิพิธภัณฑ์ก็ประกาศว่า ใครให้เบาะแสนำไปสู่การจับกุมและตามภาพคืนได้ จะได้เงินถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหากใครสามารถตามอินทรีสัมฤทธิ์ของนโปเลียนมาคืนก็จะได้เงินไป 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ 

อย่างไรก็ดีเมื่อสืบสวนไปเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ก็พบทางตันอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครให้ข้อมูล ไม่มีหลักฐานแม้แต่นิดที่จะนำไปสู่การสาวหาตัวอาชญากรได้

พวกเขาพบว่า มีภาพวาดมีค่ามากมายที่ไม่ได้ถูกหยิบฉวยไป แต่ไม่ได้หมายความผู้ก่อเหตุเป็นมือสมัครเล่น เพราะพวกเขารู้ดีว่าจะเอาภาพอะไรบ้าง มาถึงก็กรีดแล้วหยิบไปอย่างว่องไว มันต้องมีการวางแผนมาเป็นอย่างดีแน่นอน

เมื่อสาวหาตัวใครไม่ได้จนมืดแปดด้าน ตำรวจจึงตั้งทฤษฎีว่า งานนี้ต้องมีคนในเอี่ยว และผู้ที่น่าจะร่วมมือกับแก๊งคนร้ายมากที่สุดก็คือ รปภ.ที่เปิดประตูให้อาชญากรเข้ามา

นั่นก็คือริชาร์ดนั่นเอง

เจ้าหน้าที่คุมตัวเขาไปสอบหลายครั้ง นานนับชั่วโมง ยิ่งคุยกับตำรวจ ฝันที่จะได้เป็นนักดนตรีก็มอดดับไป เพราะตอนนี้ทั้งประเทศคิดว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีปล้นสะท้านแผ่นดินไปแล้ว

สิ่งที่ตำรวจสงสัยริชาร์ดมาก นั่นก็คือช่วงเวลาที่ 2 โจรก่อเหตุเป็นจังหวะเดียวกับที่ รปภ.อีกคนออกตรวจพอดี ซึ่งเมื่อยามเดินสำรวจพิพิธภัณฑ์ วงจรปิดก็จับภาพริชาร์ดเปิดประตูให้ผู้ก่อเหตุเข้ามาพอดิบพอดี

อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่เค้นอย่างไร ริชาร์ดก็ยืนยันความบริสุทธิ์ตัวเองว่า เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุปล้นแต่อย่างใด

“พิพิธภัณฑ์มีกฎห้ามให้คนนอกเข้ามา แต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นตำรวจล่ะ จะให้ผมทำไง”

แน่นอนว่าริชาร์ดยังเด็ก เขาเห็นอีกฝ่ายแต่งตัวเหมือนเจ้าหน้าที่ จึงเปิดให้เข้ามา กว่าจะรู้ตัวมันก็ช้าไปเสียแล้ว

แม้จะสงสัยแค่ไหน แต่ตำรวจบอสตันไม่เคยแจ้งข้อหาชายหนุ่ม อย่างไรก็ดี ทางเอฟบีไอก็ไม่เคยตัดเขาออกจากผู้ต้องสงสัยและยังจับตาดูอยู่เรื่อยมา เช่นเดียวกับสื่อมวลชนที่ยังเพียรสัมภาษณ์เขา ซึ่ง รปภ.ชั่วคราวก็ยังยืนยันว่าไม่มีเอี่ยวกับเหตุการณ์นี้แม้แต่นิด และตัวเขานั้นก็ตกเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ด้วย

“โจร 2 ตัวนั้นตัดภาพวาดของเรมบรันต์ ต่อให้ตามกลับมาได้ มันก็ไม่มีวันเหมือนเดิม นั่นทำให้ผมเสียใจอย่างมากที่เปิดให้พวกมันเข้ามา”

กระนั้นก็ตามแม้จะยันว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์แค่ไหนก็ตาม สังคมก็มองว่าเขาสร้างความพินาศให้กับพิพิธภัณฑ์ เพราะเปิดให้โจรเข้ามา ถ้าเขาไม่เปิด มันก็ก่อเหตุไม่ได้

“แล้วจะให้ทำไง ก็ผมเห็นตำรวจมายืนตรงหน้านะโว้ย”

นี่คือประโยคที่ริชาร์ดเน้นย้ำตลอดมา และในปี 1999 เขาก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่เมืองอื่น ความฝันนักดนตรีสูญสลาย กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา แถมยังตกเป็นแพะในเหตุปล้นนี้ด้วย เขาเลยไปเรียนปริญญาตรีให้จบ แล้วไปทำงานเป็นครูที่โรงเรียนของรัฐแทน

มีครอบครัว มีลูกที่น่ารัก 

เหมือนว่าฝันร้ายจะจบสิ้น

แต่มันก็แค่เหมือนเท่านั้น

4

ปริศนาคดีปล้นภาพวาดนี้สร้างความปวดเศียรให้แก่ทางการอย่างมาก เมื่อริชาร์ดไม่น่าใช่ผู้ต้องสงสัย พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะหาเบาะแสถึงโจรที่ไหน แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามอย่างเต็มที่ ทีแรกพวกเขาเชื่อว่าคนก่อเหตุน่าจะเป็นโจรปล้นภาพวาด จึงไล่หาดูว่าใครเข้าข่ายบ้าง และก็พบอยู่ 1 ราย แต่เมื่อตรวจสอบก็พบว่าอาชญากรรายนี้ติดคุกอยู่ในวันที่ปล้น

คดีนี้ยังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย แต่ตำรวจก็พบเบาะแสน่าสนใจจากคดีอื่นแทน นั่นก็คือคดีเกี่ยวกับมาเฟียทั้งหลายในเมืองบอสตัน เมื่อสาวจับคนในองค์กรเถื่อนแห่งนี้ ทางการก็พบว่ามีพยานหลายรายชี้ว่า พวกเขามีเอี่ยวกับการปล้นครั้งนี้ เพื่อเอางานศิลปะไปขาย หาเงินใช้กัน

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบปากคำอย่างละเอียด ก็ไม่อาจหาความเชื่อมโยงใดๆ ได้ เหล่ามาเฟียตัวเอ้ทั้งหลายเลือกจะพูดเป็นนัย แต่ไม่มีใครอ้าปากให้การ ยอมติดคุก ยอมตายกันบ้าง แม้จะสาวไปถึงเบาะแสเพียงใด ก็ไม่มีใครพูดความจริงออกมา

ตำรวจตามล่าทุกความเป็นไปได้ พวกเขาเชื่อว่าเหล่ามาเฟียลงขันกันปล้น เพื่อหาเงินจ้างทีมปล้นพาหัวหน้าแก๊งแหกคุกบ้าง หรือพวกกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army: IRA) ซึ่งอาศัยอยู่ในบอสตันกันมาก ก็อาจจะลงขันปล้น ขายภาพวาดให้เศรษฐีใต้ดิน หาเงินทำทุนก่อการร้ายบ้าง

แต่ไม่ว่าใครจะก่อเหตุ เชื่อได้เลยว่าภาพวาดล้ำค่าเหล่านี้ถูกขายไปแล้ว นักข่าวที่สืบสวนเหตุการณ์นี้พบว่า ยิ่งเขาค้นข้อมูลคุยกับบุคคลมากแค่ไหน เขาก็ยิ่งพบความซับซ้อนของโลกการซื้อขายภาพวาดใต้ดินมากเท่านั้น

“มันเหมือนเรียนรู้วิธีการเล่นหมากรุกเลย ยิ่งค้นเจออะไร ก็ยิ่งเห็นอะไรเยอะขึ้น”

อย่างไรก็ดี ทั้งตำรวจ นักข่าว และนักสืบสมัครเล่นทั้งหลาย แม้จะสืบสวนอะไรไปแค่ไหน แต่พวกเขาไม่อาจย้อนกลับมาไขคำตอบของคำถามในคดีนี้ได้แม้แต่คนเดียว นั่นก็คือประโยคที่ว่า

“ใครเป็นคนก่อเหตุ”

5

ในปี 2015 หรือ 25 ปีหลังการปล้นสะท้านโลก เอฟบีไอเผยภาพวงจรปิด เป็นชายรายหนึ่งดึงปกเสื้อโค้ตขึ้น และเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ตอนตี 1 ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับตอนปล้น แต่อยู่กันคนละวัน เพราะเหตุชายปริศนาเดินเข้าประตูนี้เกิดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 1990 หรือ 1 วันก่อนการก่อเหตุ

และยามที่เปิดประตูให้ชายคนนี้เข้ามาก็คือริชาร์ดนั่นเอง

พลันที่ภาพนี้ปรากฏออกไป สื่อและตำรวจก็ลากตัวริชาร์ดมาสอบปากคำอีกครั้ง และอีกครา พยายามกดดันว่าเขามีส่วนในการปล้นนี้ แต่ชายหนุ่มที่อยู่ในวัยกลางคนย้ำว่า เขาไม่เกี่ยวข้องในการก่อเหตุ 

เจ้าหน้าที่เชื่อว่าชายปริศนานี้เข้ามาดูลาดเลาก่อนลงมือ โดยมี รปภ.หนุ่มร่วมลงมือด้วย อย่างไรก็ดีสุดท้ายชายดึงปกเสื้อโค้ตขึ้น ก็ปรากฏโฉม และกลายเป็นว่าเขาคือรองผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ และเขาเข้ามาตรวจสอบความเรียบร้อยเท่านั้น เมื่อทางการตรวจสอบก็พบว่าเป็นความจริง

งานนี้ทำเอาเจ้าหน้าที่หน้าแตก และเป็นการปิดฉากปลดริชาร์ดจากการเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ทันที

ส่วนการตกเป็นแพะว่าเลินเล่อเปิดประตูให้คนร้ายเข้ามานั้น สังคมไม่เคยให้อภัยชายคนนี้เลยแม้แต่น้อย

ถึงทุกวันนี้เหตุการณ์ปล้นพันล้านยังคงเป็นปริศนา คดียังปิดไม่ลง ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าใครลงมือกันแน่ ซึ่งทุกฝ่ายก็หวังว่าจะได้รู้ความจริงในสักวัน

ยกเว้นริชาร์ด ซึ่งไม่มีโอกาสได้รับรู้อีกต่อไป เพราะในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 เขาก็จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 57 ปีเท่านั้น

โดยไม่มีโอกาสได้รับการยกโทษจากเจ้าหน้าที่และสังคมแม้แต่น้อย

ริชาร์ดเคยเล่าถึงความเจ็บปวดที่ต้องตกเป็นแพะ กลายเป็นผู้ต้องสงสัย ที่มันติดตัวเขาไปทั้งชีวิต นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นไว้อย่างน่าสนใจว่า เขาไม่อยากถูกจดจำแบบนี้ แต่อยากถูกระลึกถึงแต่สิ่งดีๆ เมื่อตายไปแล้ว ว่าเขาเป็นสามี เป็นพ่อของลูกที่น่ารัก 2 คน

แต่ทุกฝ่ายกลับพูดว่าเขามีเอี่ยวกับการทำภาพวาดมูลค่าพันล้านหายไป เพราะเป็นคนตัดสินใจให้โจรเข้ามา นี่คือสิ่งที่สังคมไม่เคยให้อภัยเลย

“มันเหมือนพวกเขาเลือกผมไปบูชายัญตลอดกาล”

 

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2024/02/29/us/richard-abath-dead.html

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/five-things-know-about-isabella-stewart-gardner-art-heist-180977448/

https://www.nytimes.com/2015/08/07/arts/design/25-years-after-gardner-museum-heist-video-raises-questions.html

https://www.gardnermuseum.org/about

https://www.nytimes.com/2015/03/01/arts/design/isabella-stewart-gardner-heist-25-years-of-theories.html

https://www.npr.org/2015/03/13/392567024/former-security-guard-reflects-on-what-he-lost-one-fateful-night

https://www.smithsonianmag.com/smart-news/mobster-who-may-be-last-living-person-knowledge-gardner-museum-heist-set-be-released-prison-180971700/





Tags: , , , , ,