1
ในที่สุด สตาลินก็ทำภารกิจที่เริ่มไว้สำเร็จ
มีหลายคนบอกว่า สถานที่แห่งนี้เหมือนป้อมปราการยิ่งกว่าบ้าน มันเป็นความเห็นที่ตรงกับเจ้าของที่พักแห่งนี้มาก ก่อนตายเจ้าตัวเคยเอ่ยปากว่า เมื่อมีการก่อสร้างกำแพงสูงเพื่อป้องกันภัยอันตรายจากข้างนอก แม้จะปลอดภัย แต่หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่า มันเหมือนกับคุกเลย
ป้อมปราการแห่งนี้ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีเศรษฐีอเมริกันจ่ายเงินเดือนให้ พวกเขามีหน้าที่อย่างเดียวคือ สอดส่องและดูแลไม่ให้เจ้าของบ้านถูกฆ่า
เดิมทีนิวาสสถานนี้ไม่ได้สร้างให้ตระหง่านมิดชิด ทว่าก่อนหน้านั้นมีมือปืนบุกเข้ามากระหน่ำยิงเจ้าของบ้าน รัวหลายนัด หวังถึงชีวิต แต่เป้าหมายยังดวงแข็ง รอดมาได้โดยไม่เป็นอะไรเลย
ข่าวการลอบสังหารเป็นเรื่องใหญ่ไปทั้งโลก ทำให้สาวกและผู้ชื่นชอบเจ้าของบ้านร่วมลงขัน ทำที่พักให้ดูมั่นคง ปลอดภัยจากศัตรู พร้อมวางระบบคน เพื่อสอดส่องบนป้อมสูง ดูว่ามีภัยอะไรจะมากล้ำกรายชายคนนี้อีกหรือไม่
หากพบจะได้ป้องกันได้ทัน
ผู้สอดส่องเฝ้าระวังมั่นใจว่า การก่อเหตุครั้งถัดไปน่าจะเป็นการใช้ระเบิดถล่ม นี่เองจึงต้องสร้างที่พักให้แกร่ง รับมือกับหายนะที่คงจะมาถึงในไม่ช้าได้
ทุกคนเป็นผู้ศรัทธาเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง พวกเขาเป็นคนอเมริกัน แต่เลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงอาสามาทำงานนี้อย่างเต็มใจ
หน้าที่ของทีมรักษาความปลอดภัยเกือบจะประสบความสำเร็จ เพราะแม้นไม่มีใครดาหน้าบุกเข้ามาฆ่าอีกต่อไป
แต่พวกเขาก็หยุดการลอบสังหารไม่ได้
วันที่ 20 สิงหาคม 1940 หรือราว 3 เดือนหลังการลอบสังหารที่ล้มเหลว แฟรงก์ แจกสัน (Frank Jacson) แฟนของหญิงสาวซึ่งเป็นคนวงในใกล้ชิดกับเจ้าของที่พัก เดินทางมาถึงบ้าน
ไม่มีใครเอะใจว่า นามสกุลแจกสันเป็นการสะกดผิดจากคำว่า แจ็กสัน (Jackson) นั่นเป็นเพราะทุกคนรู้ดีว่า ชายคนนี้ไม่ได้ชื่อแฟรงก์ แจกสัน มันเป็นชื่อปลอมที่มีไว้เพื่อขอหนังสือเดินทางแคนาดา เนื่องจากเจ้าตัวมีชื่อว่า ฌัก โมนาร์ด (Jacques Mornard) ลูกนักการทูตเบลเยียม สาเหตุที่ต้องปลอมแปลงเพราะกลัวถูกเรียกเกณฑ์ทหาร
โมนาร์ดหรือแจกสันเข้านอกออกในเคหสถานแห่งนี้มาได้กว่า 10 ครั้งแล้ว จนทีมรักษาความปลอดภัยไม่สงสัย เขาเป็นคนรักของสาวที่เป็นสาวกคอมมิวนิสต์ตัวเอ้ เคารพเจ้าของบ้าน นับเป็นคนวงใน ที่คาดว่าคงไม่เป็นอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น
พลันที่แจกสันเดินเข้าไปในบ้านหลังนี้ เขาบอกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า จะตีพิมพ์บทความในนิตยสาร และอยากให้เจ้าของนิวาสสถานช่วยตรวจทานก่อน
ผู้ดูแลอนุญาต การพบกันเกิดขึ้นที่ชั้น 2 ในห้องที่ล็อกประตู ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งกับการสนทนา และป้องกันการลอบสังหาร
ไม่มีใครตระหนักหรือรู้เลยว่า โมนาร์ดหรือแจกสันไม่ใช่ชื่อจริงของชายคนนี้ เขาไม่ได้เป็นคนแคนาดาหรือเบลเยียม แต่เป็นคนสเปนต่างหาก และเจ้าตัวมีชื่อเสียงเรียงนามว่า รามอน เมอร์กาแดร์ (Ramón Mercader) แม้เขาจะเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ใช่สายเดียวกับเจ้าของบ้านแห่งนี้
พลันที่รามอนพบหน้าชายชรา เขาก็ควักที่เจาะน้ำแข็งออกมาทันทีจากเสื้อโค้ต แล้วพุ่งเข้าแทงใส่หัวอีกฝ่ายอย่างจัง ของแหลมปักเข้าศีรษะเป้าหมายจมลึกลงไป 7 เซนติเมตร เลือดนองไหลอาบ
แต่เจ้าของบ้านยังทรหด ไม่ยอมตาย เขาตะโกนร้อง จนทีมรักษาความปลอดภัยโผเข้ามา แล้วตรงเข้าจับกุมรามอนในชื่อโมนาร์ดหรือแจกสันทันที
ขณะกำลังพัลวันกันอยู่นั้น ชายชราตะโกนออกมาว่า “อย่าฆ่ามัน แต่เค้นข้อมูลจากมันก่อน”
หลานชายได้ยินเสียงดังจึงรีบวิ่งไปดูที่ห้องดังกล่าว พบปู่ถูกอาวุธแทงเลือดไหล เป็นภาพสุดสะพรึง เขาสบตากับผู้เฒ่าที่แม้จะบาดเจ็บสาหัส แต่ยังพูดออกมาด้วยน้ำเสียงเมตตาว่า
“พาหลานออกไปก่อน เขาไม่ควรมาเห็นภาพนี้”
ประโยคนี้ยังตราตรึงในใจเด็กน้อยเสมอมา เขาบอกว่า แม้ในช่วงวิกฤต ปู่คนนี้ก็ยังมีความเมตตา
“ขนาดเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เขายังเป็นห่วงผมเลย”
การลอบฆ่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จ 24 ชั่วโมงต่อจากนี้ ปู่ของเด็กน้อยเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
รายงานข่าวความตายของเป้าหมายพุ่งตรงไปถึงกรุงมอสโก ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งมีหนวดเรียวงาม แต่แฝงความโหดเหี้ยม รับทราบข้อมูลอย่างพึงพอใจ
เจ้าของบ้านป้อมปราการมหึมา ชายชราผู้สุภาพ ฉลาดหลักแหลม สิ้นฤทธิ์เสียที ชายผู้มีส่วนร่วมกับการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ ก่อตั้งสหภาพโซเวียต บุรุษผู้ก่อตั้งกองทัพแดง รบชนะกองกำลังตอบโต้การปฏิวัติ คนที่ได้รับการคาดหมายว่า จะได้สืบทอดขึ้นเป็นผู้นำแห่งดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล แต่สุดท้ายกลับพ่ายแพ้และต้องลี้ภัยมาถึงเม็กซิโก
ในที่สุด เลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) ก็ถูกฆ่าตาย
2
เลฟ ดาวิโดวิช บรอนสตีน (Lev Davidovich Bronstein) เป็นคนยูเครนเชื้อสายยิว ในปี 1877 ที่ชายคนนี้ถือกำเนิดขึ้น บ้านเกิดของเขายังอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย เมื่อโตมาเป็นวัยรุ่นก็สมาทานแนวคิดมาร์กซิสม์ เชื่อในลัทธิคอมมิวนิสต์ จนเลิกเรียนมหาวิทยาลัย ไปก่อตั้งองค์กรใต้ดิน สหภาพแรงงานรัสเซียใต้ จนโดนจับและติดคุกในวัย 23 ปีเท่านั้น
กระนั้น เรือนจำอันห่างไกลและหนาวเหน็บที่ไซบีเรีย ก็ไม่อาจดับอุดมการณ์แรงกล้าของทรอตสกีได้ เมื่อสบโอกาส เขาหนีไปอังกฤษ ใช้ชื่อในหนังสือเดินทางว่า เลออน ทรอตสกี และกลายเป็นชื่อนามสกุลจริงของเขาจนถึงวันตาย
การเกิดใหม่ของทรอตสกี ทำให้เขากลายเป็นนักปฏิวัติ เจ้าตัวเข้าร่วมกับ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ร่วมคิด ร่วมถก บางครั้งก็ทะเลาะ แตกแยก แต่ก็มาจับมือกันเพื่อหวังสร้างสังคมใหม่ในแผ่นดินรัสเซีย แม้จะล้มเหลว ถูกมองเป็นพวกหัวรุนแรง ต้องลี้ภัยไปหลายประเทศ
แต่เมื่อเดือนตุลาคม 1917 เดินทางมาถึง ทรอตสกีก็กลับประเทศและมีส่วนในการยึดอำนาจ ปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าซาร์ และเป็นคนเจรจาสันติภาพกับเยอรมนี เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ของรัสเซีย
ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตัวยังมีส่วนก่อตั้งกองทัพแดงที่มีไว้เพื่อปกป้องระบอบใหม่ มีการตั้งผู้แทนพรรคประจำกองทัพ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และกุมอำนาจกระบอกปืน
ด้วยกองทัพแห่งระบอบคอมมิวนิสต์ มันปราบปรามศัตรูผู้เห็นต่าง จนสามารถก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้สำเร็จ และทรอตสกีได้รับความดีความชอบ มีความโดดเด่น จนได้รับการคาดหมายว่า เขาคือทายาทผู้สืบทอดอำนาจจากเลนินอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดีในปี 1924 เมื่อเลนินตาย ทรอตสกีกลับเสียท่าทางการเมือง สูญดุลอำนาจให้กับชายหนุ่มหนวดงามที่ชื่อว่า โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ซึ่งนำพาระบอบคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียต สู่ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองและผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยแก่ผู้นำ
ทรอตสกีตกกระป๋อง ถูกปลดจากทุกตำแหน่ง โดนขับไล่ให้ไปอยู่ในสถานที่กันดาร ไกลจากอำนาจในมอสโก กระนั้นสตาลินก็ไม่ไว้ใจเพื่อนที่เคยร่วมปฏิวัติกันมา
และนี่เองทำให้ทรอตสกีต้องลี้ภัยทางการเมืองไปตุรกี ฝรั่งเศส และนอร์เวย์ ก่อนที่ในปี 1936 เขาจะลงหลักปักฐานที่เม็กซิโกพร้อมครอบครัว
บ้านพักย่านชานเมืองของกรุงเม็กซิโกซิตี้ ดูสงบ เรียบง่าย นักปฏิวัติในวัยชรายังคงติดตามสถานการณ์บ้านเมือง และมีผู้เลื่อมใสในแนวความคิดของทรอตสกีมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นประจำ เพราะสาเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้สตาลินยิ่งหวาดระแวง จึงสั่งบังคับอำนาจยุติธรรมให้ถือว่า ทรอตสกีมีความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องโทษประหารชีวิต
นั่นทำให้ชายชราหมดสิทธิกลับประเทศ ถ้ายังไม่อยากโดนฆ่า ต้องอยู่เม็กซิโกไปก่อน จนกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง
ทว่าสตาลินไม่เคยเบาใจศัตรูคนนี้เลย เขาสั่งการให้หน่วยสายลับทำภารกิจนี้ให้ได้
ลอบสังหารทรอตสกีซะ
3
เดือนพฤษภาคม 1940 มือปืน 20 คน บุกเข้าไปยิงทรอตสกีถึงห้อง กระสุน 100 กว่านัด ซัดเข้าตัวบ้านแบบดุเดือด อย่างไรก็ดีทีมรักษาความปลอดภัยจากอเมริกาที่เลื่อมใสในลัทธิแดงแบบชายชรา สู้กลับจนอีกฝ่ายล่าถอย
เหตุการณ์นี้เอง ทำให้ผู้เฒ่านักปฏิวัติเริ่มเข้าใจแล้วว่า สตาลินคงจะไม่เลิกราที่จะฆ่าเขาอย่างแน่นอน เจ้าตัวจึงให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า
“ผมเริ่มคุ้นชินกับความตายแล้ว เพราะตอนนี้มีลูกน้องของสตาลินที่อยู่ไกลกันครึ่งค่อนโลก ตามล่าผมอยู่”
และแล้ว ในวันที่ 20 สิงหาคม 1940 ลิ่วล้อของจอมเผด็จการโซเวียตก็ทำสำเร็จ
โดยใช้มือสังหารจากสเปน
รามอน เลื่อมใสลัทธิคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน ไม่ใช่แบบทรอตสกี โดยแม่ของเขาเป็นคนชักนำและบอกให้ลูกสุดที่รักรับงานเป็นสายลับให้กับสหภาพโซเวียต เขาเรียนรู้การปลอมตัว บ่อนทำลาย ลอบสังหาร และแผนสำคัญคือ เข้าไปจีบหญิงสาวอเมริกันที่สนิทกับทรอตสกี
ฆาตกรจากสเปนล่อลวงจนได้หัวใจอีกฝ่ายมาครอบครอง จากนั้นจึงย้ายไปอยู่สหรัฐฯ แล้วชักชวนให้เธอเดินทางไปอยู่ดูแลทรอตสกีที่เม็กซิโก โดยเขาจะใช้ชื่อปลอมจากหนังสือเดินทางแคนาดา ซึ่งหน่วยข่าวกรองโซเวียตจัดทำให้ โดยเอาชื่อจากชายชาวแคนาดาที่มีตัวตนจริงๆ ซึ่งถูกฆ่าในสงครามกลางเมืองสเปน แต่ก็ยังสะเพร่าสะกดชื่อผิดด้วย
กระนั้น กลับไม่มีใครเอะใจอย่างใด จนถึงวันที่กำหนดให้ต้องฆ่า ความจริงจึงปรากฏ
รามอนรู้จักระบบรักษาความปลอดภัยทุกอย่าง ดังนั้นเขาจึงขโมยที่เจาะน้ำแข็งจากเพื่อนมาเก็บไว้ในเสื้อโค้ต แล้วซ่อนปืนไว้ด้วย
เจ้าตัวบอกว่า ด้วยการดูแลที่เข้มงวด “หนทางเดียวที่จะฆ่าเป้าหมายได้ คือต้องเชือดให้เงียบ แล้วหนีออกไปในฐานะแขก ก่อนที่ทีมงานจะพบศพ”
หน่วยข่าวกรองโซเวียตย้ำให้ใช้อาวุธเฉาะเข้าด้านหลังศีรษะทรอตสกี จะได้ไม่มีเสียงร้อง และหนีออกมาได้อย่างสบายๆ
พูดง่าย แต่เวลาทำจริงมันยาก
มือสังหารจากสเปนโดนจับและถูกไต่สวน ช่วงเวลานั้นทรอตสกีถูกพาตัวไปส่งโรงพยาบาล ทีแรกเขาเหมือนจะพ้นจากอาการสาหัส แต่เมื่อเวลาเดินผ่านไป ดูเหมือนบาดแผลจะยิ่งฉกรรจ์ ชายชราทรุดลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
ว่ากันว่า ก่อนตายทรอตสกีพูดรำพึงออกมาว่า “ในที่สุด สตาลินก็ทำภารกิจที่เริ่มไว้สำเร็จ”
มันเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ หลานชายของทรอตสกีเล่าว่า มีคนกว่า 3 แสนรายเข้าแถวเพื่อคารวะนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ทุกคนร่ำไห้ แนวคิดและความเชื่อทางการเมืองของบุรุษรายนี้ ยังคงได้รับการศึกษา เล่าขาน และมีคนสมาทานปรับใช้ เพื่อหวังให้โลกดีกว่าเดิมจนถึงปัจจุบัน
“ปู่ของผม ไม่ควรตายแบบนี้ ถ้าเทียบกับสิ่งที่เขาทำมาทั้งชีวิต ในฐานะนักสู้ นักปฏิวัติ”
4
สตาลินรู้ข่าว แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธไม่รู้เห็นในเรื่องนี้ ทางรามอนถูกศาลเม็กซิโกตัดสินจำคุก 20 ปี ร่ำลือกันว่า จอมเผด็จการหนวดงาม แอบมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลนิน อันเป็นเกียรติยศสูงสุดของคนโซเวียต ให้กับรามอนแบบลับๆ ด้วย
ที่สำคัญนักฆ่ารายนี้ยังได้รับเงินเดือนจากมอสโก ได้รับความสะดวกสบาย แถมมีการจัดหาเมีย หากพ้นโทษเมื่อไรจะได้มีครอบครัว
ในปี 1960 เมื่อนักฆ่าจากสเปนออกจากคุก เขาเดินทางไปมาระหว่างคิวบากับโซเวียต โดยมีชนักติดหลังในฐานะฆาตกรผู้ปลิดชีพทรอตสกี ฆาตกรที่สังหารบุรุษซึ่งรับใช้ระบอบคอมมิวนิสต์แบบสุดจิตสุดใจ ชายผู้หวังว่าโซเวียตจะเป็นโลกใหม่ที่ทุกคนเท่าเทียม ไร้ซึ่งการกดขี่
แต่สุดท้าย มันกลับนำพาไปสู่ระบอบเผด็จการที่โหดร้ายสุดในโลก มีคนถูกสตาลินอุ้มฆ่าไปนับล้าน สูญหายไม่รู้ชะตากรรมจนถึงทุกวันนี้
ที่น่าเจ็บปวดอีกอย่างคือ อัฐิของทรอตสกีกลับถูกโปรยที่บ้านซึ่งเขาโดนฆ่า ณ เม็กซิโก แต่ร่างไร้ลมหายใจของรามอนดันถูกพาไปฝังไว้ที่โซเวียต เขาถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ ทั้งที่เป็นฆาตกร
แม้กระทั่งโลกหลังความตาย เผด็จการก็ไม่ปรานีดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตแม้แต่น้อย ช่างเป็นความอยุติธรรมที่โหดร้ายในหน้าประวัติศาสตร์เหลือเกิน
อย่างไรก็ดี มีบันทึกจากภรรยาของรามอนเปิดเผยว่า ขณะฆาตกรกำลังจะตายด้วยมะเร็งร้ายที่คิวบาในปี 1978 เจ้าตัวพูดถึงทรอตสกี และอาจเป็นหลักฐานบันทึกเศษเสี้ยวแห่งความยุติธรรมหนึ่งเดียวที่นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของโลกจะได้รับ
มันคือประโยคที่นักฆ่าพูดออกมาในช่วงสุดท้าย ก่อนเสียชีวิตอย่างทุรนทุรายว่า
“ผมได้ยินเสียงกรีดร้องของทรอตสกี ได้ยินมันตลอดเวลา ผมรู้แล้วว่า ที่ปลายทางอีกภพหนึ่ง เขาคงรอเจอผมอยู่”
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.theguardian.com/world/2017/sep/13/trotsky-ice-axe-murder-mexico-city
https://www.history.com/news/the-trotsky-assassination-75-years-ago
https://www.theguardian.com/world/1940/aug/22/russia.fromthearchive
https://www.bbc.com/news/av/magazine-33909385
https://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/trotsky_leon.shtml
https://www.france24.com/en/20200819-80-years-since-trotsky-assassinated-by-stalin-agent
https://www.barcelona-metropolitan.com/features/history/the-story-of-ramon-mercader/
Tags: Haunted History, Leon Trotsky, Joseph Stalin, คอมมิวนิสต์, สหภาพโซเวียต