หลังทั่วโลกทราบข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงที่กลายเป็นเหตุฆาตกรรม ไทร์ นิโคลส์ (Tyre Nichols) ชายผิวดำวัย 29 ปี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2023 ณ เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา จากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ 5 นาย ทั้งหมดเป็นชายผิวดำเช่นกัน รุมทำร้ายด้วยการใช้ปืนช็อตไฟฟ้ายิงใส่ พ่นสเปรย์พริกใส่ เตะ ต่อย และใช้กระบองทุบตีจนเสียชีวิต
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ได้เห็นชาวอเมริกันในหลายมลรัฐลงถนนประท้วง เรียกร้องที่จะเห็นกลุ่มตำรวจที่เป็นผู้ก่อเหตุได้รับบทลงโทษสูงสุด และขอให้รัฐบาลปฏิรูปหน่วยงานตำรวจทั่วประเทศ
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐานสำคัญ กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกให้นิโคลส์หยุดรถ ขอดูบัตรประชาชนกับใบขับขี่ แจ้งว่านิโคลส์จะถูกตั้งข้อหาขับรถโดยประมาท รวมถึงขอค้นรถยนต์ ก่อนกระชากเขาลงจากรถแล้วสั่งให้หมอบลงกับพื้น และยิงปืนช็อตไฟฟ้าใส่โดยที่เขายังไม่ได้ขัดขืนหรือไม่ยอมทำตามคำสั่ง
คลิปวิดีโอดังกล่าวทำให้โลกได้เห็นว่าขณะที่นิโคลส์ถูกรุมทำร้าย เขาร้องขอความเมตตา เรียกหาแม่ซ้ำไปซ้ำมาจนหมดสติไป ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สบถคำหยาบคาย คำดูถูกเหยียดหยามประชาชนผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ โดยไม่มีท่าทีจะหยุดทำร้าย หรือแสดงความสงสารเห็นใจเหยื่อที่กำลังถูกรุมทำร้าย
ไทร์ นิโคลส์ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการโคม่า เขามีชีวิตอยู่หลังจากนั้นได้เพียง 3 วัน ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 10 มกราคม 2023
ความตายของเขาเหมือนกับฉายภาพซ้ำว่า ตำรวจสหรัฐฯ จำนวนมากยังคงใช้อำนาจที่มีกระทำความรุนแรงต่อประชาชน ยังคงใช้อภิสิทธิ์ที่ได้รับกระทำการเกินกว่าเหตุ โดยที่หลายครั้งประชาชนกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายแม้ไม่มีความผิด
The Momentum ได้สรุปและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งท่าทีของครอบครัวผู้เสียชีวิต ท่าทีของเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงประชาชนจำนวนมากที่เรียกร้องอยากเห็นการปฏิรูปกรมตำรวจเอาไว้ในบทความนี้แล้ว
1.
“สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งน่ากลัวและน่าสยดสยอง เราได้เห็นแล้วว่าตำรวจทำอะไรกับเขาบ้าง”
วันที่ 27 มกราคม 2022 เบนจามิน ครัมป์ (Benjamin Crump) และอันโตนิโอ โรมานุชชี (Antonio Romanucci) ทนายความของครอบครัวนิโคลส์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ระบุว่าไม่สามารถยอมรับได้กับการที่ต้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายนานกว่า 3 นาที โดยไม่สะทกสะท้านต่อสิ่งที่กำลังทำ
ครอบครัวของนิโคลส์เล่าประวัติคร่าวๆ ของผู้เสียชีวิตให้สื่อฟังว่า เขาเป็นพนักงานบริษัทเฟดเอ็กซ์ที่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับแก๊งท้องถิ่น ไม่มีความน่าสงสัยว่าจะก่อเรื่องไม่ดี เขาชื่นชอบการเล่นสเกตบอร์ด มีลูกอายุ 4 ขวบ และเพิ่งลงเรียนคลาสถ่ายภาพ
นิโคลส์เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีชีวิตตามปกติ ในวันเกิดเหตุเขากำลังเดินทางไปหาแม่ในอพาร์ตเมนต์ที่อยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่ถูกตำรวจซ้อมทรมาน แต่กลับถูกกลุ่มตำรวจใช้ความรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัส
ทนายความของครอบครัวยังระบุอีกว่า รายงานผลการชันสูตรพลิกศพพบว่าผู้ตายมีอาการเลือดคั่งจากการถูกทุบตีอย่างรุนแรง และตั้งคำถามว่าทำไมประชาชนคนหนึ่งถึงต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรมจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ความตายของนิโคลส์สร้างความไม่พอใจกับประชาชนจำนวนมาก ผู้คนตัดสินใจเข้าร่วมประท้วงกดดันให้รัฐบาลเร่งทำอะไรสักอย่าง รวมถึงกดดันเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ
ทางครอบครัวของนิโคลส์ที่รับรู้ว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่พอใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ขอให้ผู้ประท้วงอยู่ในความสงบ หากต้องการประท้วงขอให้ใช้การประท้วงแบบสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และรอฟังการตัดสินคดีในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2023 สมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐเทนเนสซี แถลงข่าวแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น
สมาชิกพรรคฯ ยังได้เผยภาพเหตุการณ์ล่าสุดที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินตามถนนในเมืองเมมฟิส สถานที่เกิดเหตุสลด ควบคู่กับภาพถ่ายแห่งประวัติศาสตร์เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ชาวสหรัฐฯ ลงถนนแสดงพลังหลังการเสียชีวิตของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนและตัวแทนของคนผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน
นักการเมืองจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติทบทวนกฎหมายและบทลงโทษที่จะใช้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 นาย นอกจากนี้ยังเรียกร้องการแก้กฎหมายในระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
2.
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เป็นหลักฐานชั้นดีว่ากลุ่มตำรวจรุมทำร้ายประชาชนจริง โดยคลิปดังกล่าวได้มาจากกล้องบันทึกภาพที่ติดอยู่กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุ
คลิปวิดีโอแรกเผยให้เห็นว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจลากนิโคลส์ลงจากรถ ตะโกนสั่งให้เขานอนคว่ำลงกับพื้น ขณะที่นิโคลส์ร้องบอกว่า “ผมไม่ได้ทำอะไรเลย” ก่อนมีเสียงแทรกขึ้นมาว่า “ช็อตเขา”
นิโคลส์ยังพยายามพูดกับกลุ่มตำรวจว่าพวกเขาทำเกินไป นี่มันเกินกว่าเหตุ เขาแค่กำลังจะกลับบ้าน และมีตำรวจนายหนึ่งถือปืนช็อตไฟฟ้าพุ่งเข้าใส่หมายจะทำร้าย ทำให้นิโคลส์พยายามดันตัวขึ้นจากพื้นและวิ่งหนี
คลิปวิดีโอที่ 2 ได้จากกล้องวงจรปิดตรงข้ามจุดเกิดเหตุ เผยให้เห็นตำรวจ 2 นาย ล็อกตัวนิโคลส์แล้วกดเขาลงกับพื้นอีกครั้ง ขณะที่ตำรวจนายอื่นๆ กำลังรุมเตะ ต่อย และใช้อาวุธคล้ายกระบองทุบตีที่ตัวนิโคลส์ซ้ำๆ ก่อนลากตัวเขาที่เหมือนใกล้จะหมดสติให้นั่งพิงกับด้านข้างของรถตำรวจ
คลิปต่อมาได้มาจากกล้องติดตัวของตำรวจเช่นกัน เผยให้เห็นหลังจากตำรวจทุบตีนิโคลส์อยู่นานหลายนาที มีตำรวจนายหนึ่งใช้สเปรย์พริกไทยฉีดใส่หน้าเหยื่อ ขณะที่นิโคลส์ร้องอ้อนวอนให้หยุดและตะโกนร้องเรียกแม่ซ้ำไปซ้ำมา
ประเด็นนี้กลายเป็นข่าวใหญ่จนถึงขั้นที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดแถลงการณ์ว่าตัวเขาเองที่ได้ดูคลิปวิดีโอดังกล่าวนั้นรู้สึกเสียใจ เจ็บปวด และโกรธแค้น และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ใครจะยอมรับได้ โดยประธานาธิบดีไบเดนได้พูดคุยกับครอบครัวผู้ตายเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2023 เพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง
3.
หน่วยตำรวจลาดตระเวนถูกยุบทันที
วันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เซเรลีน เดวิส (Cerelyn Davis) ผู้กำกับการกรมตำรวจเมมฟิส เจ้าหน้าที่หญิงผิวดำคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าว ออกแถลงการณ์ยุติการปฏิบัติงานของหน่วยสกอร์เปียน (SCORPION) ย่อมาจากหน่วยปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมบนท้องถนนเพื่อคืนความสงบสุขในพื้นที่ (Street Crimes Operation to Restore Peace in our Neighborhoods) ที่ก่อตั้งในเดือนตุลาคม 2021 โดยมุ่งเน้นภารกิจในจุดล่อแหลมด้านอาชญากรรม ซึ่งเป็นหน่วยที่เจ้าหน้าที่ 5 นายสังกัดอยู่
สาเหตุการยุบหน่วยสกอร์เปียนเป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุขณะลาดตระเวน โดยเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 นาย ได้ถูกไล่ออกจากราชการและถูกตั้งข้อหาร้ายแรงทั้งการฆาตกรรมโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ทำร้ายร่างกาย ลักพาตัว และข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยใช้อำนาจทางราชการกดขี่ผู้อื่น
เซเรลีนยังระบุอีกว่า การกระทำอันชั่วร้ายของคนเพียงไม่กี่คน สามารถสร้างความอัปยศให้กับหน่วยสกอร์เปียนอย่างไม่อาจให้อภัยได้ พวกเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกรมตำรวจเมมฟิส ยืนยันจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำน่าอดสูนี้ ก่อนทิ้งท้ายว่าผู้บัญชาการตำรวจได้เข้าพบกับสมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าอดีตเจ้าหน้าที่ 4 ใน 5 ราย ยื่นขอประกันตัวไปแล้ว โดยทางทนายความยืนยันว่าลูกความที่เป็นผู้ก่อเหตุจะไม่หลบหนี พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่จะไม่สารภาพผิดใดๆ
4.
แม้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะขอให้ประชาชนใจเย็นๆ ทว่าการประท้วงได้ลุกลามไปหลายเมือง โดยเฉพาะในเมืองเมมฟิสที่เป็นที่เกิดเหตุ
ผู้คนในเมมฟิสปิดถนนระหว่างรัฐ เดินขบวนไปรอบเมืองท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงกำลังล้อมรอบ เมื่อประชาชนเคลื่อนตัวไปทางไหน รถตำรวจก็จะขับตามไปด้วย จนผู้ประท้วงตะโกนพร้อมกันว่า “นี่คือถนนของใคร ถนนของพวกเรา!”
เกิดการรวมตัวประท้วงบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจเมมฟิส เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการเลือกปฏิบัติ ก่อนมีการปราศรัยว่าเป็นเวลานานแล้วที่ประชากรผิวดำในเมมฟิสต้องทุกข์ทนและเคยชินกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจทารุณกรรมคนผิวดำ และเมื่อพวกเขาทราบข่าวว่าเกิดการยุบหน่วยสกอร์เปียนแล้ว ผู้ชุมนุมต่างส่งเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ
ไม่ได้มีแค่ประชาชนในเมมฟิสที่ไม่พอใจ ผู้คนในหลายเมืองนัดรวมตัวประท้วงแบบดาวกระจายทั่วประเทศ เช่น การชุมนุมในวอชิงตัน บอสตัน ชิคาโก โอเรกอน ดีทรอยต์ พอร์ตแลนด์ ฯลฯ
หนึ่งในการชุมนุมที่ดึงความสนใจผู้คนได้มากที่สุดแห่งหนึ่ง คือการประท้วงกลางไทม์สแควร์ ย่านแมนฮัตตัน นิวยอร์ก สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองและเป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้กลายเป็นพื้นที่ที่รวมผู้คนที่โกรธแค้นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การประท้วงบริเวณไทม์สแควร์เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เมื่อผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งมีปากเสียงกับตำรวจที่กำลังเฝ้าสังเกตการณ์การประท้วง ก่อนจะเริ่มชุลมุน มีการทำลายข้าวของ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจับกุมผู้ก่อเหตุและประกาศให้ประชาชนกลับบ้าน
ในแง่ความคิดเห็นของประชาชนบางส่วนต่อเหตุการณ์นี้ อาดันเต พอยเทอร์ (Adante Pointer) ทนายความในรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ว่าเขาไม่ค่อยเห็นเหตุการณ์ที่ชายผิวดำเสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวดำทำร้าย เพราะปกติแล้วข่าวทำนองนี้มักเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ผิวขาว และประชาชนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน
ชวนให้ขบคิดไม่น้อยว่าหรือจริงๆ แล้วความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำกับประชาชน อาจไม่ได้มีเรื่องการเหยียดผิวเป็นเหตุผลหลักหรือเหตุผลเดียว ทว่าเป็นเรื่องการใช้อำนาจหรือใช้อภิสิทธิ์ที่ได้จากหน้าที่การงานในทางที่ผิดมากกว่า
Tags: สหรัฐอเมริกา, Inter News, Global Affairs, คนผิวสี, ตำรวจ, แบล็กไลฟส์แมตเทอร์, Black Lives Matter, ชีวิตคนดำก็มีความหมาย, คนผิวดำ, ประท้วง, ม็อบ, ข่าวต่างประเทศ, BLM, Politics, Protests, USA, การเมืองต่างประเทศ