ถ้าไม่ใช่คนในแวดวงสถาปัตยกรรม หรือโปรดปรานการเสพงานศิลปะบนตัวอาคารและตึกรามบ้านช่องเป็นอาจิณ เราเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ความหมายของคำว่า ‘ฟาซาด’ (Facade)

เพราะถ้าอวัยวะบนใบหน้าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราจดจำกันได้ ฟาซาดก็เปรียบเสมือนชิ้นส่วนที่โดดเด่นชวนสะดุดตาของตัวอาคาร ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของแต่ละที่ เปรียบเหมือนส่วนประกอบที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกใช้วัสดุของผู้ออกแบบ รวมถึงสภาพสังคมและความเปลี่ยนแปลงตามแต่ละยุคสมัย

แล้วทำไมฟาซาดถึงสำคัญขนาดนั้น? เราพาคุณมาร่วมพูดคุยกับ ปิตุพงษ์  เชาวกุล สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง ซูปเปอร์มาชีน สตูดิโอ (Supermachine Studio)  และภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมและผู้ก่อตั้ง สเปซชิฟต์ สตูดิโอ (Spaceshift Studio) ถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของฟาซาดจากตึกสวยๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจฉันใด ฟาซาดที่ดีก็ควรจะสื่อถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในงานสถาปัตยกรรมได้ฉันนั้น

‘ฟาซาด’ ในมุมมองของปิตุพงษ์ เชาวกุล คือการตกแต่งหน้าตาและพื้นผิวของอาคาร ตั้งแต่รูปแบบที่ซับซ้อนไปจนถึงเรียบโล้น แตกต่างไปตามปัจจัยต่างๆ โดยอาคารที่เน้นการใช้งานเชิงฟังก์ชันมากๆ เช่น อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย รูปแบบของฟาซาดก็จะออกมาเรียบง่าย

ขณะเดียวกันอาคารที่มีหน้าตาดึงดูดใจ ชวนให้เข้ามาเยี่ยมเยียนอย่างร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้า ก็พร้อมจะทุ่มเงินไปกับการออกแบบฟาซาดแพงๆ เพราะนอกจากจะขึ้นอยู่กับทักษะการออกแบบของสถาปนิก และเงินทุนแล้ว ความสนใจของเจ้าของอาคารก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์เข้ากับการออกแบบฟาซาดของตัวห้างในแต่ละแห่ง

ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน กล่าวว่า “ถ้าแปลตามรากศัพท์ภาษาฝรั่งเศส facade หมายถึง โฉมหน้า พอนำมาใช้เป็นศัพท์งานสถาปัตยกรรม ก็เป็นคำที่ให้ความหมายกระชับ หมายถึง รูปด้านอาคารที่มองเห็นได้ชัดเจน เป็นศัพท์ที่สถาปนิกใช้สื่อสารเวลาทำงานหรือพูดคุยกันในเรื่องงานสถาปัตยกรรม แต่ไม่ค่อยใช้ในชีวิตประจำวัน

“ถ้าดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจฉันใด ฟาซาดที่ดีก็ควรจะสื่อถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในงานสถาปัตยกรรมได้ฉันนั้น ซึ่งเท่าที่เห็น สถาปนิกส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญกับการออกแบบฟาซาดทั้งนั้น เพราะสุนทรียภาพในการออกแบบรายละเอียดเหล่านี้สามารถสร้างความต่างระหว่างคำว่า ‘อาคาร’ และ ‘สถาปัตยกรรม’ ให้เกิดขึ้นได้ไม่น้อย”

บอกเล่าเรื่องราวในแต่ละยุคสมัยผ่านฟาซาด

เมื่อพินิจพิเคราะห์รูปร่างภายนอกของฟาซาดบนตัวอาคารแต่ละแห่ง นอกเหนือจากสุนทรียะที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องราวในแต่ละยุคสมัยก็ยังถูกบอกเล่าผ่านหน้าตาและการก่อสร้างของอาคารนั้นๆ

ปิตุพงษ์บอกว่า “ผมชื่นชอบฟาซาดของงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นช่วงปี 1960-1970 อย่างผลงานของอาจารย์อมร ศรีวงศ์ การออกแบบฟาซาดมันขึ้นอยู่กับการตีความของสถาปนิกแต่ละยุคสมัย ซึ่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่จะเริ่มในช่วงหลังยุคสงครามโลก ปี 1945 ผู้คนขัดสนเงินทองจากภัยสงคราม การก่อสร้างจึงเน้นความประหยัด อาคารมีหน้าตาออกมาเรียบๆ มินิมอล และเมื่อเข้าสู่ยุคโพสต์โมเดิร์นที่ตีความความหรูหราของการออกแบบผ่านการประดับประดาตกแต่ง เราจึงได้เห็นเสาโรมันอยู่ในหลากหลายอาคาร จนปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการก่อสร้างมีมากขึ้น ความสวยงามของฟาซาดก็ไม่ถูกจำกัดด้วยปูนหรือคอนกรีตเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป”

ด้านภิรักษ์กล่าวว่า “การออกแบบสถาปัตยกรรมหรือฟาซาดในแต่ละยุคสมัย มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตามเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคาร นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องอื่นๆ ที่สถาปนิกใช้เป็นแก่นความคิดในการออกแบบ เช่น เรื่องของสุนทรียภาพ การสื่อความหมาย การเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม แม้กระทั่งความสัมพันธ์กับโครงสร้างของเมือง แต่ก็มีงานบางชิ้นที่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างเช่น อาคารศรีเฟื่องฟุ้ง หรือตึกทุเรียน ด้วยเทคโนโลยีในยุคนั้นที่สามารถคิดได้ขนาดนี้ เดินผ่านทีไรก็ต้องนึกกราบใจสถาปนิกกับวิศวกรทุกครั้งไป”

เรื่อง: กองบรรณาธิการ ภาพ: วงศกร ยี่ดวง, มณีนุช บุญเรือง

Tags: , ,