ถึงเวลาเสียทีสำหรับการลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สำหรับบางคนอาจแสนสั้น หลายคนอาจรู้สึกว่านานมากกว่าวันนี้จะมาถึง แม้เขายืนยันหนักแน่นไม่ยอมนั่งรถร่วมกับประธานาธิบดีคนใหม่ไปยังสถานที่จัดงาน ไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตน และยืนยันว่าตัวเองถูกโกงเลือกตั้ง แต่ทรัมป์ก็ไม่สามารถฝืนรัฐธรรมนูญไปได้มากกว่านี้ หลังวันที่ 20 มกราคมผ่านพ้นไป เขาจะกลายเป็นเพียงอดีตผู้นำชาติมหาอำนาจเท่านั้น

หนึ่งในคำถามมากมายที่ยังถกเถียงจนถึงตอนนี้ นอกจากประเด็นการถอดถอนทรัมป์ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 ยังมีการถามถึงสวัสดิการที่จะมอบให้กับอดีตประธานาธิบดี หากทรัมป์ถูกถอดถอน แม้พ้นจากวาระไปแล้วจริงๆ ก็ถือว่ามีโอกาสสูงมากที่เขาจะถูกริบสวัสดิการคืนทั้งหมด

แล้วสวัสดิการที่มอบให้แก่อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ มีอะไรบ้าง?

 

เงินบำนาญตลอดชีพ ค่าใช้จ่ายช่วงเปลี่ยนผ่าน และเงินก้อนสำหรับกิจกรรมต่างๆ

เงินบำนาญกับอาชีพข้าราชการเป็นของคู่กัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ถือเป็นพนักงานข้าราชการ เว็บไซต์ Business Insider เคยเขียนบทความเกี่ยวกับค่าตอบแทนของประธานาธิบดีเอาไว้เมื่อปี 2019 โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้เงินเดือนรวม 4 แสนดอลลาร์ฯ ต่อปี (ประมาณ 12 ล้านบาท) ร่วมกับงบประมาณด้านการเดินทาง 1 แสนดอลลาร์ฯ (3 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวน้อยมากสำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ชายที่มีเงินในบัญชีกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 9 หมื่นล้านบาท จนเขาเคยยื่นข้อเสนอว่าจะรับเงินรายปีเพียงแค่ 1 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธ

หลังผ่านร่างกฎหมายอดีตประธานาธิบดี (Former President Act) ในปี 1958 ที่ระบุถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์หลังลงจากตำแหน่ง อดีตประธานาธิบดีจะได้รับเงินปีเริ่มต้นที่ 25,000 ดอลลาร์ฯ (ในสมัยนั้น) ก่อนขยับขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัยและค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นทุกปี ในปี 2017 อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ได้รับเงินบำนาญปีละ 207,800 ดอลลาร์ฯ (ประมาณ 6 ล้านบาท)

ปัจจุบัน เงินปีของอดีตประธานาธิบดียังไม่แน่นอน เว็บไซต์สำนักงานบริหารบุคคลสหรัฐอเมริกา (U.S. Office of Personnel Management) และรายงานจากสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะแห่งสภาคองเกรส (Congressional Research Service) ระบุตัวเลขตรงกันว่า อดีตผู้นำสหรัฐฯ จะได้รับเงินปีเท่าอัตราค่าจ้างข้าราชการระดับสูง (เทียบเท่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) อยู่ที่ 219,200 ดอลลาร์ฯ (ราว 6.6 ล้านบาท) ส่วนเว็บไซต์สหภาพผู้เสียภาษีแห่งชาติ (National Taxpayers Union Foundation) ระบุเงินรายปีของอดีตผู้นำไว้ที่ 221,400 ดอลลาร์ฯ ซึ่งตัวเลขทั้งสองไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่นัก

นอกจากเงินปี อดีตผู้นำและพนักงานไม่เกิน 2 คน จะได้รับเงินสนับสนุนด้านการเดินทางและท่องเที่ยวจากรัฐบาล และยังมีเงินสนับสนุนเพิ่มเติมแก่อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอีก 5 หมื่นดอลลาร์ฯ (ราว 1.5 ล้านบาท)

อดีตประธานาธิบดีสามารถเลือกทำเลได้ทุกรัฐเพื่อตั้งสำนักงานของตัวเอง โดยกรมบัญชีกลาง (General Services Administration) หรือ GSA จะรับหน้าที่จัดหาเงินทุกการตั้งออฟฟิศครอบคลุม 7 เดือนช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเริ่มนับตั้งแต่ 30 วันก่อนครบวาระ

แม้เงินที่ได้อาจไม่มากไม่น้อย ทว่าอดีตผู้นำสหรัฐฯ หลายครอบครัวกลับประสบปัญหาหนี้สินหลังลงจากตำแหน่ง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เขียนหนังสือกึ่งชีวประวัติชื่อ Hard Choices บางส่วนของเนื้อหาเล่าถึงการค้างค่าใช้จ่ายสมัยที่ บิล คลินตัน (Bill Clinton) ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศและอาศัยอยู่ในทำเนียบขาว

หลัง บิล คลินตัน พ้นวาระ ทำเนียบขาวส่งใบแจ้งหนี้ย้อนหลัง 12 ล้านดอลลาร์ฯ มาให้ครอบครัวคลินตัน ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ครอบคลุมโดยรัฐบาล อาทิ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ค่าอาหารทุกมื้อ ค่าจัดงานเลี้ยงส่วนตัว และค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากดีไซเนอร์ชื่อดัง ที่ทุกอย่างจะต้องใช้ของราคาสูงให้สมกับฐานะ ‘หมายเลขหนึ่ง’

เงินภาษีถูกใช้อำนวยความสะดวกในงานเลี้ยงที่สำคัญและส่งผลต่อประเทศ แต่ไม่ได้รวมถึงค่าดูแลเรื่องส่วนตัวของครอบครัวผู้นำ ครอบครัวคลินตันจึงมีรายจ่ายจำนวนมากระหว่างที่อยู่ในทำเนียบขาว และต้องหาเงิน 12 ล้านดอลลาร์ฯ มา ทั้งคู่จึงต้องเดินสายออกงานสังคม ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ และเขียนหนังสือขาย โชคที่พวกเขาสามารถหาเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนได้ในเวลาอันสั้น

คำบอกเล่าของ แนนซี เรแกน (Nancy Reagan) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เคยพูดขำๆ เชิงบ่นว่า “ไม่เคยมีใครบอกมาก่อนว่าครอบครัวประธานาธิบดีจะต้องจ่ายค่าข้าวทุกมื้อ ตั้งแต่ค่ายาสีฟันจนถึงค่าซักอบรีด” ส่งผลให้ชาวอเมริกันวิพากษ์วิจารณ์ว่านางเรแกนจะไม่ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินสักแดงเดียวเลยหรืออย่างไร

การรับเงินบำนาญที่น้อยกว่าค่าจ้างปกติกว่าครึ่ง ทำให้ประธานาธิบดีหมดวาระหลายคนต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ทั้งเล่นหุ้น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หารายได้หลายช่องทาง เพื่อให้วิถีชีวิตตัวเองสอดคล้องกับจำนวนเงินที่ลดลง แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้นำอาจไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเท่าไหร่นัก

สวัสดิการด้านสุขภาพ

อดีตประธานาธิบดี อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง และบุตรที่อายุไม่เกิน 16 ปี สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากอดีตประธานาธิบดีท่านใดทำงานให้กับรัฐบาลเกิน 5 ปี จะมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลเครือรัฐได้แบบอัตโนมัติ ผลประโยชน์ส่วนดังกล่าวจะมอบแก่อดีตผู้นำที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัย

สวัสดิการการรักษาพยาบาลยังครอบคลุมถึงอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่เป็นหม้าย กรณีอดีตผู้นำเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

 

หน่วยอารักขาส่วนตัวตลอดชีพ

แรกเริ่มเดิมทีหน่วยรักษาความปลอดภัยแก่อดีตประธานาธิบดี หรือ Secret Service จะมีระยะเวลาแค่ 10 ปี ทว่าในปี 2013 ประธานาธิบดีโอบาม่าแก้กฎหมายส่วนนี้ใหม่เป็นได้รับสวัสดิการหน่วยอารักขาส่วนตัวตลอดชีพ หน่วย Secret Service จะทำหน้าที่ครอบคลุมหลายอย่าง อาทิ สอดส่องความเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัย ไปจนถึงเปิด-ปิด ประตูรถ หรือขับรถให้อดีตประธานาธิบดี

นอกจากนี้ หน่วยรักษาความปลอดภัยจำเป็นต้องขับรถให้อดีตผู้นำ เนื่องจากกฎหมายด้านความปลอดภัยระบุไว้ชัดเจนว่า ประธานาธิบดีและอดีตประธานาธิบดีไม่สามารถขับรถบนท้องถนนได้ แต่ถึงอย่างนั้นกฎหมายยังพอเปิดช่องว่างให้กับอดีตผู้นำที่ชื่นชอบการขับขี่ สำนักข่าวต่างประเทศเคยตีข่าวว่าอดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 โรนัลด์ เรแกน และ อดีตประธานาธิบดีคนที่ 43 จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ใช้เวลาหลังเกษียณขับรถเล่นอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองอยู่บ่อยๆ

พิธีศพอย่างสมเกียรติ

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ผู้นำสหรัฐฯ ทุกคนต้องเคยวางแผนจัดงานศพของตัวเอง ตำแหน่งผู้นำประเทศถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญ อยู่ในสายตาชาวโลกทั้งมิตรและศัตรู ทำเนียบขาวจึงจำเป็นต้องวางแผนทุกอย่างเกี่ยวกับประธานาธิบดี รวมถึงแผนพิธีศพล่วงหน้า

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถขอให้กองทัพยิงสลุตหรือนำฝูงบินขึ้นฟ้าในงานศพ เลือกว่าจะจัดเป็นงานเล็กๆ ในครอบครัวและคนใกล้ชิด หรืองานใหญ่ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเลือกว่าจะฝังตัวเองไว้ที่สุสานของตระกูลหรือสุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน (Arlington National Cemetery) พร้อมกับลงธงครึ่งเสาทั่วประเทศ 30 วัน ได้ นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวของอดีตประธานาธิบดีจะได้รับการจัดงานอย่างสมเกียรติเช่นกัน

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังไม่เคยเกิดกรณีอดีตผู้นำถูกฟ้องร้อง หรือผู้นำที่ศาลยืนยันว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา ร่างกฎหมายอดีตประธานาธิบดีปี 1958 ระบุไว้ว่า ประธานาธิบดีที่ถูกปลดหรือผ่านกระบวนการฟ้องร้อง จะไม่มีสิทธิรับเงินบำนาญและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ทว่านักวิชาการบางส่วนคิดว่ากฎหมายอาจเปลี่ยนได้ เหมือนครั้งที่ประธานาธิบดีโอบามาเปลี่ยนสวัสดิการหน่วยรักษาความปลอดภัยจาก 10 ปี เป็นตลอดชีวิต

กรณีการยื่นเรื่องถอดถอนของสมาชิกสภาคองเกรส นำโดยประธานสภา แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) หลังเหตุการณ์จลาจลวันที่ 6 มกราคม 2021 ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ถูกยื่นถอดถอนถึงสองครั้ง และโลกคงต้องจับตาดูเรื่องครั้งนี้อย่างใกล้ชิด หากสภาคองเกรสสามารถถอดถอนทรัมป์ได้จริงๆ สิทธิประโยชน์ที่เขาจะได้รับในฐานะอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจถูกริบคืนทั้งหมดก็เป็นได้

 

อ้างอิง

www.pionline.com/washington/could-impeachment-cost-trump-his-pension

www.opm.gov/policy-data-oversight/pay-leave/salaries-wages/salary-tables/20Tables/exec/html/EX.aspx

www.ntu.org/foundation/tax-page/pensions-and-perks-for-former-presidents-archive

www.theguardian.com/money/us-money-blog/2014/nov/28/obama-bill-white-house-thanksgiving

www.marketwatch.com/story/what-could-trump-lose-by-being-impeached-and-removed-a-lot-11610569056  

www.businessinsider.com/financial-perks-president-of-the-united-states-2018-7#the-president-also-has-access-to-a-country-home-in-maryland-9

https://edition.cnn.com/2014/06/10/politics/pol-hillary-clinton-interview/index.html

Tags: , , , , , ,