ปีใหม่ไทยกำลังผ่านพ้นไป และเช่นเคย นอกจากการละเล่นสาดน้ำ ได้กลับบ้านเพื่อพักผ่อน หรือไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวแล้ว อีกหนึ่งภาพจำของวันสงกรานต์ คือการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเทศกาลสำคัญ
‘เดินยั่วทั้งคืน โดนล้วงแค่ไอโฟน’
หลายคนอาจเคยได้ยินมุขตลกที่ปะปนความจริงอันน่าเศร้า ซึ่งสะท้อนว่าเราคุ้นชินกับการคุกคามทางเพศในเทศกาลดังกล่าวเป็นอย่างมาก ราวกับว่าการ ‘โดนล้วง’ เป็นเรื่องปกติ
วันนี้ผู้เขียนเลือกประเด็นที่เราต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันเกิดขึ้น แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังคงมีการปฏิบัติกันโดยทั่วไป และจะเห็นว่า การเล่นมุขลดทอนความรุนแรงของการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ดี
การคุกคามทางเพศในวันสงกรานต์เป็นไปได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การลวนลามด้วยสายตา ใช้วาจาเอ่ยคำแทะโลม การสัมผัสร่างกายผ่านการประแป้งดินสอพอง หรือบางคนก็ทำเนียนประแป้งทั้งที่ไม่มีแป้งอยู่ในมือด้วยซ้ำ พฤติกรรมคุกคามทางเพศเช่นนี้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และถูกปฏิบัติซ้ำๆ บ้างทำแบบตัวต่อตัว บ้างทำเป็นกลุ่มใหญ่ จึงไม่แปลกหากเทศกาลสงกรานต์จะเป็นหนึ่งในเทศกาลที่หลายคนมองว่าอันตราย
เมื่อเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ถูกกระทำจำนวนมากจึงเลือกที่จะยอม เพราะกลัวว่าหากแสดงออกถึงความไม่พอใจออกไปอาจถูกทำร้าย หรือในอีกทางหนึ่งก็จำใจยอมรับหรือมองข้ามปัญหาไป เพราะมองว่า การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในวันสงกรานต์
นอกจากอากาศที่ร้อนจัด ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หรือเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ การคุกคามทางเพศถือเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนเลือกที่จะไม่เล่นสาดน้ำสงกรานต์เพื่อเป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ด้วยความเป็นเทศกาล กิจกรรมเฉพาะอย่างการสาดน้ำกันท่ามกลางผู้คนที่เบียดเสียด หรือการประแป้งดินสอพองซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ทำให้บางคนอาศัยจังหวะนี้เป็นโอกาสในการแตะต้องเนื้อตัวร่างกายคนอื่น ทำให้กิจกรรมที่ควรจะดำเนินไปอย่างปลอดภัย กลับกลายเป็นว่าช่วยเปิดประตูให้การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องง่ายดายยิ่งขึ้นให้คนที่มีเจตนาไม่ดี แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการระลึกว่า เราไม่มีสิทธิคุกคามทางเพศใครทั้งสิ้น
ผลสำรวจจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในปี 2566 พบว่า ประชากรในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 96.5% เคยถูกประแป้งที่ร่างกายและใบหน้า และกว่า 84.9% และเคยถูกฉวยโอกาสลวนลามระหว่างเข้าร่วมการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ นี่คือการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับคนที่เล่นสงกรานต์โดยทั่วไป ยังไม่ได้นับรวมความรุนแรงทางเพศในกรณีที่หนักหนากว่านั้น
หากว่าอยากจะร่วมสนุกกับเทศกาลอยู่ ปัจจุบันบางพื้นที่มีข้อกำหนดเพื่อยุติการคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ เช่น การไม่อนุญาตให้ใช้แป้งดินสอพอง หรือห้ามแต่งตัวไม่สุภาพ บางที่มีการตรวจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก่อนเข้าพื้นที่งานว่า ใส่กางเกงขายาวเพียงพอหรือไม่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในช่วงสงกรานต์ และคนที่โดนข้อห้ามเหล่านี้ก็มักจะเป็นผู้หญิง
ขณะเดียวกัน ต่อให้พื้นที่นั้นไม่ได้บังคับ โดยปกติแล้วผู้หญิงก็มักจะได้รับคำแนะนำว่าให้แต่งกายมิดชิด ใส่กางเกงขายาว เสื้อยืดเนื้อผ้าหนา หรือใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เพื่อป้องกันการโดนลวนลาม ถึงอย่างนั้นการคุกคามทางเพศก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี
ในปี 2018 มีการรณรงค์ #DontTellMeHowToDress ที่นำแฮชแท็กดังมาใช้สำหรับเทศกาลสงกรานต์โดยเฉพาะ หลังจากที่รัฐบาลในขณะนั้นออกมารณรงค์ให้ผู้หญิงแต่งกายอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเพศระหว่างการเล่นน้ำสงกรานต์
ทั้งที่สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือพฤติกรรมของผู้กระทำ
แม้สภาพสังคมจะทำให้เหยื่อส่วนมากเป็นผู้หญิง แต่เหยื่อของการคุกคามทางเพศสามารถเป็นใครก็ได้ การตั้งคำถามว่า แล้วการลวนลามผู้ชายถือเป็นการคุกคามไหม จึงไม่ใช่คำถามที่น่าถกเถียงแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทำให้เราได้เห็นว่า ผู้ชายก็โดนคุกคามทางเพศได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า การคุกคามก็คือการคุกคาม ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้น
สิ่งที่น่าเศร้าใจคือเหยื่อของการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวนมาก มักเป็นเด็กและเยาวชน แต่กลับต้องเผชิญกับผู้ใหญ่ที่สร้างสังคมไม่ปลอดภัยให้เด็ก เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวนมากโดนลวนลามจากผู้ใหญ่ในช่วงวันสงกรานต์ ทั้งที่พวกเขาควรจะได้เล่นสาดน้ำสนุกและปลอดภัยตามวัยของตนเอง
การยุติพฤติกรรมคุกคามทางเพศไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะช่วงสงกรานต์ รวมถึงไม่ควรเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือสงวนไว้สำหรับบางพื้นที่เท่านั้น เพราะช่วงเวลาไม่กี่วันของเทศกาล ก็เป็นเหมือนภาพที่แสดงให้เห็นถึงการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในอีก 365 วันที่เหลือของปีเช่นกัน
ที่มา:
– https://www.bbc.com/news/world-asia-43627113
– https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1120722
Tags: Gender, สงกรานต์, Sexual Harassment, คุกคามทางเพศ, Songkran, Dont Tell Me How To Dress