การเดินทางข้ามพรมแดนไทย-ลาว ถูกปิดกั้นมาเกือบสองปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่ได้เห็นผ่านสื่อออนไลน์ คือการเตรียมการก่อสร้าง ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ บนแม่น้ำโขง ที่กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ 

ถนนสายใหม่ถูกตัดสู่ริมแม่น้ำโขง ใกล้ถ้ำติ่ง สถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งบริษัทก่อสร้างไทยที่เป็นผู้ลงทุนเดียวกันกับเขื่อนไซยะบุรี ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าจะเดินหน้าลงทุนโครงการเขื่อนแห่งใหม่ในลาว ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองมรดกโลก และจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า มีทุนไทยเข้าไปมีบทบาทในการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางด้วย เชื่อมโยงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า แม้ว่าประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลือใช้มาโดยตลอด 

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ต้องเผชิญกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ถูกทำลายโดยเขื่อนขั้นบันไดกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีน ‘กลุ่มรักษ์เชียงของ’ ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เห็นว่าช่วงหลังนี้จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงในการแจ้งระบายน้ำจากเขื่อนจีน 

สำหรับประเด็นแม่น้ำโขง สิ่งที่ประชาชนพูดตลอดคือเรื่องผลกระทบต่อระดับน้ำตามฤดูกาล เขื่อนต่างๆ ที่ก่อสร้างบนแม่น้ำโขงได้ทำลายวัฎจักรแม่น้ำโขง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วต้องขึ้นลงตามฤดูกาล ตามชีพจรของระบบนิเวศ การอพยพของปลา และการพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายสิบปีแสดงให้เห็นแล้วว่า การใช้งานของเขื่อนนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระดับน้ำตามฤดูกาล เพราะการพร่องน้ำจากเขื่อนจีนในช่วงต้นฤดูฝน ทำให้น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพิ่มระดับขึ้นทันที การระบายน้ำเพียงครั้งเดียวเพื่อให้อ่างเก็บน้ำว่าง หวังทำการกักเก็บน้ำเพิ่มในอนาคต ส่งผลให้ระดับน้ำโขงที่ควรจะต้องท่วมหลากสูงสุดราวเดือนสิงหาคมนั้นกลับไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเขื่อนตอนบนกักน้ำไว้ ส่งผลต่อเนื่องถึงลำน้ำสาขา พื้นที่ชุ่มน้ำก็จะไม่ได้รับน้ำหลากตามธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาคือจัดการให้แม่น้ำโขงไหลตามฤดูกาล รักษาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง (The Mighty Mekong) เอาไว้ 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ประชาชนท้องถิ่นกำลังวิตกกังวลกันก็คือการผลักดันโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่ผ่านมาเราเห็นผลกระทบมากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เขื่อนหลวงพระบางจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ การอพยพของพันธุ์ปลาธรรมชาติ ตะกอนแร่ธาตุต่างๆ เหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นแน่นอน 

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการเขื่อนแห่งนี้ไม่เหมือนเขื่อนอื่นๆ เพราะมีเงื่อนไขเกี่ยวพันกับมรดกโลก ซึ่งห่างจากเมืองหลวงพระบางเพียงไม่กี่กิโลเมตร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมันจะส่งผลกระทบทางกายภาพ ต่อวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ของชาวหลวงพระบางที่พึ่งพิงมรดกโลก 

ในภาวะปกติแล้ว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใกล้ชิดผูกพันกับเมืองหลวงพระบางมาโดยตลอด มีการท่องเที่ยวทางเรือที่เชื่อมโยงกับหลวงพระบาง มีการค้าขายไปมาหาสู่กัน ประชาชนสองเมืองมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางเชื่อมร้อย

เมืองหลวงพระบางเกิดขึ้นได้และถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก เพราะความมั่งคั่งของแม่น้ำโขง หากมีเขื่อนถูกสร้างไว้บนมรดกโลกจะเป็นการทำลายธรรมชาติ เปลี่ยนฤดูกาลของแม่น้ำ เปลี่ยนการหาอยู่หากินและวิถีชีวิตของชาวบ้าน สำหรับประชาชนชาวลาว โครงการเขื่อนแห่งนี้ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการข้ามพรมแดนมายังเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

ผู้เขียนเคยเดินทางบนเส้นทางเชียงของ-หลวงพระบาง ผ่านเมืองปากแบง แม่น้ำโขงช่วงนี้ยังคงมีเกาะแก่ง มีระบบนิเวศสมบูรณ์ การศึกษาของหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์นานาชาติเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม (ICEM) ก็ยืนยันว่า มีวังน้ำลึกกว่า 90 เมตรถึง 7 จุด มีลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลลงแม่น้ำโขงช่วงนี้ถึง 33 สาย 

หากสร้างเขื่อนทับ ทุกอย่างก็จมหาย และเมื่อเชื่อมต่อกับปลายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนไซยะบุรี แม่น้ำโขงช่วงนี้ก็จะเป็นเพียงแค่อ่างเก็บน้ำเท่านั้น 

ผู้เขียนหวังว่าคณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังประชุมกันในสัปดาห์นี้ จะมองเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ เพราะคงมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีความพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเฉกเช่นหลวงพระบาง แม่น้ำโขงเสียหายจากเขื่อนที่มีอยู่แล้ว หากมีการสร้างเขื่อนทำลายอีก มรดกโลกก็จะพินาศลงไป

เรามีประสบการณ์มานานกว่า 20 ปีแล้วว่า เขื่อนทุกเขื่อนล้วนแต่สร้างผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อแม่น้ำโขง ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งน้ำ รวมถึงแหล่งรายได้ของประชาชนหลายล้านคนตลอดสองฝั่ง 

ความหวังของผู้เขียนในเวลานี้คือแก้ไขปัญหาเขื่อนที่มีอยู่ และยุติโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่จะทำลายหนึ่งในเพชรยอดมงกุฏของลุ่มน้ำแห่งนี้ในทันที

Tags: , , , , ,