องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์เรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการส่งตัวนักฟุตบอลชาวบาห์เรนกลับประเทศ เตือนว่าเขาอาจจะถูกประหารชีวิตหรือจำคุกได้

ฮาคีม อัล-อาไรบี (Hakeem al-Araibi) อายุ 25 ปี ซึ่งเคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน และปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และเล่นฟุตบอลให้กับสโมสร Pascoe Vale ในเมลเบิร์น ถูกจับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ขณะเดินทางจากเมลเบิร์นมายังกรุงเทพฯ ตามหมายจับขององค์การตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลที่ออกตามคำขอของรัฐบาห์เรน

บาห์เรนมีการทรมานและปฏิบัติต่อนักเคลื่อนไหวและผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอย่างเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในปี 2011

อัล-อาไรบีมักวิจารณ์ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียคนปัจจุบัน ซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล-เคาะลีฟะฮ์ ซึ่งเป็นพระญาติของกษัตริย์บาห์เรน เมื่อปี 2012 เขาถูกทรมานและคุมขังด้วยข้อกล่าวหาจากการทำกิจกรรมทางการเมืองของน้องชายในช่วงอาหรับสปริงปี 2011 และในปี 2014 เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปีด้วยข้อหาทำลายสถานีตำรวจซึ่งเขาปฏิเสธ และไม่ปรากฏตัวระหว่างการพิจารณาคดี อาไรบีหลบหนีไปยังออสเตรเลียเมื่อปี 2014 และได้สถานะผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2017

ในแถลงการณ์ของสถาบันด้านสิทธิและประชาธิปไตยบาห์เรน (Bahrain Institute for Rights and Democracy) ระบุว่า เขาได้รับการแจ้งจากสถานทูตออสเตรเลียเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนว่า ทางการไทยได้แก้ไขปัญหาแล้ว และแนะนำให้เขาจองตั๋วกลับไปเมลเบิร์น แต่ก่อนที่เครื่องบินจะออก เขากลับได้รับการแจ้งอีกครั้งว่า ไม่สามารถเดินทางกลับไปออสเตรเลียได้และต้องถูกควบคุมตัวในกรุงเทพฯ แทน

แบรด อดัมส์ องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ หรือ HRW ประจำเอเชียกล่าวว่า รัฐบาลไทยต้องตระหนักถึงอันตรายที่อาไรบีต้องเผชิญหากส่งตัวเขากลับไปยังบาห์เรน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปล่อยตัวเขาซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยของออสเตรเลียทันที

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การออกหมายจับอาไรบีละเมิดนโยบายขององค์การตำรวจสากลที่จะไม่ออกหมายจับหากว่า “สถานะผู้ลี้ภัยได้รับการยืนยันแล้ว” วีซ่าที่รัฐบาลออสเตรเลียออกให้นั้นอนุญาตให้อาไรบีอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างไม่มีกำหนด และเดินทางจากออสเตรเลียไปประเทศใดก็ได้ โดยไม่ต้องไปที่บาห์เรนก่อน

กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียออกแถลงการณ์ว่า ตอนนี้ได้ติดต่อกับทางการไทยแล้ว แต่ยังปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด

ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยและมักจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เช่น เมื่อปี 2015 ไทยถูกประณามอย่างรุนแรงที่เนรเทศชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนกว่า 100 คน แม้ว่าพวกเขาจะต้องถูกลงโทษรุนแรงก็ตาม ไม่กี่สัปดาห์ก่อนทางการไทยก็เพิ่งปราบปรามชาวปากีสถานที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย

 

ที่มา:

 

Tags: , , ,