พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นหลักหมายในการเข้าใจโลกและนิยามตนเองของคนไทยมายาวนาน (คนไทยที่กำลังอ่านบทความนี้น่าจะเกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ด้วยกันทั้งสิ้น) คนหลากหลายรุ่นมองเห็นพระองค์จากมุมต่างๆ ตั้งแต่ความเป็น ‘พ่อ’ ของแผ่นดิน ไปจนถึงการเป็นตัวแสดงที่สำคัญยิ่งในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย
ไม่ว่าจะมองพระองค์ท่านในฐานะอะไร ก็คงปฏิเสธได้ลำบากว่าเราต่างก็จับจ้องมองไปที่ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ มายาวนาน
การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สั่นคลอนคนไทยกลุ่มต่างๆ อย่างรุนแรง นอกจากจะเป็นการสูญเสียพระองค์ผู้เป็นที่รัก/ที่พึ่ง และผูกพันเราไว้กับความเป็นไทยอย่างที่เรารู้จัก เราต่างตระหนักว่าสังคมไทยที่เราคุ้นเคยจะเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเรื่องใด เป็นการเคลื่อนไปสู่อะไรที่เรายังไม่รู้จัก/ไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนแปลงจึงมักจะเร้าความกลัวของคนเสมอ
ท่าทีอาการที่ดูไม่ร่วมทุกข์ร่วมเศร้าหรือแสดงความเศร้าโศก
ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ตรงใจเร้าความโกรธอย่างรุนแรง
จนกลายเป็นการตำหนิ/ก่นด่าไป
และใช้ความรุนแรงกับผู้มีท่าทีไม่ร่วมทุกข์
ช่วง 2-3 วันแรกหลังจากมีประกาศการสวรรคต ท่าทีของผู้คนที่แสดงออกผ่านสื่อสังคมต่างก็เป็นไปในลักษณะการแสดงความรู้สึกต่อความสูญเสีย ความรู้สึกเหล่านั้นหลากหลาย และมีฐานคิดที่แตกต่างกันมาก
ความเศร้าที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความเศร้าแบบเดียวกัน ความหลากหลายเหล่านั้นช่างงดงามยิ่งนัก แต่ไม่นานต่อมา ความรู้สึกและท่าทีต่อการสวรรคตถูกผลักให้กลายเป็นขั้วตรงข้ามเหมือนกับอีกหลายๆ เรื่องในสังคมไทย ที่ลดทอนความหลากหลายให้กลายเป็นสองขั้วแบบไม่ซับซ้อน เพื่อจะฟาดฟันและเกลียดชังกันอย่างสุดขั้วหัวใจ
คนมากมายรักในหลวง เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ก็อยากจะแสดงความรักและความอาลัยอย่างเต็มที่ เมื่อรัฐไทยประกาศวิธีการแสดงความเศร้าโศกที่เป็นแบบแผนเดียวหรือเป็นอื่นไม่ได้ในช่วงแรก (ก่อนจะผ่อนผันขึ้น เมื่อเห็นข้อจำกัดในการทำตามแบบแผนเดียวกันของผู้คนมากมาย) ท่าทีอาการที่ดูไม่ร่วมทุกข์ร่วมเศร้าหรือแสดงความเศร้าโศกในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ตรงใจเร้าความโกรธอย่างรุนแรง จนกลายเป็นการตำหนิ/ก่นด่าไป และใช้ความรุนแรงกับผู้มีท่าทีไม่ร่วมทุกข์
การตั้งคำถามกับความรู้สึกของกันและกันนี้
คือการเพิ่มแรงกดดันในใจของกันและกัน
ให้มากขึ้นไปอีกหลายเท่า
การแสดงความเกลียดชังและใช้ความรุนแรงต่อคนที่รู้สึกหรือแสดงออกไม่เหมือนเรา ไม่น่าจะทำให้บุคคลอันเป็นที่รักของเรามองเห็นหรือรับรู้ถึงความรักที่เรามีได้ เช่น เรารักคนคนหนึ่ง อยากให้เขารู้ว่าเรารักเขามากมาย โดยการไปไล่ทุบตีด่าทอคนอื่น เขาก็คงมองไม่เห็นความรักของเรา แต่อาจจะตื่นตระหนกกับการใช้ความรุนแรงของเรา และอาจจะมองเห็นความโกรธเกลียดที่เรามีต่อคนอื่น
คนหลายกลุ่มตั้งคำถามกับความรู้สึกสูญเสียโศกเศร้าของคนอื่น ที่น่าแปลกประหลาดคือ เราไม่ตั้งคำถามกับความโศกเศร้า ‘ส่วนตัว’ ของผู้คน เช่น คนร้องไห้ไว้ทุกข์เมื่อพ่อแม่พี่น้องเขาเสียชีวิต แต่กลับตั้งคำถามกับความรู้สึกของคนเมื่อความสูญเสียนั้นเป็นเรื่อง ‘ส่วนรวม’ หรือ ‘รวมหมู่’
หลายคนไม่ลังเลที่จะตั้งคำถามว่าทำไมคนอื่นจึงเสียใจ/ไม่เสียใจ และทำไมคนอื่นจึงไม่เสียใจแบบที่ตัวเองเสียใจ ประมาณว่าตัวเองทุกข์แบบนี้ คนอื่นก็ต้องทุกข์แบบเดียวกันเป๊ะ
หลายคนมองเห็นการกระทำของคนอื่นว่า
เป็นการทำร้ายจิตใจและรังแกตนเอง
แต่กลับมองไม่เห็นว่าคำพูดและการกระทำของตัวเอง
ก็รังแกคนอื่นได้เช่นเดียวกัน
การตั้งคำถามกับความรู้สึกของกันและกันนี้ คือการเพิ่มแรงกดดันในใจของกันและกันให้มากขึ้นไปอีกหลายเท่า
กลายเป็นว่าคนที่รู้สึกไม่เหมือนกันนี้ต่างก็รู้สึกว่าตัวเองถูกกดดันรังแกจากอีกฝ่าย และหยิบยกกรณีสุดขั้วมาประกอบความโกรธของตัวเอง หลายคนมองเห็นการกระทำของคนอื่นว่าเป็นการทำร้ายจิตใจและรังแกตนเอง แต่กลับมองไม่เห็นว่าคำพูดและการกระทำของตัวเองก็รังแกคนอื่นได้เช่นเดียวกัน
สังคมไทยอย่างที่เรารู้จักสูญเสีย ‘ศูนย์รวม-แกนกลาง’ ของความเป็นไทยอย่างที่เรานิยามตนเองมายาวนาน ความเศร้าโศกร้าวรานท่วมท้นเป็นของคนมากมายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เห็นใจกันได้ ความทุกข์ใจของแต่ละคนมีความเฉพาะเจาะจง ไม่มีใครเหมือนใคร ความทุกข์อาจจะดูคล้ายกันได้บ้าง แต่อย่างไรก็ไม่เหมือนกันเพราะปัจจัยเฉพาะของชีวิตที่ต่างกัน
คนรู้สึกไม่เหมือนกันได้ ความรู้สึกที่ดูจะคล้ายกันมากก็อาจจะต่างกันอยู่หลายเรื่องหลายระดับ ในเวลาแบบนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มองเห็นความหลากหลาย เคารพความรู้สึกของกันและกัน เห็นใจและร่วมกันประคับประคองในเวลาที่คนมากมายเสียใจและเสียขวัญ
แทนที่จะเอาความเศร้า กลัว โกรธ สาดใส่กันและกันในรูปของความรุนแรงทางร่างกายและคำพูด ลองเอาพลังเหล่านั้นหล่อเลี้ยงใจให้มองเห็นและเข้าใจความแตกต่าง
เห็นความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความกลัวหลากรูปแบบของกันและกัน แม้อาจไม่ถึงขั้นหันมารักกัน แต่อย่างน้อยเราอาจลดทอนหรือเลิกเกลียดกันได้บ้าง
และคนไทยหลายกลุ่มอาจจะใช้เวลาแห่งความสูญเสียนี้ในการเรียนรู้ เพื่อจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายอันซับซ้อนในใจเราและเขาบ้างก็ได้
ภาพประกอบ: eddy chang
Tags: สภาพจิตใจ, ความเศร้า, ความเกลียดชัง, injurious severe, เมื่อ ‘ร้าวราน’ กลายเป็น ‘รุนแรง’