หลังจากที่กลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง หรือกลุ่มชีเล่ท์ โชน (Gilet Jaune) ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลฝรั่งเศสตามสถานที่ต่างๆ ในปารีส เพียงหนึ่งวัน (ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการชุมนุมครั้งที่ 11 นับตั้งแต่กลุ่ม ชีเล่ท์ โชน ออกมาประท้วง) ในฝั่งตรงข้ามนั้น ผู้คนกว่า 10,500 คน แต่ละคนมาพร้อมกับผ้าพันคอสีแดง ได้ออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสปลาส เดอ ลา นาซิอง (Place de la Nation) ก่อนที่จะมุ่งหน้า เดินขบวนต่อไปยังจัตุรัสปลาส เดอ ลา บาสตีล (Place de la Bastille) ในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา และชูป้าย “หยุดใช้ความรุนแรง” “เอาประชาธิปไตย ; ไม่เอาปฏิวัติ!”

ผู้ชุมนุม ที่ต่างพร้อมใจกันผูกผ้าพันคอสีแดง เรียกตนเองว่า กลุ่มฟูลาร์ รูจ (Foulard Rouge) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง ผ้าพันคอสีแดง ทั้งนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมผู้ชุมนุมถึงเลือกใช้ ผ้าพันคอสีแดง เป็นสัญลักษณ์ ทว่ากลุ่ม Foulard Rouge ดังกล่าว ต่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน คือ ปกป้องประชาธิปไตยและสถาบันการเมือง รวมทั้งประกาศจุดยืน ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ระหว่างการประท้วงของกลุ่ม Gilet Jaune

โลรอง ซูลิเอ่ (Laurent Soulié) วิศวกรจากเมืองตูลูส หนึ่งในผู้นำของกลุ่มฟูลาร์ รูจ ให้สัมภาษณ์ว่า “ความโกรธแค้นได้แผ่ขยายออกไป แม้ว่าการเรียกร้อง (ของกลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง) นั้นชอบธรรม แต่เราประณามรูปแบบการเรียกร้องดังกล่าว ความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ความเกลียดชังที่มีต่อผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งและนักข่าว ในวันนี้ เราไม่ได้อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวและคัดค้านทางสังคมอีกต่อไป”

ผู้เข้าร่วมเดินขบวนกับฟูลาร์ รูจ จำนวนมาก เห็นด้วยกับกลุ่มชีเล่ท์ โชน ที่ออกมาประท้วง เกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ทว่าหลายเสียงยังคงต่อต้านการออกมาปิดถนน ซึ่งส่งผลให้ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถไปทำงานได้ ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิเสธสถาบันของกลุ่มชีเล่ท์ โชน ทำให้ผู้สนับสนุน ฟูลาร์ รูจ บางคน เห็นว่ากลุ่มเสื้อกั๊กสีเหลือง ได้กลายเป็นกลุ่มอนาธิปไตยที่ต่อต้านรัฐ และไม่ยอมรับระบอบสาธารณรัฐ (Republic) ของประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มฟูลาร์ รูจ จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่ได้มีเจตนาต่อต้านกลุ่มชีเล่ท์ โชน พร้อมกับประกาศว่า ตนเองนั้นไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดี มาครง แต่อย่างใด ทว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมกับฟูลาร์ รูจ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับท่าทีของประธานาธิบดีมาครง  

เซซีล (Cécile) นักออกแบบจัดสวน วัย 40 ปี กล่าวว่า “มาครง พูดถูกแล้วที่บอกว่า ถ้าจะมีงานทำ ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดแรงงาน” นอกจากนี้ คริสเตียน เบเรสเชล (Christiane Bereschel) ซึ่งปัจจุบันอายุ 70 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า “ดิฉันได้รับบำนาญ 1,700 ยูโร ต่อเดือน ส่วนสามีของดิฉันได้รับ 2,400 ต่อเดือน ดิฉันยอมรับว่า นโยบายของประธานาธิดีมาครงทำให้พวกเราต้องประหยัดมากขึ้น […] แต่ถ้าสิ่งนี้ทำให้อนาคตของลูกหลานดีขึ้น ดิฉันยอมประหยัด”

ทั้งนี้เมื่อกลุ่มฟูลาร์ รูจ  เดินมาถึงจัตุรัสปลาส เดอ ลา บาสตีล ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินขบวน ผู้สนับสนุนชีเล่ท์ โชน กว่า 30 คน กำลังยืนอยู่อีกฟากหนึ่งของจัตุรัส โดยมีการพูดจาตอบโต้ระหว่างผู้ชุมนุมจากสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลา “พวกนายทุน พวกปรสิต” เสียงหนึ่งดังขึ้นจากทางกลุ่มชีเล่ท์ โชน  “รถ Rolls-Royce ของพวกคุณอยู่ไหน ? พวกเราอยากกินขนมปังบริยอช” แน่นอนว่าประโยค ดังกล่าวที่มาจากกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง มีต้นตอมาจากวลี “ถ้าไม่มีขนมปัง ก็กินบริยอชแทนสิ” ซึ่งเชื่อกันว่า พระนางมารี อองตัวแน็ต (Marie Antoinette) เคยกล่าวไว้ ในช่วงภาวะข้าวยากหมากแพง ก่อนที่จะมีการปฏิวัติฝรั่งเศส

โดยทางฝ่ายฟูลาร์ รูจ จึงสวนกลับไปว่า “พวกเสื้อกั๊กเหลืองไปทำงานไป !”

แม้ว่าก่อนหน้านี้ หลายคนให้ความเห็นว่าอาจมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ทว่าสถานการณ์การชุมนุมในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ดำเนินไปอย่างสงบ ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ

ในขณะเดียวกัน ทางด้านรัฐบาลฝรั่งเศสกำลังมองหาทางออก กรณี ‘วิกฤตการณ์ เสื้อกั๊กสีเหลือง’ ผ่านการจัดการโต้วาทีทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 มกราคม จนไปถึงเดือนมีนาคม 2019 อย่างไรก็ดี ทุกคนยังคงติดตามกันต่อไปว่ากิจกรรมดังกล่าว จะสามารถทำให้กลุ่มชีเล่ท์ โชน พอใจ และประกาศหยุดการชุมนุมอย่างถาวรได้หรือไม่

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Benoit Tessier

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,