สืบเนื่องจากกรณีพรรคก้าวไกลลงคะแนนเสียงขับ ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ส.ส.เขตจอมทอง ผลปรากฏว่า ส.ส.ส่วนใหญ่จำนวน 106 คน จาก 128 คน เห็นว่า ‘คุกคามทางเพศ’ จริง แต่ไม่ถูกขับออกจากพรรค เนื่องจากเสียงโหวตไม่ถึง 3 ใน 4 นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งข้อสงสัย ถึงสาเหตุที่ ส.ส.บางคนเลือกโหวตให้ขับ ส.ส.ปราจีนบุรีออกจากพรรค แต่กลับไม่ยอมขับไชยามพวานออกไปพร้อมกัน
ธิษะณา ชุณหะวัณ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 2 (ราชเทวี ปทุมวัน สาทร) คือหนึ่งในสมาชิกที่ออกมาเขียนสเตตัสให้การถึงสาเหตุที่ตน ‘มีความลังเลใจ’ ในตอนแรก แม้ในที่สุดเธอตัดสินใจยกมือขับไชยามพวานเช่นกัน หนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นคือประเด็นที่ว่า การพิสูจน์ว่าผู้เสียหายได้บอกยินยอมให้ Consent กับอีกฝ่ายหรือไม่ เป็นอะไรที่พิสูจน์ยาก
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ฝั่งไชยามพวานแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหา นอกจากนั้นยังอ้างถึงความสัมพันธ์อันดีกับผู้เสียหายและครอบครัว โดยใช้ ‘เสื้อสูท’ ที่ครอบครัวผู้เสียหายเลือกให้ต่างหลักฐานถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว
เห็นได้ชัดว่าข้อครหาหลักที่อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนรู้สึกเคลือบแคลง อีกทั้งผู้กระทำความรุนแรงเองอย่างไชยามพวาน ยังสามารถนำมาใช้ตอบโต้ผู้เสียหายได้ เป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ที่อนุมานเอาจาก ‘ความสัมพันธ์อันดี’ ที่ทั้งสองฝ่ายแสดงออกระหว่างกัน
ทั้งนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นนี้เช่นกัน โดยระบุว่า
“สำหรับผม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา (ไชยามพวาน) มีความผิดที่ชัดเจน คือการมีความสัมพันธ์กับทีมงานของตนเอง เพราะไม่ว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าดูเหมือนจะมีการยินยอมหรือไม่ แต่ในเมื่อทั้งสองอยู่ใน ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน’ ที่ฝ่ายหนึ่งสามารถให้คุณให้โทษอีกฝ่ายหนึ่งได้ในหน้าที่การงาน ดังนั้น จึงไม่สามารถถูกตีความได้ว่าเป็น ‘ความยินยอม’ ที่แท้จริง”
หากอ้างอิงตามนั้นก็แปลว่า ต่อให้สุดท้ายพรรคก้าวไกลพบหนทางที่จะพิสูจน์ว่าฝ่ายหญิงแสดงความยินยอมอย่างแน่ชัดแล้ว ก็ยังถือว่าไชยามพวานควรได้รับโทษขับจากพรรค ฐานใช้อำนาจในทางที่ผิด (Power Abuse) อยู่ดี
นอกจากนี้ ยังหมายความว่า ความรักระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ที่ถูกวาดภาพหวานให้ได้เห็นกันในสื่อภาพยนตร์และซีรีส์อยู่บ่อยๆ ล้วนมีด้านมืดที่เราไม่คาดคิด ซ่อนอยู่เบื้องหลังฉากหน้าสีลูกกวาดดาษดื่นของของคำเรียกที่ดูโรแมนติกว่า ‘Office Romance’
‘Power Imbalance’ คืออะไร? เหตุใดอ้างเพียง ‘Consent’ อย่างเดียวจึงฟังไม่ขึ้น?
แน่นอนว่า พริษฐ์และ ส.ส.ก้าวไกลส่วนหนึ่งที่เห็นตรงกัน ไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่มีจุดยืนเช่นนี้ต่อการคบหากันในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้า-ลูกน้อง
กลับกันเสียด้วยซ้ำ ภายหลังจากการเกิดมูฟเมนต์ #MeToo เป็นต้นมา องค์กร บริษัท และหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกเริ่มปรับตัว จัดลำดับให้เรื่องชู้สาวในที่ทำงานเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องสอบสวนใกล้ชิด
ตัวอย่างเช่น กรณีของ สตีฟ อีสเตอร์บรูก (Steve Easterbrook) อดีต CEO ของแมคโดนัลด์ที่ถูกคณะกรรมการยื่นหนังสือให้ก้าวลงจากตำแหน่งและประกาศแยกทางกับเขา ไม่นานหลังจากสืบทราบว่าเขามีสัมพันธ์กับพนักงานในบริษัท แม้จะได้รับการยืนยันว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย หรือความจริงที่ว่าพนักงานคนดังกล่าวยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอีสเตอร์บรูกโดยตรงก็ตาม
หรือในแวดวงการเมืองอเมริกัน ก็เคยเกิดเรื่องราวคล้ายกัน นั่นคือกรณี เคที ฮิลล์ (Katie Hill) ส.ส.พรรคเดโมแครต จำเป็นต้องลาออกจากพรรคและตำแหน่ง หลังจากเรื่องที่เธอมีสัมพันธ์ทางเพศกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มแคมเปญหาเสียงถูกเปิดเผย
นี่เป็นเพราะหากเทียบโครงสร้างองค์กรเป็นระบบนิเวศ ทั้งฮิลล์ อีสเตอร์บรูก รวมถึงไชยามพวาน ล้วนเป็นผู้ล่าที่อยู่ในจุดที่สูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอย่างมากบนห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าฝั่ง ‘หัวหน้า’ มีอำนาจที่จะชี้เป็นชี้ตายชีวิตการทำงาน หรือให้คุณให้โทษกับฝ่าย ‘ลูกน้อง’ ที่อยู่ในกำมือของพวกเขามาตั้งแต่ต้น
ปัญหาหลักจึงหนีไม่พ้นความคลุมเครือของ ‘Consent’ ที่เกิดขึ้น อย่างที่ธิษะณาได้เขียนถึง
นึกภาพตามง่ายๆ ว่า หากหลังจากคุณเริ่มทำงานเป็นเลขาฯ ให้กับประธานบริษัทแห่งหนึ่งได้สักพัก อีกฝ่ายก็เริ่มปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับที่ไชยามพวานแสดงออกกับผู้เสียหาย เช่น แตะเนื้อต้องตัว หรือขอมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่คุณตัดสินใจยินยอมตามน้ำไป อาจไม่ได้เป็นเพราะคุณรู้สึกชอบพอกับเขาจริงๆ แต่เป็นเพราะกลัวว่าการปฏิเสธอาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในทางกลับกัน ต่อให้ความรู้สึกเชิงโรแมนติกเกิดขึ้นจากคุณที่เป็นลูกน้องก่อนจริงๆ คุณก็คงไม่มีทางกล้าเดินเข้าไปบอกกับอีกฝ่ายซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานบริษัทว่า คุณมีความรู้สึกดีๆ ให้ และอยากที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเขา ดื้อๆ แบบนั้นเลยแน่นอน ด้วยเหตุผลเดียวกันคือกลัวว่าจะกระทบต่อหน้าที่การงาน
คำถามคือแล้วทำไมในกรณีที่ความรู้สึกเกิดขึ้นจากฝ่ายหัวหน้างานก่อน คนเหล่านี้ถึงไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความกลัวแบบเดียวกัน?
นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าภาวะ Power Imbalance หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ ‘ไม่เท่าเทียม’ กัน และเป็นสาเหตุที่องค์กรต่างๆ ไม่ควรที่จะเพิกเฉย หรือปิดตาข้างเดียวโดยเด็ดขาด เมื่อได้รับรายงานว่า ผู้มีอำนาจตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรกำลัง ‘จีบ คบหา หรือมีสัมพันธ์ทางเพศ’ กับพนักงานอีกคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า
เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ความสัมพันธ์เหล่านั้นเกิดจากการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือไม่
เพราะการสร้าง พิทักษ์ และตรวจสอบให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนมีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน ถือเป็นภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่องค์กรนั้นๆ ยังดำเนินกิจการอยู่
อ้างอิง
https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=b8d2931f-f6f5-485a-b9cc-7ecd69808d56
Tags: Sexual Harassment, Power Imbalace, Office Romance, Power Dynamic, Gender, consent, ก้าวไกล