นับตั้งแต่การปรากฏขึ้นของคำภาษาเดนิช Hygge หรือ ‘ฮุกกะ’ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ด้วยรากฐานจากภาษานอร์เวย์ที่ให้ความหมายว่า ‘อยู่ดีมีสุข’ คำสั้นๆ ที่แปลความหมายเป็นมวลบรรยากาศที่อยู่รายล้อม ทั้งแสงที่ส่องวิบไหวจากปลายเทียน เครื่องดื่มอุ่นร้อนในมือคอยทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ความสบายใจจากบทสนทนาระหว่างเพื่อนหรือคนในครอบครัว ปรัชญาความสุขแบบฮุกกะที่คนเดนมาร์กถือเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ชาวสแกนดิเนเวียนั้นไม่ต่อกรกับอากาศหนาว แต่น้อมรับและสนุกไปกับสิ่งที่พวกเขามีและเป็นอยู่

ภูมิภาคสแกนดิเนเวียประกอบด้วยประเทศอย่างสวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนอร์ดิกอย่างไอซ์แลนด์และฟินแลนด์ รายงานความสุขโลก (World Happiness Report) จากองค์การสหประชาชาติปี 2016 ระบุว่าประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอันดับ 1 คือเดนมาร์ก ตามมาด้วยนอร์เวย์ และอันดับ 4 คือสวีเดน อะไรทำให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ครองอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกได้มากถึงขนาดนี้ ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับอากาศที่หนาวเหน็บและการไม่ยอมทำงานของพระอาทิตย์ไปกว่า 17 ชั่วโมงต่อรอบวัน

แทนที่จะตั้งแง่กับข้อจำกัดทางสภาพภูมิอากาศ เหล่าประชากรในดินแดนแถบนี้กลับมองหาความสุขจากอากาศติดลบ จนเกิดเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิต และอย่างที่ Meik Wiking ซีอีโอของสถาบันวิจัยความสุขแห่งเดนมาร์ก (Denmark’s Happiness Research Institute) ผู้เขียนหนังสือ The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well (แปลเป็นภาษาไทยชื่อ ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ openworlds) สรุปไว้ว่าคือ ‘การได้มีความสุขในทุกวัน’ ซึ่งครอบคลุมถึงความรู้สึกปลอดภัย สบายใจ และพึงพอใจด้วย

ฮุกกะจึงเป็นเรื่องของทัศนคติและวิธีคิด อย่างที่ Natalie Van Deusen อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา กล่าวไว้ว่า “การแปลความหมายฮุกกะที่ดีที่สุดคือ ความสบาย (coziness) แต่ไม่ได้เป็นความสบายของร่างกายอย่างการใส่สเวตเตอร์หรือการซุกตัวอุ่นในผ้าห่มเท่านั้น หากรวมถึงความสบายใจ เมื่อจิตใจสมดุลและมีสุขภาพจิตที่ดี”

สอดคล้องกับข้อค้นพบของ Joar Vittersø นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยทรุมเซอร์ ที่ศึกษาเรื่อง ‘วิธีคิดในช่วงฤดูหนาว’ การประเมินว่าผู้คนในนอร์เวย์นั้นรับรู้และมีวิธีคิดในการใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงเดือนที่หนาวที่สุด ข้อค้นพบคือผู้คนส่วนใหญ่มองฤดูหนาวในเชิงบวก โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนที่จะได้เห็นแสงเทียนจากคาเฟ่ ร้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงที่ทำงานส่องสว่างไปทั่วทั้งเมือง ในนอร์เวย์ ความอบอุ่นเล็กๆ น้อยๆ นี้ มีชื่อว่า โคเซลิก (koselig) ให้ความหมายเดียวกับฮุกกะ เป็นการสื่อถึงความใกล้ชิดและการได้อยู่ร่วมกัน

 

เมืองหลวงแห่งเดนมาร์กอย่างโคเปนเฮเกน ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าอยู่และเป็นมิตรต่อทั้งคนในพื้นที่ ผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยว การออกแบบเมืองเองก็นำปรัชญาฮุกกะเข้าไปปรับใช้ ด้วยการสร้างพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นและผู้มาเยือนได้เข้ามา ‘เล่น’ รวมกัน ตัวอย่างเช่น แทมโพลีนที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือนูฮาฟน์ ที่เปิดโอกาสให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้เข้ามาลองเล่น ในบางครั้งที่ไม่มีใครรู้ เมื่อมีสักคนหนึ่งเริ่มต้น ก็เกิดเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ที่ทุกคนเข้ามาร่วมเล่นกันด้วยความสนุกสนาน คนหลายที่มาได้ร่วมรู้จักกัน แทมโพลีนนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำฮุกกะมาปรับใช้ในงานออกแบบเมือง การเปิดพื้นที่และเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาใช้เวลาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณย่า วัยรุ่น หรือเด็กเล็กที่มาอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในเมืองโคเปนเฮเกนแห่งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ ‘แบบว่าฮุกกะ’ (hyggeligt – ฮุกกะลิต) จริงๆ

Photo: cardiganrow.com

นอกจากนี้ ปรัชญาความสุขในการอยู่ร่วมกับอากาศหนาว ยังสะท้อนผ่านงานออกแบบด้วยการนำองค์ประกอบของฮุกกะเข้าไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฮุกกะเรื่อง ‘แสง’ โดยเฉพาะชาวเดนมาร์กที่จุดเทียนกันเป็นว่าเล่น แต่แสงของพวกเขานั้นไม่ได้จำกัดแค่ความสว่างจากขี้ผึ้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแสงไฟอื่นๆ ดูอย่างเทศกาลแสงประจำปี REFLEKTOR ที่จัดแสดงการออกแบบแสงในพื้นที่สาธารณะทั่วเมืองโคเปนเฮเกน เหล่าไลทติ้งดีไซเนอร์ออกแบบแสงเพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ใหม่ในการมองเห็นพื้นที่หนึ่งๆ และเพื่อเปิดโอกาสให้คนจากหลายที่มาได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะจากแสงนี้ และก็เป็นอีกครั้งที่ต้องพูดว่า นี่ช่างฮุกกะลิตจริงๆ

 ผลงานของ Christina Augustesen ภาพโดย Kim Matthäi Leland; www.reflektorfestival.com

 

ผลงานของ Michael Cleary ภาพโดย Kim Matthäi Leland; www.reflektorfestival.com

ปรัชญาความสุขแบบฮุกกะเป็นบทเรียนที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีอากาศหนาวเหน็บและพระอาทิตย์ก็ทำงานอย่างขยันขันแข็ง แต่สิ่งสำคัญที่ฮุกกะกำลังบอกกับเราคือ การรู้จักมองเห็นความสุขจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ที่จะส่งผลต่อคนอื่น และเมื่อจิตใจแข็งแรง

เราเองก็จะมีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่นได้ต่อไป

Tags: , , , , ,