“ไม่ชอบกินเบียร์เพราะ ‘เบียร์ขม’”
“หูยย… คราฟต์เบียร์เลยเหรอ ไม่กินอะมันแรง”
“แหวะ!!! ไม่ดื่ม เบียร์ไทยห่วย”
ฯลฯ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘เบียร์’ ที่ The Momentum อยากเคลียร์ให้คุณเข้าใจใหม่ แล้วครั้งหน้าที่ดื่ม คุณอาจมองเบียร์ขวดเดิมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เบียร์ = ขม
เวลาที่มีคนบอกว่าไม่ดื่มเบียร์เพราะ ‘ขม’ น่าจะเป็นการตัดสินโดยใช้มาตรฐานของเบียร์ Lager ที่มีขายในประเทศไทยเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่มีรสขมจริง แต่ใน พ.ศ. นี้ที่มีร้านขายเบียร์อิมพอร์ตแทบทุกหัวมุมถนน มีเบียร์ดำอย่าง Stout ที่รสชาติหอมหวานและเนียนนุ่มกว่า หรือถ้าอยากลองเบียร์ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติติดเปรี้ยว แนะนำให้ลองเบียร์ประเภท Lambic, Fruit Beer หรือ Belgian Witbier ที่มีความหอมหวานและขมน้อยกว่าเบียร์ทั่วไป
เบียร์สดดีกว่าเบียร์ขวดและเบียร์กระป๋อง
เบียร์สดกับเบียร์ขวด (และเบียร์กระป๋อง) แท้จริงแล้วต่างกันที่กรรมวิธีการเก็บ โดยเบียร์สดจะเก็บในถังและไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ ขณะที่เบียร์ขวดจะผ่านการพาสเจอไรซ์ หรือใช้วิธีการเฉพาะ ‘Bottle Condition’ เพื่อรักษารสชาติของเบียร์ให้คงที่ แม้วิธีการเก็บที่ต่างกันจะทำให้เบียร์สดมีแนวโน้มที่รสชาติจะนุ่มลื่นกว่า และเบียร์ขวดจะมีรสชาติชัดกว่า แต่ทั้งนี้รสของเบียร์ทั้งสองประเภทจะต่างกันน้อยมาก ถ้าไม่ใช่บริวเวอร์หรือคอเบียร์จริงๆ จะแทบไม่รู้เลย ดังนั้นการบอกว่าเบียร์สดดีกว่าเบียร์ขวดหรือกระป๋องจึงไม่ถูกต้องเสมอไป
เบียร์ในโลกนี้มีแค่ 3 ประเภท คือ Wheat, Lager และ Dark Beer
มีข้อมูลบางแหล่งระบุไว้แบบนั้นจริงๆ แต่แท้จริงแล้ว เมื่อมองกลับไปที่ Family Tree ของประเภทเบียร์ จะพบว่าเบียร์แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Ale กับ Lager ที่แบ่งตามประเภทยีสต์ที่ใช้ โดย Ale จะมีคาแรกเตอร์หลักๆ คือ มีความฟรุตตี้ และมิติของรสชาติซับซ้อนและหลากหลายกว่า ถ้าดื่มจะได้กลิ่นและรสของเบียร์ที่ต่างกันในแต่ละประสาทสัมผัส ขณะที่ Lager ซึ่งเป็นเบียร์มหาชนในบ้านเราและหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ มิติของรสชาติจะเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ส่วนเบียร์สไตล์อื่นๆ ที่มียุบยับเยอะแยะ ล้วนแยกย่อยมาจากเบียร์สองประเภทนี้
สียิ่งเข้ม แอลกอฮอล์ยิ่งแรง
เบียร์สีเข้มหรืออ่อนไม่เกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ เพราะตัวกำหนดสีของเบียร์คือ ‘มอลต์’ ขณะที่แอลกอฮอล์ในเบียร์เกิดจาก ‘ยีสต์’ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือเบียร์ยี่ห้อ Guinness ซึ่งเป็นเบียร์ประเภท Stout ที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ที่คั่วเกือบไหม้จนเบียร์มีสีเข้มเกือบดำ แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์แค่ 6% ถ้าอยากรู้ปริมาณแอลกอฮอล์ แนะนำให้สังเกตสไตล์เบียร์ที่ระบุบนขวด เช่น ถ้าเจอคำว่า ‘Double’ หรือ ‘Imperial’ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าแอลกอฮอล์สูงกว่าปกติ หรือจะให้ง่ายที่สุดคือ พลิกขวดดูค่า ABV (Alcohol by Volume) ไปเลย
เบียร์ยิ่งเย็นยิ่งอร่อย
ในเมืองร้อนแบบนี้ กินอะไรเย็นๆ ย่อมสดชื่นทั้งนั้น ดูอย่างเบียร์วุ้น หรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญของ Commercial Beer บางยี่ห้อที่ประโคมปาวๆ ว่า ที่บาร์นี้เสิร์ฟเบียร์ต่ำกว่า 0 องศาฯ ซึ่งเรื่องนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะมีเบียร์บางประเภทเท่านั้นที่ยังคงคาแรกเตอร์ได้ดีในอุณหภูมิต่ำ และเบียร์ที่รสขมมากๆ ถ้ายิ่งเย็นจะกินง่ายกว่าเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ก็มีเบียร์บางประเภทที่ต้องดื่มในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อสัมผัสรสชาติที่ดีที่สุด เช่น เบียร์ Lager ควรเสิร์ฟที่ 3-7 องศาฯ ในขณะที่เบียร์ Stout ควรเสิร์ฟที่ 10-12 องศาฯ
ดื่มคราฟต์เบียร์เมาง่ายกว่าเบียร์ทั่วไป
คำว่า ‘คราฟต์เบียร์’ ไม่ได้บอกอะไรเลย นอกจาก ‘สไตล์การผลิตเบียร์’ ซึ่งมีที่มาจากการปฏิวัติวงการเบียร์ในอเมริกาเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เนื่องจากอเมริกันชนบางคนเบื่อหน่ายรสชาติเดิมๆ ของ Commercial Beer ที่ขายตามท้องตลาด จนอดรนทนไม่ไหวลงมือต้มเบียร์กินเอง ก่อนคราฟต์เบียร์จะแพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา คำว่า ‘คราฟต์’ จึงไม่เกี่ยวกับการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
เบียร์ไทยรสชาติห่วยกว่าเบียร์นอก
อีกหนึ่งตราบาปที่ฉุดรั้งวงการคราฟต์เบียร์ไทยไม่ให้ไปไหน คือการที่คนไทยเข้าใจว่า ‘เบียร์ไทยห่วย’ จริงอยู่การทำเบียร์ไม่ใช่วัฒนธรรมของไทย แต่นั่นก็ไม่ได้อธิบายถึงรสชาติของเบียร์แต่อย่างใด เหมือนกับที่วันนี้ประเทศไทยมีร้านสเต๊กและซูชิสัญชาติไทยจำนวนไม่น้อยที่อร่อย ฉะนั้นอย่าเพิ่งมีอคติตั้งแต่ยังไม่ได้ลองชิม เพราะสุดท้ายอร่อยหรือไม่อร่อยเป็นเรื่องส่วนบุคคล
หลังจากเคลียร์เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับเบียร์แล้ว สิ่งสำคัญที่เราอยากบอกคือ จงหาเบียร์ที่ชอบให้เจอ และขอให้สนุกกับการดื่ม
ภาพประกอบ: Karin Foxx
FACT BOX:
- Ale vs Lager สไตล์ของเบียร์ที่แบ่งอย่างกว้างๆ ตามชนิดของยีสต์ที่ใช้ในการหมัก โดยคาแรกเตอร์หลักๆ ของ Ale จะมีความฟรุตตี้ มิติของรสชาติมีความหลากหลายและซับซ้อน ขณะที่รสชาติ Lager จะเข้าถึงได้ง่าย คม และชัดกว่า
- Belgian Witbier เบียร์ที่มีการหมักด้วยยีสต์ประเภท Ale แต่ใช้มอลต์ที่ได้จากข้าวสาลี (wheat) ในปริมาณที่มากกว่ามอลต์จากข้าวบาร์เลย์ Belgian Witbier ที่โด่งดัง ได้แก่ Hoegaarden เป็นต้น
- ABV ปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหน่วย หรือ Alcohol By Volume เป็นตัวเลขพื้นฐานที่หลายคนคุ้นตา เนื่องจากอยู่บนฉลากเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆ
- Stout รู้จักกันในนาม ‘เบียร์ดำ’ ต่างจาก Dark Beer ตรงที่ Stout เป็นสไตล์ย่อยของ Ale สีดำของเบียร์มาจากการคั่วมอลต์จนเข้ม เนื้อนุ่ม รสชาติมัน ฟองเนียน
DID YOU KNOW?
- เบียร์แต่ละประเภทมีอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเสิร์ฟแตกต่างกัน เคยสังเกตไหมว่าทำไมเบียร์บางชนิดเสิร์ฟแล้วทิ้งไว้นานจะกินยากขึ้น ในขณะที่บางตัวกลับอร่อยขึ้น เช่น การเสิร์ฟเบียร์ Lager ไม่ควรเกิน 7 องศาฯ หรือ Stout จะอร่อยที่สุดเมื่อเสิร์ฟที่ 10-12 องศาฯ ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.homebrewersassociation.org