ทุกวันนี้คนกว่า 2 พันล้านคนนิยมใช้สมาร์ตโฟนเพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างกันทั่วทั้งโลก และมีประชากรเกินครึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วใช้สมาร์ตโฟนจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และจากงานวิจัยของนักจิตวิทยายังระบุว่า ค่าเฉลี่ยของคนเราที่ใช้งานสมาร์ตโฟนอยู่ที่ 5 ชั่วโมงต่อวัน

หากคุณเป็นหนึ่งในประชากรโลกที่ติดการใช้งานสมาร์ตโฟนงอมแงม และไม่ได้คำนึงถึงผลที่ตามมาว่าจะเป็นอย่างไร ลองอ่าน 5 สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการหยุดใช้สมาร์ตโฟน ที่มาจากผลการศึกษาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและการวิจัยต่างๆ ของอังกฤษ

ไม่แน่ คุณอาจอยากมีเวลาส่วนตัวมากขึ้นก็ได้

คุณไม่ควรนอนหลับไปพร้อมกับโทรศัพท์ของคุณ

1. นอนหลับสบายขึ้น

หากมีประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงทางทวิตเตอร์ออกไปเป็นวงกว้าง และเกิดขึ้นในกรณีที่เราใกล้เข้านอน หากเราสนใจกระแสดังกล่าว ตัดสินใจเลือกเปิดรับสิ่งเหล่านี้ก่อนจะนอน รู้ไหมว่าจะมีผลกระทบตามมาไม่น้อย

ดร.อิรชาด อิบราฮิม (Dr.Irshaad Ebrahim) ที่ปรึกษาด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ (neuropsychiatry) และผู้อำนวยการสถาบัน The London Sleep Centre กล่าวถึงประเด็นการติดสมาร์ตโฟนว่า

“เมื่อใดก็ตามที่คุณชอบไลก์ หรือรีทวิต สิ่งเหล่านี้มันช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกถูกใจไม่ต่างกับเวลาที่สมองของคุณถูกกระตุ้นจากการสูบบุหรี่หรือการเสพยา ซึ่งเป็นเหมือนการหาความบันเทิงใส่ตัว”

นอกจากนี้ ดร.อิรชาด ยังเสริมอีกว่า “สมาร์ตโฟน (รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้จอเป็นระบบสัมผัส) ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับโดยตรง สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้คุณนอนไม่หลับ เพราะมันจะรบกวนเวลานอนของคุณ อีกทั้งยังคอยกระตุ้นสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อรอบการนอนหลับและการเตรียมตัวนอน

“คุณไม่ควรนอนหลับไปพร้อมกับโทรศัพท์ของคุณ”

จากการศึกษาโดยราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน และมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ระบุว่า แม้การใช้สมาร์ตโฟนจะเป็นการรบกวนการนอนของคน แต่กลับไม่เกิดขึ้นกับเด็กแต่อย่างใด โดยเด็กสามารถนอนหลับได้อย่างสบาย แม้จะถูกรบกวนก็ตาม

การที่ไม่ได้คุยโทรศัพท์ ติดต่อผ่านข้อความ หรือมีอีเมลกวนใจนั้น ทำให้สมองไม่ต้องคิดอะไรมากอยู่ตลอดเวลา

2. เป็นเรื่องดี ถ้าจะติดต่อกันผ่านสมาร์ตโฟนให้น้อยลง

มันอาจฟังดูไม่สำคัญอะไร สำหรับเรื่องธรรมดาอย่างการพาสุนัขไปเดินเล่น โดยที่เราไม่ได้รับโทรศัพท์หรือการติดต่องานใดๆ เหมือนไม่มีอะไรเข้ามารบกวนใจ นั่นเป็นเพราะตัวเราเลือกไม่ติดตามเรื่องราวต่างๆ บนสมาร์ตโฟน เลยทำให้รู้ว่าการที่ไม่ได้คุยโทรศัพท์ ติดต่อผ่านข้อความ หรือมีอีเมลกวนใจนั้น ทำให้สมองไม่ต้องคิดอะไรมากอยู่ตลอดเวลา

การหยุดพักจากการติดต่ออย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสุขภาพของคนส่วนใหญ่ ตามที่ สตีเฟน บักลีย์ (Stephen Buckley) หัวหน้างานข้อมูลด้านจิตใจของอังกฤษ มุ่งศึกษาไปยังคนยุคปัจจุบันที่นิยมใช้สมาร์ตโฟน คนที่รับข้อมูลแทบทุกสิ่งไว้กับตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่ผู้คนแชร์ข่าวสารเกี่ยวกับหน้าที่การงานของตัวเอง เรื่องความสัมพันธ์ วันหยุด ผ่านการนำเสนอในด้านที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“การสัมผัสเพียงด้านที่ดีที่สุดของชีวิตคนอื่นๆ สามารถลดการนับถือในตนเองได้”

ซึ่งการไม่มีสมาร์ตโฟน จะช่วยให้เราลดความถี่ของการเช็กเรื่องเหล่านี้ลง

3. มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น

หลีกเลี่ยงที่จะจดจ่อรีบตอบอีเมล ตอบแชต หรือโทรศัพท์ติดต่อใคร ทั้งที่บางครั้งก็ไม่ได้มีเรื่องจำเป็นต้องตอบอยู่ตลอดเวลา และตัดสินใจมีเวลาส่วนตัวให้กับตนเองหรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวมากขึ้น เช่น การทำอาหาร ออกไปวิ่ง คุยกับคนรัก อ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน เรื่องแบบนี้นับเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการหยุดใช้สมาร์ตโฟนชั่วขณะหนึ่ง หากเราตระหนักถึงการไม่เอาเวลางานมาปนกับเวลาส่วนตัว

หลีกเลี่ยงที่จะจดจ่อรีบตอบอีเมล ตอบแชต หรือโทรศัพท์ติดต่อใคร
ทั้งที่บางครั้งก็ไม่ได้มีเรื่องจำเป็นต้องตอบอยู่ตลอดเวลา และตัดสินใจมีเวลาส่วนตัวให้กับตนเอง

4. ใช้จ่ายน้อยลง

เราไม่สามารถอ้างว่าการที่สมาร์ตโฟนของเราเกิดใช้งานไม่ได้นั้น จะเป็นวิธีการที่ทำให้เรารวยขึ้นในพริบตา แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่ามันง่ายมากที่จะหยิบสินค้าต่างๆ ลงในตะกร้าเสมือนเมื่อช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน จึงไม่แปลกเมื่อสมาร์ตโฟนคุณมีปัญหาหรือคุณอยู่ห่างจากมันมากขึ้น โอกาสช้อปของคุณก็ลดลงไปด้วยโดยปริยาย

5. จำอะไรๆ ได้ดีขึ้น

การที่เราไม่มีสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือไอแพดเป็นของตัวเอง อาจทำให้เราตระหนักถึงการพึ่งพาแต่ Google และจากผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า การใช้ Google อาจส่งผลต่อความคิดของเราทุกด้าน ทั้งการแก้ไขปัญหา การจดจำ และการเรียนรู้

แคมเปญของ Santa Cruz นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียร์ และ Urbana จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ค้นพบ ‘การถ่ายโอนความรู้ที่มากเกินไป’ อธิบายได้ถึงแนวโน้มของการพึ่งพาสิ่งต่างๆ เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นบันทึกช่วยจำ ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากใช้งานทุกครั้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเราใช้สมาร์ตโฟนเพื่อการค้นหาคำตอบมากกว่าบันทึกช่วยจำ และมีแนวโน้มที่จะใช้มันอีกครั้งในการค้นหาคำตอบในอีกหลายครั้ง

ในทางปฏิบัติแล้ว เราใช้เครื่องมือเหล่านี้ (devices) เป็นหน่วยความจำเพิ่มเติม แทนที่จะเป็นข้อมูลที่เก็บไว้ในหัวตัวเอง ดร.ลี แฮดลิงตัน (Dr.Lee Hadlington) นักจิตวิทยาไซเบอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต กล่าวว่า

“เมื่อคุณใช้มือถือของคุณทำอะไรก็ตามที่เป็นตัวนำทางไปสู่การกักเก็บรหัสผ่านของคุณ คุณกำลังถ่ายโอนข้อมูลแทนที่จะเป็นการเก็บข้อมูลไว้ในหัวคุณเองอยู่”

อ้างอิง:

https://amp.theguardian.com/technology/2017/jan/24/the-five-lessons-i-learned-from-breaking-my-smartphone

Tags: