หลังพาเจ้าหมีดำจอมกวนแก้มแดง มาสคอตประจำจังหวัดคุมะโมะโตะ อย่าง ‘คุมะมง’ (Kumamon) ให้เป็นที่รู้จักและเข้าไปอยู่ในใจคนไทยหลายคนมาตั้งแต่ปี 2010 ทั้งยังต่อยอดให้ผู้คนทั่วโลกเริ่มรู้จักเมืองคุมะโมะโตะมากขึ้น

มาคราวนี้ ญี่ปุ่นกลับมาอีกครั้งพร้อมแนะนำ ‘ชิบะคุง’ (Chiba Kun) มาสคอตประจำจังหวัดชิบะ ที่ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากโตเกียว เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้จักตัวจังหวัดมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเรียกนักท่องเที่ยวเข้าประเทศและเสริมศักยภาพความคล่องตัวของเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นไปในตัว

ซึ่งหลังจากที่เรามีโอกาสได้สัมผัสเจ้าชิบะคุงตัวเป็นๆ แล้ว ขอรับรองว่าถ้าเป็นเรื่องความเกรียน มาสคอตสีแดงแจ๊ดตัวนี้คงจะยังตามเจ้าคุมะมงไม่ไหว แต่ถ้าเป็นเรื่องความน่ารักแล้ว เห็นทีคุมะมงคงจะต้องระวังตัวไว้ให้ดีแล้วล่ะ!

เรื่องราวของ ‘ชิบะคุง’ สิ่งมีชีวิตลึกลับที่ไม่ใช่ทั้งหมา หมู หรือหนู!

สารภาพตามตรงว่าได้ยินชื่อ ‘ชิบะคุง’ ครั้งแรก เราอดนึกถึงสุนัขใบหน้ากวนโอ๊ย แก้มย้วย ‘ชิบะ อินุ’ (Shiba Inu) (วงเล็บอีกทีว่า เพศผู้ เพราะมีคำว่าคุง) ไม่ได้เลย

เพราะไหนจะชื่อที่มีความคล้ายคลึงกัน ความรู้อันน้อยนิดเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น เราจึงไม่ทราบมาก่อนว่าญี่ปุ่นมีจังหวัดชื่อนี้ด้วย ที่สำคัญน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจังหวัดชิบะตั้งอยู่ติดๆ กับโตเกียว และเป็นที่ตั้งของสนามบินนาริตะ (Narita Airport) อีกด้วย

ตามข้อมูลในเอกสารระบุว่า ‘ชิบะคุง’ เป็นสิ่งมีชีวิตอันน่าอัศจรรย์ มีร่างกายสีแดง กินเก่ง ชอบเล่นซุกซน อาศัยอยู่ในจังหวัดชิบะ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ชื่นชอบความท้าทาย เต็มไปด้วยความกล้าหาญ

โดยรูปร่างของเจ้าชิบะได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากรูปร่างของตัวจังหวัดชิบะ

ทีมประชาสัมพันธ์จากจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เล่าให้เราฟังว่า “ชิบะคุงเป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับที่ทีมผู้สร้างไม่ต้องการให้มีนิยามจำเพาะว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด โดยนักออกแบบที่ได้รับหน้าที่ให้กำเนิดชิบะคุงคือ ‘ซากะซากิ จิฮารุ’ (Sakazaki Chiharu) ดีไซเนอร์หญิงที่เคยฝากผลงานออกแบบ ‘ซุยกะ’ (Suica) เพนกวินหัวกลมดิ๊กที่ปรากฏบนบัตรโดยสารรถไฟ JR East มาแล้ว”

Photo: Flickr

เดิมทีชิบะคุงถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2007 (เกิดก่อนคุมะมงเสียด้วยซ้ำ) เพื่อจุดประสงค์การเป็นมาสคอต ‘เทศกาลการแข่งขันกีฬาภายในประเทศญี่ปุ่นครั้งที่ 65 ประจำปี 2010’ (JAPAN THE 65TH NATIONAL SPORTS FESTIVAL)

และหลังจากที่กีฬาดังกล่าวจบลง ด้วยความผูกพันธ์ของชาวจังหวัดชิบะที่มีต่อชิบะคุง คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกเสียดายหากเจ้าชิบะคุงจะเลือนหายและถูกลืมไปในวันใดวันหนึ่ง

ชาวชิบะจึงเรียกร้องให้นำ ‘ชิบะคุง’ มาช่วยในการโปรโมตจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่คนในจังหวัดชิบะและโตเกียวเท่านั้นที่รู้จักชิบะคุง เพราะสิ่งมีชีวิตลึกลับสีแดงตัวนี้โด่งดังและกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2017 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 10 ขวบ ของชิบะคุง และเพียงแค่ 2 วัน ที่มีการจัดกิจกรรมงานวันเกิด ก็มีคนให้ความสนใจเข้าร่วมงานฉลองให้กับมาสคอตสีแดงตัวนี้มากกว่า 5,000 คนแล้ว

มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่าที่มาของสีแดงบนตัวชิบะคุงสื่อถือความกล้าหาญและ แพสชัน (Passion) ในขณะเดียวกัน ทีมประชาสัมพันธ์จากญี่ปุ่นก็บอกกับเราว่าสีของตัวชิบะคุงมีที่มาจากสีของอิชิโกะ (Ichiko) หรือสตรอว์เบอร์รี หนึ่งในผลไม้ขึ้นชื่อประจำจังหวัดชิบะนั่นเอง

‘ชิบะเบอร์รี’ สตรอว์เบอร์รีสายพันธ์ุล่าสุดประจำจังหวัดชิบะ

เนื่องจากสภาพพื้นดินของจังหวัดชิบะอุดมไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิด ซึ่งเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ผลผลิตทางการเกษตของจังหวัดชิบะจึงเจริญเติบโตได้ดีไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ในญี่ปุ่น

ที่สำคัญจังหวัดชิบะยังมีฟาร์มสตรอว์เบอร์รีเป็นจำนวนมากที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเด็ดกินไม่อั้นในราคาไม่แพง หรือที่รู้จักกันในชื่อกิจกรรม ‘Strawberry Picking’

โดยในปี 2017 นี้ เมืองชิบะได้คิดค้นสตรอว์เบอร์รีสายพันธ์ุใหม่ประจำเมืองออกมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในชื่อ ‘ชิบะเบอร์รี’ (Chiba Berry) หลังผ่านการพัฒนาสายพันธ์ุมามากกว่า 12 ปี (เริ่มต้นพัฒนาในปี 2005) เพื่อต้องการให้ได้สตรอว์เบอร์รีพันธ์ุพิเศษที่ทนทานต่อโรค มีขนาดใหญ่ และรสชาติดี

ชิบะเบอร์รีจะมีขนาดลูกที่ใหญ่กว่าสตรอว์เบอร์รีสายพันธ์ุทั่วๆ ไป รสชาติหวานอมเปรี้ยว และจุดเด่นสำคัญคือการที่มันมีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวที่แน่นอน ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องสภาพอากาศ

หากใครอยากมีโอกาสได้ลิ้มลองชิบะเบอร์รีและสัมผัสตัวเป็นๆ ของชิบะคุงแล้วละก็ เห็นทีคงจะต้องไปลองเที่ยวจังหวัดชิบะสักครั้ง และอย่าลืมกลับมาบอกเราด้วยล่ะว่าระหว่างคุมะมงและชิบะคุง ใครน่ารักกว่ากัน?

ไทยจะเรียนรู้อะไรได้จากชิบะคุง หรือคุมะมง?

ย้อนกลับไปที่เรื่องมาสคอตชิบะคุงสักนิดครับ

แม้ในปัจจุบัน ประเทศไทยของเราจะมี ‘น้องสุขใจ’ มาสคอตของททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเป็นตัวแทนของการท่องเที่ยวในไทย

แต่ลำพังแค่สุขใจตัวเดียวกับหน้าที่ส่งเสริมทั้ง 77 จังหวัดในไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็ดูจะเป็นหน้าที่หนักเกินตัวไปไม่น้อย

หากมองในแง่การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าเราน่าจะสามารถนำโมเดลตัวอย่างการใช้มาสคอตของจังหวัดชิบะ จังหวัดคุมะโมะโตะ หรือจังหวัดอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นที่พิสูจน์ให้เห็นในแง่การสร้าง awareness กับคนทั่วโลกให้ได้รู้จักตัวจังหวัดหรือสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมากขึ้น มาปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมบ้านเราได้อย่างเกิดประโยชน์มากที่สุดก็น่าจะเป็นผลดีไม่น้อยเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าหากพินิจพิเคราะห์ในเชิงความน่ารักและความคะวะอิแล้ว หลายคนอาจจะมองข้ามช็อตไปว่า “คาแรกเตอร์มาสคอตของไทยออกแบบมาก็น่าจะดูด้อยกว่าและไม่ดึงดูดใจเท่าญี่ปุ่นหรอก”

แต่หากไม่ลองก็คงไม่รู้ และหากไม่เกิดการเรียนรู้ ก็ย่อมไม่นำมาซึ่งการพัฒนา เชื่อลึกๆ ว่าถ้าไทยจะลองนำโมเดลมาสคอตของแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่นมาปรับใช้กับไทยของเราได้ 77 จังหวัด ก็ดูจะเป็นแนวทางที่ไม่น่าเสียหายแต่อย่างใด ไม่แน่ว่าประเทศไทยของเราอาจจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนเศรษฐกิจที่อาจจะอู้ฟู่ขึ้นตามขึ้นไปด้วย

เมื่อถึงเวลานั้นบึงกาฬของเราอาจจะมีมาสคอตที่เกรียนสูสีพอประชันกับคุมะมงก็เป็นได้!

Photo: Flickr

ภาพประกอบ: Karin Foxx

DID YOU KNOW?

  • ในปี 2016 ที่ผ่านมาสตรอว์เบอร์รีจากชิบะมียอดขายสูงถึง 7.5 พันล้านเยน (2.4 ล้านบาท) โดยขายดีเป็นอันดับ 9 ของสตรอว์เบอร์รีทั้งประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
Tags: , , ,