มีร้านหนังสือมือสองตั้งอยู่บนตลาดขายของดองในเมืองปีนัง…
แค่นั้นก็ทำให้เราบอกขาตัวเองให้ขึ้นรถบัสสาย 201 ราคา 1.4 ริงกิต (10.8 บาท) ไปลงที่ตลาด Chowrasta ที่ที่แม้แต่คนปีนังเองก็ยังไม่รู้ว่ามีแหล่งขายหนังสือมือสองอยู่ข้างบนชั้นสองข้างบนจากตัวตลาด
เมื่อส่าหรีพลิ้วผ่านไป ชาวจีน ชาวมาเลย์ ชาวอินเดียเดินซื้อของกันขวักไขว่ มีนักท่องเที่ยวประปรายเพราะ Chowrasta เป็นตลาดท้องถิ่นที่มีจุดเด่นเรื่องของฝาก ของหวานประจำเมือง ประเภทเกาลัด และเพื่อนๆ ขนมในหมวดเดียวกัน นั่นทำให้เราต้องเปิดแผนที่ดูว่ามาถูกที่หรือไม่ อาจเพราะเราติดภาพร้านหนังสืออิสระที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวมากเกินไป
เดินผ่านของดอง ผละมาที่ชั้นสองแล้วก็พบตรอกย่อมๆ ของกองหนังสือในทันที พ่อค้าแขกยกมัดตั้งออกมากองหน้าร้าน ถามเราว่าหาหนังสือประเภทไหนราวอ่านใจออก
“นักเขียนชาวมาเลย์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ”
แต่เขาส่ายหน้าและสวนมาว่านักเขียนชาวมาเลย์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษมักจะเป็นหนังสือการเมืองทั้งนั้น แล้วก็กลับไปวุ่นวายกับหนังสือต่อ
จะบอกว่าความระเกะระกะนั้นคือความอาร์ตก็ใช่ที่ ดูเหมือนว่าลูกค้าของคลังหนังสือมือสองที่นี่จะเข้ามาอย่างมีจุดประสงค์แน่ชัด พ่อค้าบอกว่าส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนนักศึกษาที่มาซื้อตำรามือสองไปเรียน เราเห็นแบบเรียนมัดเป็นตั้งๆ กองไว้ที่เดียวกัน และดีไซน์ปกที่ดูเหมือนคู่มือหรือตำราต่างๆ ก็ตั้งอยู่ในมุมอีกฝั่ง
แล้วบรรยากาศก็ไม่ใช่แหล่งหนังสือมือสองอย่างหมดจด เราค้นพบความหลากหลายจากร้านเสื้อผ้าและศูนย์อาหารเหงาๆ ที่ตั้งอยู่ข้างๆ ด้วย
ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่สักพักก็เริ่มเดินสำรวจ ซอยหนังสือมีไม่มาก แต่ละร้านจับจองบล็อกของตัวเอง ประจันตัวอักษรเข้าหาร้านเสื้อผ้าและส่าหรี กลิ่นอับอบอวล ความเก่าของหนังสือบอกได้จากกลิ่นและการระคายเคืองเล็กน้อยจากในลำคอ แต่การค้นพบสถานที่แบบนี้เป็นเรื่องน่าสนุกบอกไม่ถูก เสน่ห์จากหนังสือและแววตาของพ่อค้าแขกทำให้เราไม่อยากกลับไปในตอนนี้
เราจึงลองขยับไปอีกร้านหนึ่ง เข้าร้านไปไม่เท่าไหร่ เอื้อมมือไปแตะยังไม่ถึงเมตรก็เจอหนังสือ หน้า-หลัง ไม่มีที่ว่างให้ยืนเต็มๆ ตัวสักนิด ลุงแขกเจ้าของร้านถามถึงหนังสือที่กำลังหา
ครั้งนี้ลองเปลี่ยนโจทย์เป็น ‘วรรณกรรม’ กว้างๆ อะไรก็ได้ ลุงหายไปหลังร้านและกลับมาพร้อมกับกวีปีนัง, นักเขียนจีน, อินเดีย, ซัลมัน รัชดี, เจ. ดี. แซลินเจอร์ และวรรณกรรมอีกสารพัดกองทับกองหนังสือตรงหน้าอีกที พร้อมโฆษณาด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่าเป็น Good collection โดยสำนักพิมพ์เพนกวิน
ใครจะรู้ว่ามีที่ที่สามารถมาซื้อเกาลัดได้ที่ตลาดชั้นล่าง และขึ้นมาซื้อมาร์เกซต่อข้างบนได้เลย
ความนิ่งของลุงหยุดเราไว้หน้าร้านได้พอสมควร ลองเปิดๆ และฟังๆ คำแนะนำเลยได้หนังสือมาสองเล่มในราคาย่อมเยา หนึ่งในนั้นคือ Waiting เขียนโดย Ha Jin นักเขียนชาวจีน-อเมริกันที่ได้รับรางวัล National Book Award ในปี 1999 เรื่องราวเกี่ยวกับแพทย์ในกองกำลังทหารที่รอคอยเวลามา 18 ปีเพื่อที่จะหย่ากับภรรยา และไปแต่งงานกับนางพยาบาลในที่ทำงานเดียวกัน
เราบอกลาลุงและเดินเก็บบรรยากาศร้านหนังสือ หลายร้านปิดไปแล้ว หลายร้านเปิดแต่ก็เงียบเหงาเกินจะทน คนเฝ้าร้านพิงแผงหนังสือเหม่อๆ ไม่มีคนมาเดินขวักไขว่เลยสักนิด อากาศอ้าวปรับให้พื้นที่ชั้นบนของตลาดของที่ระลึกดูเหงาแต่เข้ากับการมีอยู่ของหนังสือเก่า เข้ากับความผิดที่ผิดทางและรกเหมือนป่าหนังสือ เดินช้อปเสร็จอยู่ดีๆ ก็โผล่ไปเจออาเจ็กกำลังนั่งกินข้าวอยู่ในศูนย์อาหารที่น่า #กระทำความโหวงเหวง มาก ออกมาอีกนิดหนึ่งก็เจอร้านเสื้อผ้าดีไซน์ฉูดฉาด
เหมือนกั้นเราไว้อีกโลกหนึ่ง…
เรากระชับหนังสือในถุง เดินลงมาชั้นล่างเจออาม่ากำลังขายมะม่วงดองให้ฝรั่ง เสียงคุยจอแจ แดดแผดเผาเหมือนที่เมืองไทย ลองมองขึ้นไปก็รู้สึกว่า Chowrasta เป็นมากกว่าตลาดขายของที่ระลึก หนังสือเป็นปึกรอให้เรากลับมาอีกครั้ง
Tags: Travel, Chowrasta, Penang, Malaysia