ปุจฉา: อัตลักษณ์ทางเพศ ‘ทอม’ สำหรับคุณมีความหมายครอบคลุมใครบ้าง
ก. สาวห้าว
ข. เลสฯ รุก
ค. ชายข้ามเพศ
ง. ไม่มีข้อใดถูก ทอมก็คือทอม เป็นเพศแยกออกมาต่างหาก
จ. ถูกทุกข้อที่กล่าวมา
หลายคนอาจแปลกใจหากเราบอกว่า เมื่อถามคำถามนี้กับคนสิบคน จะไม่มีใครตอบตรงกันทุกประการ เพราะคำว่าทอมในความหมายแบบไทยๆ นั้นผูกพันเหนียวแน่นกับทั้งบริบททางภาษา วัฒนธรรม และยุคสมัย
หากคุณเป็นคนมีอายุประมาณหนึ่ง ทอมตามนิยามของคุณแทบจะไม่จำเป็นต้องรู้สึกดึงดูดกับผู้หญิงด้วยกันเลยด้วยซ้ำ ขอเพียงมีบุคลิกห้าวๆ แต่งตัวคล้ายผู้ชายก็ถือว่าเข้าเค้า
หากคุณเป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจำ มีโอกาสมากกว่าที่คุณจะมองผู้อื่นหรือตนเองที่เป็นทอมในฐานะกลุ่มก้อนเดียวกับเลสเบี้ยน เพราะได้รับอิทธิพลจากการรับรู้ว่า Tomboy มิได้มีความหมายว่า ผู้หญิงที่รักชอบผู้หญิงด้วยกัน ส่วนคำที่ใช้แทนอัตลักษณ์ทอมได้ใกล้เคียงกว่าในภาษาอังกฤษคือ Butch หรือ Masc Lesbian
หากคุณเติบโตมาในยุคหลังมานี้ ที่สังคมเริ่มใช้ประโยครณรงค์ ‘ชายข้ามเพศก็คือผู้ชาย หญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิง’ (Trans men are men. Trans women are women.) กันแพร่หลาย เป็นไปได้ว่า คุณอาจมองว่าคนข้ามเพศอยู่นอกเหนือขอบเขตของคำนิยามใต้ร่มนี้
หรือหากคุณใช้ชีวิตใกล้ชิดคอมมูฯ ทอมดี้ในไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมย่อยที่ค่อนข้างจำเพาะ แตกต่างจากเลสเบี้ยนที่ไม่ได้นิยามตนเป็นทอม คุณอาจแยกอัตลักษณ์ทอมขาดจากเลสเบี้ยน โดยตีความว่าเป็นสองเพศที่ต่างกัน แต่มีลักษณะ 2 ประการร่วมกันคือ มีเพศกำหนดตอนเกิดเป็นหญิงและรักชอบผู้หญิง
เช่นเดียวกับคำถามโลกแตกว่าด้วยประเด็นเพศหลากหลายในไทยยุคหนึ่งที่ว่า “ตกลงกะเทยนับเป็นเกย์ไหม?” ในขณะนี้ คำตอบที่ง่ายที่สุดของคำถามที่ว่า “ตกลงทอมนับเป็นเลสเบี้ยนไหม?” คือ “บางคนเป็น บางคนไม่เป็น แล้วแต่จะนิยามตน”
ความขัดแย้งจึงปะทุขึ้นหลังสถานบันเทิงสำหรับหญิงรักหญิงแห่งหนึ่งจัดโฆษณากิจกรรม ‘วันเลสฯ ล้วน’ ด้วยข้อความที่ว่า “มีบาร์สำหรับเลสเบี้ยนแล้วรู้ยัง ไม่มีทอมหรือทรานส์แมนให้กังวลด้วย”
มีฝั่งที่รู้สึกแย่เพราะมองว่านี่คือการแบ่งแยกและกีดกัน
มีฝั่งที่ตื่นกลัวว่าตนจะถูกเข้าใจผิดและบิดเบือนเจตนา
มีฝั่งที่พยายามถอดบทเรียนว่า ปัญหาเกิดจากทางบาร์เลือกใช้คำผิด
มีฝั่งที่ยืนยันว่า บาร์ใช้คำว่าเลสเบี้ยนแยกกับทอมถูกต้องตามความหมายในบริบทของประเทศไทย ชาวคอมมูฯ จึงควรยอมรับมุมมองนี้ด้วย
และมีฝั่งที่ยังคงไม่แน่ใจว่าตนคิดอย่างไรกับเรื่องนี้กันแน่
ที่น่ากลัวกว่าความซับซ้อนของคำนิยามคือกระแส ‘Butchphobia’
ในช่วงแรกที่คำว่า เลสเบี้ยนกลายเป็นที่รู้จักในไทย ภาพจำของมันคือภาพยนตร์ลามกที่เข้าข่ายความคลั่งไคล้ทางเพศหรือเฟติช (Fetish) ของผู้ชาย คนในคอมมูฯ หญิงรักหญิงสมัยนั้นจึงมักตีตัวออกหากจากคำนี้ ไปเลือกใช้คำที่มีความหมายเข้าใจได้ง่ายเพราะอิงกับกรอบคิดแบบเพศทวิลักษณ์ (Gender Binary) โดยมักคิดเหมารวมไปในทางเดียวกันว่า ในความสัมพันธ์หญิงรักหญิง ทั้งแง่มุมของชีวิตประจำวันและชีวิตเซ็กซ์ ‘ทอม’ (มาจากคำว่าทอมบอย) จะแสดงบทบาทของผู้ชาย ขณะที่ ‘ดี้’ (มาจากคำว่าเลดี้) แสดงบทบาทของผู้หญิง
ภายหลังเมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย กระแสการ์ตูนยูริทั้งใต้ดินและบนดินเริ่มถูกส่งต่อ ผนวกกับแนวคิดต่างๆ ของสาขาวิชาเพศสถานะและเพศวิถีศึกษาเริ่มถูกนำเข้ามา หญิงรักหญิงในไทยจึงค่อยๆ โอบรับคำว่าเลสเบี้ยนมากขึ้นทีละนิด
ทว่าข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ภาพในสื่อที่ถูกผูกโยงเข้ามาด้วยในยุคหลัง มักเป็นภาพของคู่รักผู้หญิงที่มีลักษณะความเป็นหญิงสอดคล้องกับความเป็นหญิงขนบ ‘ฝ่ายรุก’ อาจสอดคล้องไม่เท่า ‘ฝ่ายรับ’ ในบางกรณี แต่จะไม่มีฝ่ายใดในงานยูริกระแสนิยมข้ามเส้นความเป็นหญิงไปไกลจนเรียกได้ว่าเป็น ‘ทอม’
เช่นเดียวกับที่ ‘กะเทย’ เป็นได้แค่ตัวประกอบในซีรีส์วายชาย-ชาย ‘ทอม’ ก็มีสถานะไม่ต่างกันในซีรีส์วายหญิง-หญิง แล้วภาพลักษณ์แบบเดียวกันนี้ก็ถูกผลิตซ้ำและนำเสนอในฐานะสินค้า นางเอกทั้งฝ่ายรุกและรับมักเป็นผู้หญิงสวยผมยาวที่ไม่ว่าจะชอบกระโปรงหรือไม่ อย่างน้อยก็จะต้องสวมกระโปรงแล้วดูไม่ขัดตา
ในขณะที่คำว่าเลสเบี้ยนเริ่มถูกนำมาผูกกับความ ‘เทสดี’ และคำที่มีความหมายเชิงบวกอย่าง ‘พี่สาวคนสวย’ ‘ชูการ์มัมหมี’ หรือ ‘ไทป์หมา/แมว’ คำว่าทอมก็ค่อยๆ เริ่มถูกผลักออกไปใกล้ชายขอบมากขึ้นทุกทีและนำไปผูกกับคำที่มีความหมายในแง่ลบ เช่น ‘หัวไก่’ และ ‘ขี้แอ็ก’
นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น กระแสความเกลียดกลัวจากอคติที่มีต่อทอม (Butchphobia) เคยอาละวาดหนักในแอปพลิเคชัน TikTok ของกลุ่มผู้ใช้ฝั่งตะวันตกเช่นกัน คอนเทนต์ครีเอเตอร์เลสเบี้ยนรายหนึ่งกล่าวว่า เวลาไถดูคลิปในแท็กหญิงรักหญิง เธอมักเจอแคปชันทำนอง …
“POV: ความรู้สึกอี๋เวลาดื่มอยู่ในบาร์เลสเบี้ยนแล้วมีทอมมาจีบ”
“หงุดหงิดสุดๆ เวลาสาวเฟมน่ารักหลงไปคบทอมหน้าเหียก”
“โชคดีโคตรๆ ที่ แฟนฉันเป็นทอมส่วนน้อยที่หน้าตาดูได้”
ฉะนั้นเมื่อพูดถึงการแบ่งแยก ‘ทอม’ ออกจาก ‘เลสเบี้ยน’ นอกจากคำนึงถึงภาษา วัฒนธรรม และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของคอมมูฯ หญิงรักหญิงในประเทศไทย อีกสิ่งที่เราควรคำนึงถึงอย่างระมัดระวังไม่แพ้กัน คือเรื่องของอคติซึ่งผูกติดมากับถ้อยคำที่เราเลือกใช้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“มีบาร์สำหรับเลสเบี้ยนแล้วรู้ยัง ไม่มีทอมหรือทรานส์แมนให้กังวลด้วย”
ไม่ว่าเราจะนับทอมและเลสเบี้ยนรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เป็นสับเซ็ตของกัน หรือมองอย่างไรก็ตามแต่ หากภาพจำที่เราบังเอิญสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจคือ “การมีทอมอยู่ในพื้นที่เดียวกันมักทำให้เรากังวล” คนในคอมมูฯ ก็จะเริ่มกังวลตามคำพูดดังกล่าวจริงๆ แม้ว่าเราจะไม่ได้หมายความเช่นนั้นก็ตาม
อ้างอิง
https://x.com/Laplaebar/status/1907325313375498242
https://wjst.wu.ac.th/index.php/stssp/article/view/25858/2444
https://www.bowiecreators.com/article/how-butchphobia-is-thriving-on-lesbian-tiktok
Tags: Gender, เลสเบียน, LGBTQ, คนข้ามเพศ, หญิงรักหญิง, WLW, แซฟฟิก, ทอม, ชายข้ามเพศ