ในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ประท้วงฝรั่งเศสกว่า 287,000 คน ได้ออกมาชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อราคาน้ำมันที่ได้เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่กำลังซื้อกลับลดลง โดยผู้ประท้วงได้ออกมาปิดขวางถนน ทางด่วน สี่แยกวงเวียนตามท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในบางแห่งผู้ประท้วงได้เข้ายึดคลังเก็บน้ำมันอีกด้วย

ผู้ที่ออกมาชุมนุมประกอบไปด้วยผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองและในเขตชนบท ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะส่วนตัวในการคมนาคมเพราะในพื้นที่ดังกล่าวนั้นระบบขนส่งสาธารณะเข้าไปไม่ถึง เช่น พื้นที่แถบชานเมือง หรือในแถบเทือกเขาสูง เป็นต้น การปิดเส้นทางต่างๆ รวมถึงคลังน้ำมัน ส่งผลให้ร้านค้าและปั๊มน้ำมันบางแห่งจำเป็นต้องปิดตัวชั่วคราว ผู้คนที่เดินทางโดยรถยนต์ต้องเลื่อนการเดินทางออกไป

ชีเล่ท์ โชน คนเสื้อกั๊กเหลือง

ที่มาภาพ: NICOLAS TUCAT / AFP

ผู้ที่ออกมาชุมนุมประท้วงได้ถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่ม “Gilets jaunes” (ชีเล่ท์ โชน) หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่ากลุ่ม “เสื้อกั๊กสีเหลือง” โดยชื่อเล่นนี้มีต้นกำเนิดจาก การที่ผู้ชุมนุมนั้นต่างใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงสีเหลือง ซึ่งเป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันในฝรั่งเศสจำเป็นต้องมีติดไว้ในยามฉุกเฉิน ผู้ขับรถยนต์จะสวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือตอนที่เครื่องยนต์ขัดข้องและจำเป็นต้องจอดรถขีดขวางเส้นทาง ด้วยเหตุนี้เองผู้ประท้วงจึงใส่เสื้อกั๊กดังกล่าวเพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่า “ขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสขัดข้อง” ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าใครเป็นผู้นำในการออกมาชุมนุม เนื่องจากผู้ประท้วงได้ใช้สื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก เพื่อนัดพบและจัดการประท้วง ซึ่งกระจัดกระจายทั่วประเทศฝรั่งเศส

โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตา เพื่อเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดทางเข้าอุโมงค์ Mont-Blanc ที่เชื่อมไปยังประเทศอิตาลี การชุมนุมประท้วงได้เผชิญกับความตึงเครียด และในบางแห่งได้ทวีความรุนแรง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิการยน ได้มีผู้บาดเจ็บกว่า 553 คน และผู้เสียชีวิต 2 คนซึ่งพยายามขวางรถที่ขับผ่านขบวนของกลุ่มผู้ประท้วง เหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมได้เกิดขึ้นในแคว้นซาวัว (Savoie) และโดรม (Drôme) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่ตัวเลขของเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 95 คน

เกาะลา เรยูนีอง อัมพาตสาหัสจนต้องประกาศเคอร์ฟิว

สถานการณ์การประท้วงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเพียงฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ในยุโรป (Metropolitan France) เท่านั้น แต่ยังได้เกิดขึ้นในเกาะลา เรยูนีอง (La Réunion) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส โดยอยู่ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกของประเทศมาดากัสการ์ และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติและการศึกษาทางเศรษฐกิจแห่งชาติ Insee ของประเทศฝรั่งเศส ได้ระบุว่า 40%  ของจำนวนประชากรของเกาะลา เรยูนีอง เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน (Poverty line)

ที่มาภาพ: Richard BOUHET / AFP

สถานการณ์การประท้วงในเกาะลา เรยูนีอง ค่อนข้างเลวร้าย ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกาะลา เรยูนีองได้กลายเป็นอัมพาตจากการที่ผู้ชุมนุมได้ออกมาปิดเส้นทางสัญจร และนอกจากนี้สนามบินนานาชาติ Roland-Garros จำเป็นต้องปิดให้บริการหลัง 16 นาฬิกาเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุม และหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้และการปล้นขโมยทรัพย์สินในร้านค้า

เหตุการณ์ที่รุนแรงและตึงเครียดทำให้พื้นที่เกือบครึ่งในเกาะลา เรยูนีอง ถูกประกาศในเป็นพื้นที่เคอร์ฟิว

รัฐบาลชี้แจง น้ำมันขึ้นตามราคาตลาด

ด้านรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงเรื่องราคาน้ำที่สูงขึ้นว่า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำในประเทศส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดที่สูงขึ้น นายสตานิสลาส เกรีนี (Stanislas Guerini) ส.ส. พรรค LREM (La République en Marche – ลา เรพุบลิก ออง มาร์ช) ของประธานธิบดีมาครอง (Macron) กล่าวว่า “80% ของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาด สำหรับราคาน้ำดีเซลที่เพิ่มขึ้นมา 30 เซ็นต์ มีเพียงแค่ 7.6 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นส่วนของภาษีน้ำมัน”

ทั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน ระหว่างการเยือนประเทศเบลเยียม ประธานาธิบดีมาครองได้ออกมาแสดงความตั้งใจที่จะพูดคุยหารือกับกลุ่มผู้ประท้วง โดยประธานาธิบดีมาครองเห็นว่าการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจาก “สิ่งต่างๆ ไม่สามารถทำได้ทันที” โดยการเปลี่ยนเเปลงวิถีชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม “จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงความเคยชินส่วนตัว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย”

นอกจากนี้ ระหว่างการพบปะชุมชนฝรั่งเศสในเบลเยียม ประธานาธิบดีมาครองได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประท้วงอีกครั้ง พร้อมกับเหน็บแนม ว่า “พวกเราอยู่ในประเทศที่คัดค้านไปทุกเรื่อง ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ทว่ารู้จักรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งเมื่อมีโปรเจกต์ที่ใหญ่เกินตัวเข้ามา ที่มาพร้อมกับความหมายทางประวัติศาสตร์”

นัยยะที่ลึกซึ้งกว่าราคาน้ำมันแพง

โดยรวมแล้ว แม้ว่าการประท้วงของกลุ่ม Gilets jaunes ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงแค่การแสดงความไม่พอใจในหมู่ผู้ที่ใช้รถยนต์ โดยมีต้นตอหลักมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและนโยบายการขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาลมาครองที่จะมีผลบังคับใช้ในต้นปี ค.ศ. 2019 ทว่าเมืองมองดูลึกๆ แล้ว การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าท่าทีของรัฐบาลมาครองคำนึงเพียงแค่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยมองข้ามคนชนชั้นกลางระดับล่างและคนชนชั้นแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจำเป็นต้องตื่นเช้าและทำงานไกลบ้านโดยมีรถยนต์เป็นพาหนะหลัก รวมถึงมีรายได้ที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของภาษีน้ำมัน ได้กลายเป็นข่าวร้ายสำหรับคนชนชั้นดังกล่าวที่จะต้องแบกรับภาระภาษีซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มาภาพ: PHILIPPE DESMAZES / AFP

ทั้งนี้การประท้วงของกลุ่ม Gilets jaunes ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้งโดยชนชั้นนำ ในหมู่คนฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในเมือง และความรู้สึกน้อยใจต่อผู้นำรัฐบาลที่มองประเทศฝรั่งเศสเป็นเพียงแค่ประเทศที่ประกอบด้วยเมืองใหญ่ๆ ไม่กี่เมือง เช่น ปารีส มาร์กเซย และลียง ซึ่งมีระบบขนส่งสาธารณะที่ค่อนข้างพร้อมและทั่วถึง โดยมองข้ามพื้นที่ห่างไกลและจังหวัดโพ้นทะเล เช่น เกาะลา เรยูนีอง เป็นต้น

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ท้าท้ายสำหรับรัฐบาลมาครองนั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารและการสร้างนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศฝรั่งเศส ทว่าการรวมศูนย์อำนาจการบริหารของประเทศของฝรั่งเศสที่เป็นแบบจากบนลงล่างตั้งแต่สมัยนโปเลียน โดยมีข้าราชการและนักวิชาชีพระดับสูง (Technocrats) ในปารีสเป็นศูนย์กลาง ได้ทำให้ระบบการปกครองของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ไม่อาจจะตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม

 

ที่มาภาพหน้าแรก: CHARLY TRIBALLEAU / AFP

ที่มา:

Tags: , , ,