หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และประชากรโลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในอีก 35 ปีข้างหน้า โดยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
นี่เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเผชิญ เพียงแต่ผลที่จะเกิดขึ้นอาจรวดเร็วและรุนแรงแตกต่างกัน ประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา ประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตามมาด้วยประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงไทย
สิงคโปร์มีสัดส่วนของผู้สูงอายุใกล้เคียงกับไทย และเป็นสังคมผู้สูงอายุ แม้สิงคโปร์จะเตรียมแผนรับมือกับความท้าทายนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการมีบุตรน้อยลงและผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น
เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่มีแผนรองรับที่เป็นรูปธรรม และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีฐานะยากจน
ส่วนญี่ปุ่นมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Hyper-Aged Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
สำหรับไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยในขณะนี้ไทยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคน และภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ
ข้อมูลจาก World Population Ageing โดยองค์การสหประชาชาติ ระบุว่าหลังจากปี 2552 ประชากรไทยที่อยู่ในวัยพึ่งพิง (เด็กและผู้สูงอายุ) จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีประชากรเด็กน้อยกว่าประชากรผู้สูงอายุ
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทย ‘แก่ก่อนรวย’ รวมทั้งมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ ‘เรียนสูง’ น้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าไทยพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายนี้มากน้อยเพียงใด
ต่อเรื่องนี้ การทำความรู้จักนโยบายรับมือสังคมผู้สูงอายุของประเทศผู้นำเอเชียสามประเทศข้างต้นจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย สำหรับใช้เป็นแนวทางในการรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
1. การขยายอายุเกษียณ เป็นนโยบายที่ทำได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร หลายประเทศใช้นโยบายนี้เพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงาน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 เป็น 67 ปี และเกาหลีใต้จะขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปีภายในปีนี้ ญี่ปุ่นจะให้ผู้สูงอายุทำงานได้จนถึงอายุ 65 ปี จากเดิมที่ 62 ปี ภายในปี 2025 ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ขยายอายุเกษียณของแรงงานในสถานประกอบการจาก 55 เป็น 60 ปี
2. การสนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นนโยบายที่ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับผู้สูงอายุ รัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุให้ทำงานต่อ (Special Employment Credit) โดยมีเงื่อนไขว่าลูกจ้างต้องเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Central Provident Fund) เท่านั้น โครงการนี้จึงไม่ครอบคลุมกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระ นอกจากนี้ ทางการยังให้เงินสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ (Workpro Program) เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยตั้งองค์กร ‘Silver Human Resources Center’ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุทำงานในช่วงเวลาสั้นลง หรือทำงานที่เบาและง่าย
สำหรับไทย ภาครัฐตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม แรงงานสูงอายุกลุ่มนี้มีเพียง 3 แสนคน หรือร้อยละ 2.9 ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ นโยบายนี้จึงเป็นเพียงการช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ได้สนับสนุนให้มีการนำทักษะและประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. การเพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว ซึ่งทำได้ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบตลอดช่วงอายุ โดยมากมักได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ‘Senior Work Program’ ในญี่ปุ่น และ ‘SkillsFuture Program’ ใน สิงคโปร์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์พัฒนาทักษะเพิ่มเติม ควบคู่กับการจัดหางานที่เหมาะสมให้แก่แรงงาน
สำหรับไทย ขณะนี้ภาครัฐมีโครงการฝึกอบรมแรงงานสูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น และมีการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้
4. การยกระดับคุณภาพชีวิตจำเป็นต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยภาครัฐมีส่วนสำคัญในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ รวมถึงการจัดสรรรายได้และรายจ่ายอย่างสมดุล โดยเฉพาะรายได้หลังวัยเกษียณ ผ่านการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็มีส่วนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีการคิดค้นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ดูแลที่เป็นผู้หญิงหรืออยู่ในวัยทำงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างหมดห่วง รวมทั้งมีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนทุกวัยใช้ร่วมกันได้ (Universal Design)
ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการทางการแพทย์ที่อยู่ไกลจากบ้าน หรือไม่มีรถโดยสารเดินทางไปต่างสถานที่ ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการจากส่วนกลาง
5. การมีส่วนร่วมและการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ สิงคโปร์มีแผนนโยบายแห่งชาติเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเริ่มวางแผนมานานกว่า 50 ปี และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายที่มีทิศทางสอดคล้องกันระหว่างกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องพัฒนาต่อไป โดยระบบบำนาญจะต้องยืดหยุ่นและสอดคล้องกับแนวโน้มนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังภาระการคลังในการดูแลสวัสดิการและ รักษาพยาบาล
ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจริงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร และเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยจะมีนโยบายรองรับไปบ้างแล้ว แต่การวางแผนและการดำเนินนโยบายยังค่อนข้างกระจัดกระจาย ซึ่งหากมีการตั้งหน่วยงานรับผิดชอบและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ก็จะช่วยให้เกิดแนวทางการรับมือกับความท้าทายอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เรียบเรียงจากบทความ ‘ถอดบทเรียนนโยบายรับมือสังคมสูงวัยจากต่างประเทศ’ โดย ธนภรณ์ จิตตินันทน์ และ ณัคนางค์ กุลนาถศิริ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาด้าน Aging ในโครงการ Thematic Studies ปี 2560 จัดทำโดยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
FACT BOX:
- สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7
- สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14
Tags: United Nations World Population Ageing, Senior Work Program, ธนภรณ์ จิตตินันทน์, SkillsFuture Program, ณัคนางค์ กุลนาถศิริ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สายนโยบายการเงิน, สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด, Aging Society, การขยายอายุเกษียณ, สังคมผู้สูงอายุ, Special Employment Credit, สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์, Central Provident Fund, Aged Society, Workpro Program, Hyper-Aged Society, Silver Human Resources Center