เราเดินตามหลังคุณวิวัฒน์ ธาราวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการโรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ลัดเลาะส่วนบริการของโรงแรม ผ่านไปยังฟาร์มออร์แกนิกที่อยู่ด้านหลัง กล้วยตากซึ่งใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์กำลังอบตัวเองอยู่ในตู้ พนักงานเก็บผลมาจากสวนกล้วยซึ่งปลูกอยู่เป็นแนว บ้างยืนต้นอยู่ตรงพื้นที่ว่างระหว่างห้องพักตามแต่จะมีที่พอให้เอามาปลูก ฝูงนกบินแตกฮือเมื่อเราเดินผ่าน คงเพิ่งพาฝูงออกมาจากนาข้าวปลอดสารที่ล้อมโรงแรมแห่งนี้อยู่

แปลงผัก

 

“โรงแรมเรามีผลผลิตจากธรรมชาติหลากหลายชนิด ตั้งแต่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ พืชผักสวนครัว ผลไม้ และกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นความตั้งใจที่เราอยากจะมอบประสบการณ์ eco-living แก่ผู้เข้าพักที่มีทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเรายังหวังให้โรงแรมได้เป็นต้นแบบหนึ่งของการนำเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการประกอบธุรกิจ ที่ดำเนินไปด้วยความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย เราต้องการให้โรงแรมเป็นโรงเรียน หมายความว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามา ทุกคนต้องได้อะไรติดตัวกลับไปบ้างเล็กๆ น้อยๆ”

ธุรกิจที่ยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ในยุคที่เราต้องการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างประนีประนอม แต่การที่ธุรกิจจะวางอยู่บนแนวทางนี้ได้ ต้องตั้งต้นมาจากผู้ประกอบการที่สนใจเรื่องนี้ อย่างที่เรียกว่า ‘ออกมาจากข้างใน’ เสียก่อน คุณวิวัฒน์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีแนวคิดเช่นนั้น เขานำแนวคิดนี้ลงไปปลูกในหัวใจพนักงาน เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่พร้อมเดินไปในแนวทางเดียวกันอย่างสมัครใจ

แนวต้นกล้วย

“โจทย์คือทุกอย่างต้องทำได้ง่ายครับ เพราะเมื่อง่ายแล้วความยั่งยืนจะตามมา ส่วนที่เป็นนาข้าวคือเราให้ชาวบ้านเช่าทำนา โดยเงื่อนไขคือไม่ใช้สารเคมี พันธุ์ข้าวเราจะเป็นคนหามาให้ จัดหาปุ๋ยอินทรีย์มาด้วย เมื่อผลผลิตออกมาแล้วเราก็รับซื้อคืน ที่นี่ทั้งพนักงานและลูกค้าได้กินข้าวที่ปลูกจากแหล่งเดียวกัน วัสดุเหลือใช้จากโรงแรมเราก็เอาไปจัดการคัดแยก ลดการใช้น้ำขวด ดินสอ กระดาษที่ไม่จำเป็น อย่างผมเองห้องทำงานผมไม่ติดแอร์ ถ้าร้อนก็ย้ายไปนั่งทำงานในส่วนที่มีการใช้ไฟอยู่แล้ว พยายามใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด ลดการใช้พลังงานที่จำเป็นลงให้ได้มากที่สุด

“ที่นี่เรามีระบบบำบัดน้ำเสียจากห้องพักหรือห้องครัว ไปเก็บไว้ที่สระพักน้ำขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ด้านหลัง แล้วนำน้ำกลับไปใช้รดน้ำต้นไม้หรือใช้ในแปลงเกษตรโดยไม่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ขณะเดียวกันเราก็สร้างสังคมของการอยู่ร่วมกันกับชุมชนด้วย อย่างการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือมีกิจกรรมออกกำลังกายที่คนในชุมชนสามารถเข้ามาร่วมได้”

พื้นที่ประมาณ 200 ไร่ แบ่งสัดส่วนออกเป็นส่วนบริการของโรงแรมกว่า 20 ไร่ มีเส้นทางเชื่อมโยงกันทั้งทางเดิน ทางรถ ทางจักรยาน ซึ่งจักรยานนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาเรื่องห้องพักที่บางส่วนอยู่ค่อนข้างลึก จึงมีจักรยานที่ทั้งแขกและพนักงานสามารถใช้เป็นพาหนะสัญจรภายในโรงแรมได้ รวมถึงมีทางปั่นสำหรับออกกำลังกาย 850 เมตรต่อหนึ่งรอบปั่น

แนวคิดโรงแรมสีเขียวของผู้เป็นเจ้าของนี้เอง ที่นำมาสู่หลังคาสีดำอันเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่ผลิตไฟฟ้าเอาไว้ใช้ภายในโรงแรม โดยการติดตั้งและจัดการระบบโดยบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีสะอาดและทันสมัย และเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบการใช้ไฟของโรงแรมมาได้ราวสามเดือนแล้ว ในแต่ละวันจะใช้ไฟจากพลังงานแสงอาทิตยจนหมดก่อน จึงพึ่งพาไฟฟ้าจากกริดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กระบวนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มต้นจากบ้านปู อินฟิเนอร์จี เข้ามาสำรวจพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของโรงแรมก่อนว่าเป็นอย่างไร เพื่อหาความเหมาะสมของปริมาณการผลิตและการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าที่สุด สำรวจความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาเพื่อออกแบบว่าจุดไหนเหมาะจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อไม่ให้ทำลายทัศนียภาพของโรงแรม บทสรุปจึงลงเอยที่การติดตั้งแผงผลิตบนหลังคาอาคาร และหลังคาลานจอดรถ ที่รับแสงอาทิตย์ได้ดี และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลังคาอาคารส่วนหนึ่งที่มีการติดตั้งแหล่งกำเนิดพลังงานแสงอาทิตย์

กราฟการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังแสดงผลแบบเรียลไทม์ต่อเนื่องบนหน้าจอซึ่งตั้งอยู่บริเวณล็อบบี้ เราเห็นภาพของกราฟที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นตามความเข้มของแสงที่ยิ่งทวีขึ้นในช่วงกลางวัน เมื่อย้อนดูประวัติการผลิตในวันก่อนหน้า ก็จะเห็นตัวกราฟที่ค่อยๆ ลดระดับลงเมื่อเข้าช่วงเวลาเย็น ซึ่งหน้าจอนี้จะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ของโรงแรม และขณะเดียวกันก็แสดงผลไปยังห้องควบคุมของทีมวิศวกรเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนของวิศวกรผู้ดูแลเช่นกัน หากระบบเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน ก็จะส่งสัญญาณแจ้งไปยังผู้ควบคุมระบบทันที และสัญญาณนั้นจะหยุดเตือนก็ต่อเมื่อได้รับการตอบรับเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น

“กำลังการผลิตของโรงแรมนี้อยู่ที่ 74,000 วัตต์ ซึ่งจะทำให้โรงแรมสุโขทัยช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มากกว่า 55 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่าต้นไม้ 3,200 ต้น ลดการใช้น้ำได้กว่า 1 แสนลิตร และประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 360,000 บาท” กนกวรรณ จิตต์ชอบธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด ให้ข้อมูลนี้กับเราในวันที่เยี่ยมชมโรงแรมด้วยกัน

“แนวคิดของบ้านปู อินฟิเนอร์จี คือ เรามุ่งหวังจะให้คนไทยและชุมชนต่างๆ เข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ง่ายขึ้น อย่างแพร่หลายและยั่งยืนผ่านนวัตกรรมพลังงานของเรา เริ่มด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งมาจากธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคตได้เร็วยิ่งขึ้น

ระบบโซลาร์แบบลอยน้ำ ซึ่งใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับช่วงเวลากลางคืน

“คำว่า ‘กรีนเนอร์’ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้แต่เรื่องการท่องเที่ยว อย่างช่วงเทศกาลลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ ที่สุโขทัยที่ผ่านมา เราติดตั้งระบบโซลาร์แบบลอยน้ำที่มีกำลังการผลิต 12,000 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ขนาด 25,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงกลางคืน ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายดอกบัวเพื่อให้กลมกลืนกับบรรยากาศของงาน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เรานำนวัตกรรมเข้าไปผสานเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน ก็จะเห็นว่าพลังงานสะอาดเหล่านี้สามารถเข้าไปแทรกซึมได้หมด มันเป็นเรื่องใกล้ตัว”

ด้วยแนวคิดที่เดินไปในทางเดียวกันของโรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา กับบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด จึงนำมาสู่จุดร่วมเดียวกันในการสร้างสมาร์ตคอนเซ็ปต์ที่เริ่มต้นจากสถานประกอบการ และไม่ใช่ไกลตัวอีกต่อไปหากสถานประกอบการหรือแม้กระทั่งภาคครัวเรือนเอง จะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มาสู่การใช้พลังงานสะอาด ในโอกาสที่นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป กำลังขับเคลื่อนอยู่