ผู้คนนั่งคุยกันในร้านกาแฟ เด็กสาวที่แบกเป้เข้ามาในร้านเพื่อพบเพื่อนเก่ากล่าวโทษเด็กหนุ่มที่ทำให้เด็กสาวอีกคนต้องตาย นักแสดงชราเพิ่งฆ่าตัวตายตอนนี้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและกล้าขอไปอาศัยกับเพื่อนหญิงที่ไมไ่ด้พบกันมานาน เธอนั่งตรงมุมหนึ่งของร้านเขียนถึงเรื่องราวพวกนี้ เขาอยู่ข้างนอก นักแสดงที่กำลังลองเป็นนักเขียนนัดพบนักเขียนหญิงจะขอให้เธอช่วยเขียนงานกับเขา ซึ่งที่จริงเหมือนการชวนเธอไปนอนกับเขา
เขามองมาทางเธอ มาชวนเธอไปเป็นแบบในการเขียน พลันน้องชายเธอมารับ เธอออกไปกับน้องชายไปพบกับหญิงคนรักของน้องชาย แต่เธอหงุดหงิดไม่พอใจอะไรบางอย่าง ในร้านนั้นคนคู่หนึ่งมากล่าวโทษกันและกันเกี่ยวกับการทำให้อีกคนหนึ่งต้องตาย เธอกลับมาที่ร้านกาแฟ ชายหนุ่มนอกร้านเข้ามานั่งข้างในกับชายชรา ทั้งคู่เป็นนักแสดงที่เคยร่วมงานกัน คู่เด็กหนุ่มเด็กสาวพบว่าตัวเองต่างแสดงให้กันและกันดูเพื่อกล่าวโทษกันและกัน เด็กสาวนั่งเขียนเรื่องราวเหล่านั้นมองเห็นความงามของชีวิต จนชายหนุ่มชวนให้เธอร่วมวง
หนังใหม่ของ ฮองซางซู (Hong Sang Soo) มีความยาวแค่ชั่วโมงเดียว และเต็มไปด้วยธาตุแบบฮอง หนังขาวดำ นำแสดงโดย คิมมินฮี (Kim Min-Hee) ภรรยาของฮองเอง เรื่องดำเนินไปในวงเหล้าโซจูที่ตัวละครจะเมามากเมาน้อยไปตามเรื่อง ทั้งเรื่องเป็นเพียงแค่บทสนทนาของผู้คน ในเรื่องที่ผู้ชมก็อาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด หรืออาจจะไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่มีการปูเรื่องไม่มีปูมหลัง ไม่มีการเรียนรู้ เป็นเพียงการนั่งฟังคนไม่รู้จักคุยกันโดยมากก็เป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไม่หนุ่มจีบสาว สาวงอนหนุ่มก็เป็นเรื่องปัญหาผัวเมีย คบชู้นอกใจ เมียหลวงเมียน้อย ศิลปินชายเห็นแก่ได้ ฉวยโอกาสกับเด็กสาวที่ต้องรับมือกับนักฉวยโอกาสเหล่านี้
หนังจำนวนมากของเขาหนังมักเป็น Dejavu Cinema (ศัพท์ที่ิผู้เขียนคิดขึ้นเอง) หนังถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน (หรือสามส่วน) ครึ่งแรกและครึ่งหลังมักทำตัวเป็นกระจกสะท้อนภาพบิดเบี้ยวของกันและกันแบบกระจกในสวนสนุก บทสนทนาถูกเล่นซ้ำเหมือนอาการเดจาวูว่าเคยได้ยินมาแล้ว แต่ด้วยบริบทที่ต่างออกไปเพียงนิดหน่อยความหมายของคำจะเปลี่ยนแปลงไป ตัวละครในหนังของฮองจึงเหมือนเดินในขาวงกตของบทสนทนาและความสัมพันธ์ คืบเคลื่อนไปข้างหน้า แต่วนกลับมาที่เดิม ออกไปก็หลงทิศผิดทาง ในเนื้อเรื่องแบบที่ได้กล่าวไปแล้ว
มันจึงเป็นโลกของความสัมพันธ์ที่ถูกมองแล้วมองซ้ำ ถูกลอกเปลือกออกทีละน้อย เปลือยความเห็นแก่ตัวชั่วช้าของศิลปินฝ่ายชายและความท้าทายของผู้หญิงในโลกชายเป็นใหญ่
Grass จึงน่าสนใจเพราะมันอาศัยโครงสร้่างเช่นนั้นเล่าเรื่องที่ต่างออกไป ในขณะที่หนังของเขาโดยมากมีเขาเป็นพระเจ้าอยู่นอกโลกของการเล่าเขาวงกตของความสัมพันธ์ที่ความเป็นภาพยนตร์สร้างขึ้น ในคราวนี้ตัวละครของเขากลับมีตัว ‘ผู้เล่า’ เข้ามาอยู่ในเรื่องผ่านเสียงวอยซ์โอเวอร์และสภาพความเป็นผู้สังเกต (ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังของฮองมีเสียงเล่า แต่ในเรื่องก่อนหน้าเสียงเล่าทำหน้าที่เป็นมุมมองบุรุษที่หนึ่งของตัวละคร)
เราอาจแบ่งตัวละครใน Grass ออกเป็นสามส่วน คือนักแสดง นักเขียน และคนอื่นๆ โลกในหนังปรากฏขึ้นผ่านเสียงเล่าที่ลอบสังเกตผู้คนในร้านกาแฟ ถูกขัดแข้งขาด้วยเสียงเพลงคลาสสิคที่ไม่ใช่เสียงจากโลกนอกหนังแต่เป็นเสียงเพลงคลาสสิคในร้าน บ่อยครั้งเข้ากันกับรสบทสนทนา บ่อยครั้งก็ไปในทางตรงกันข้าม โลกใน Grass ไม่ถูกกำหนดผ่านพระเจ้าที่จะตัดไปตอนไหนก็ได้ ใส่เพลงอะไรเข้ามาเร้าอารมณ์ก็ได้ ตัดต่อบทสนทนายังไงก็ได้ แต่มันถูกกำหนดผ่านการมองของผู้เล่าที่แอบฟังความสัมพันธ์ของคนอื่นแล้วเอามาเขียนลงในไดอารี่ จนเมื่อเธอถูกชวนให้ไป ‘แสดง’ โดยไม่ต้องแสดงกล่าวไปเป็นโมเดลให้กับนักเขียนที่จะตามไปดูชีวิตเธอที่บ้าน เพื่อจะเอาเธอมาทำเป็นตัวละคร เธอตอบปฏิเสธและเดินออกมา หลังจากจุดนี้หนังเข้าสู่องก์สองที่เธอพบกับคนอื่นนอกตัวละคร เพราะเธอไม่ได้เขียน เธอไปกับน้องชายเพื่อดูตัวคู่รักของเขา ในตอนนี้เธอไม่ได้เป็นผู้เล่า แต่เป็นนักแสดงที่ผู้ชมกำลังดูเธอ เหมือนที่นักเขียน (ซึ่งเป็นนักแสดงมาก่อน) จะทำแต่เธอปฏิเสธ
เราจึงอาจบอกได้ว่าการไปหาน้องเป็นทั้ง ‘เรื่องเดียวที่เกิดขึ้นจริง’ ในหนัง ได้มากพอๆกับการเป็น ‘หนังจริงๆ’ ที่ผู้กำกับเล่า กล่าวคือหนังว่าด้วยผู้หญิงคนหนึ่งนั่งเล่นในร้านกาแฟ ไปกินข้าวกับน้องเจอคนคุยกันเรื่องคนตาย แล้วกลับมานั่งร้านกาแฟ เหตุการณ์ในร้านกาแฟเป็นเพียงเรื่องเล่ารองในเรื่องเล่าหลักของหนัง โครงสร้างของหนังจึงมองได้สองแบบเหมือนมองภาพสามมิติที่มองซ้ายเป็นรูปหนึ่งมองขวาเป็นรูปหนึ่ง
เธอจึงรับบทเป็นฮองเอง ที่ก่อนหน้านี้ทำได้เพียงเอาเรื่องตัวเองมาทำเป็นหนังแต่ตอนนี้ต้องมาถูกเล่าในหนังเสียด้วย เหตุการณ์โต๊ะข้่างๆ ในองก์สองซ้อนทับกับหนุ่มสาวในองก์แรก คือมีคนตาย และอีกสองคนมาทุ่มเถียงกันว่าใครทำให้คนนั้นต้องตาย และยังซ้อนทับกับเหตุการณ์ของชายแก่ที่เพิ่งฆ่าตัวตายมา เพราะคนตายเป็นคนแก่ที่เมาแล้วฆ่าตัวตาย แล้วยังซ้อนทับกับเรื่องของนักเขียนหนุ่มกับนักเขียนสาวที่ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กันทั้งที่เขามีเมียอยู่แล้ว การถ่ายข้ามไหล่ผู้ชายหันหลังยิ่งให้ภาพที่เหมือนกับว่าเขาคือนักเขียนหนุ่มในร้านกาแฟก่อนหน้า
การได้พบกับโต๊ะข้างๆ ในองก์สองจึงเป็นเหมือนเดจาวูที่เราคุ้นเคยกันในหนังของฮอง ผู้คนจากเรื่องเล่าดันมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ
องก์สามกลับมายังร้านกาแฟอีกครั้ง ผู้คนเปิดเผยตัวตนว่าคือนักแสดง และเป็นชีวิตหลังการแสดงของพวกเขา เด็กสาวบอกเพื่อนชายว่าที่เธอหิ้วเป้มาแล้วบอกว่าจะไปเที่ยวยุโรปนั้นเป็นแค่การแสดง เช่นเดียวกับนักแสดงที่ตอนนี้ไม่มีที่ให้แสดงอีกต่อไป พวกเขาปรับทุกข์กันในร้านเหล้า นักแสดงสองคนคนหนึ่งเพิ่งตาย อีกคนเพิ่งเขียน
ความตายทำหน้าที่เหมือนจุดส่งสัญญาณความเป็นเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อกันตลอดเรื่อง ทุกบทสนทนามักพูดเรื่องใครสักคนตายลงและคนที่เหลือต้องเผชิญความผิดบาป แต่กลายเป็นว่านักแสดงกลับไม่ตายหลังจากฆ่าตัวตาย ความตายกลายเป็นเรื่องเล่าของคนที่ไม่ตาย ความสำนึกบาปต่อความตายเป็นการแสดงของคนเป็น แต่นักแสดงกลับไม่แสดงความสำนึกบาปของการตายของตนเอง
มันจึงไหลซ้อนทับสับสนปนเปกันไปหมด เด็กสาวเขียนลงไปว่าในที่สุดชีวิตของพวกคนเหล่านี้ก็สอดประสานและไปสู่ความงามเล็กๆ น้อยๆ (ในฉากนี้หนังตลกมากเพราะเพลงคลาสสิคที่เปิดขัดแย้งกับความคลี่คลายของหนังมากๆ) เรื่องเล่าไม่ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องเล่าเพราะชีวิตไหลซึมเข้ามา ทั้งในชีวิตของตัวละครที่ถูกเล่า และชีวิตของผู้เล่า
หนังมีฉากพิศวงสองฉาก ฉากแรกคือตอนจบองก์แรกเธอเดินออกมาจากร้าน แล้วพบว่าหนุ่มสาวสองคนที่กำลังทะเลาะกันในร้าน มาสวมชุดฮันบกถ่ายรูปกันหน้าร้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในชีิวิตแต่เป็นไปได้ในเรื่องเล่า (ด้วยมนต์ภาพยนตร์) การสวมชุดฮันบกคือการแสดงเป็นคนในอดีต ภาพยนตร์คือการแสดงชนิดหนึ่งมันจึงถูกซ้อนเข้าหากัน ในตอนจบ น้องชายและคนรักของเขาปราฏขึ้นนอกร้าน ถ้านี่คือตัวละครที่มีชีวิตจริง (ไม่ได้เป็นเรื่องเล่าของยายคนพี่) การที่สองคนนี้มาสวมชุดฮันบกถ่ายรูปเล่นกันจึงเป็นภาพย้อนกลับของการถ่ายรูปในองก์แรก เรื่องเล่ากับชีวิตแนบเนาเข้าหากัน
อีกฉากพิศวงอย่างยิ่ง อธิบายไม่ได้ว่าใส่เข้ามาทำไม แต่กลับอธิบายตัวหนังได้เป็นอย่างดี นั่นคือฉากที่จู่หนังก็ไล่ไปถ่ายนักเขียนหญิงนั่งสูบบุหรี่ อยู่ดีๆ เธอก็เดินลงบันไดไปแล้วก็เดินขึ้นมาใหม่ ทำหน้าเหมือนเห็นใครสักคนแล้วอึ้ง แล้วเธอก็เดินลงไปและเดินขึ้นมาใหม่ การแสดงสีหน้าถูกทำซ้ำ จนในที่สุดก็เหลือแค่การเดินขึ้นและลง การทำซ้ำจนเหลือแค่ตัวการกระทำอย่างเดียวโดย ‘การแสดง’ ถูกเจือออกช้าๆ คล้ายกับการคลี่คลาย ในโลกธรรมดาชีวิตจะคลี่คลายเป็นเรื่องเล่า แต่ในหนังของฮองนี่คือเรื่องเล่าที่คลี่คลายไปสู่ชีวิต
ไม่ว่าจะโดยความสนุกมือของนักเล่าเรื่องที่ชอบล้อเล่นกับเรื่องเล่าของตัวเอง หรือความตั้งใจที่จริงแท้ของเขาก็ตาม นี่คือหนังที่อธิบายว่าในชีวิตจริงผู้คนล้วนแสดง นักเขียนสร้างเรื่องเล่า ทั้งจากความทรงจำเฉพาะตนที่เลื่อนเปื้อนไปจากข้อเท็จจริง หรือการถูกทำให้เชื่อจากคนรอบข้าง นักแสดงคือเรารับบทเป็นตัวเราเองและแสดงเพื่อเอาใจ ต่อต้าน ต่อสู้ หรือยอมตามผู้อื่น ชีวิตจริงจึงไม่ใช่ความจริงเปลือยเปล่า มันปนเปอยู่กับเรื่องเล่าจนแม้แต่เจ้าของชีวิตยังยากจะแยกมันออกจากกัน ผู้เล่าชีวิตเราที่เป็นเราเองก็อาจจะเลื่อนไหลไปกับการเล่าและตัวเรื่องเล่า และเราก็เป็นคนอื่นๆในเรื่องของตัวเอง จนในที่สุดความจริงหนึ่งๆ ก็อาจเป็นเรื่องเล่าอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น
Tags: film, KoreaFilm, Filmsick, Hong Sangsoo