1

สำหรับคนที่เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม การอ่านงานของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นับเป็นการเชือดเฉือนหัวใจอย่างยิ่งยวด  ด้วยสำนวนการเขียนที่จิกกัดได้อย่างเจ็บแสบ สะท้อนความดำมืดของสังคมการเมือง รัฐเผด็จการ และความเป็นอำนาจนิยมในมิติต่างๆ ออกมาได้อย่างเป็นสากล ออร์เวลล์ดูจะมีความเข้าอกเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในรูปแบบที่เหนือกาลเวลาราวกับเป็นผู้หยั่งรู้ 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นเจ้าพ่อแห่งงานเขียนเชิงอุปมานิทัศน์ (allegory) ที่ยอดเยี่ยม อาจเป็นความจริงที่ว่า ก่อนที่จะผันตัวมาจับปากกา เขาเคยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองแห่งการกดขี่มาก่อน ออร์เวลล์เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวยุโรปที่มีฐานะในประเทศอินเดียช่วงยุคจักรวรรดินิยม เมื่ออายุได้ 19 ปี เขาสมัครเข้าทำงานรับใช้จักรวรรดิอังกฤษ ในฐานะตำรวจหน่วย Indian Imperial Police นานถึงหกปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกเพื่อมาเป็นนักเขียนเต็มตัว 

ผลงานนิยายเล่มแรกของเขา พม่ารำลึก (Burmese Days) สะท้อนได้อย่างดีถึงอิทธิพลของการใช้ชีวิตในพม่าที่มีต่อออร์เวลล์ เพราะมันแสดงถึงความซับซ้อนของชีวิตที่โครงสร้างทางสังคมบ่มเพาะความเกลียดชัง ความกลัว และการกดขี่จากกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและอำนาจมืดได้อย่างน่าสนใจ

 

2

พม่ารำลึก เริ่มต้นขึ้นที่เมืองเจ้าท์ตะดา (Kyauktada) เมืองสมมติไกลปืนเที่ยงในพม่าช่วงทศวรรษที่ 1920  สมัยที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของบริติชราช (British Raj) ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ความรุ่งเรืองของจักรวรรดิเริ่มมอดแสง ชาวอังกฤษที่รู้สึกต่ำต้อยในแดนมาตุภูมิหลายคนเดินทางมายังพม่าเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่การใช้ชีวิตในดินแดนห่างไกลความเจริญ ที่ซึ่งผู้คนกินอาหารพิสดาร พูดภาษาที่ไม่เข้าใจ หน้าตาประหลาดและมีผิวสีเข้ม ช่างต่างจากความฟู่ฟ่าที่ใฝ่ฝันอยู่หลายขุม หลายคนใช้ชีวิตในแต่ละวันไปกับการดื่มเหล้า เล่นบิลเลียด ล่าสัตว์ ยึดติดอยู่ในคอมฟอร์ตโซนที่เรียกว่า สโมสรชาวยุโรป (The European Club) สถานที่แห่งนี้คือที่ยึดโยงทางจิตใจของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนขาวชาวยุโรปพลัดถิ่น หรือแม้แต่คนพื้นเมืองที่ทะเยอทะยาน เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดเรื่องราววุ่นวายมากมาย 

จอห์น ฟลอรี (John Flory) ตัวเอกของเรื่องมีความเป็น Anti-hero ตามสไตล์ของออร์เวลล์ เขาเป็นชายอายุสามสิบห้าที่ทำงานบริษัทค้าไม้สัก ลักษณะท่าทางดูซอมซ่อไม่มีอะไรโดดเด่นนอกจากปานรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวบนหน้า ซึ่งเขามองว่าเป็นปมด้อยที่น่าอับอาย ฟลอรีมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เข้ากับใครไม่ค่อยได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอาชีพการงานที่ทำให้เขาต้องเข้าป่าสามสัปดาห์ต่อเดือน อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคิดที่แตกต่างจาก ‘นายฝรั่ง’ ทั่วไป เขามีความเห็นอกเห็นใจคนพื้นเมือง ไม่ค่อยชอบพฤติกรรมเหยียดชนชาติของคนตะวันตกด้วยกันสักเท่าไหร่ แทบทุกคนในสโมสรชาวยุโรปดูถูกคนพม่า ซ้ำยังมีหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ปฏิบัติกับพวกเขาราวกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่ฟลอรีก็ไม่สามารถพูดอะไรได้มาก ได้แต่เก็บไว้ในใจ ไม่ก็คุยกับหมอวีรสวามี (Veraswami) สหายชาวอินเดียเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่ฟลอรีวิพากษ์วิจารณ์จักรวรรดิ กลับกลายเป็นว่าหมอวีรสวามีออกตัวปกป้องบริติชราชอยู่ร่ำไป สำหรับหมอวีรสวามี การได้เป็นเพื่อนกับชาวยุโรปคือพรอันประเสริฐที่สุด ความฝันของเขาคือการเป็นคนพื้นเมืองคนแรกที่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมสโมสรชาวยุโรป เพราะสิ่งนี้คืออภิสิทธิ์สูงสุดที่จะทำให้เข้าใช้ชีวิตที่ลอยตัวเหนือคำดูถูกของคนรอบข้าง 

แต่แน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่หมายตารางวัลชีวิตอันทรงเกียรตินี้ เพราะ อูโพจีง (U Po Khin) ข้าราชการชั้นผู้น้อยชาวพม่า ก็หวังอยากเป็นคนที่ได้รับการยอมรับเข้าสโมสรเช่นกัน และจะทำทุกวิถีทาง รวมถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ รวมถึงการทำให้ชีวิตของฟลอรีและหมอวีรสวามี ต้องประสบกับเรื่องราวมากมายที่แสนจะกระชากความรู้สึกคนอ่าน 

3

ออร์เวลล์ดำเนินเรื่องได้ชวนติดตาม ด้วยการจำลองวิถีชีวิตในเมืองเจ้าท์ตะดาราวกับเป็นจักรวรรดิขนาดย่อม ตัวละครต่างใช้ชีวิตหมุนรอบสโมสรชาวยุโรป อันเปรียบได้กับจักรวรรดิอังกฤษที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง ผ่านมุมมองของผู้บรรยาย (Narrator) เราได้พบกับตัวละครที่ซับซ้อนและหลากหลาย ประเด็นความเป็นจักรวรรดิถูกดึงออกมาวิพากษ์ แต่สิ่งที่สะดุดใจมากที่สุดตอนอ่านคือ มายาคติเรื่อง ‘ภาระของคนขาว’ (The White Man’s Burden) ซึ่งอ้างอิงจากบทกวีของ รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) อันว่าด้วยความชอบธรรมในการล่าอาณานิคม ซึ่งอ้างว่าทำไปเพื่อปลดปล่อยสังคมพื้นเมืองอันโสมม 

มายาคติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยึดโยงอัตลักษณ์ของชาวตะวันตกผู้พลัดถิ่น ในขณะเดียวกัน ตัวละครของอูโพจีงที่แสนชั่วร้ายดุจยาพิษต่อชาวพม่าด้วยกันเอง ก็ถูกสร้างมาเพื่อตอกย้ำสมมติฐานนั้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ฟลอรีกลับไม่สามารถยึดโยงกับมายาคตินั้นได้แบบคนขาวทั่วไป ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนพม่าได้ ความขัดแย้งในตัวเองของฟลอรีจึงเป็นอีกหนึ่งปมที่น่าสนใจ เพราะมันนำพามาซึ่งจุดจบแบบที่ทำเอาซึม จ่อมจมครุ่นคิดไปสามวัน ตามงานเขียนของออร์เวลล์ที่มักทำให้รู้สึกเช่นนั้น

4

เอ็มมา ลาร์กิ้น ผู้เขียนหนังสือ “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์” เดินทางตามรอยจอร์จ ออร์เวลไปทั่วเมียนมาร์เพื่อตกผลึกสภาพสังคมรัฐเผด็จการที่ยากต่อการเข้าใจ เธอกล่าวไว้ว่าวรรณกรรมชิ้นเอกของออร์เวล 3 เล่ม สามารถโยงเส้นเวลาที่สะท้อนถึงสภาวะทางสังคมการเมืองของเมียนมาได้เป็นอย่างดี หาก 1984 คือภาพสะท้อนของสังคมที่ถูกกดขี่ด้วยทรราชย์ในแบบที่อ่านแล้วเลือดในกายเย็นเฉียบ และ แอนิมอล ฟาร์ม (Animal Farm) คือเรื่องราวของการยึดอำนาจของเหล่าสัตว์ ที่ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลทหารที่ขับเคลื่อนประเทศสู่ความล่มสลาย พม่ารำลึก ก็คือการถ่ายทอดภาพจำของพม่าในแบบที่ออร์เวลรู้จัก ตีแผ่ด้านมืดของลัทธิจักรวรรดินิยม อันเปรียบเสมือนยาพิษที่กัดเซาะสังคมเมียนมาร์เป็นเวลายาวนานนับศตวรรษ 

พม่ารำลึก ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1934 และแม้จะผ่านมากว่า 87 ปีแล้ว เนื้อหาของมันยังคงจริงในบริบทปัจจุบัน ความย้อนแย้งในธรรมชาติของมนุษย์ผู้อยู่ใต้ความควบคุมของอำนาจยังคงเดิม แม้ความเป็นจักรวรรดินิยมอาจเสื่อมโทรมไป แต่ปีศาจตัวเดิมในชื่อใหม่ย่างก้าวเข้ามาแทนที่ 

ออร์เวลล์อาจจะยังไม่รู้ถึงชะตากรรมของพม่าที่เกิดขึ้นหลังจากเรื่องราวในหนังสือของเขาจบลง ทั้งเรื่องเผด็จการทหารและความเป็นอำนาจนิยม อันเป็นปัญหาที่ค้างคามาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเมียนมาเท่านั้น สังคมที่บิดเบี้ยวไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ที่เราพบเห็นผ่านมุมมองของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการเหยียดชนชาติ การคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์แบบไร้มนุษยธรรม ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ผู้กดขี่และคนชายขอบรู้สึกแปลกแยกและทรมาน ยังคงเป็นภัยร้ายที่กัดเซาะสังคมในหลายพื้นที่ทั่วโลก

Fact Box

พม่ารำลึก (Burmese Days) ผู้เขียน จอร์จ ออร์เวลล์, ผู้แปล บัญชา สุวรรณานนท์, สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น 

Tags: , , , , ,