ภาพถ่ายของบุคคลชาวไทยต่างๆ จากหลายจังหวัดถูกนำมาจัดวางท่ามกลางฉากหลังในพื้นที่ต่างๆ ของไทย บุคคลในรูปถ่ายบางรูปอยู่ในชุดลำลอง ชุดครุย ชุดข้าราชการ หรือชุดสูทเต็มยศ และบางคนคือรูปที่ใช้สำหรับงานศพของตัวเอง พวกเขาเหล่านี้คือใคร และมีความสำคัญอย่างไรถึงถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘แด่นักสู้ผู้จากไป’

ลุก ดักเกิลบีย์ (Luke Duggleby) ช่างภาพชาวอังกฤษวัย 39 ปี ได้นำภาพถ่ายบุคคลจำนวน 37 คน ที่ตกเป็นเหยื่อของการตายอย่างปริศนา นำไปวางไว้ในจุดที่เกิดเหตุ เพื่อบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘นักสิทธิมนุษยชนชาวไทย’ ที่ถูกฆาตกรรมหรือถูกอุ้มหายสาบสูญ นิทรรศการของเขาถูกนำไปจัดแสดงมาแล้วหลายที่ ทั้งเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์, บรัสเซลล์ เบลเยียม, ปัมโปลนา สเปน และดอร์เดรชต์ เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2016

มันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเหยื่อและครอบครัว
ที่การต่อสู้และการตายของพวกเขาไม่ควรถูกลืมและถูกเพิกเฉย

นายสมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความชาวมุสลิมที่มีชื่อเสียงและเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน
เขาถูกลักพาตัวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ในเขตรามคำแหง กรุงเทพฯ
คาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่เขารับว่าความให้กับจำเลยชาวไทยมุสลิมในคดีก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนใต้
ซึ่งจำเลยเหล่านี้อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน

“มันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเหยื่อและครอบครัว ที่การต่อสู้และการตายของพวกเขาไม่ควรถูกลืมและถูกเพิกเฉย” ดักเกิลบีย์กล่าวไว้ในถ้อยแถลงที่มาของผลงานในเว็บไซต์ของเขา

ดักเกิลบีใช้เวลากว่า 1 ปี ในการเดินทางไปหาครอบครัวและญาติของนักสิทธิมนุษยชน กับ ธัชพล ส่องแสง ผู้ช่วยชาวไทย เป็นระยะทางกว่า 10,000 กิโลเมตร เพื่อรับฟังเรื่องเล่าจากความทรงจำของคนในครอบครัวและญาติ และขอใช้ภาพถ่ายที่ติดอยู่บนผนัง หรือวางอยู่บนหิ้งบูชาพระในบ้าน แล้วนำรูปถ่ายเหล่านี้ไปวางไว้ ณ จุดเกิดเหตุของแต่ละคน ซึ่งทำให้ได้เซตภาพถ่ายบุคคล ที่ใบหน้าของพวกเขาไม่แสดงความรู้สึกใดๆ ท่ามกลางฉากทุ่งนา ในป่า สวนยาง หรือข้างถนน โดยดักเกิลบีตั้งใจให้ภาพของพวกเขามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับฉากหลัง เพื่อให้ผู้ชมได้มองกลับไปที่ฉากที่สะท้อนถึงเหตุการณ์โหดร้ายที่เกิดขึ้น

นายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปี ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างลงจากรถทัวร์ วันที่ 21 มิถุนายน 2547 ที่ อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
เขาเป็นประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่

ระหว่างการทำงานดักเกิลบีพบว่าหลายสถานที่ที่เขาไป ชาวบ้านอยู่กันอย่างปลอดภัยดี ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วเพียงใช้เวลาในการพูดคุยกับชาวบ้าน 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีของนักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ยังคงมีอันตรายหากจะพบปะกับคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิตโดยตรง เขาจึงใช้วิธีการโทรศัพท์เพื่อสอบถามถึงตำแหน่งที่นักสิทธิมนุษยชนถูกสังหาร นอกจากนี้บางกรณียังคงมีเสียงของชาวบ้านที่เรียกร้องและต่อต้านเพื่อสิทธิของตนอยู่ ยกตัวอย่าง กรณี ใช้ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปี ซึ่งถูกมือปืน 2 คนยิงเสียชีวิตระหว่างไปบ้านญาติ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เขาเป็นสมาชิกคนที่สี่ในสมาพันธ์เกษตรกรภาคใต้และแกนนำชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี ที่ถูกสังหารในรอบ 5 ปี ระหว่างที่มีการเรียกร้องสิทธิที่ดินกับบริษัททำสวนปาล์ม

การทำนิทรรศการในครั้งนี้ ทำให้เขาพบว่าหลายพื้นที่ในชนบทของไทย การปกครองภายใต้กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือผู้สังหารได้

“หลายกรณีที่ผู้สังหารยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน” ดักเกิลบีกล่าว “พวกเขาเจอกันในตลาด ทักทายกันในตอนเช้า ชาวบ้านรู้ดีว่าพวกเขาเป็นใคร”

ปลายทางการต่อสู้หลายครั้งที่เสียงการต่อสู้ไม่เคยมาถึงประชาชนในวงกว้าง
และไม่แม้แต่จะไปสิ้นสุดในกระบวนการในชั้นศาล
เพราะพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นบุคคลสาบสูญก่อนเวลา

นายพิทักษ์ โตนวุธ 30 ปี ถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับหมู่บ้าน วันที่ 17 พฤษภาคม 2544
เขาเป็นที่ปรึกษาชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่ต่อต้านโรงโม่หินในพื้นที่

การต่อสู้ที่ไร้เสียง: 59 นักสิทธิมนุษยชนไทยที่สูญหายในรอบ 20 ปี

แม้ปัจจุบันชาวไทยในหลายพื้นที่จะมีการตื่นตัวและตระหนักถึงสิทธิในที่ดินของตนเอง การเลือกดำเนินตามวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และพร้อมจะตรวจสอบการทุจริตจากโครงการ ‘พัฒนา’ ทั้งหลาย ทำให้นักสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ปลายทางการต่อสู้หลายครั้งที่เสียงการต่อสู้ไม่เคยมาถึงประชาชนในวงกว้าง และไม่แม้แต่จะไปสิ้นสุดในกระบวนการในชั้นศาล เพราะพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นบุคคลสาบสูญก่อนเวลา รวมไปถึงครอบครัวและคนในชุมชนที่เคียงข้างนักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ก็ถูกทำให้อยู่ในความหวาดกลัวหากจะลุกขึ้นมาต่อสู้อีก

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร PROTECTION International กล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลขององค์กรพบว่า ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหายและตายกว่า 59 คน และหากย้อนหลังไปอีก 35 ปี พบว่ามีการบังคับให้สูญหายอีกกว่า 90 กรณี โดยกว่า 81 กรณี ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้ โดยนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและถูกอุ้มหายมากที่สุดคือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดคือ กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แกนนำชาวบ้านบางกลอยบนกว่า 20 ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเผาและไล่รื้อบ้านเรือน หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 หรือกรณีของนายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว จังหวัดชัยภูมิ แกนนำต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน หายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 ขณะเข้าป่าเพื่อเก็บหน่อไม้

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิทธิของเหยื่อหรือผู้เสียหายก็คือ
สิทธิที่จะทราบความจริง สิทธิที่จะทราบที่อยู่และชะตากรรม
ซึ่งจากที่เห็นในร่าง พ.ร.บ. ล่าสุด ไม่ได้เขียนไว้

นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หายตัวไปที่ด่านตรวจเขตอุทยานแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557
โดยก่อนหน้านั้นเคยถูกควบคุมตัวเนื่องจากครอบครองน้ำผึ้งป่า

ย้ำเตือนให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้า

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า ประเทศไทยควรให้ความเคารพต่อนักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ต้องปรับปรุงและลดช่องโหว่ โดยเฉพาะสิทธิของญาติพี่น้องของนักสิทธิมนุษยชนที่จะต้องได้รับทราบความจริง และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเร่งการอุดช่องโหว่ทางกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ… ทั้งที่มาของคณะกรรมการ และสิทธิที่จะทราบความจริง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสากล

“พ.ร.บ. ฉบับนี้จะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหายของสหประชาชาติ สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิทธิของเหยื่อหรือผู้เสียหายก็คือ สิทธิที่จะทราบความจริง สิทธิที่จะทราบที่อยู่และชะตากรรม ซึ่งจากที่เห็นในร่าง พ.ร.บ. ล่าสุด ไม่ได้เขียนไว้”

ปรานม สมวงศ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า กฎหมายของประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับให้สูญหาย หรือการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา รวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรือไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ดังนั้นรัฐบาลควรกําหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา และประกันสิทธิอย่างเต็มที่ของผู้เสียหายและญาติ

มากไปกว่านั้นปัจจุบันมีจำนวนนักสิทธิมนุษยชนหญิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะถูกอุ้มหาย ก็ยังถูกข่มขู่คุกคามทางเพศด้วย โดย อังคณา นีละไพจิตร  เปิดเผยว่า แม้ปีที่ผ่านมากรณีการอุ้มหายนักสิทธิมนุษยชนในไทยลดลง โดยพบเพียงกรณี นายเด่น คำแหล้ แกนนำชุมชนโคกยาว เท่านั้น แต่ทั้งนี้พบว่ามีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องที่ดินทำกิน หรือสิ่งแวดล้อม และมักจะถูกคุกคามทางเพศ เช่นถูกข่มขู่ว่าจะโดนข่มขืน เพื่อทำให้นักต่อสู้หญิงเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทย
ที่เราต้องช่วยกันแก้ เริ่มจากการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ
แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความยุติธรรม

นางมณฑา ชูแก้ว อายุ 54 ปี และนางปราณี บุญรักษ์ อายุ 50 ปี
ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินไปตลาดใกล้บ้าน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555
ทั้งสองเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และรณรงค์สิทธิในที่ดินปฏิรูปเกษตรกรรมชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราฎร์ธานี
โดยมีการทำลายซากศพเพื่อขู่สมาชิกคนอื่นๆ ของสหพันธ์ฯ

อังคณา มองว่า รัฐและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยนั้นล้มเหลว หลายคดีที่ผู้กระทำความผิดยังคงลอยนวลจนทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (Culture of Impunity) หรือการที่ผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิของผู้อื่นแล้วไม่ต้องรับผิด ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกสังคมไทยมายาวนาน และทำให้ผู้มีอำนาจเชื่อว่าเครือข่ายอุปถัมภ์จะทำให้พวกเขารอดจากโทษทางกฎหมายอย่างง่ายดาย การตัดสินใจใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมาก

“วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่เราต้องช่วยกันแก้ เริ่มจากการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความยุติธรรม”

ภาพของ ‘นักสู้ผู้จากไป’ เหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ชมต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาเช่นเดียวกับพวกเขา แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนในสังคมไทยได้เรียนรู้ว่า ถึงที่สุดแล้ว กระบวนการยุติธรรม และค่านิยมบางประการของสังคมไทยยังเป็นสิ่งที่ประชาชนอย่างเราควรจะยึดถือและเป็นที่พึ่งพาได้หรือไม่?

‘แด่นักสู้ผู้จากไป’ For Those Who Died Trying โดย ลุก ดักเกิลบีย์ นิทรรศการภาพถ่ายที่อุทิศให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดโดยองค์กร PROTECTION International ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สถานทูตแคนาดา, โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) และภาคีเครือข่าย จะมีการจัดแสดงอีกในหลายจังหวัด เริ่มจาก

วันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ ณ ลาน Think Park ถนนนิมมานเหมินทร์ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่จังหวัดสงขลา

และวันที่ 21-25 กุมภาพันธ์ คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ protectioninternational.org/2016/12/20/died-trying-photo-exhibition-tour-2 หรือ www.facebook.com/For-Those-Who-Died-Trying-192781591142832

นายใช้ บุญทองเล็ก อายุ 61ปี ถูกยิงเสียชีวิตโดยมือปืนสองคน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ระหว่างไปบ้านญาติ
เขาเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และแกนนำชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินกับบริษัททำสวนปาล์ม นับเป็นสมาชิกคนที่สี่ของชุมชนคลองไทรพัฒนาที่ถูกสังหารในรอบ 5 ปี

นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ อายุ 49 ปี ถูกลักพาตัวไปจากสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 ปัจจุบันเป็นผู้สูญหาย
เขาเป็นแกนนำที่มักเปิดโปงการทุจริตและเป็นผู้ร้องขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

นายประเวียน บุญหนัก ถูกยิงเสียชีวิตนอกที่ว่าการอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2538
เขาเป็นเลขาธิการสมัชชาเกษตรรายย่อยภาคอีสาน เขต 4,
ที่ปรึกษาประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติภูเขาป่าไม้แหล่งน้ำ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย
และเป็นแกนนำคัดค้านโรงโม่หินขนาดใหญ่

นายสิงห์ทอง พุทธจันทร์ ถูกยิงเสียชีวิตที่ร้านค้าของตนเอง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2554 อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
เขาเป็นแกนนำต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่

Photo: PROTECTION International

อ้างอิง:

FACT BOX:

ภาคีเครือข่ายยังเสนอข้อเรียกร้องถึงรัฐ เพื่อปกป้องนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย จำนวน 7 ข้อ คือ
1. รัฐไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเที่ยงธรรม
2. ต้องมีการสอบสวนและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
3. หยุดการข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเข้าถึงที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ
4. รัฐบาลไทยต้องสนับสนุนบทบาทและความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ
5. กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา ฐานความผิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนิยามที่กำหนดไว้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
6. ในทุกกรณีของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องกำหนดแนวทางการคุ้มครองพยาน และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกัน หรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมาน หรือบังคับให้หายสาบสูญ
7. กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ มีความเป็นอิสระ เพื่อป้องกันการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพล และกำหนดให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมมีจำนวนสมดุลกับกรรมการที่มาจากภาครัฐ

Tags: ,