เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 11 .. 2563  แม้ว่าจะมีเด็กๆ หลายคนกำลังสนุกสนานไปกับงานที่จัดขึ้นในที่ต่างๆ แต่ทว่ายังมีเด็กอีกหลายคนทั่วโลกที่กำลังประสบกับปัญหาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม การศึกษา ภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ และเด็กเหล่านี้นี่เอง ที่กำลังจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่และกำลังของโลกในอนาคต

ภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร

ปัญหาหลักที่องค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) เล็งเห็นคือภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม แบ่งเป็นสองประเภทหลัก คือภาวะโภชนาการต่ำหรือภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ และภาวะโภชนาการเกินหรือภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณที่มากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะอ้วน 

ยูนิเซฟให้ข้อมูลไว้ว่า 1ใน 3 ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี หรือจำนวนมากกว่า 200 ล้านคนประสบกับภาวะทุพโภชนาการ (ทั้งขาดสารอาหาร และภาวะอ้วนเกินความจำเป็น) เกือบร้อยละ 45 ของเด็ก อายุระหว่างหกเดือนถึงสองปี ไม่ได้กินผักหรือผลไม้ และร้อยละ 59 ไม่ได้โปรตีนประเภทไข่ นม ปลา หรือ เนื้อสัตว์

ครอบครัวที่ยากจนมักจะเลือกอาหารที่มีคุณภาพต่ำราคาถูก ในขณะที่ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองก็มีผลต่อทุพโภชนาการ โดยเฉพาะที่เยเมน ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคงทางอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำไปสู่การระบาดของอหิวาตกโรค ซึ่งเชื่อว่ามีผู้ได้รับกระทบ 1.2 ล้านคน ข้อมูลของบีบีซีระบุว่ามีเด็กชาวเยเมนอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ราว 85,000 คน ต้องเสียชีวิตจากภาวะการขาดสารอาหารอย่างเฉียบพลันในช่วง 3 ปี ของสงครามในเยเมน

ไม่เพียงภาวะความยากจน และสงคราม แต่มีปัจจัยอื่นอีก เช่น สภาพอากาศก็ส่งผลต่ออาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ บริการสุขภาพ น้ำสะอาด การสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมในโรงเรียน รวมถึงมื้ออาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย ราคาไม่แพงและยั่งยืนสำหรับเด็กทุกคน 

‘อ้วน’ ไม่ได้หมายความว่ากินมากเกินไป

แม้ว่าโรคอ้วนจะดูเหมือนมีโภชนาการมากเกินไปแต่มันเป็นภาวะทุพโภชนาการอีกประเภทหนึ่ง จากรายงานพบว่าโรคอ้วนในวัยเด็กเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างทวีคูณ ซึ่งคาดการณ์ว่าก่อนปี 2030 จะมีเด็ก 250 ล้านคนทั่วโลกมีอัตราโรคอ้วนพุ่งสูงขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 150 ล้านคน เนื่องมาจากการบริโภคอาหารประเภท Junk Food หรืออาหารขยะ

อย่างไรก็ตามศตวรรษที่ผ่านมาปัญหาน้ำหนักตัวที่มากเกินและโรคอ้วนไม่ได้เชื่อมโยงกับความมั่งคั่งของประเทศอีกแล้ว ทว่าในทางกลับกันปัญหานี้มีแนวโน้มกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่คนจนมากขึ้นเรื่อยๆอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมักมีราคาแพงกว่า และเมื่อราคาอาหารสูงขึ้นครอบครัวที่มีรายได้ต่ำก็ไม่มีทางเลือกนอกจากการเลือกซื้ออาหารที่ให้พลังสูง คำนึงถึงเรื่องอยู่ท้องมากกว่าคุณค่าทางอาหารเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินมักมาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศสูงก็ยิ่งมีโอกาสเกิดปัญหา จากข้อมูลยูนิเซฟระบุว่าในสหรัฐอเมริกาเด็กที่ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นมีโอกาสไม่เป็นโรคอ้วนถึงร้อยละ 53

ในอนาคต จีนจะมีเด็กอ้วนที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 19 ปีเพิ่มจำนวนเป็น 62 ล้านคน ขณะที่อินเดียอาจเพิ่มเป็น 27 ล้านคน และ 17 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา คองโกมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนมากถึง 2.4 ล้านคน แทนซาเนียและเวียดนามจะมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน และในภาพรวม มีเด็ก 1 ใน 5 ของจำนวนเด็ก 250 ล้านคน ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคอ้วน

การแต่งงานในเด็ก

จากข้อมูลของยูนิเซฟระบุว่า 1 ใน 4 ของเด็กผู้หญิงในละตินอเมริกาและแคริบเบียน แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ในขณะที่อินเดีย ซึ่งที่มีประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็ประสบกับปัญหานี้ มีเด็กผู้หญิงที่แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี มีมากกว่า 102 ล้านคน 

ปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นอีกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้ทั่วโลกยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในปี ค. 2030 ทั้งยังกล่าวอีกว่าหากไม่ยุติปัญหาดังกล่าว จะมีผู้หญิงอีก 250 ล้านคนที่จะถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยที่เหมาะสม

มีหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการแต่งงานก่อนวัยอันควรซึ่งรวมถึงความยากจนอีกทั้งการแต่งงานยังเกี่ยวโยงไปถึงเกียรติยศครอบครัวบรรทัดฐานทางสังคมกฎหมายจารีตประเพณีหรือศาสนาทว่าการแต่งงานในเด็กมักเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชายและหากเด็กผู้หญิงการตั้งครรภ์ก็ส่งผลต่อการศึกษาจำกัดโอกาสสำหรับการประกอบอาชีพและความก้าวหน้าในอาชีพ

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถละเลยการแต่งงานในเด็กผู้ชายได้เช่นกัน ซึ่งการแต่งงาน อาจทำให้เด็กผู้ชายต้องสวมบทบาทผู้ใหญ่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ต้องรับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และลดโอกาสในการศึกษาต่อหรือความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งปัจจุบันอัตราการแต่งงานในเด็กค่อยๆ ลดลง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของเด็กหญิงที่แต่งงานลดลงร้อยละ 15

ความเท่าเทียมทางเพศ

ความเท่าเทียมกันทางเพศหมายถึงเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรโอกาสและการคุ้มครองเช่นเดียวกันเนื่องจากโครงสร้างอำนาจในสังคมส่วนใหญ่เด็กผู้ชายอาจได้ประโยชน์มากกว่าขณะเดียวกันเด็กผู้หญิงมักเสียผลประโยชน์และเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ

จากรายงานพบว่า เด็กผู้หญิงต้องใช้เวลาทำงานบ้าน เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาด ดูแลสมาชิกในครอบครัว เก็บน้ำ และฟืน ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 5 ถึง 9 ปี ใช้เวลาทำงานบ้านราว 30% ในขณะที่เด็กอายุ 10 ถึง 14 ปี ใช้เวลาเพิ่มขึ้น 50% และเวลาทำงานมากกว่าเด็กผู้ชาย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภูมิภาคตะวันตกและแอฟริกากลาง ถูกจัดอันดับว่ามีอัตราส่วนเด็กผู้หญิงในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นจากเดิม ระหว่างปี 2000 – 2017 อัตราความสำเร็จในระดับประถมศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้นสูงกว่าเด็กผู้ชาย ทั้งในแอฟริกาตะวันตก เช่น บูร์กินาฟาโซ แกมเบีย มอริเตเนีย และในแอฟริกากลาง อย่าง เซาตูเมและปรินซิปี และเซเนกัล แม้ว่าเด็กผู้หญิงในภูมิภาคดังกล่าวจะมีอัตราสำเร็จการศึกษาสูง แต่ก็ยังคงมีช่องว่างทางเพศที่สูงที่สุดในโลกเรื่องการศึกษา ในปี 2012 เด็กชายและเด็กหญิงจำนวน 19 ล้านคน ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยจำนวนร้อยละ 57 เป็นเด็กผู้หญิง แม้ว่าเด็กผู้หญิงจะจบการศึกษาในระดับประถมศึกษา แต่ระดับมัธยมกลับยังมีไม่มากนัก 

ข้อมูลจากยูนิเซฟระบุว่า แต่ละปีมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงกว่า 300,000 คน เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ในขณะที่อีก 61 ล้านคนไม่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากความยากจน รวมทั้งไม่ได้เข้าถึงโอกาสในการศึกษาที่ดี ขณะเดียวกันนโยบายการศึกษาในบางพื้นที่ก็ไม่ได้เอื้อให้เด็กผู้หญิงที่คลอดบุตรกลับมาเรียนได้อีกครั้ง ในประเทศอิเควทอเรียลกินี และเซียร์ราลีโอนนักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์จะถูกไล่ออกจากโรงเรียน รวมทั้งการที่พวกเธอเป็นเพศหญิงก็มักจะถูกมองข้าม เด็กผู้หญิงบางคนต้องทำงานไม่ได้รับค่าจ้างจำนวนมาก

การล่วงละเมิดทางเพศ และการทารุณกรรมเด็ก

องค์กร Internet Watch Foundation จัดอันดับประจำปี 2019  พบว่ามากกว่า 1 ใน 4 ของภาพออนไลน์และวิดีโอทางเพศ ส่วนมากเป็นภาพและวิดีโอเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยมีจำนวนเด็กที่โดนล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 132,000 คน ซึ่งเพิ่มจากปี 2018 ถึงร้อยละ 26 โดยเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้อยู่ในเว็บไซต์มืด ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 63,000 คนทั่วโลก

ปีที่ผ่านมามีรายงานของบีบีซีว่า เด็ก 50 คนได้รับความช่วยเหลือ และมีผู้ถูกจับกุม 9 คน หลังจากที่ตำรวจสากลสืบสวนพบเครือข่ายล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางอินเทอร์เน็ต การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา และคาดว่า จะมีการจับกุมเพิ่มขึ้นอีกในประเทศอื่น

ประเทศอินเดียมีสถิติการล่วงละเมิดทางเพศเด็กสูงมาก ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดเป็นคนรู้จักของตัวเหยื่อเอง เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือ นายจ้าง เป็นต้น ในปี 2017 มีเหตุข่มขืนผู้เยาว์จำนวน 10,211 กรณี และสถิตินี้ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว AFP รายงานว่าในอินเดีย ผู้เยาว์ถูกกระทำชำเรา 1 คน ทุก ๆ 15 นาที หรือข่าวสะเทือนอารมณ์อย่าง เด็กหญิงวัย 12 เล่าประสบการณ์ว่าพ่อที่ตกงาน ชวนเพื่อนมาชำเราเธอและแม่เพื่อแลกกับเงิน หรือแม้แต่ เรื่องของเจนี เฮย์นส์ ที่ถูกพ่อแท้ๆ ผู้ให้กำเนิด ข่มขืน ทรมาน และทำร้ายร่างกายเป็นประจำ ตั้งแต่เธอมีอายุได้ไม่กี่ขวบ เจนีจึงสร้างบุคคลในจินตนาการขึ้นมาแทนที่ตัวเองเป็นจำนวนมากถึง 2,500 คนซึ่งแต่ละคนก็มีบุคลิกภาพแตกต่างกันออกไปคนละแบบ

ในทวีปแอฟริกาใต้พบว่า นักเรียนหญิง 19.6% และนักเรียนชาย 21.1% วัยระหว่าง 11-16 ปี ถูกบีบบังคับหรือถูกใช้กำลังให้มีเพศสัมพันธ์ อัตราของวัยรุ่นอายุ 16 ปีอยู่ที่ 28.8% สำหรับหญิง และ 25.4% สำหรับชาย ส่วนงานวิจัยในอเมริกาเหนือสรุปว่า ประมาณ 15-25% ของหญิง และ 5-15% ของชาย ถูกทารุณกรรมทางเพศในวัยเด็ก

นอกจากนี้ข้อมูลของยูนิเซฟยังระบุว่า ในแคเมอรูนพบว่าร้อยละ 15 ของความรุนแรงทางเพศต่อเด็กเกิดขึ้นในโรงเรียน ในขณะที่เซเนกัลระบุว่าคนที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กมักจะเป็นครู มีเด็กหลายล้านคนทั่วโลกพบกับการละเมิดสิทธิ อีกทั้งยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างไม่เหมาะสม การทารุณกรรมที่เกิดขึ้นมีผลต่อเด็กอย่างมาก นอกจากการบาดเจ็บทางกาย ยังส่งผลทางจิตใจ เกิดความผิดปกติและมีความโน้มเอียงที่จะตกเป็นเหยื่อทารุณกรรมอีกในวัยผู้ใหญ่

การศึกษา

การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญสุดประการหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการลงทุนระยะยาวที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ทั้งยังเป็นประโยชน์มหาศาล ต่อความ เจริญก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ เพราะการศึกษามีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการพัฒนาสติ ปัญญา ค่านิยม ทัศนคติ และคุณธรรมของประชากรในสังคม 

ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอาจจะเป็นโอกาสที่เท่าเทียมกันที่จะผลิตคนให้มีศักยภาพ แม้เด็กจะเป็นอีกหนึ่งกุญเเจสู่อนาคตของโลก แต่ก็ยังมีอีกมากที่ไม่ได้รับแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานขั้นต่ำที่สุด ขณะเดียวกัน สุขภาพของเด็กและการศึกษามีส่วนเกี่ยวข้องกัน การขาดสารอาหารของเด็ก ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย เด็กที่หิวไม่สามารถมีสมาธิในการเรียน เด็กที่หิวโหยขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่ ก็มีผลต่อการพัฒนาทางปัญญา ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจไม่สามารถบรรลุศักยภาพทางวิชาการ หรือวิชาชีพที่แท้จริงได้ ข้อมูลจากยูนิเซฟระบุว่า เหตุผลที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากความยากจน การกลับบ้านไปเป็นแรงงานช่วยครอบครัว ทำให้ปากท้องอิ่มมากกว่าการมาเรียน

แม้ว่าเด็ก ๆ จะได้เข้าโรงเรียนตามโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แต่คุณภาพการศึกษาอาจไม่ดี หรือความสามารถ และทรัพยากรทางการศึกษาอาจถูกจำกัด เช่น รัฐบาลพม่าได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้มีโรงเรียนอย่างน้อยหนึ่งแห่งในทุกหมู่บ้าน แต่แม้พม่าพยายามที่จะจัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศแต่ยังมีปัญหาที่ไม่สามารถจัดหาอาคารสถานที่ วัสดุและอุปกรณ์ให้กับโรงเรียนในบางท้องที่ได้  ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจออกจากโรงเรียนโดยไม่ต้องใช้ทักษะการคำนวณหรือการรู้หนังสือที่จำเป็น และมีเด็กประมาณ 600 ล้านคนที่ไม่ได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ และเรียนหนังสือขั้นพื้นฐานขณะอยู่ที่โรงเรียน

สหประชาชาติเองก็มีเป้าหมายที่จะแก้ปัญาเรื่องการเรียนรู้ที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งส่งเสริมการศึกษาคุณภาพ และมีโครงการในการส่งอาสาสมัครไปยังประเทศต่างๆ เพื่อสอนหนังสือ ได้แก่ ประเทศเนปาล  แอฟริกาใต้  ฟิจิ  อินเดีย  คอสตาริกา  ไทย  เม็กซิโก  และประเทศลาว

การแจ้งเกิด

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ7 กำหนดไว้ว่าเด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิดซึ่งรวมถึงการมีชื่อ และการมีสัญชาติ การลงทะเบียนเกิดเป็นสิทธิที่จะได้รับการยอมรับในฐานะบุคคลทางกฎหมาย การมีตัวตนในรัฐเป็นหลักประกันว่าจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองตลอดชีวิต และเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการใช้สิทธิอื่นๆ ทั้งหมด 

แต่ยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 166 ล้านคนในโลกที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนการเกิดทั้งยังไม่มีหลักฐานการลงทะเบียนเนื่องจากขาดทรัพยากรในการเข้าถึงระบบทะเบียนราษฎรที่ถูกต้องเช่นเด็กที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยเด็กที่เป็นกลุ่มคนชายขอบของรัฐซึ่งพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน

ยูนิเซฟให้ข้อมูลเรื่องการเป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยแยกไว้ 3 อย่าง คือ

  1. การระบุตัวตนตามกฎหมาย (legal identity) เป็นการกำหนดให้เป็นเรื่องพื้นฐาน โดยต้องใช้ข้อมูลประจำตัว ชื่อ เพศ และวันเดือนปีเกิด และช่องทางติดต่อทางกฎหมายในการลงทะเบียนตามกระบวนการยืนยันการเกิด

  2. การลงทะเบียนการเกิด (birth regestiation) เป็นการบันทึกข้อมูลการเกิดอย่างเป็นทางการและลักษณะการเกิดต่อนายทะเบียนให้ลงทะเบียนราษฎรตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ทั้งยังเป็นตัวกำหนดการมีตัวตนของบุคคลภายใต้กฎหมายและแสดงหลักฐานยืนยันตัวตนตามกฎหมาย

  3. สูติบัตร (birth certificate) เป็นเอกสารสำคัญในการยืนยันตัวตน โดยมีนายทะเบียนรับรองการเกิดของเด็ก ออกโดยรัฐ เพราะเป็นตัวสำเนารับรองการจดทะเบียนการเกิด เป็นการพิสูจน์ว่ามีการลงทะเบียนและมักเป็นหลักฐานยืนยันตัวตนตามกฎหมายโดยเฉพาะกับเด็ก สูติบัตรต้องมีการรับรอง เพราะต้องใช้ในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษาและบริการอื่นๆในสังคม

ตามข้อมูลแสดงข้อมูลของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีเด็กจำนวน 508 ล้านคนที่ลงทะเบียน แต่อีก 166 ล้านคนไม่ได้ลงทะเบียนเกิด และอีก 237 ล้านคนไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนในรูปแบบสูติบัตร

การวิเคราะห์ทางสถิติของยูนิเซฟแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ไม่ได้ลงทะเบียนเกิดมาจากครัวเรือนที่ยากจน อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และมีมารดาที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าเด็กหลายคนลงทะเบียนเกิดหลังจากนั้น แต่ถึงอย่างนั้นหลายคนก็ยังไม่ได้รับสูติบัตร ซึ่งการจดทะเบียนเกิดควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นอย่างแรกในชีวิตของเด็กๆ เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทของประเทศ และในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม  ขั้นตอนการลงทะเบียนจะต้องสามารถเข้าถึงได้ง่าย และทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพื่อให้แน่ใจว่าครอบคลุมประชากรทั้งหมด

สิทธิเด็ก

แม้จะมีวันเด็กที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับเด็กๆ ก็ตาม แต่ทว่าทุกวันนี้ยังมีช่องว่างที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิเด็กในทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จากรายชื่อประเทศทั้งหมด 181 ประเทศของ The KidsRights Index ประจำปี 2019 นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมีช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ชัดเจนมาก เช่น สหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์ ถูกจัดอยู่ในอันดับ 170 และ 169 จากทั้งหมด 181 ประเทศ สะท้อนว่าลำดับความสำคัญของเด็กไม่มากพอแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

การจัดอันดับนี้ใช้หลักการพื้นฐานอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งกำหนดสิทธิในทางพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และวัฒนธรรมของเด็ก หลักการเหล่านี้รวมถึง การไม่เลือกปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา กล่าวคือไม่ว่าเด็กคนใดก็ตามก็ควรถูกคุ้มครองกันอย่างเท่าเทียมทั้งสิ้น รวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก การมีสิทธิในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ 

คะแนนการจัดอันดับของสหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์ที่อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพที่เป็นเด็กแต่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมอีกทั้งเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐเท่าที่ควรจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นไม่ได้เป็นการยืนยันว่าสิทธิเด็กจะได้รับการคุ้มครองที่มากขึ้นเสมอไป

ดัชนีชี้วัดจาก KidsRight เองก็ทำให้เห็นว่าระหว่างปี 2010 จนถึง 2016 จีน พม่า และอินเดียนับว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด แต่อัตราเรื่องการส่งเสริมสิทธิเด็กกลับลดลง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่าจีนไม่ได้ให้ความสำคัญในด้านสิทธิเด็กเท่าไรนัก ในขณะที่พม่า การศึกษายังคงเป็นปัญหาหลัก ดัชนีแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ได้รับการศึกษาเฉลี่ยเพียง 10 ปีเท่านั้น

ในขณะที่ประเทศไอซ์แลนด์ ถูกจัดว่าให้ความสำคัญกับเด็กเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตามมาด้วยโปรตุเกส (2), สวิตเซอร์แลนด์ (3), ฟินแลนด์ (4) และเยอรมนี (5) โดยลำดับที่น่าใจต่อมาคือ ประเทศไทย (14) และตูนิเซีย (15) ติดอันดับ 14 และ 15 ตามลำดับซึ่งถือว่าได้คะแนนค่อนข้างดีในแง่ของสิทธิเด็ก เมื่อเทียบกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ จากการประเมินของคณะกรรมการกล่าวว่าสภาพแวดล้อมที่ดีของไทยและตูนีเซียถือว่าดีต่อเด็ก ทั้งส่งเสริมการร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก อีกทั้งในตูนีเซียอัตราการเกิดของเด็กจากพ่อแม่วัยรุ่นก็ถือว่าต่ำมาก และประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นมิตรกับเด็กมากที่สุด เห็นได้จากแผนภูมิซึ่งจัดอยู่ในประเทศสีน้ำเงิน ซึ่งถือว่าเป็นลำดับที่ดีมากสำหรับสิทธิเด็กทั่วโลก 

แรงงานเด็ก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) รายงานว่าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศให้กำจัดการใช้แรงงานเด็กให้หมดไปภายในปี 2021 ซึ่งปัญหาการใช้เเรงงานเด็ก เป็นอีกปัญหาหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากแรงงานคนไม่พอ เด็กบางคนก็มาจากครอบครัวที่ไม่มีทางเลือกมากนัก การเข้าเรียนอาจไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ครอบครัวดีขึ้น ทว่าการออกมาเป็นแรงงานจ้างกลับทำให้ครอบครัวอิ่มท้องมากกว่า เด็กหลายคนจึงเลือกออกมาทำงาน ถึงกระนั้นเด็กก็เป็นแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง เนื่องด้วยลักษณะทางกายภาพที่ด้อยกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งกฎหมายแรงงานหรือการคุ้มครองทางกฎหมายก็ยังไม่ครอบคลุมไปถึงเด็ก 

จากงานวิจัยของกนกวรรณ (2562) ชี้สาเหตุที่ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์คือ ความยากจน ส่วนรูปแบบของการค้ามนุษย์มีทั้ง เป็นการค้ามนุษย์เพื่อบริการทางเพศ การค้ามนุษย์เพื่อการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ในงานประมง และการค้ามนุษย์เพื่อการบังคับให้ขอทาน พบแรงงานเด็กต่างชาติสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในประเทศไทยที่ทำงานในภาคเกษตร กิจการประมง โรงงานอุตสาหกรรม และทำงานรับใช้ในบ้าน และ 1 ใน 4 ยังเป็นการใช้แรงงานเด็กต่างชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี 

ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า มีเด็ก 152 ล้านคน ที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 17 ปีตกเป็นแรงงานเด็ก ขณะที่ 73 ล้านคนเป็นแรงงานเด็กซึ่งทำงานที่เป็นอันตราย มีการใช้แรงงานเด็กในภาคการเกษตรสูงมาก ถึงร้อยละ 71  อีกร้อยละ 17 เกี่ยวข้องกับการบริการ และร้อยละ 12 ทำงานในภาคอุตสาหกรรม

ในอินโดนีเซียมีเด็กถูกใช้แรงงานในสวนปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกันแก่เด็กที่ต้องทำงานกับยาฆ่าแมลงและสารเคมีอื่นๆ รวมถึงต้องทำงานแม้แต่ในวันหยุด ในขณะที่อินเดีย มีกฎหมายว่าห้ามการจ้างแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี แต่องค์การยูนิเซฟก็ระบุว่ามีเด็กที่เป็นแรงงานมากถึง 10.2 ล้านคน ในจำนวนนี้รวมถึงงานจัดการกับขยะ ซึ่งสามารถพบได้แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ วัยเพียง 5 ขวบเท่านั้น 

แม้ว่าจะมีวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก แต่ทว่าปัญหานี้ก็ยังแก้ไม่หายขาด อย่างไรก็ตามความยากจนไม่ได้เป็นเงื่อนไขหลักเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เด็กต้องเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์เท่านั้น แต่มักจะเป็นปัจจัยอื่นๆ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับความจน ที่เป็นแรงผลักดันให้เด็กเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการขาดโอกาสทางการศึกษา ตลอดจนสถานภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัวของเด็ก 

อ้างอิง:

https://data.unicef.org/resources/state-of-the-worlds-children-2019/

https://www.gvi.co.uk/blog/6-critical-global-issues-what-are-the-worlds-biggest-problems-and-how-i-can-help/

https://www.theguardian.com/society/2019/oct/02/250-million-children-worldwide-forecast-to-be-obese-by-2030

https://data.unicef.org/resources/birth-registration-for-every-child-by-2030/

https://www.bbc.com/thai/thailand-48394861

https://www.unicef.org/sowc/

http://www.kidsrightsindex.org/

https://kidsrights.org/news/kidsrights-index-2019-inadequate-priority-childrens-rights-developed-countries/

https://www.unicef.org/gender/files/2018-2021-Gender_Action_Plan-Rev.1.pdf

https://www.nytimes.com/interactive/2019/12/22/us/child-sex-abuse-websites-shut-down.html

http://www.pcd.go.th/file/SDGs.pdf

https://e5eeb06c-781c-4b94-888e-89388c464b3a.filesusr.com/ugd/bdfbef_bed20549d20d449d9fb4e5429cf3728e.pdf

https://www.bbc.com/thai/international-46285694

https://www.unicef.org/stories/what-birth-registration-and-why-does-it-matter

https://www.bbc.com/news/uk-51015711

https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3188459

https://www.posttoday.com/world/468009

https://news.ch7.com/detail/371513

กนกวรรณ อู่ทองทรัพย์,ประเทือง ช่วยเกลี้ยง (2562) “การค้ามนุษย์เด็ก กรณีศึกษาแรงงานเด็กชาวเมียนมา ลาว และ กัมพูชา” วารสารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 มกราคมมิถุนายน 2562.

Tags: , ,