ช่วงหลังมานี้ หลายคนจะได้เห็นคอนเซปต์ของคำว่า บุพการี พระคุณ และความกตัญญู ที่ถูกนำมาชำแหละความเสียใหม่ ด้วยประโยคที่ว่า ‘ลูกไม่ได้ขอมาเกิด’
ประโยคดังกล่าว ไม่ได้มาจากปากลูกที่อยากทำร้ายจิตใจพ่อแม่ แต่มาจากปากของพ่อแม่รุ่นใหม่ ที่ย้ำเตือนกันและกันว่า อาจถึงเวลาที่สังคมจะต้องหยุดวงจรการลำเลิกและชดใช้บุญคุณ จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่มีสิ้นสุดแบบเดิมๆ ได้เสียที
น่าสนใจไม่น้อย ที่ผู้คนเริ่มหันมาสังคายนาแนวคิดในการสร้างครอบครัวที่เหมาะสมและยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น และเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการเติบโตมาในครอบครัวที่ ‘มีลูกเมื่อไม่พร้อม’ เพราะอยากรีบมีให้ ‘ทันใช้’ และไม่ต้องแบกรับภาระข้ามรุ่นมากเท่าเด็กรุ่นก่อนๆ (ไม่ว่านั่นจะเป็นเพราะค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปจริงๆ หรือเพราะมีเด็กเกิดมาแบกรับสิ่งเหล่านี้น้อยลงก็ตามที)
จะเหลือก็แต่ปัญหาด้านมุมมองของฝ่ายผู้ใหญ่เองที่ยังคงต้องคลี่คลายกันต่อไป ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นที่ยังคงจมจ่อมอยู่ในภาวะไม่เป็นสุขและผูกใจเจ็บจากทรอม่าทำนองเดียวกัน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผู้เขียนได้ยินประโยคหนึ่งจากหนัง Everything Everywhere All at Once ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส (2022)
“ทุกความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ แตกแขนงไปสู่ความสำเร็จในชีวิตของเอเวอลีนอีกคน คนส่วนใหญ่มีทางเลือกสำคัญที่ใกล้เคียงกับชีวิตของพวกเขาให้เลือกอยู่ไม่กี่เส้นทางเท่านั้น แต่ตัวคุณในโลกนี้น่ะหรือ… คุณมีทางเลือกมากมายไปหมด เพราะคุณล้มเหลวมาแล้วแทบทุกเรื่องในชีวิตไงล่ะ” แอลฟ่า-เวย์มอนด์ (แสดงโดย โจนาธาน คี ควาน) กล่าวกับเอเวอลีน หวัง (แสดงโดย มิเชล โหย่ว) หมายเลข 2 แห่งมัลติเวิร์สซือเจ๊เจ้าของร้านซักรีด
เช่นเดียวกับเอเวอลีนที่มีอนาคตอันสดใสมากมายหลายเวอร์ชันในมัลติเวิร์สอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงกังฟูชื่อดัง นักร้องงิ้ว ผู้ฝึกวิทยายุทธ์กำลังภายใน หรือเชฟ ก่อนที่แม่จะมีฉัน ท่านเองก็เคยมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินเช่นกัน
“ถ้าไม่ท้องขึ้นมาก่อน ตอนนั้นก็เคยคิดจะไปเรียนครูเหมือนกัน” แม่ผู้ใช้เวลาครึ่งค่อนชีวิตช่วยพ่อทำเอกสารในร้าน เคยหลุดปากบอกออกมาครั้งหนึ่ง
หรือหากไม่เป็นครู ฉันก็คิดว่า ท่านมีฝีมือพอจะเป็นทั้งเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว หรือนักวาดการ์ตูนตาหวานได้สบาย แต่ก่อนท่านสะสมการ์ตูนหมึกจีนเป็นตั้งๆ และวาดตัวการ์ตูนออกมาเส้นสวยตาแตกให้ฉันส่งเป็นการบ้านจนครูที่โรงเรียนเข้าใจผิดว่า ฉันมีพรสวรรค์ด้านนี้อยู่พักหนึ่ง
ตัวละครเอเวอลีนทำให้ตระหนักได้ว่า ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญแห่งวาทกรรม ‘ไม่ได้ขอมาเกิด’ แม่ของเราเองอาจจะเคยอ้อนวอนขอย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต ก่อนที่เราจะเกิดมาขัดขวางอนาคตของท่านเช่นเดียวกัน
สถานภาพความเป็นแม่ และการแบกรับภาพแทนความรักอัน ‘ประเสริฐเกินจริง’
“แม่คือผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด” คำขวัญวันแม่ปีหนึ่งกล่าวเอาไว้ “แม่คือผู้ประเสริฐบังเกิดเกล้า” คำขวัญอีกปีหนึ่งก็ว่า
“รักลูกมากกว่าใครในโลกหล้า”
“รักของแม่หนักแน่นกว่าหินผา”
“พระคุณแม่เลิศล้ำฟ้าจะหาไหน”
ต่างกับวันพ่อที่มักถูกนำไปผูกกับความเป็นชาติและสถาบันกษัตริย์ เสียจนประเด็นเกี่ยวกับการตอบแทนบุญคุณบุพการีกลายเป็นเรื่องรอง เพราะวันแม่ผูกติดอยู่กับ ‘พระคุณ’ ของแม่ด้วยสายใยที่เหนียวแน่น จนเกินจริงอยู่ไม่น้อย
หากถามว่าดีงามเกินไปแล้วไม่ดีอย่างไร น่าจะดีกว่าสังคมที่วาดภาพแม่เป็นหญิงเลวไม่ใช่หรือ
คงต้องบอกว่า ยิ่งมาตรฐานถูกตั้งเอาไว้คับแคบและสูงส่งเกินจริงมากเท่าไร แม่ของเราๆ ที่ต่างเป็นมนุษย์เดินดินธรรมดาทั่วไป ก็ยิ่งปฏิบัติตนให้เทียบเคียงกับมาตรฐานนั้นได้ยากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งการยกยอปอปั้น ‘คุณสมบัติความเป็นแม่’ โดยไม่มีมูลเช่นนี้ ยังสามารถผลักไสใครก็ตามที่หลุดกรอบเหล่านี้ให้กลายเป็นขั้วตรงข้าม ซึ่ง ‘ขาดคุณสมบัติความเป็นแม่’ และ ‘นอกคอก’ ไปเลยโดยสิ้นเชิง
ตัวอย่างมีให้เห็นตั้งแต่สายตาตำหนิที่ผู้คนมีต่อผู้หญิงที่เลือกจะไม่ให้นมบุตร หรือเลือกให้นมเป็นเวลาเพียงสั้นๆ (แม้จะรู้ว่า การให้นมบุตรด้วยตนเองนั้น อาจพ่วงมากับต้นทุน ความยุ่งยาก และผลกระทบด้านสุขภาพของแม่เด็กนานัปการ) ผู้หญิงที่เลือกจะยกลูกให้คนอื่นเลี้ยง (แม้จะรู้ว่า การให้คนที่มีความพร้อมมากกว่าอุปการะเด็กไป จะส่งผลดีต่อตัวเด็กมากกว่าก็ตาม) ตลอดจนผู้หญิงที่เลือกจะยุติการตั้งครรภ์
สิทธิอนามัยเจริญพันธ์ุที่ถูกพรากไปจากคนรุ่นแม่
ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา กฎหมายไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เอาผิดทางอาญากับหญิงทำแท้ง เป็นหญิงตั้งครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมาย นับเป็นกฎหมายอีกฉบับที่ปฏิวัติสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Rights) ของสตรีไทยไปโดยสิ้นเชิง
หมายความว่า หากย้อนเวลากลับไปสักหน่อย ไม่ต้องไกล เพียง 2 ปีก่อนหน้านี้ หากหญิงไทยคนใดต้องการยุติการตั้งครรภ์ ผลกระทบทางกฎหมายที่อาจตามมาย่อมเป็นปัจจัยแรกที่พวกเขาต้องคำนึงถึงก่อนเสมอ ก่อนประเด็นที่สำคัญที่สุดอย่างความต้องการของตนเอง หรือสถานภาพทางการเงินเสียอีก
หากพูดถึง ‘คนรุ่นแม่’ พวกเขาลำบากยิ่งกว่าตรงที่ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะครุ่นคิดว่า จะเก็บเด็กในท้องไว้ดีหรือไม่ เพราะในสมัยนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎหมายทำแท้งยังไม่ใช่หัวข้อสนทนาที่สามารถเกิดขึ้นต่อหน้าสาธารณชนได้ จะมีก็แต่การสร้างมายาคติและหล่อหลอมความคิดด้านศีลธรรม เกี่ยวกับการทำแท้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีเด็กที่ตามหลอกหลอน หรือผลกรรมที่ตามสนองผู้หญิงทำแท้ง ซึ่งถูกนำเสนอในสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทำให้ที่ผ่านมา คุณแม่หลายๆ คนคงจะไม่มีวันยอมรับออกมาดังๆ ให้ใครได้ยินว่า ชีวิตของท่านอาจจะดีกว่านี้มาก หากทั้งกฎหมายและค่านิยมทางสังคมในสมัยนั้นไม่ได้ตีตราการทำแท้งให้เป็นเรื่องผิดบาป แต่หลายๆ อย่างก็ยังสะท้อนอยู่ในตัวตนและการกระทำของท่าน ยกตัวอย่างแม่ของผู้เขียน ที่ทุกวันนี้แม้จะไม่มีโอกาสได้เป็นครู แต่เรื่องสอนลูกชาวบ้านเขียนหนังสือนี่ขอให้บอก และในเวลาว่าง ท่านก็ยังคงอดไม่ได้ที่จะใช้ปากกาลูกลื่นวาดอะไรเล่นๆ แต่ดันออกมาสวยอยู่เสมอ
แน่นอนว่า คนเป็นพ่อเองก็ต้องเสียสละอะไรเพื่อลูกมากมายเช่นกัน ที่ต่างไปคือ ไม่ว่าจะในยุคไหน ผู้ชายที่ไม่ต้องมัวขลุกอยู่แต่ในครัวและตัวติดกับลูกเล็กทุกวี่วัน ก็ยังคงได้รับโอกาสที่จะทำความฝันให้เป็นจริงได้มากกว่า คงจะช้ากว่ากำหนดเสียหน่อยหากมีลูก แต่อย่างน้อยก็ทำได้ เช่น ในขณะที่พ่อของผู้เขียนได้เดินทางทำธุรกิจตามความฝัน จนมีที่ทางเป็นของตนเองและได้รับการยอมรับจากเครือญาติ ตัวตนของแม่กลับค่อยๆ จางลงๆ จนกลายเป็นปัจจุบันนี้ น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ความฝันเมื่อครั้งแรกรุ่นของแม่คืออะไร ท่านมีความสามารถพิเศษอะไรไหม เคยนึกเสียดายเส้นทางที่ไม่มีโอกาสได้เลือกเดินไปบ้างหรือเปล่า
การต่อสู้ที่ยังไม่จบ
กฎหมายที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ทำให้สตรีและบุคคลผู้มีความสามารถในการตั้งครรภ์ทุกคน เหมือนได้รับพลังในการเดินทางย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต แต่แน่นอนว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ยังไม่จบ และยังต้องไปต่ออีกยาวไกล
ยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ยุค 1960s หลังจากนั้นไม่นาน วิธีการคุมกำเนิดใหม่ๆ ของผู้หญิงก็เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการฝังยาคุมที่คิดค้นขึ้นในยุค 1980s หรือห่วง IUD (Intrauterine Device) ที่ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในปี 2003 ผู้หญิงจึงมีตัวเลือกมากมาย ในขณะที่สำหรับผู้ชาย ปัจจุบันยังมีเพียงถุงยางอนามัยเท่านั้นที่แพร่หลายมากพอให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ นักวิจัยค้นพบวิธีการในการขัดขวางให้ร่างกายผู้ชาย หยุดผลิตเทสโทสเตอโรนและสเปิร์มเป็นการชั่วคราว มาตั้งแต่ยุค 1970s แล้ว โดยหากได้รับทุนศึกษาต่อ ตัวยาที่ว่านี้มีโอกาสจะพัฒนามาเป็นยาฉีดและยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายได้ แต่ปัญหาก็คือ วงการการแพทย์และอุตสาหกรรมยาคุมกำเนิด กลับไม่ยอมลงทุนกับการศึกษาวิจัยดังกล่าว นอกจากการค้นพบครั้งนั้นแล้ว ภายหลังยังมีการค้นพบยาตัวใหม่ที่หยุดการเคลื่อนที่ของสเปิร์มโดยไม่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนได้ แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่มียาตัวใดถูกปล่อยออกสู่ตลาดเสียที
ดังนั้น แม้ว่าค่านิยมจะเริ่มเปลี่ยนและผู้ชายจะเริ่มกระตือรือร้น อยากรับบทบาทสำคัญในขั้นตอนการคุมกำเนิดเพื่อวางแผนครอบครัวมากขึ้น แต่สุดท้าย ด้วยตัวเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด ความรับผิดชอบจึงมีโอกาสที่จะวนกลับมาหาผู้หญิงมากกว่า
ไหนจะเทรนด์ของการเมืองฝั่งขวาในสหรัฐฯ ที่เริ่มเหวี่ยงกลับมาอีกครั้ง หลังเข้าสู่ช่วงท้ายสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) การปะทะกันของแคมเปญยอดนิยมของ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ที่ต้องการผลักดันให้คนมีมดลูกเข้าถึงการทำแท้งได้ในทุกรัฐ รวมถึงแคมเปญของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตัวแทนพรรครีพับลิกัน เรื่องการมอบอำนาจคืนให้แต่ละรัฐสามารถชี้ขาดว่า จะอนุญาตให้ทำแท้งอย่างถูกกฎหมายและจำกัดปริมาณการขายยาคุมกำเนิดหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
ให้วันแม่เป็นวันแห่งการปลดเปลื้อง ‘Intergenerational Trauma’
การเป็นแม่หรือเป็นภรรยานั้น ไม่จำเป็นต้องพรากความฝัน อิสรเสรี และตัวตนไปจากชีวิตเสมอไป ต่างจากคนรุ่นแม่ที่ถูกสังคมสมัยนั้นจองจำให้เลือกเป็นได้แค่แม่และภรรยาของใครสักคน เราในตอนนี้ซึ่งถือว่า ได้รับพลังในการข้ามช่วงเวลาให้การถูกลิดรอนมาแล้ว สามารถใช้สิทธิทำแท้งถูกกฎหมายเพื่อเลือกเส้นทางอนาคตที่ตนเองต้องการ เพื่อเยียวยาตนเองให้สามารถปล่อยวางความรู้สึกฝังใจที่ถูกส่งต่อข้ามรุ่นมา หรือสุดท้ายแล้ว เราอาจเลือกที่จะไม่ใช้สิทธินั้นก็ได้ เพราะการได้เป็นแม่คนก็ถือว่า เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้วิชาชีพใดๆ ในโลก
ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับฝั่งคนรุ่นแม่ต่างหากที่อาจต้องใช้เวลา และในหลายๆ กรณีอาจไม่มีวันเยียวยาได้
ปัจจุบัน หลังจากคุยกันจนเข้าใจว่า ความใกล้ชิดอาจไปเขย่าปมในใจทำให้เราทั้งคู่กระทบกระทั่งกัน ผู้เขียนกับแม่จึงเว้นระยะห่างระหว่างกันประมาณหนึ่ง เมื่อมีช่องว่างให้คิดคะนึงถึง การพูดคุย และพบหน้ากันแต่ละครั้งจึงเป็นไปอย่างราบรื่นกว่า
เมื่อลูกออกไปมีชีวิตเป็นของตนเองแล้ว แม่ของฉันจึงมีเวลาหาความสุขใส่ตัวอย่างมนุษย์ปุถุชนทั่วไปมากขึ้น ไม่ต้องมามัวพะวงว่า ลูกมีอะไรกินไหมและจะกลับบ้านมาเมื่อไร เดี๋ยวนี้เวลาโทรศัพท์ไปหา บางครั้งแม่ก็จะเล่าให้ฟังว่า ได้ไปลองเล่นไอซ์สเกตกับเพื่อนๆ เป็นครั้งแรก ได้ลองซื้อวอลเปเปอร์มาตกแต่งห้องนอนให้เข้ากับสไตล์ของตนเองมากขึ้น และได้กลับมาซื้อการ์ตูนแนวโชโจมาอ่านเหมือนสมัยสาวๆ หลังจากที่ไม่ได้ซื้อเรื่องใหม่ๆ อ่านเลยมากว่า 20 ปี
แม้จะไม่สามารถคืนความฝันให้กับท่านได้ แต่ผู้เขียนก็หวังว่า อย่างน้อยการได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการจะช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของท่าน
และแอบหวังอยู่เสมอว่า หากมัลติเวิร์สมีจริง ขอให้มีโลกสักใบหนึ่งที่แม่ได้ทำตามความฝัน ไม่ต้องมาเจอกับพ่อ ไม่ต้องมามีฉัน หรือพี่น้องของฉันคนไหนๆ ขอให้ท่านได้เป็นคุณครูสอนศิลปะคนโปรดของเด็กๆ ได้เป็นแม่ค้าร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าดัง หรือเป็นนักวาดการ์ตูนชั้นครูที่ร่ำรวยเงินลิขสิทธิ์ และใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีอยู่ที่ไหนสักแห่ง
Tags: women’s rights, reproductive rights, motherhood การทำแท้ง, สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์, ความเป็นแม่, ความฝัน, สตรีนิยม, Feminism, สิทธิสตรี, Abortion