ทุกครั้งที่ประเด็นการอนุญาตให้ทุกคนสามารถเลือกใช้ ‘คำนำหน้านาม’ ตามเพศวิถีเป็นที่พูดถึง ข้อถกเถียงเพื่อไม่ให้สิทธินี้เกิดขึ้นจริงในทางกฎหมายก็ยังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบคล้ายเดิม บ้างว่าหากทุกคนมีสิทธิในการเลือกคำนำหน้านามจะนำไปสู่การหลอกลวง บ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิคนที่มีเพศวิถีตรงกับเพศสภาพ (Cisgender) ไปจนถึงมองว่า LGBTQIA+ กำลังเรียกร้องมากเกินไป หรืออยากมีอภิสิทธิ์เหนือชายหญิง

ดา เอ็นโดรฟินเคยร้องเพลงไว้ว่า ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ นั่นก็ลำบากแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนคำนำหน้านาม มันจะไม่หยุดแค่ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ แต่มันจะกลายเป็น ไม่รู้จักชาย ไม่รู้จักหญิง ไม่รู้จัก LGBTQ”

คำอภิปรายล่าสุดจาก อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในการโต้แย้งร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งร่างดังกล่าวถูกปัดตกไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 257 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าด้วยการให้บุคคลตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป มีสิทธิทางกฎหมายในการเลือกเพศตามเจตจำนง โดยสามารถเลือกคำนำหน้านามให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตน และไม่อิงอยู่กับเพศกำเนิด

แม้แต่ในสภาฯ ส.ส.บางท่านที่ออกตัวว่าสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ยังคงมองว่าการให้สิทธิตามร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามเป็นสิ่งที่ ‘สุดโต่ง’ เกินไป ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนสิ่งนี้ ทั้งยังมีความคิดเห็นที่ว่า หากภูมิใจในเพศวิถีของตัวเองจริงๆ คำนำหน้านามจะไม่มีความหมาย

คำนำหน้านามสำคัญอย่างไร ทำไมผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเรียกร้อง?

ตราบใดที่ยังมีการแบ่งเพศตามคำนำหน้าเป็นเด็กหญิง-เด็กชาย, นาย-นาง หรือนางสาว ในทางกฎหมายอยู่ คำนำหน้านามที่ทุกคนเลือกเองได้ก็ยังสำคัญเช่นกัน 

ปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนข้ามเพศ (Transgender) ในประเทศไทย ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องอาศัยการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น สมัครงาน รักษาพยาบาล หรือแม้แต่ในสถานศึกษา การขาดการรับรองเพศวิถีตามกฎหมายในสังคมที่ทัศนคติเกลียดกลัวความหลากหลายทางเพศยังคงปรากฏอยู่ ทำให้คนข้ามเพศไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ หรือขั้นตอนต่างๆ อาจทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความคิดเหยียดเพศจากผู้อื่น

ข้อมูลจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยว่า 36% ของหญิงข้ามเพศที่ตอบแบบสอบถาม เคยเผชิญกับการเลือกปฏิบัติเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล และผลสำรวจในปี 2020 ยังออกมาในทิศทางเดียวกันว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกไม่สบายใจที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาล เนื่องจากกลัวถูกเจ้าหน้าที่ตีตราและเลือกปฏิบัติจากการมีคำนำหน้านามที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ 

หญิงสาวไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แต่บุคลากรกลับมุ่งความสนใจไปที่การตั้งคำถามถึงคำนำหน้าชื่อที่ระบุว่า ‘นาย’ ไม่ตรงกับเพศสภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ และหลายครั้งผู้กระทำเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปในระดับใดมันก็ไม่ควรเกิดขึ้น

การบังคับให้ LGBTQIA+ ใช้คำนำหน้าชื่อตามเพศกำเนิด ยังส่งผลต่อการหางานและสิทธิในการทำงาน ซึ่งแต่เดิมผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เสียเปรียบอยู่แล้ว หลายคนอาจเคยเห็นโพสต์ประกาศงานที่ระบุชัดว่า ไม่ต้องการเพศหลากหลาย และหากผ่านเข้าไปสัมภาษณ์ก็อาจเจอคำถามที่ไม่เหมาะสมจาก HR บ้างก็บังคับให้แต่งกายและประพฤติตนตามเพศในบัตรประชาชนจึงจะได้งาน เช่นอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่สายการบินส่วนใหญ่ยังคงรับแต่หญิง-ชาย ทำให้สาวทรานส์ไม่มีสิทธิสมัคร หากสมัครก็ต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขให้แต่งตัวตามเครื่องแบบของผู้ชาย นี่คือสิ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนไม่น้อยต้องเจอในการสมัครงานแต่ละครั้ง ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ หรือกิจกรรมทางกฎหมาย

ข้อเสนอที่ไปไกลกว่าการให้คนมีสิทธิเลือกคำนำหน้านามเอง คือการเสนอว่าแทนที่จะใช้คำว่านายหรือนางสาว ควรใช้คำนำหน้าเป็น ‘คุณ’ ซึ่งเป็นคำที่มีอยู่แล้วในภาษาไทยน่าจะเหมาะสมกว่าการจำกัดเพศออกเป็นสองขั้วแบบที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วหลายประเทศทั่วโลกมีการผ่านกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน เช่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ หรือบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้หนังสือเดินทางที่สามารถใช้คำนำหน้านามว่า ‘X’ หรือเลือกที่จะไม่ระบุได้ เพื่อให้ครอบคลุมต่อกลุ่มนอนไบนารี

หากการเลือกคำนำหน้านามจะทำให้เกิดปัญหาอย่างที่หลายคนคิด เช่น กลัวว่าผู้หญิงทรานส์จะมาหลอกตนเองแต่งงาน สมมติว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วมองว่าเป็นความผิดหรือเป็นอาชญากรรม ก็เพียงดำเนินการไปตามกฎหมายหรือเลิกรากันไปเท่านั้นไม่ใช่หรือ? เหตุใดความกลัวในการโดนหลอกเรื่องเพศกำเนิด จึงสำคัญไปกว่าปัญหาที่คนจำนวนมากกำลังเผชิญอยู

เพราะคำนำหน้านามยังคงมีความหมาย ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน การติดต่อธุรกิจ และยังส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตัวเองของหลายคน หากมองว่าไม่สำคัญ คำนำหน้าที่ใช้กันอยู่อย่างนาย นาง และนางสาว ก็ไม่น่าสำคัญนัก เหตุใดการให้ทรานส์เจนเดอร์ใช้คำนำหน้าแบบชาย-หญิงจึงถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ มันเป็นการละเมิดสิทธิใครกัน?

ที่มา

https://youtu.be/j5jVzvPe718?si=GDUqU3u_UH-nGUj 

https://www.hrw.org/report/2021/12/15/people-cant-be-fit-boxes/thailands-need-legal-gender-recognition

https://www.npr.org/2022/04/11/1092000203/gender-x-us-passport-applications

Tags: , , , , ,