ย้อนกลับไปปี 2012 คะแนนรวมที่โหวตให้ผู้แทนจากพรรคเดโมแครตมากกว่าพรรครีพับลิกันราว 1.1 ล้านเสียง แต่พรรครีพับลิกันกลับมีที่นั่งในสภามากกว่าเดโมแครตถึง 33 ที่นั่ง

ปี 2016 ฮิลลารี คลินตัน ผู้เข้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต กวาดคะแนนเสียงมากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันร่วม 2.9 ล้านคะแนนเสียง แต่เมื่อตัดสินตามกลไกโดยแปลงคะแนนเป็นผลโหวตรวมของแต่ละรัฐ ฮิลลารีกลับพ่ายแพ้อย่างถล่มทลาย

เบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้ผลโหวตพลิกผันจนน่าฉงน เกิดจากกลไกขีดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้ง หรือ เจอร์รีแมนเดอริง (Gerrymandering) ที่คริส แจนโควสกี (Chris Jankowski) ที่ปรึกษาและนักกลยุทธ์ของพรรครีพับลิกันใช้ประโยชน์จากช่องว่างของกลไกดังกล่าวผนวกกับข้อมูลขนาดใหญ่เชิงประชากรศาสตร์ จัดการขีดเส้นเขตการเลือกตั้งใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่รีพับลิกันในชื่อโครงการ REDMAP จนอเมริกันชนหลายคนมองว่าประชาธิปไตยในโลกเสรีกำลังถูกแฮ็ค

การขีดเส้นเขตการเลือกตั้งใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่รีพับลิกันในชื่อโครงการ REDMAP ทำให้อเมริกันชนหลายคนมองว่าประชาธิปไตยในโลกเสรีกำลังถูกแฮ็ค

การกำหนดเขตเลือกตั้งนั้นมีมาอย่างยาวนาน ชื่อ ‘เจอร์รีแมนเดอริง’ มีจุดกำเนิดมาจากการที่ เอลบริดจ์ เกอร์รี (Elbridge Gerry) ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ได้ออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนสมาชิกพรรคตั้งแต่ปี 1812 และมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้นำเรื่องดังกล่าวไปวาดการ์ตูนล้อเลียนหน้าตาของแผนที่ที่ถูกแบ่งใหม่นั้นเหมือนกับซาลาแมนเดอร์โดยพาดหัวว่า Gerry-mander ซึ่งกลายเป็นคำฮิตติดปาก และถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน

จุดประสงค์ของการวาดเขตเลือกตั้งใหม่มีเป้าหมายคือการแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 435 เขตที่มีประชากรเท่าๆ กันโดยอ้างอิงจากข้อมูลสำมะโนรอบทศวรรษ เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะ ‘เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ’

อย่างไรก็ดี มีการใช้การแบ่งเขตดังกล่าวเป็นเครื่องมือเพื่อให้มั่นใจว่าพรรคตนเองจะได้รับเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยอาจจะเป็นการแบ่งที่พรรคนั้นเป็นผู้กำหนดเพียงลำพัง (Partisan Gerrymandering) บางครั้งอาจเป็นเรื่องที่สองพรรคใหญ่ตัดสินใจแบ่งเค้กแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์อื่นๆ (Bipartisan Gerrymandering) รวมถึงการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ประชากรส่วนน้อย เช่น กลุ่มคนผิวสี โดยรัฐส่วนใหญ่จะมอบอำนาจการขีดเส้นดังกล่าวให้กับสภานิติบัญญัติรัฐ (State Legislature)

แต่แค่ขีดเส้นใหม่ จะไปมีผลอะไรกับการเลือกตั้ง?

คำตอบคือมีผลแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยครับ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประชากรสมมติที่มีสองความคิดทางการเมือง แบ่งเป็นกลุ่มเสื้อฟ้า 60 เปอร์เซ็นต์และกลุ่มเสื้อแดง 40 เปอร์เซ็นต์ โดยจะต้องแบ่งประชากรทั้งหมดออกเป็น 5 เขตการเลือกตั้ง

แน่นอนว่าหากแบ่งกันทื่อๆ ซื่อๆ แบบรูปที่ 1 ผลการเลือกตั้งย่อมหนีไม่พ้นพรรคเสื้อฟ้ากวาดที่นั่งไปทั้งหมด 5 ที่ ชนะการเลือกตั้งไปแบบใสๆ แต่หากขีดเส้นให้ฉวัดเฉวียนเวียนหัวแบบภาพที่ 3 ผลการเลือกตั้งกลับพลิกเป็นพรรคเสื้อแดงได้ไป 3 ที่นั่ง ส่วนพรรคเสื้อฟ้าได้เพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่ประชากรที่พึงพอใจพรรคเสื้อฟ้ามีมากกว่าพรรคเสื้อแดงตั้งเยอะ

เทคนิคการขีดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้งมี 2 รูปแบบคือ กระจุก (Packing) และกระจาย (Cracking) เพราะจุดบอดหนึ่งของประชาธิปไตยคือการตัดสินผู้ชนะจากเสียงส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงว่า ไม่ว่าเสียงที่ได้จะเป็น 51 เปอร์เซ็นต์หรือ 99 เปอร์เซ็นต์ก็มีค่าเท่ากับหนึ่งที่นั่งเท่ากัน การขีดเส้นใหม่ตามรูปที่ 3 จะกวาดกลุ่มประชาชนเสื้อฟ้าให้ไปกระจุกอยู่ใน 2 เขตเลือกตั้ง และกระจายประชากรที่เหลือให้กลายเป็นเสียงส่วนน้อยในอีก 3 เขตการเลือกตั้ง จนทำให้พรรคเสื้อแดงพลิกมาชนะได้ราวกับเล่นกล

เทคนิคการขีดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้งมี 2 รูปแบบคือ กระจุก (Packing) และกระจาย (Cracking) เพราะจุดบอดหนึ่งของประชาธิปไตยคือการตัดสินผู้ชนะจากเสียงส่วนใหญ่

สหรัฐอเมริกาเตรียมการสำมะโนก่อนขีดเส้นเขตการเลือกตั้งใหม่ในปี 2010 ก่อนหน้านั้น 2 ปี คริส แจนโควสกีมองเห็นโอกาสกำชัยในการเลือกตั้งทั่วไปผ่านสภานิติบัญญัติรัฐ โดยริเริ่มโครงการชิงเสียงส่วนใหญ่ในการขีดเส้นเขตการเลือกตั้ง (REDistricting MAjority Project หรือ REDMAP)

แม้ว่าการขีดเส้นเขตการเลือกตั้งเพื่ออำนวยประโยชน์ให้เพื่อนร่วมพรรคการเมืองจะมีมาทุกยุคทุกสมัยและไม่เว้นพรรคการเมืองใด แต่น้อยคนที่จะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติรัฐ และมักทุ่มเม็ดเงินมหาศาลไปกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลหนึ่งก็คือ จำนวนเก้าอี้ของสภานิติบัญญัติรัฐมีทั้งหมดถึง 7,383 ที่นั่ง และการหาเสียงมักโฟกัสที่เรื่องท้องถิ่นมากๆ

คริสขายไอเดียให้แก่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน และระดมเงินได้ทั้งหมด 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นเศษสตางค์มากหากเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ก้าวแรกของ REDMAP คือการวิเคราะห์ว่ารัฐไหนบ้างที่รีพับลิกันยังเสียเปรียบ และพิจารณาว่าแต่ละรัฐควรจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ เมื่อได้รัฐเป้าหมายแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการ ‘ขุด’ ประเด็นท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ในการหาเสียง

รัฐเคนทักกี – ทีมงานหยิบคลิปเสียงที่สมาชิกวุฒิสภาคนเก่ามาออกอากาศ โดยมีการเรียกประชาชนว่า ‘พวกบ้านนอก (rednecks)’

รัฐเพนซิลเวนีย – ทีมงานโหมโจมตีการใช้งบประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างห้องสมุดที่ประชาชนไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่

รัฐเมน – ทีมงานโจมตีสภาฯ ชุดปัจจุบันว่าใช้อำนาจยกเลิกการแสดงดอกไม้ไฟในวันชาติอเมริกา

ฯลฯ

ผลของโครงการดังกล่าวทำให้รีพับลิกันชิงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภานิติบัญญัติรัฐเพิ่มขึ้นถึง 11 แห่งในปี 2010 ในขณะนั้น อเมริกันชนต่างวิพากษ์วิจารณ์ผลการเลือกตั้งว่าเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวและความไม่นิยมในนโยบายอย่างโอบามาแคร์ แต่เบื้องลึกของผลการเลือกตั้งดังกล่าวมีที่มาจากโครงการ REDMAP ที่ทุ่มงบประมาณหาเสียงเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัวในบางรัฐ ผลการบังคับใช้เขตการเลือกตั้งใหม่ที่นำโดยพรรครีพับลิกันก็สะท้อนเป็นผลการเลือกตั้งที่น่าฉงนในระดับประเทศ 3 ปี และ 7 ปีให้หลัง

ประเด็นเจอร์รีแมนเดอริง ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง หลายคนคาดหวังว่าจะให้ศาลสูงสหรัฐฯ ออกกติกาไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งขีดเส้นเขตการเลือกตั้งตามใจตัวเองจนเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย อย่างไรก็ดี ราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศาลสูงสหรัฐฯ ก็ยังไม่ให้คำตัดสินที่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และปล่อยให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเรื่องคลุมเครือค้างคาต่อไปในระดับประเทศ แล้วมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับแต่ละรัฐ

ประเด็นเจอร์รีแมนเดอริง ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง หลายคนคาดหวังว่าจะให้ศาลสูงสหรัฐฯ ออกกติกาไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งขีดเส้นเขตการเลือกตั้งตามใจตัวเอง

ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์แผนที่ เช่น Maptitude นั้นทรงพลังอย่างมาก มันสามารถนำเข้าข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูล เช่น การสำมะโน หรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาใช้ในการวาดแผนที่ จึงน่ากังวลอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ คะแนนความนิยมจากประชาชนอาจมีความสำคัญอันดับ 2 แต่สิ่งแรกที่ทั้งสองพรรคการเมืองจะให้ความสนใจคือการวางแผนว่าจะวาดเขตการเลือกตั้งอย่างไรเพื่อให้ได้รับชัยชนะ

บางรัฐเช่นรัฐฟลอริดา ที่ศาลท้องถิ่นประกาศให้การกำหนดเขตเลือกตั้งเพื่อให้มั่นใจว่าพรรคตนเองจะได้รับเลือกตั้งใหม่อีกครั้งโดยพรรคนั้นเป็นผู้กำหนด (Partisan Gerrymandering) เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมอบหน้าที่ให้คณะทำงานอิสระเป็นผู้รับผิดชอบการวาดเขตเลือกตั้ง เดินสายรับฟังความคิดเห็นตามเมืองต่างๆ นำซอฟต์แวร์วาดแผนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเสนอเขตการเลือกตั้งเข้ามาอย่างเสรีโดยมีผู้ร่วมเสนอรวมทั้งสิ้นกว่า 200 แผนที่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกัน

คำถามต่อไปที่โลกเสรีต้องหาคำตอบคือ “การเลือกตั้งที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ” ในอุดมคตินั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร และเราจะต้องทำอะไรเพื่อเดินไปให้ถึงจุดนั้น

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , , , , , ,