สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเพิ่งมีมติไม่แบน ไกลโฟเสต และสารเคมีกำจัดวัชพืช อีก 2 ประเภท คือ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี แม้จะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนจำนวนมากที่กังวลต่อผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กรก็ตาม

ที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีการถกเถียงกันตลอดว่า ‘ไกลโฟเสต’ เป็นสารก่อมะเร็งหรือไม่ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาหรือ EPA ระบุไว้ในร่างแบบประเมินความเสี่ยงปี 2017 ว่า สารกำจัดวัชพืชชนิดนี้ “ดูเหมือนจะไม่ก่อมะเร็งต่อมนุษย์” ส่วนสำนักงานอาหารปลอดภัยของยุโรปก็มีจุดยืนคล้ายกัน ขณะที่บายเออร์กล่าวว่า ไกลโฟเสต “ปลอดภัยและเป็นสิ่งที่ควบคุมวัชพืชได้มีประสิทธิภาพ” อย่างไรก็ตามในปี 2015 องค์การอนามัยโลกจัดให้ไกลโฟเสตอยู่ในกลุ่ม “สารเคมีที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งต่อมนุษย์”

ในงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Mutation Research เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2019 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และมหาวิทยาลัยการแพทย์ไอคาห์น ระบุว่า จากการประเมินงานวิจัยที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับสารเคมีที่พบในยาฆ่าหญ้า รวมทั้งยาฆ่าหญ้ายี่ห้อราวด์อัพของมอนซาโตจนถึงปี 2018 พบว่า การสัมผัสกับสารกำจัดวัชพืชที่มีส่วนประกอบของไกลโฟเสตสัมพันธ์กับต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น 41%

คณะนักวิจัยกลุ่มนี้วิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของไกลโฟเสตต่อมนุษย์ หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า “งานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบของไกลโฟเสตต่อโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ทันสมัยที่สุดในตอนนี้ ซึ่งรวมถึงงานศึกษาในปี 2018 ที่ศึกษาผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ยากำจัดวัชพืช 54,000 คน” รวมทั้งประเมินงานที่ศึกษาสัตว์ด้วย

จากการศึกษาที่เน้นไปที่ประชาชนผู้สัมผัสกับสารเคมีกำจัดวัชพืชมากที่สุด นักวิจัยสรุปว่า มีความเชื่อมโยงมากระหว่างการสัมผัสไกลโฟเสตและความเสี่ยงที่มากขึ้นต่อการพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง Lianne Sheppard นักวิชาการด้านชีวสถิติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า จากข้อมูลทำให้เธอเชื่อว่าไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็ง

งานชิ้นนี้ระบุถึงข้อจำกัดของการวิจัยว่า มีเพียงข้อมูลจากงานที่ได้รับการตีพิมพ์ไปแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ใช้ในศึกษามีกลุ่มประชากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะระดับของการสัมผัสกับไกลโฟเสตที่แตกต่างกัน งานส่วนใหญ่ที่มีอยู่นั้นละเลยผลกระทบของการใช้ไกลโฟเสตในผลผลิตช่วงก่อนที่มันจะถูกเก็บเกี่ยว  ไกลโฟเสตที่ตกค้างอาจเพิ่มขึ้นตั้งแต่มีการใช้วิธีนี้ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา

ด้าน บายเออร์ บริษัทผลิตและจำหน่ายสารเคมีกำจัดวัชพืชโต้ว่า การวิเคราะห์นี้มีการปรับเปลี่ยนทางสถิติ (statistical manipulation) ด้วยวิธีวิทยาที่บกพร่องร้ายแรง และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่โต้แย้งได้ว่ายากำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนโฆษกของ EPA กล่าวว่าจะศึกษางานวิจัยนี้

ปัจจุบัน มีการฟ้องร้องทางกฎหมายมากมายจากประชาชนที่เชื่อว่าการสัมผัสกับยาฆ่าหญ้านี้ทำให้พวกเขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในปี 2017 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่ามีประชาชนประมาณ 800 คน ฟ้องบริษัทมอนซานโต ซึ่งตอนนี้ถูกบายเออร์ซื้อกิจการแล้ว และเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันคนในปี 2018

คดีที่โด่งดังก็คือ คดีที่ดิเวน จอห์นสัน อดีตคนดูแลสวนของโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย เขาฟ้องมอนซานโตในปี 2014 ผู้พิพากษาตัดสินในปี 2018 สั่งให้มอนซานโตจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่จอห์นสัน 289 ล้านเหรียญ และต่อมาลดลงเหลือ 78 ล้านเหรียญ หลังจากที่มอนซานโตยื่นอุทธรณ์

 

ที่มา:

Tags: , ,