หากฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน และอีกคนเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ความรักจะยังเป็นเรื่องของคนสองคนอยู่ไหม เมื่อทั้งคู่อยู่ในช่วงวัยที่ต่างกัน?
‘ถ้ารักกันทั้งคู่มันก็ไม่นับเป็นเปโดฯ (Pedophilia หรือโรคใคร่เด็ก) ไหม แค่อีกฝ่ายเป็นเด็กก็นับเหรอ’
‘เปโดฯ สิ ผู้ใหญ่ดีๆ ที่ไหนจะไปมองเด็กวัยรุ่นในเชิงชู้สาว’
‘สำหรับเรา เราว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม มันต่างจากโรคใคร่เด็ก’
โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) และความสัมพันธ์แบบรักต่างวัย (Age Gap) ยังเป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันอยู่บ่อยครั้ง ถึงจุดร่วมและความแตกต่างของทั้งสองสิ่งนี้ บ้างว่าควรใช้กฎหมายที่มีการแบ่งเกณฑ์อายุเป็นตัวตัดสิน บ้างว่าเป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจ เพราะเด็กเองก็มีสิทธิที่จะมีความรัก บ้างว่าถ้ามีแฟนเด็กแล้วตัวเองเป็นผู้ใหญ่ก็ถือว่าเข้าข่ายใคร่เด็กทั้งสิ้น
ตอนนี้สังคมให้ความเห็นตรงกันว่าโรคใคร่เด็กเป็นสิ่งต้องห้าม อาจเพราะมีเส้นแบ่งอันชัดเจนคือเรื่องความเป็นอาชญากรรมของพฤติกรรมดังกล่าว การที่โรคใคร่เด็กมีผลเอาผิดได้ทางกฎหมายทำให้ภาพของมันไม่ได้คลุมเครือจนต้องมาถกเถียงกันแล้วว่าถูกหรือผิด เพราะอย่างไรขึ้นชื่อว่า ‘พวกเปโดฯ (ย่อมาจาก Pedophile คือคนที่มีพฤติกรรมใคร่เด็ก)’ ก็ผิดแน่ๆ
เมื่อโรคใคร่เด็กเป็นความผิดอย่างชัดเจน แล้วทำไมโรคใคร่เด็กกับรักต่างวัย จึงยังมีความทับซ้อนกันอยู่?
ในทางการแพทย์ระบุอาการของโรคใคร่เด็กไว้ว่า หากใครที่อายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป แล้วมีความต้องการทางเพศเป็นหลักกับเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์จนถึงอายุ 13 ปี บุคคลผู้นั้นถือว่าเป็นโรคใคร่เด็ก ขณะที่กฎหมายส่วนใหญ่มักระบุถึงพฤติกรรมของโรคใคร่เด็กในฐานะอาชญากรรม โดยพิจารณาถึงอายุและลักษณะของการกระทำ ทั้งนี้กฎหมายก็มีเกณฑ์ไม่เหมือนกันในแต่ละพื้นที่
นอกจากการใช้กฎหมาย ยังมีวิธีคิดที่ใช้คำนวณอย่างคร่าวๆ เช่น ในกรณีที่เราเป็นฝ่ายที่อายุมากกว่า ให้ลบอายุของตัวเองไปครึ่งหนึ่ง แล้วบวกเพิ่มอีก 7 ปี ขณะเดียวกัน หากเป็นฝ่ายที่อายุน้อยกว่า ให้ลดอายุของตัวเองลงไป 7 เท่า และเพิ่มไปอีก 2 เท่า เพื่อดูว่าตัวเองเด็กเกินไปและกำลังตกเป็นเหยื่อของพวกใคร่เด็กหรือเปล่า
ถึงอย่างนั้น กฎหมายและตัวเลข แม้นำมายึดเป็นหลักได้แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินได้ทั้งหมด สังคมปัจจุบันยังคงมีหลายสิ่งที่เป็นผลจากความใคร่เด็กแต่กลับไม่ผิดกฎหมาย และเราก็ยังอยู่กับมันได้อย่างปกติ เช่น การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโลลิคอน ที่แม้ว่าจะปรากฏลักษณะของโรคใคร่เด็กอย่างชัดเจนแต่ก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ประเด็นเรื่องความไม่ถูกต้องของโรคใคร่เด็กจึงอาจต้องอาศัยการพิจารณาจากหลายสิ่งประกอบ ไม่ใช่ยึดอยู่ที่ตัวกฎหมายเท่านั้น บ่อยครั้งโรคใคร่เด็กกับความสัมพันธ์แบบรักต่างวัยจึงยังถูกมองว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน และยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ในบางกรณี
แล้วความสัมพันธ์แบบรักต่างวัย (Age Gap) คืออะไร?
รักต่างวัย (Age Gap) โดยทั่วไปแล้วหมายถึงคู่รักที่มีอายุต่างกันอย่างน้อย 10 ปี เช่น ฝ่ายหนึ่งอายุ 25 ปี ส่วนอีกฝ่ายอายุ 35 ปี ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่กันแล้วทั้งคู่ แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งอายุ 18 ปี และอีกฝ่ายอายุ 28 ปี แม้จะอายุห่างกัน 10 ปีเหมือนกัน แต่เป็นรักต่างวัยแบบทั่วไปจริงๆ หรือ?
ภาพยนตร์เรื่อง Call Me By Your Name ที่ตัวละครหลักมีความสัมพันธ์กันในเชิงโรแมนติก ฝ่ายหนึ่งอายุ 17 ปี และอีกฝ่ายอายุ 24 ปี เป็นหนึ่งในกรณีที่แสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือของนิยามคำว่ารักต่างวัย และสังคมก็มองกันไปคนละทาง บ้างว่านี่เป็นความสัมพันธ์คู่รักธรรมดา เพราะทั้งคู่อายุห่างกันเพียง 7 ปี บ้างว่าแม้จะไม่เข้าข่ายโรคใคร่เด็ก แต่คนหนึ่งยังคงอยู่ในช่วงวัยรุ่นและอีกคนเป็นวัยทำงาน มันก็ไม่เหมาะสมอยู่ดีด้วยเรื่องของอำนาจที่ไม่เท่ากันในความสัมพันธ์
“คู่รักที่อายุต่างกันมาก ในบางความสัมพันธ์อาจต้องเจอกับปัญหาเรื่องความไม่สมดุลกันทางอำนาจ (Power Imbalance) เช่น การควบคุมทางการเงิน ที่คนอายุน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาคนที่อายุมากกว่า” ดาเรีย เจ. คุสส์ (Daria J. Kuss) นักจิตวิทยาจากสหราชอาณาจักร ยกตัวอย่างถึงปัญหาที่คู่รักต่างวัยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญมากกว่าคู่รักทั่วไป เป็นเรื่องของความไม่สมดุลทางอำนาจของทั้งสองฝ่าย
แน่นอนว่าเด็กก็มีความรักได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่ในความสัมพันธ์แบบรักต่างวัยนั้นมีเรื่องที่ต้องพิจารณามากกว่านั้น เพราะนอกจากเรื่องความไม่สมดุลกันทางอำนาจแล้ว วัยที่แตกต่างกันยังอาจสร้างช่องโหว่บางอย่าง ที่เอื้อให้ผู้ใหญ่ใคร่เด็กเอาเปรียบเด็กได้อย่างแนบเนียน หรือเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้
ยกตัวอย่าง Child Grooming คือการที่ผู้ใหญ่เข้าหาเด็กโดยมีจุดประสงค์ทางเพศ หรือมีความคาดหวังถึงความสัมพันธ์แบบชู้สาวกับเด็ก โดยที่ผู้กระทำจะมีการคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า แฝงตัวเข้ามาเป็นผู้ใหญ่ใจดี และรอเวลาให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้น เป็นหนึ่งในความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็ก รวมถึงรักต่างวัย แต่บ่อยครั้งกลับถูกมองข้าม
Child Grooming ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในระดับที่รับรู้กันว่ารุนแรงอย่างการล่วงละเมิดทางเพศ แต่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของความสัมพันธ์แบบคู่รักที่ไม่มีใครเอะใจอะไร เช่น คู่รักที่คบกันมา 7 ปี และตัดสินใจแต่งงานกันตอนที่สามีอายุ 32 ปี และภรรยาอายุ 24 ปี ซึ่งถ้าดูผิวเผินก็ไม่ผิด แต่หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์จะพบว่า มันเริ่มตอนที่ฝ่ายหญิงอายุ 17 ถือว่าเป็นผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ หรือต่อให้ไม่มองในเชิงกฎหมาย ฝ่ายหญิงก็เพิ่งจะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายเท่านั้นเอง
รักต่างวัยนั้นไม่ใช่เรื่องของคนสองคนในหลายกรณี เพราะมันอาจมีเรื่องให้ตั้งคำถามมากกว่าความสัมพันธ์แบบทั่วไปจากช่วงวัยที่ห่างกัน ถึงอย่างนั้น รักต่างวัยก็เป็นคนละเรื่องกับพฤติกรรมใคร่เด็ก และยังมีเหยื่อจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากพวกใคร่เด็ก ความใคร่เด็กจึงไม่ควรถูกลดความหมายให้อยู่ในระดับเดียวกับรักต่างวัย หรือเป็นเรื่องของความแตกต่างทางรสนิยมที่ต้องเคารพกัน
ที่มา
https://www.cosmopolitan.com/uk/love-sex/relationships/a42164972/age-gap-relationships-judgemental/
https://www.vogue.com/article/age-gap-relationships
Tags: Gender, ใคร่เด็ก, Pedophile, รักต่างวัย, ChildGrooming, AgeGap