1.

“พวกเขาไม่ควรเก็บภาษีจากเงินผิดกฎหมาย”

ใครเลยจะเชื่อว่า จุดเริ่มต้นแห่งการโค่นเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลในอเมริกา จะเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลสูงสุดในวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 1927

ยุคนั้น สภาผู้แทนราษฎรของอเมริกา ทั้ง สส. และวุฒิสมาชิก ต่างเกิดไอเดียประหลาด ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นของผิดกฎหมาย กลายเป็นยุคห้ามขายเหล้า เกิดขึ้นในปี 1920-1933 หวังจะสร้างศีลธรรมอันดีให้กับคนอเมริกัน

แต่แล้วมันกลายโอกาสอันโอชะของหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ นักการเมือง เจ้าหน้าที่ และมาเฟีย ที่สรรหาผลิตเหล้าเถื่อนขายให้กับประชาชน

ทุกคนรู้ว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ทางการก็มีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจมาปราบปราม อย่างไรก็ดีมันยิ่งเอื้อให้เกิดการเรียกสินบน เพื่อหลิ่วตาให้การขายเหล้าดำเนินต่อไปได้

แต่ในประเทศที่กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ (อยู่บ้าง) จึงต้องมีการจับพ่อค้าเหล้าเถื่อนรายย่อย แลกกับการปล่อยตัวใหญ่เฉิดฉาย

อย่างไรก็ดี วันดีคืนดี พ่อค้าเหล้าเถื่อนชื่อโนเนมรายหนึ่ง ต่างตัดสินใจจ้างทนายสู้ต่อศาล หลังถูกกรมสรรพากรเข้ายึดทรัพย์ที่ได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะตีความว่า มันเป็นรายได้ที่ต้องถูกหักนำส่งเข้ารัฐ พูดง่ายๆ ว่ารายได้ผิดกฎหมายนี้ ต้องเสียภาษีด้วย

ทนายของพ่อค้าเหล้ารายนี้ชี้ว่า การทำแบบนี้คือการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ระบุขอบเขตอำนาจรัฐบาลกลางไว้ให้มีขอบเขตจำกัด ไม่อาจเข้ามาแจ้งข้อหาเลี่ยงภาษีแก่อาชญากรได้

เพราะเงินผิดกฎหมาย ไม่ควรเก็บภาษี

เรื่องถูกส่งไปยังศาลสูง ซึ่งมีคำตัดสินว่า การเรียกเก็บภาษีเงินผิดกฎหมายนี้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะรายได้จากธุรกิจลักษณะนี้ถือเป็นรายได้ ดังนั้นต้องเสียภาษีด้วย โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ

ในเวลาต่อมา คำตัดสินนี้จะส่งผลอย่างอ้อมๆ กลายเป็นมาตรฐานไปทั่วทั้งโลก ซึ่งทางการสามารถยึดทรัพย์ผิดกฎหมายของอาชญากรเข้าหลวงได้อย่างชอบธรรม

แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครตระหนัก ยกเว้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอเมริกาที่เห็นโอกาสและช่องทางสำคัญในการพิฆาตเจ้าพ่อมาเฟียทั้งหลายทันที เขาได้เรียกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการมาพบ และสั่งการสั้นๆ ไปว่า

“จัดการ อัลคาโปนเสีย”

2.

ย้อนกลับไปในปี 1899 ณ นครนิวยอร์ก สามีภรรยาผู้อพยพชาวอิตาเลียนคู่หนึ่ง ได้ให้กำเนิดบุตรชายบนแผ่นดินอเมริกัน และตั้งชื่อเด็กว่า อัล คาโปน (Al Capone)

ทารกน้อยคนนี้เติบโตมาเหมือนลูกผู้อพยพชาวอิตาเลียนในดินแดนแห่งโอกาสคนอื่นๆ บางคนไปถึงใฝ่ฝัน แต่บางรายไปได้แค่ข้างถนน อัล คาโปน เกิดในครอบครัวยากจน ไร้โอกาส และอยู่ในสภาวะที่จะถีบตัวเองผ่านการศึกษาได้เพียงแค่อายุ 14 ปีเท่านั้น เมื่อเขาก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะชกครู

พอไม่เรียนหนังสือ เด็กน้อยก็เริ่มทำงาน โดยการรับจ้างขัดรองเท้า ซึ่งเป็นอาชีพที่ลูกผู้อพยพอิตาเลียนทำกันเต็มทั่วท้องถนน

ย่านที่คาโปนน้อยอยู่ เขาสังเกตเห็นชายฉกรรจ์แต่งชุดสูทหรูเนี้ยบเดินเก็บเงินจากพ่อค้าในย่านนั้น หากใครไม่ให้ จ่ายไม่ทัน เงินไม่พอ ก็จะถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง สิ่งนี้ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้เด็กชายรายนี้ แต่มันทำให้เขาได้ไอเดียสำคัญ

และจะเป็นก้าวแรกแห่งโลกอาชญากรรมในลำดับต่อมา

หนุ่มน้อยรวบรวมญาติ แล้วตรงไปหาเด็กที่รับจ้างขัดรองเท้า ก่อนจะตรงเข้าทำร้ายร่างกาย พร้อมสั่งว่า ถ้าอยากทำงานตรงนี้ ต้องจ่ายค่าคุ้มครองรายวัน นั่นทำให้เขามีรายได้จากการขูดรีดเด็กคนอื่นๆ

และชื่อเสียงฉาวเริ่มต้นนี้เอง ทำให้มาเฟียอิตาเลียนดึง อัล คาโปน ไปทำงานด้วย โดยให้เขาเริ่มงานรับจ้างขนแอลกอฮอล์เถื่อน เดินเก็บค่าคุ้มครอง ดูแลบ่อนพนัน ซ่อง แต่มีอาชีพจริงๆ คือบาร์เทนเดอร์ ก่อนจะถึงอายุ 20 ปี คาโปนก็ได้รับฉายาว่า ไอ้หน้าบาก หลังมีเรื่องในบาร์จากการเข้าไปหลีผู้หญิง ก่อนจะเจอมาเฟียรุ่นพี่ ชักมีดเฉือนใส่หน้า

แผลเป็นนี้ จะกลายเป็นฉายาของอัลคาโปนชั่วชีวิต

แท้จริงแล้วตอนอายุ 19 ปี มาเฟียหนุ่มได้แต่งงานและมีลูกชาย ก่อนผละออกจากเส้นทางมาเฟีย ไปทำงานเป็นคนทำบัญชีในธุรกิจถูกกฎหมายแล้ว

ไม่รู้เพราะชะตาขีดแบบนี้ หรือเขาหลงใหลในโลกอาชญากรรม ที่เงินทองหามาได้ง่ายๆ พลันที่มีคนมาชวนคาโปนให้กลับสู่เส้นทางนักเลง เขาจึงหวนคืนสู่โลกใต้ดินที่เปี่ยมความรุนแรงเหี้ยมโหด ที่ซึ่งกระสุน เลือด และความตาย ทรงพลังกว่ากฎหมาย

อัลคาโปนไปทำงานรับใช้ลูกพี่ ย้ายไปเมืองชิคาโก และเริ่มธุรกิจจำหน่ายเหล้าเถื่อน โดยเริ่มจากการผลิต ขนส่งและบริการครบวงจร แม้จะเป็นของผิดกฎหมาย แต่มนุษย์ก็ยังชมชอบแอลกอฮอล์มาเป็นเวลาช้านาน ยากที่รัฐจะมาบังคับได้

เมื่อสะสมบารมีมากพอ เขาก็ขึ้นเป็นใหญ่ จากนั้นทั่วทั้งอเมริกาจะรู้จักเจ้าพ่ออัลคาโปน

คาโปนมีรายได้จากธุรกิจตรงนี้อย่างมหาศาล คาดว่าเขามีเงินถึงปีละ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบัน คือ 891 ล้าน และตลอดชีวิตเขาจะมีทรัพย์สินเทียบกับค่าเงินทุกวันนี้ คือ1.5 พันล้านดอลลาร์

ผลงานความร่ำรวยนี้ทำให้เขาได้รับฉายา ราชาแห่งเมืองชิคาโก เจ้าพ่ออาชญากรรมสุดสะพรึงเป็นคนแรกๆ ในอเมริกา

สิ่งที่แลกมากับรายได้มหาศาลเข้าขั้นอภิมหาเศรษฐีของคาโปนก็คือ การจ่ายสินบนให้กับตำรวจ นักการเมือง เพื่อให้ปิดตาข้างหนึ่ง จะได้ขายเหล้ากันอย่างสะดวกโยธิน

แน่นอนว่าการจ่ายเงินแบบนี้ ทำให้องค์กรอาชญากรรมของคาโปนเหิมเกริม ไม่กลัวเจ้าหน้าที่ กล้าฆ่าศัตรู กล้าจัดการประชาชนรังแกรีดไถทรัพย์สิน เพราะคนใช้กฎหมายนิ่งเฉย เหล่าอาชญากรจึงเริงร่าทำตามใจตัวเอง

ธุรกิจเหล้าเถื่อนของชิคาโก เฟื่องฟูสุดขีด จึงดึงดูดคู่แข่งคาโปนให้เข้ามาในเมืองด้วย และนั่นจึงนำไปสู่การไล่ฆ่ากันอย่างดุเดือด สมฐานะบ้านป่าเมืองเถื่อนโดยสมบูรณ์แบบ

คาโปนเป็นเจ้าพ่อ เขาไม่เคยปราณี ไม่เคยปล่อยให้ใครลูบคม ตอนที่คำพิพากษาในปี 1927 ออก เจ้าพ่อรายนี้ยังไม่รู้สึกอะไร แม้กฎหมายและตำรวจจะแตะต้องเขาไม่ได้ แต่รัฐบาลกลางรู้เห็นเขาแล้ว พลันที่มาเฟียคนนี้อหังการสังหารคู่อริในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ปี 1929 รวม 7 ศพด้วยกัน มันจึงยิ่งทำให้รัฐบาลเพ่งเล็งเขามากกว่าเดิม เพราะส่งความยิ่งใหญ่ใครก็โค่นไม่ได้แก่อัลคาโปน

อย่างไรก็ดีการสังหารโหดนี้เอง ก็ทำให้คนชิคาโกตาสว่างด้วย เมื่อหนังสือพิมพ์นำเสนอข่าว และแรงกดดันจากสังคม ทำให้นักการเมืองรีบตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อจับคาโปนฐานขายเหล้าเถื่อน โดยได้รวบรวมทีมงานนับ 10 ราย เป็นคนที่ไม่ได้รับสินบนจากอัลคาโปน และเป็นเจ้าหน้าที่น้ำดี มุ่งมั่นปราบปรามอาชญากร

พวกเขาถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่า กลุ่มคนที่แตะต้องไม่ได้ (Untouchables)

เป้าหมายนั้น ก็เป็นตามคำปรารภของรมว. คลัง ว่า

“จัดการอัลคาโปนเสีย”

3.

การทำงานของชุดปฏิบัติการพิเศษนี้ ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะในเมืองชิคาโก แม้หลายคนจะไม่พอใจอัลคาโปน แต่ทุกคนกลัวเขามากกว่า จึงเลือกปิดปากเงียบ แม้แต่คู่อริ หลายฝ่ายเงียบเพราะกลัวตาย จณะที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยก็เงียบเพราะได้รับสินบนจากอัล คาโปน

รวมถึงคนจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษนี้ด้วย จนต้องมาคัดเลือกกันอย่างถี่ถ้วน

แต่ด้วยแรงผลักดัน นอกจากรัฐบาลแล้ว ก็ยังมีภาคประชาสังคม ราษฎรเมืองชิคาโก สื่อมวลชนที่เรียกร้องให้ปราบปรามมาเฟีย พลังสนับสนุนนี้ทำให้ชุดปฏิบัติการพิเศษทำงานที่ลำบากต่อไปได้เรื่อยๆ

และผลของความพยายาม พวกเขาจึงพบข้อมูลชัดแจ้งว่า อัล คาโปน มีส่วนในการจำหน่ายเหล้าเถื่อนกว่า 5 พันครั้งด้วยกัน ทางการค่อยๆ ดึงลูกน้องคาโปน พยานรู้เห็น คนงานขายเหล้ามาเป็นพยาน จนมั่นใจว่าจะดำเนินคดีชายคนนี้ได้ จึงรวบรวมหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ

นั่นจึงทำให้บุรุษสยองนี้โดนรวบตัว กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะท้านอเมริกาไปอย่างมาก

ใครเลยจะกล้าคิดว่า เจ้าพ่อผู้ยิ่งใหญ่ จะถูกจับกุมตัวเสียได้

เมื่อโดนรวบตัวแล้ว อัยการและคนของกระทรวงยุติธรรม ก็ค้นพบความจริงบางอย่าง นั่นก็คือ การจะทำให้ชายคนนี้ติดคุกนั้นยากมาก แม้จะเคยจับเขาได้มาครั้ง ในข้อหาครอบครองอาวุธปืน แต่มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย

เพราะบุรุษเหี้ยมอย่างคาโปน จ่ายเงินซื้อความสะดวกสบายในเรือนจำ ใช้สินบนจนขยับฐานะตัวเองเป็นนักโทษชั้นดีได้อย่างสบายๆ และได้รับอิสรภาพหลังเป็นนักโทษแค่ปีเดียวเท่านั้น

ดังนั้น ต้องจับเข้าคุกและยึดทรัพย์ด้วย ถึงจะจัดการชายคนนี้ได้

นอกจากนี้ การแจ้งข้อหาฆาตกรรมอรินั้น ทางการก็ไม่แน่ใจว่าพยานที่เจ้าหน้าที่จัดหามาได้ พอถึงเวลาขึ้นศาลจริงๆ จะสามารถให้การเอาผิดคาโปนในฐานะเจ้าพ่อได้จริง โดยไม่กลัวโดนฆ่าตัดตอน และจะแสดงความกล้าหาญขณะเผชิญหน้ากับคาโปนได้หรือไม่

และเหตุผลที่สำคัญสุด ก็คือการตั้งข้อหาจำหน่ายเหล้าเถื่อน เป็นความผิดตามกฎหมายที่ไม่ค่อยได้รับความชอบธรรมเสียแล้ว เพราะประชาชนมองว่ามันเป็นกฎหมายสุดงี่เง่าที่ไม่ควรมีใครติดคุก เพราะทำธุรกิจนี้

ขณะกำลังครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไร กรมสรรพากรก็ยื่นข้อมูลมาให้ พวกเขาเองก็ทำงานร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษ และได้หลักฐานรายได้จากธุรกิจจำหน่ายเหล้าเถื่อนของมาเฟียคนนี้ ซึ่งเงินที่ได้มาลักษณะนี้ เข้าข่ายต้องเสียภาษี และเมื่อตลอดชีวิตคาโปนไม่เคยจ่ายภาษีจากเงินผิดกฎหมายนี้

จึงเพียงพอจะตั้งข้อหาฐานหลีกเลี่ยงภาษีได้

เอาคาโปนเข้าคุกได้ แถมยังสั่งปรับยึดทรัพย์ได้ด้วย ทุกอย่างลงตัว ทางการจึงเลือกแจ้งข้อหาดังกล่าวทันที

ในที่สุดเจ้าพ่อผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สั่งฆ่าคนมามากมาย มีพฤติกรรมสุดเหี้ยม สุดท้ายก็ถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาเลี่ยงภาษี ต้องติดคุก 11 ปี ถูกปรับเป็นเงิน 5 หมื่นเหรียญ (เทียบเท่า 7.9 แสนในปัจจุบัน) และต้องจ่ายภาษีเข้าหลวงอีก 2.1 แสน (เทียบเท่า 3.4 ล้านในปัจจุบัน)

คาโปนถูกส่งไปยังเรือนจำเกาะกลางทะเล ยากจะหลบหนี ชีวิตสุดลำบาก และที่นั่นเอง เจ้าพ่อมาเฟียซึ่งป่วยโรคหนองในก็เสียชีวิตลงอย่างสลด ด้วยวัยเพียง 48 ปีเท่านั้น

จากเจ้าพ่อผู้ร่ำรวย เขาตายอนาถในคุก จากเสรีชน ชายผู้เลือกทางเดินฉ้อฉล เขาจบชีวิตในลูกกรง ในสภาพนักโทษ

และคดีของเขา จะเป็นต้นแบบที่ทำให้เหล่าเจ้าพ่อทั้งหลายหวาดกลัวและต้องเก็บนักบัญชีคุมเงินไว้ใกล้ตัว เพราะความผิดรุนแรงอย่างอื่นยังพอจัดการพยานได้ แต่รายได้ผิดกฎหมายแบบนี้ มีสิทธิ์ทำให้มาเฟียทั้งหลายติดคุกได้เลย

นี่คือผลงานที่เกิดจากชุดจับกุม ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบผู้บังคับใช้กฎหมายในอเมริกายุคต่อมา เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เกรงกลัวอิทธิพลมืด แต่มุ่งมั่นจะรักษาระเบียบของสังคม ภายใต้อุดมการณ์ที่ระบุไว้ว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ทุกคนต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์นี้ หาใช่ศิโรราบให้กับอำนาจเถื่อนของมาเฟียแต่อย่างใด

4.

ความดีงามในการล่าจับกุม อัล คาโปน เกิดขึ้นเพราะประชาชน นักการเมือง ผู้พิพากษา กฎหมาย ความยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ทุกนายที่ทำหน้าที่นั้น ซึ่งทุกฝ่ายรู้ดีถึงความเสี่ยงว่าอาจจะถูกฆ่า ถูกยิงได้ แต่ทุกคนก็สลัดความกลัว ความทุกข์ใจนี้ เพื่อทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม

ชุดจับกุม อัล คาโปน เคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายปีให้หลังว่า การสืบความผิดเจ้าพ่อคนนี้ไม่ได้ยากแต่อย่างใด เพราะคาโปนเหิมเกริม ขายเหล้าเถื่อน ตั้งตัวเป็นมาเฟีย แบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย เย้ยฟ้าท้าดิน จนมีหลักฐานมากมายพอให้รวบตัวได้

นั่นทำให้เจ้าพ่อสุดโหด ต้องเสนอเงินสินบนซื้อใจเจ้าหน้าที่เหล่านี้แทน โดยเชื่อว่าเงินสดน่าจะหยุดความกล้าหาญของชุดปฏิบัติการนี้ได้ แต่คาโปนคาดผิด เพราะไม่ใช่ทุกคนบนโลกจะเห็นแก่เงินมากกว่าหน้าที่อุดมการณ์ของตัวเอง และไม่ใช่ทุกคนที่จะฉ้อฉล บางคนก็คงไว้ด้วยศักดิ์ศรีแห่งความถูกต้อง ดังเช่นชุดปฏิบัติการพิเศษนี้

เจ้าหน้าที่ซึ่งเคยจับกุมคาโปนเล่าว่า การทุจริตของตำรวจ เป็นเรื่องเก่าแก่ที่สุดในโลก ตัวเขาเองเคยถูกคาโปนเสนอเงินรายเดือน เดือนละ 2 พันดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าเงินที่พวกเขาได้รับทั้งปีด้วย

แต่ชุดที่โค่นเจ้าพ่อรายนี้ ย้ำว่า พวกเขาไม่รับเงินพวกนี้เด็ดขาด

“ผมก็แค่ลูกคนขายขนมปังจนๆ เท่านั้น แต่ไม่ขอรับเงินสินบนสองพันต่อสัปดาห์ หรือจะเงินหมื่นหรือเงินแสนก็ซื้อผมไม่ได้ทั้งสิ้น

“เพราะผมไม่ใช่คนฉ้อฉล เราไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนี้ ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อแบบนั้น สินบนคือสิ่งไม่ดี แม้หลายคนจะรับมัน

“แต่ผมก็ภูมิใจที่ไม่เคยทำ”

 

อ้างอิง

https://www.history.com/this-day-in-history/capone-goes-to-prison

https://www.forbes.com/sites/kellyphillipserb/2020/10/17/al-capone-convicted-on-this-day-in-1931-after-boasting-they-cant-collect-legal-taxes-from-illegal-money/?sh=1af38d1b1435

https://medium.com/flexible-head/the-rise-and-fall-of-eliot-ness-91f556bbf876

https://www.washingtonpost.com/magazine/2022/05/31/eliot-ness-festival-mythology-facts/

https://www.nytimes.com/1998/03/25/us/albert-wolff-last-of-ness-s-men-dies-at-95.html

https://www.atf.gov/our-history/eliot-ness

Tags: , , ,