สหรัฐฯ รุกเกม ‘แม่น้ำโขง’ แข่งจีน

เกมประชันขันแข่งระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในย่านอุษาคเนย์ดูจะยกระดับขึ้นอีกขั้น หลังจากคุมเชิงกันในทะเลจีนใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุด วอชิงตันรุกจับตาผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนที่มีต่อประเทศบนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯเปิดตัวโครงการใหม่ ใช้ดาวเทียมและเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล ติดตามและเผยแพร่สถานการณ์น้ำของเขื่อนในจีนนับสิบแห่งในลุ่มน้ำโขงตอนบน

สหรัฐฯ บอกว่า โครงการที่มีชื่อว่า The Mekong Dam Monitor ต้องการทำให้การบริหารจัดการน้ำของจีนมีความโปร่งใส ลดผลกระทบจากการกักเก็บและการปล่อยน้ำที่มีต่อประเทศลุ่มน้ำตอนล่าง

เมื่อเดือนพฤศจิกายน จีนเพิ่งเปิดตัวโครงการในทำนองเดียวกันนี้ ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ จึงดูจะขับเน้นบรรยากาศของการแข่งอิทธิพลของประเทศทั้งสองในภูมิภาคแถบนี้

เกมช่วงชิงมิตรประเทศ

สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ด้วยการผลักดันผ่านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ส่งผลให้เกิดคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong Committee) เมื่อปี 1957 และนับแต่ปี 1995 เป็นต้นมา กลไกนี้รู้จักกันในนามคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC)

ในระยะหลัง อเมริกาขยายบทบาทในลุ่มน้ำโขงมากขึ้น โดยเล่นบทเป็นแกนกลางและพยายามดึงความร่วมมือจากประเทศในอนุภูมิภาค ผ่านกลไกที่จัดตั้งใหม่ในชื่อ US-Mekong Partnership ซึ่งมาแทนกลไกเดิม คือ Lower Mekong Initiative (LMI) ที่จัดตั้งเมื่อปี 2009

ท่ามกลางการผงาดของจีนเมื่อขึ้นสหัสวรรษใหม่ ปักกิ่งดูจะไม่ยอมน้อยหน้า เมื่อปี 2016 จีนในฐานะประเทศต้นน้ำของแม่น้ำล้านช้างก่อนไหลลงใต้เป็นแม่น้ำโขง ได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือที่มีจีนเป็นแกนกลาง เรียกชื่อว่า Lancang-Mekong Cooperation (LMC)

จีนดูจะตระหนักถึงเสียงเรียกร้องถึงความโปร่งใสในการใช้น้ำ เมื่อเดือนพฤศจิกายน จีนเพิ่งเปิดตัวโครงการแบ่งปันข้อมูลทรัพยากรน้ำออนไลน์ มีชื่อว่า Lancang-Mekong Water Resources Cooperation Information Sharing Platform ภายใต้คำขวัญ “Shared River, Shared Future”

การแข่งบทบาทของมหาอำนาจทั้งสองในลุ่มน้ำระหว่างประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเป็นที่จับตาจากผู้เล่นทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ถัดจากประเด็นทะเลจีนใต้

ใครทำแม่น้ำโขงเหือดแห้ง

โครงการจับตาเขื่อนแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานคลังสมอง Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กับบริษัทวิจัยอเมริกัน Eyes on Earth

รูปแบบโครงการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าไปดูข้อมูลระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจีน 13 เขื่อนที่สร้างปิดกั้นลำน้ำสายหลัก และอีก 15 เขื่อนในลำน้ำสาขา

เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวในงานเปิดตัวทางออนไลน์ว่า ภาวะแห้งแล้งจากปีที่แล้วยังคงดำเนินสืบเนื่องจนถึงปีนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมของทะเลสาบเขมรเมื่อช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมเผยให้เห็นระดับน้ำที่ต่ำผิดปกติ

สติลเวลล์บอกว่า โครงการนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงพันธะของสหรัฐฯต่อภูมิภาคนี้ พร้อมกับบอกว่า ประเทศแม่น้ำโขงควรเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลน้ำมากขึ้น ที่ผ่านมา จีนไม่เคยให้รายละเอียดเกี่ยวกับการกักเก็บและการปล่อยน้ำ

“เราขอเชิญชวนกลุ่มอาเซียนให้หาจุดยืนร่วมกันต่อลุ่มแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการในกรณีทะเลจีนใต้นับแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเรื่องของความเป็นความตายเช่นเดียวกัน”

ไบรอัน อายเลอร์ แห่งศูนย์สติมสัน บอกว่า โครงการนี้จะเสนอหลักฐานว่า ที่ผ่านมา จีนควบคุมเขื่อนของตนในทิศทางที่มุ่งผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายไปยังมณฑลต่างๆให้มากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ

จีนปราม ‘ภายนอกแทรกแซง’

นักสังเกตการณ์คาดว่า จีนอาจปฏิเสธความถูกต้องของข้อมูลจากโครงการนี้แบบเดียวกับที่เคยทำมาแล้ว และจีนคงไม่ยอมรับบทบาทของประเทศนอกภูมิภาคที่ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการระหว่างจีนกับชาติอุษาคเนย์

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม รายงานของสถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนจีน หน่วยงานในความสนับสนุนของรัฐบาล วิจารณ์รายงานของ Eyes on Earth ที่ระบุว่า ในปี 2019 จีนกักเก็บน้ำในขณะที่ประเทศอื่นเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง

สถาบันแห่งนี้บอกว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำล้างช้างก่อให้เกิดคุณูปการต่อเพื่อนบ้านแม่น้ำโขงอย่างชัดเจน น้ำที่กักเก็บไว้ในฤดูน้ำหลากช่วยไม่ให้เกิดน้ำท่วมในประเทศท้ายน้ำ และช่วยให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน หวังเหวินปิน พูดถึงโครงการดังกล่าวของสหรัฐฯ ว่า ในระยะหลัง จีนกับประเทศลุ่มน้ำโขงได้ก้าวข้าม “เสียงโหวกเหวกและการแทรกแซง” จากภายนอกไปแล้ว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ จีนพร้อมรับฟังคำแนะนำที่สร้างสรรค์ แต่ไม่ยอมรับ “การยั่วยุที่มุ่งร้าย”

สมรภูมิข้อมูลข่าวสาร

ประเทศลุ่มน้ำโขงดูจะคุ้นเคยกับเกมแบบนี้ ประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชีย วันฤทธิ์ เชียง หน่วยงานคลังสมองในกรุงพนมเปญ บอกว่า การแบ่งปันข้อมูลและความโปร่งใสจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูล แต่ทุกฝ่ายต้องไม่เอาข้อมูลมาปั่นกระแสในทางการเมือง

นักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ บอกว่า โครงการดังกล่าวตอกย้ำการขับเคี่ยวของสหรัฐฯต่อจีนในลุ่มน้ำโขง การประชันจะขยายวงจากทะเลจีนใต้ขึ้นมาบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประเทศแถบนี้ขานรับสหรัฐฯ ไม่เพียงเพราะจีนถือแต้มต่อในฐานะประเทศต้นน้ำ หากยังเพราะแคลงใจในข้อมูลของฝ่ายจีนด้วย

 

อ้างอิง

Reuters, 14 December 2020

Diplomat, 14 December 2020

South China Morning Post, 16 December 2020

 

Tags: