ในสังคมปัจจุบัน เรามักมองบุคคลที่มีตำแหน่งใหญ่โตด้วยความเคารพยำเกรง เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีอำนาจ แต่หากเรามีโอกาสศึกษางานวิจัยทางจิตวิทยา เราจะเข้าใจว่าสมองที่วิวัฒนาการมาจากโลกโบราณ ไม่ได้ถูกสร้างมาให้จับเรดาร์อำนาจของคนโดยวัดจากเงินตราหรือยศถาบรรดาศักดิ์ และอำนาจไม่ได้คงอยู่เช่นเดิม แต่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และบริบทที่แวดล้อม

คนทุกคนล้วนเป็นผู้มี ‘อำนาจ’ บางคนมีมาก บางคนมีน้อย และมีหลายคนที่เผลอตัวลุ่มหลงอำนาจที่มี เพราะไม่รู้จักอำนาจดีพอ

นี่คือ 3 ข้อที่เราควรรู้เกี่ยวกับอำนาจ

ความหมายที่แท้จริงของอำนาจ คือ ‘ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น’

1. อำนาจไม่ได้มากับยศถาบรรดาศักดิ์

ยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเพียงเปลือกที่บางครั้งทำให้คนสวมใส่มีอำนาจจริง แต่หลายครั้งก็เป็นเพียงตำแหน่งเปล่าๆ ที่ไม่ได้มากับอำนาจใดๆ เช่น ในกรณีของจักรพรรดิประเทศจีน

พ.ศ. 2451 เด็กชายชื่อ ผู่อี๋ ขึ้นครองราชย์และรับตำแหน่งจักรพรรดิของประเทศจีน 4 ปีต่อมาหลังการปฏิวัติเสร็จสิ้น แม้จะยังคงตำแหน่งจักรพรรดิ แต่ผู่อี๋ไม่มีสิทธิทางการเมือง ไม่สามารถสั่งการส่งทหารไปรบ ไม่สามารถออกแบบกฎหมายประเทศ ไม่สามารถเลือกคู่แต่งงานของตน ไม่สามารถออกไปนอกราชวัง แม้กระทั่งงานศพของแม่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ไปร่วมงาน นอกจากขันทีและข้าราชบริพารในราชวังที่คอยรับใช้ ผู่อี๋เป็นเพียงหุ่นเชิดที่ไม่สามารถออกคำสั่งกับใครได้

เรื่องราวของผู่อี๋เป็นกรณีที่เราเห็นบ่อยครั้งในสังคมการเมือง ดังนั้นอำนาจที่แท้จริงจึงไม่ใช่สิ่งที่มากับยศและบรรดาศักดิ์เสมอไป สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ในยุคที่สังคมซับซ้อนขึ้น เพื่อใช้ขยายภาพลักษณ์ของอำนาจให้ดูชัดเจนขึ้น

นึกย้อนไปสมัยที่เรายังเป็นเด็กประถม เรายังไม่เข้าใจคอนเซปต์เกี่ยวกับตำแหน่งทางสังคมมากนัก เพราะนักเรียนชั้นเดียวกันไม่มีตำแหน่ง ต่างจากผู้ใหญ่วัยทำงานที่อาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการวางตำแหน่งเล็กใหญ่ให้มองเห็นอย่างชัดเจน แต่ถึงแม้จะขาดความชัดเจนทางตำแหน่ง เมื่ออยู่ท่ามกลางเพื่อนเป็นกลุ่ม เด็กก็จะเกิดการวางลำดับคนที่มีพาวเวอร์ที่สุดในกลุ่มอยู่ดี จะมีเด็กอย่างน้อยหนึ่งคนในกลุ่มที่คนอื่นๆ ต่างก็เกรงใจ ถึงเวลาพักเที่ยง ถ้าเขาอยากเล่นอะไร ทำอะไร เพื่อนๆ ก็มักจะอยากตามใจเขา ความรู้สึกที่อยากติดตามเพื่อนคนนี้ไม่ได้มาจากการที่เรารู้ว่าบ้านเขามีฐานะดี หรือเพราะเขามีเครื่องแต่งกายภายนอกที่ดีเด่นกว่าคนอื่น เพราะโรงเรียนมักมีเครื่องแบบ และเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต่างก็ต้องแต่งชุดนักเรียน

พฤติกรรมการวางตำแหน่งคนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้นักวิจัยค้นพบความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’

ความหมายที่แท้จริงของอำนาจ คือ ‘ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น’

สมองที่วิวัฒนาการมาจากยุคดึกดำบรรพ์ของเรา จะคอยกวาดเรดาร์รอบตัวเพื่อสอดส่องว่าใครที่สามารถสร้างผลกระทบกับชีวิตของเราได้ โดยสมองจะสังเกตจาก ‘การวางตัว’ เป็นการวางตัวในลักษณะที่บ่งบอกถึงความมั่นใจว่า ตัวฉันคือผู้มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนรอบข้าง

ซึ่งจริงๆ แล้ว เราแต่ละคนบนโลกใบนี้ต่างก็มีความสามารถที่จะทำบางสิ่งบางอย่างให้ชีวิตของคนอื่นเปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่ว่าในทางดี หรือทางร้าย ไม่จำเป็นว่าเราต้องมียศใหญ่โต ครูคนหนึ่งมีอำนาจเหนือเด็กได้เป็นร้อยคน และสามารถช่วยให้นักเรียนเกเรเปลี่ยนชีวิตและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

คำพูดประโยคเดียวของคุณหมอมีอำนาจต่อจิตใจคนไข้จำนวนหลายรายต่อปี มือคู่เดียวของคนที่ขับรถออกไปบนถนนมีอำนาจทำให้วันนี้ถนนเป็นที่ปลอดภัยหรือกลายเป็นสมรภูมิคร่าชีวิต

นอกจากการวางตัว สมองของเราให้น้ำหนักรองลงมากับ ‘รูปลักษณ์ภายนอก’ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่การวางตัวของคนคนหนึ่งไม่ชัดเจนพอที่สมองเราจะตีความได้ เราจะพึ่งพาการสังเกตเครื่องแต่งกายและสิ่งประดับภายนอกทันที เช่น เครื่องแบบ ยานพาหนะ และวัตถุแบรนด์เนมต่างๆ ที่บ่งบอกถึงฐานะของเจ้าของ

มนุษย์เรามักยกย่องคนที่ฐานะสูงกว่าด้วยเหตุผลที่วนกลับไปข้อแรกว่า เพราะคนที่มีฐานะสูงกว่ามักมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของเรา เขาจะช่วยให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือแกล้งให้เรามีชีวิตลำบากขึ้นกว่าที่เป็นก็ได้นั่นเอง

ดังนั้น หากเราอยากรู้ว่าคนคนหนึ่งมีอำนาจเหนือเรามากน้อยเพียงใด ให้ถามตัวเองว่า ‘บุคคลนี้มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างไรบ้าง?’ และหากเราอยากรู้ว่าในโลกนี้มีกี่คนที่มีอำนาจเหนือเรา ให้เราถามตัวเองว่า ‘ตอนนี้มีกี่คนในโลกที่สามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือแย่ลง’

คนแทบทุกคนบนโลกต้องพึ่งพากัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นั่นหมายความว่าเราทุกคนจะมีเวลาที่เราเป็นผู้มีอำนาจและผู้ด้อยอำนาจสลับกันไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต คนที่เป็นอิสระต่ออิทธิพลโลกภายนอก เช่น พระเซนที่อาศัยอยู่ตามภูเขาหาอาหารป่ากินเอง สร้างที่อยู่อาศัยได้เอง ทำเครื่องนุ่งห่มใช้ได้เอง ไม่ใช้เงินเป็นปัจจัยหลักในการอยู่รอด จึงเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่สะทกสะท้านต่อความวุ่นวายในสังคม เพราะคนเหล่านี้ไม่ต้องแก่งแย่งอำนาจกับใคร ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์คนอื่น เพื่อจะอยู่รอดตามลำพังในป่าอย่างสงบสุขนั่นเอง

มนุษย์เรามักยกย่องคนที่ฐานะสูงกว่าด้วยเหตุผลที่วนกลับไปข้อแรกว่า เพราะคนที่มีฐานะสูงกว่ามักมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของเรา

2. สถานการณ์ต่างกัน อำนาจไม่เท่ากัน

เมื่อเรารู้ความหมายแท้จริงของ ‘อำนาจ’ แล้ว เราจะเข้าใจทันทีว่าอำนาจคือสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมือนแก๊ส คือสามารถพองตัวเพิ่มขนาดและลดปริมาตรได้แล้วแต่สภาพแวดล้อม

ในกรณีของอำนาจ คนคนเดียวกันในสภาพแวดล้อมต่างกัน ก็มีปริมาณอำนาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าในสถานการณ์นั้นตัวเขามีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน เช่น คนที่มีตำแหน่งเป็นพนักงานร้านอาหารญี่ปุ่น อาจด้อยอำนาจขณะทำงานอยู่ในร้านอาหาร แต่เมื่อเดินเข้าร้านอาหารอีกแห่งในฐานะลูกค้า ก็จะกลายเป็นคนที่มีอำนาจเหนือบริกรทั้งหมด รวมถึงเจ้าของร้านโดยปริยาย เพราะคนคนเดียวกันในฐานะลูกค้า สามารถตำหนิบริกรให้ถูกหักเงินเดือน และเขียนคอมเมนต์ออนไลน์ให้เจ้าของร้านเสียโอกาสทางการค้า

อำนาจที่มีในปริมาณไม่เท่ากันเกิดขึ้นเพราะบทบาทที่เปลี่ยนไป มีผลทำให้สิ่งที่เราทำได้เพื่อส่งผลกระทบต่อชีวิตคนอื่นนั้นมีมากขึ้นหรือน้อยตามไปด้วย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการกล่าวว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้คนมีอำนาจเท่าเทียมกันมากขึ้น แม้กระทั่งคนตัวเล็กที่เคยถูกมองข้ามมาตลอด ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ให้กับชีวิตคนอื่นได้ผ่านปลายนิ้วและจอคอมพิวเตอร์

ในประเทศญี่ปุ่น นักวิจัยได้ตีพิมพ์กรณีศึกษาที่ผู้หญิงธรรมดาหลายคนมารวมตัวทางออนไลน์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประเพณีการแต่งงาน จนเกิดเป็นชุมชนออนไลน์ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ให้ผู้หญิงชาวญี่ปุ่นซึ่งเดิมเป็นกลุ่มคนที่มักถูกมองข้ามและไม่มีพื้นที่ให้ออกความเห็น ได้สามารถเรียกร้องสิทธิของตนในการใช้นามสกุลเดิมหลังแต่งงาน

คนที่มีตำแหน่งเป็นพนักงานร้านอาหารญี่ปุ่น อาจด้อยอำนาจขณะทำงานอยู่ในร้านอาหาร
แต่เมื่อเดินเข้าร้านอาหารอีกแห่งในฐานะลูกค้า ก็จะกลายเป็นคนที่มีอำนาจเหนือบริกรทั้งหมด รวมถึงเจ้าของร้านโดยปริยาย

3. บุคคลผู้ใช้อำนาจเป็น ไม่ใช่คนวางตนใหญ่ แต่คือผู้เห็น ‘ขอบเขต’ ของอำนาจ

มาร์ก เฮิร์ด (Mark Hurd) เริ่มต้นงานด้วยการเป็นพนักงานระดับล่างคนหนึ่งในบริษัทที่ไม่โด่งดังมาก ในช่วง 20 ปีที่เขาทำงาน เขาค่อยๆ ไต่เต้าจนได้ขึ้นมาเป็นซีโอโอของบริษัท หลังจากนั้นจึงถูกดึงตัวไปทำงานกับบริษัท Hewlett-Packard ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่มีชื่อเสียง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอ

มาร์กเป็นคนที่มีความสามารถจริง และทำให้บริษัทใหม่ของเขาเฟื่องฟูจนราคาหุ้นขึ้นเป็นสองเท่า ในปี 2008 มาร์กได้รับเงินเดือนและโบนัสเป็นเงินสดจำนวนถึง 25.4 ล้านเหรียญ (ตีเป็นเงินจำนวน 800 กว่าล้านบาท) นอกจากนี้มาร์กและภรรยายังสามารถใช้เครื่องบินส่วนตัวของบริษัทได้ตามใจเมื่อต้องบินไปเจรจาธุรกิจ

มาร์กน่าจะได้จบบทชีวิตในฐานะซีอีโอที่มีความสามารถมากคนหนึ่งของวงการ ห้อมล้อมไปด้วยครอบครัวและเพื่อนๆ อย่างอบอุ่น แต่บทสุดท้ายในชีวิตของมาร์ก ไม่ต่างกับเรื่องราวของบุคคลผู้ทรงอำนาจหลายคน นั่นคือ เขาดื่มด่ำกับอำนาจจนพลาดและร่วงตกลงมาจากยอดเขา

เพราะตำแหน่งซีอีโอ ทำให้มาร์กชินกับการออกคำสั่ง การมีอำนาจ และการได้ทุกอย่างตามใจ จนเขามัวเมาและเริ่มใช้อำนาจที่ได้ในชีวิตการทำงานกับชีวิตด้านอื่น วันหนึ่งมาร์กดูรายการเรียลลิตี้โชว์ และเกิดชอบนักแสดงคนหนึ่งในรายการ เขาใช้อำนาจสั่งการว่าจ้างนักแสดงคนนี้มาทำงานอีเวนต์ของบริษัท และใช้อำนาจในฐานะซีอีโอเพื่อให้ได้ใกล้ชิดเธอ แม้ว่าตัวนักแสดงจะบอกปฏิเสธ เขาก็ไม่สนใจ บังคับเธอไปกินเลี้ยง พาเธอขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปในที่ที่ไม่เกี่ยวกับงาน และใช้ทรัพย์สินของบริษัทกับเรื่องส่วนตัวโดยไม่รายงานผู้ถือหุ้น ถือเป็นการผิดกฎของบริษัท

ปี 2010 มาร์กจบฉากด้วยการถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง ต่อด้วยการถูกฟ้องร้องจากบริษัท เรื่องราวการนอกใจภรรยากลายเป็นข่าวฉาวโฉ่ในอเมริกา บทสุดท้ายในชีวิตเขาจบด้วยปัญหาครอบครัวและความล้มเหลว

ปัญหาหลักของคนที่มีอำนาจอย่าง มาร์ก เฮิร์ด ไม่ใช่การลืมรากเหง้าของตน แต่คือการลืมว่า ‘อำนาจ’ เป็นสิ่งที่มีขอบเขต และในขอบเขตนั้นจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คนยอมรับได้ และพฤติกรรมบางอย่างที่คนรับไม่ได้ และมองว่าเกินขอบเขต เมื่อผู้มีอำนาจกะเกณฑ์ขอบเขตอิทธิพลของตนผิดและแสดงพฤติกรรมที่มากเกินสังคมจะยอมรับ ไประรานเขตแดนผู้อื่น หรือทำร้ายผู้อื่นบ่อยครั้งเข้า ท้ายที่สุดคนเหล่านี้มักถูกลงโทษ ไม่ว่าจะด้วยการถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง การถูกขับไล่ออกจากกลุ่มเพื่อน หรือการถูกเนรเทศออกจากสังคม

แม้หลายครั้ง ‘อำนาจ’ เป็นคำที่ถูกใช้ในทางลบ และในความเป็นจริงอำนาจไม่ต่างอะไรกับเงิน นั่นคือ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่มีความเป็นกลาง จะดีหรือร้าย ขึ้นอยู่ว่าผู้ที่ได้ครอบครองจะใช้ปัจจัยนี้เพื่อช่วยเหลือหรือว่าทำลาย

คนไม่ดีที่มีอำนาจ สามารถก่อสงครามและความเสียหาย ในทางกลับกันคนดีที่มีอำนาจ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์และทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้มากมาย

คุณล่ะ ใช้อำนาจที่มีอย่างไร?

ภาพประกอบ: eddy chang

Tags: