โต๊ะกินข้าว ไมโครเวฟ และกระถางธูป ของสามสิ่งที่ดูเหมือนไม่จัดอยู่ในประเภทเดียวกันได้ถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านวิถีชีวิตประจำวัน โต๊ะกินข้าว ที่เน้นย้ำถึงช่วงเวลาที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ไมโครเวฟ ตัวแทนของเทคโนโลยีที่เข้ามาย่นระยะเวลาการทำอาหารลง อาหารที่กินไม่หมดในแต่ละมื้อจะถูกนำกลับมาอุ่นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกระถางธูปถือเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อที่เหนียวแน่นของครอบครัว ของทั้งสามสิ่งนี้นำเสนอผ่านนิทรรศการ Made by Microwave โดย Kanith จัดแสดงที่โรงแรม Pullman Bangkok Hotel G ชั้น 36 ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม – 21 พฤษภาคม 2560
ด้วยพื้นที่จัดแสดงผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ ทั้งเรื่องบรรยากาศ ตำแหน่งการติดตั้งงาน คำอธิบายตัวงาน หรือจำนวนของงาน ไม่ได้เอื้อต่อสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อได้อย่างเพียงพอ แม้ว่าจะมีการจัดกลุ่มก้อนงาน การแบ่งตามโทนสี หรือพื้นที่เพื่อเน้นความหมายแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจสารได้มากขึ้น ขณะที่ Artist Statement ที่อยู่ด้านหน้าทำหน้าที่ปูทางให้เห็นถึงคำถามที่ติดอยู่ในหัวซึ่งไม่มีคำตอบตายตัว โต๊ะกินข้าว ไมโครเวฟ และกระถางธูป คือใจความหลักที่ต้องการจะบอกเรื่องวาทกรรมและมายาคติที่เคลือบสังคมไทย ความย้อนแย้งกลายเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
การเล่าเรื่องของ Kanith ผ่านคาแรกเตอร์ผู้หญิงผมสั้นที่ไร้การแสดงความรู้สึกทางสีหน้ากับกิจกรรมต่างๆ อาทิ ซื้อของ ทำกับข้าว ล้างจาน จนกระทั่งบรรยากาศบนโต๊ะอาหารของครอบครัว ถึงแม้ดูเหมือนจะไร้อารมณ์ความรู้สึก แต่สิ่งเหล่านั้นกลับตอกย้ำความน่าเบื่อหน่ายและเสียดสีต่อสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Kanith นอกจากใบหน้าที่ไร้อารมณ์แล้ว ยังมีการใช้สีตามแม่สีต่างๆ สำหรับพื้นหลังภาพซึ่งอาจใช้เพื่อเป็นตัวสื่ออารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนลดทอนความจริงของภาพลงไป
นอกจากภาพวาดที่ทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องแล้ว ป้ายชื่อของภาพก็ทำหน้าที่ช่วยเล่าเรื่องและสื่อความออกมา หน้าที่ของเด็กสาวในภาพที่บรรยายออกมาว่าเธอคือเด็กสาวที่ดีอย่าง Good Girl No.1 ที่กำลังสับแขนของตัวเองล้อเลียนไปกับการทำอาหาร ที่ผู้คนต่างผูกติดหน้าที่เหล่านี้ไว้ให้กับผู้หญิง หรือภาพ Good Girl No.4 ที่กำลังล้างจานอยู่ ถึงแม้จะใส่เพียงผ้าขนหนู เตรียมตัวไปอาบน้ำ แต่ภายใต้มายาคติของสังคมไทยที่แม้ว่าการกดขี่ทางเพศอาจไม่ได้แสดงออกรุนแรงเท่าต่างประเทศ ทว่าสังคมชายเป็นใหญ่ของไทยนั้นก็เข้มแข็งมาก เพราะฉะนั้นการเป็นลูกสาวที่ดีคือการต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานในบ้านได้
หากนับกันดีๆ แล้ว ช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในแต่ละวัน คงจะเป็นช่วงรับประทานอาหาร ซึ่งนอกเหนือจากการกินข้าวร่วมกันแล้ว ยังเป็นเวลาที่พ่อแม่จะได้พูดคุย เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่พบเจอ แลกเปลี่ยนบทสนทนาที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ทั้งเสียงบ่น เรื่องตลก ความสงสัย อาจรวมไปถึงการกล่าวชมลูกของป้าข้างบ้าน ล้วนถูกหยิบยกนำมาพูดในช่วงเวลานี้ อย่างเช่น ภาพ On Our Faces ที่ปรากฏคาแรกเตอร์ทั้ง 3 นั่งหน้าโต๊ะกลม ใบหน้าโดนโปะไปด้วยจานอาหาร นั้นให้ความรู้สึกเหมือนเวลาที่โดนพูดแทงใจดำเวลาที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ลำดับชั้น อายุ ความอาวุโส เป็นสิ่งที่กำหนดถึงอำนาจในการพูดที่ผู้ฟังจะต้องน้อมรับ จากวัฒนธรรมการพูดของคนรุ่นเก่าที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เถียงหรืออธิบายชี้แจง รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว
นอกจากนั้นความสงสัยของศิลปินเกี่ยวกับกิจกรรมร่วมโต๊ะอาหาร ถึงแม้ในยุคปัจจุบันจะมีกิจวัตรที่แข่งขันกับเวลาสูงมากเพียงไร แต่การกินข้าวพร้อมหน้ากันร่วมโต๊ะก็ถือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา ยิ่งเป็นครอบครัวขยายก็ยิ่งใช้เวลามากขึ้น นอกจากจะทำอาหารให้เพียงพอต่อคนในครอบครัวแล้ว ยังมีเรื่องราวที่ต้องแลกเปลี่ยนกันอีก ความย้อนแย้งเสนอผ่านภาพ On Our Table ความแตกต่างระหว่างอาหารแช่แข็งกับอาหารปกติ ถ้าการรับประทานอาหารเป็นไปเพื่อการดำรงชีพแล้ว สุดท้ายไม่ว่าจะแช่แข็งหรือปรุงสดใหม่ปลายทางของทั้งสองแบบก็ให้พลังงานเหมือนกัน ถึงแม้สารอาหารที่ได้รับอาจไม่สด แต่ก็ประหยัดทั้งเวลา เงิน สะดวกซื้อ และมีให้เลือกหลากหลาย
ความสำเร็จรูปจึงเป็นอีกทางเลือกของสังคมสมัยนี้ ด้วยสภาพสังคมที่ทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ชีวิตต้องเร่งรีบมากขึ้น ความสำเร็จรูปของ Kanith จึงไม่ได้มีเพียงในเรื่องอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสวยงามด้วย ทั้งจากภาพ Good Girl No.3 และ Good Girl No.2 คือภาพผู้หญิงที่ยืนเลือกซื้ออุปกรณ์แต่งหน้าและทรงผมที่ผ่านการเตรียมพร้อมให้อย่างเสร็จสรรพ เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลามากมายในการแต่งหน้าและทำผม ในเมื่อทุกอย่างถูกเซตมาหมดเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้งานได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จรูปทั้งหลายนั้นล้วนอิงกระแสหลัก เพราะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปส่วนมากถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ของคนหมู่มาก แต่สิ่งที่ของสำเร็จรูปไม่สามารถทดแทนได้คือ การคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล อาจเป็นเพราะความสำเร็จรูปขาดความละเอียดอ่อน ขาดความเข้าใจ และเรื่องราวที่ติดมา
อันที่จริงแล้วของสำเร็จรูป หรือ ready-made นั้นนอกเหนือไปจากบุคคลทั่วไปที่จะชอบใช้แล้ว ในวงการศิลปะตั้งแต่สมัยที่ มาร์เซล ดูชองป์ สร้างงาน Fountain ปี ค.ศ. 1917 ขึ้นมา โลกศิลปะก็ผูกพันไปกับของสำเร็จรูป ลามมาจนถึงปัจจุบันที่ศิลปินมักจะใช้ของสำเร็จรูปเป็นองค์ประกอบหลักของงาน
ไมโครเวฟในนิทรรศการเป็นเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ปรับตัวเข้าหาโลกที่หมุนเร็ว แทบจะทุกครัวเรือนมีไมโครเวฟเพื่อเป็นเครื่องทุ่นแรงการทำอาหาร เช่นเดียวกับกระถางธูปที่เป็นตัวแทนของคนสูงวัย จากความเชื่อของคนไทยที่ผนวกรวมเข้ากับคนจีน ที่ไม่ได้มีเพียงแค่พุทธศาสนาเท่านั้น ความเชื่อที่มีมาก่อนศาสนาอย่างการนับถือผีบรรพบุรุษ หรือตามลัทธิขงจื๊อที่เชิดชูความกตัญญูกตเวที การจุดธูปเพื่อไหว้ขอขมาหรือไหว้บรรพบุรุษซึ่งเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างโลกของคนเป็นกับคนตาย ความคิดของศิลปินที่ตั้งคำถามต่อการปักธูปไว้ตามตำแหน่งต่างๆ ว่ามีหลักเกณฑ์ใดที่ต้องปักธูปไว้ตรงนี้ แล้วทำไมจึงต้องปัก ก็สะท้อนออกมาผ่าน Made by Microwave ภาพกระถางธูปหน้าไมโครเวฟที่มีหัวหญิงสาวภายใน เราต่างคุ้นเคยกับภาพหัวที่ถูกเสียบประจานและหัวหมูไหว้เจ้า ทว่าการนำของทั้งสองมาแปรรูปให้กลายเป็นหัวหญิงสาว จึงก่อให้เกิดความลักลั่น ย้อนแย้ง และเสียดสี
ภายใต้วาทกรรมชุดหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าคือชุดไหน โต๊ะกลม กระถางธูป และไมโครเวฟ จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวกะเทาะมายาคติที่ฝังลึก
ซึ่ง ‘ความลักลั่น’ นี้คืออีกเครื่องมือหนึ่งที่ศิลปินมักเลือกใช้ในการนำเสนอ ก็ถูกนำมาผลิตซ้ำไปมา จนกลายเป็นสูตรสำเร็จของงานศิลปะสำเร็จรูป
นิทรรศการ Made by Microwave โดย Kanith
Date: 4 มีนาคม – 21 พฤษภาคม 2560
Time: ทุกวัน เวลา 10.00-17.00 น.
Where: Pullman Bangkok Hotel G ชั้น 36 (BTS ช่องนนทรี, MRT สีลม)
Tuition Fee: เข้าชมฟรี
Page: Made by Microwave exhibition opening party
Map:
- คุยกับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ ถึงวิธีการสร้าง ‘คาแรกเตอร์’ ที่มีเอกลักษณ์ในงานศิลปะ https://themomentum.co/happy-art-4-new-gen-artist-4-characters
- Marcel Duchamp, Fountain, 1917, replica 1964 http://www.tate.org.uk/art/artworks/duchamp-fountain-t07573
FACT BOX:
Kanith หรือ กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีจากสาขาคอมพิวเตอร์อาร์ตและโมชันกราฟิก มหาวิทยาลัยรังสิต และปริญญาโท สาขาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบและแอนิเมเตอร์ให้กับสำนักพิมพ์หลากหลาย อาทิ Salmon, A Day, The Jam Factory ฯลฯ