ดูจะขัดกันอยู่พิลึก ที่ช่วงเริ่มต้นปีใหม่กลับเลือกเขียนเรื่องกฎหมายตราสามดวงที่ใช้ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่อย่างที่ จอร์จ สันตยานา (George Santayana) ว่าไว้ ผู้ไม่ยอมเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ก็จะถูกสาปให้กระทำผิดพลาดซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ (Those who cannot learn from history are doomed to repeat it.) 

เราจึงขอเริ่มต้นศักราชด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลือส่งต่อวัฒนธรรม ธรรมเนียม ค่านิยม ความคิด ที่กดทับและตีกรอบการเป็นหญิงดี หญิงร้าย หรือหญิงแพศยาในสังคมไทยไว้ที่นี่

หญิงมีชู้: ที่มาของการแก้ไขกฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวงในสมัยอยุธยาถูกแก้ไขดัดแปลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องเมียมีชู้ระหว่างอำแดงป้อม ภรรยาที่นอกใจมีชู้กับนายราชาอรรถ และฟ้องหย่านายบุญศรี แต่นายบุญศรีไม่ยอม 

เมื่อเรื่องถึงการฟ้องร้อง ผู้พิพากษาตัดสินให้หย่าได้ เพราะกฎหมายตราสามดวงในสมัยอยุธยาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงขอหย่าจากสามีได้ตามสมัครใจ หากสามีไม่ยินยอมก็ฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยส่วนใหญ่แล้วศาลจะยินยอมให้หย่าด้วยเหตุผลว่า ทั้ง 2 คนสิ้นบุญกันแล้ว แม้ว่าจะหย่าด้วยเหตุผลผู้หญิงมีชู้ก็ตาม 

นายบุญศรีไม่พอใจการตัดสินจึงถวายฎีการ้องทุกข์ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงทราบก็วินิจฉัยว่า “หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปฤกษาให้หย่ากันนั้น หาเปนยุติธรรมไม่” และกล่าวต่อว่ากฎหมายนี้ฟั่นเฟือนวิปริต จึงมีการแก้ไขกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาใหม่ 

‘หญิงแพศยา’ เป็นหนึ่งในคำเรียกหญิงที่คบชู้สู่ชาย ตามกฎหมายตราสามดวงใน ‘พระไอยการลักษณะผัวเมีย’ เพราะในกฎหมายถือว่าเมียเป็นสิทธิของสามี ดังนั้นเมื่อเกิดการคบชู้ขึ้น กฎหมายจะประณามเพศหญิงและลงโทษอย่างรุนแรงจนมีคำเรียกหลายอย่าง เช่น หญิงอันแรง หญิงอันร้าย หญิงแพศยา หญิงทำชู้เหนือผัว และหญิงชู้ 

“มาตราหนึ่ง หญิงใดทําชู้นอกใจผัว มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวนีในวันเดียว 2 คนขึ้นไป ว่าเปนหญิงแพศยา มิให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย ให้เอาปูนเฃียนหน้าหญิงร้ายนั้นเปนตราง ร้อยดอก ฉะบาเปนมาไลยไส่ศีศะ ไส่ฅอ แล้วเอาขึ้นฃาหย่างผจาน”

หากสังเกตจะพบว่าการถูกปรับมีเพียงแค่ฝ่ายหญิง ไม่มีการปรับเงินฝ่ายชายที่กระทำร่วมกันแต่อย่างใด นอกจากนี้บทลงโทษยังรุนแรงไปถึงขั้นเอาปูนเขียนหน้าเป็นตาราง ร้อยดอกชบาสีแดงใส่ศีรษะ ใส่คอ และนำขึ้นขาหยั่งแห่ประจาน

กฎหมายยังนิยามผู้หญิงตามอาชีพ เช่น หญิงคนขับ หญิงคนรำ และหญิงนครโสเภณี หญิงที่ทำอาชีพเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่มีฐานะทางสังคมต่ำ ถูกเหยียดหยาม ไม่สามารถขึ้นให้การเป็นพยานใดๆ ได้ และถูกนิยามว่าเป็นหญิงแพศยา ซึ่งไม่ต้องปรับไหมชายชู้ นอกจากนี้ในมาตรา 6 ยังระบุต่อว่า ชายที่สู่ขอผู้หญิงเต้นกินรำกิน โสเภณี หรือหญิงขอทานมาเป็นเมีย หากหญิงดังกล่าวทำชู้ต่อสามี ให้ประจานหญิงและชายชู้โดยการเทียมแอกนา (นำคราดไถผูกติดกับคน โดยปกติแล้วคราดไถจะผูกกับสัตว์เช่น วัว ควาย หรือม้า) เป็นเวลา 3 วัน ส่วนหญิงร้ายมีโทษเพิ่มจากชายชู้ คือการนำเฉลวมาปะหน้า ทัดดอกชบาสีแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่คอ 

กฎหมายยังให้สิทธิชายที่เป็นสามีไม่ต้องเลี้ยงดูภรรยาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หากพบว่าภรรยาเป็นหญิงร้าย หญิงแพศยา หรือค้าประเวณี หากหญิงมีชู้ตอนสามีไปราชการ ตามเสด็จ หรือออกรบ ชายชู้จะถูกปรับเป็นสองเท่า และหากสามีจับได้คาหนังคาเขาว่ากำลังเล่นชู้ในลักษณะหญิงนอนหงายชายนอนคว่ำ ผู้ชายสามารถฆ่าภรรยาและชู้ได้ 

หากภรรยาตายแต่ชู้หนีไปได้ต้องจ่ายค่าปรับสองเท่า หรือหากผู้หญิงหนีไปได้จะถือเป็นคนของหลวงและถูกพิจารณาคดีโดยรัฐ รวมถึงม่ายสามีที่ยังไม่ทันเผาศพสามี แต่ไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ก็จะถูกพิจารณาโทษตามยศถาบรรดาศักดิ์ของสามีที่ตายและชายชู้

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวงในพระไอยการลักษณะผัวเมียเท่านั้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละบทบัญญัติโทษของชายชู้มีเพียงโทษปรับไหมและจบคดี โดยไม่กล่าวถึงว่าเคยทำชู้มาก่อนหรือไม่ ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกนับรวมการกระทำความผิดฐานมีชู้บทลงโทษก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น 

แม้ว่ากฎหมายตราสามดวงจะเลิกใช้ไปกว่า 200 ปีแล้ว แต่เรายังเห็นเศษซากสังคมชายเป็นใหญ่และพุ่งเป้าการกระทำผิดมาที่เพศหญิงเพียงอย่างเดียว มีเรื่องนอกใจเมื่อไร ผู้หญิงมักกลายเป็นสนามอารมณ์มากกว่าเพศชายอยู่ดี

หลายครั้งที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเสพข่าวเรื่องการนอกใจของดารา ไม่ว่าการนอกใจครั้งนั้นจะเริ่มจากบุคคลใด แต่คนที่ได้รับการระบายอารมณ์มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเพศหญิง ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากวัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมียในอดีต ที่มองว่าเรื่องเจ้าชู้เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย แต่สำหรับผู้หญิงกลับกลายเป็นความร่าน เป็นนางแพศยา และเป็นหญิงร้าย

ในแง่ใดแง่หนึ่ง บทบัญญัติกฎหมายตราสามดวงได้กลายเป็นบรรทัดฐานสังคม ที่ตีตราว่าหญิงใดที่เล่นชู้สู่ชายนั้นมีความผิดมากกว่าเพศชาย แม้ว่าจะเกิดจากการกระทำของทั้ง 2 คนก็ตาม

กฎหมายคือรากฐาน เป็นบรรทัดฐานของสังคมที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนในยุคสมัยใดสมัยหนึ่งเท่านั้น แต่ยังแผ่อิทธิพลส่งต่อมาในระยะยาว

ในวาระขึ้นปีใหม่และใกล้เลือกตั้ง ขอให้ประชาชนได้รับของขวัญเป็นกฎหมายที่มีความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังไม่ทันสมัย หรือการบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายลาคลอด หรือกฎหมายทำแท้ง

ที่มา: 

– วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล. ‘หญิงร้าย’

– อภิชญา แก้วอุทัย. ‘ภาพแทนผู้หญิงไทยที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษา

ในวาทกรรม กฎหมายตราสามดวงในพระไอยการลักษณผัวเมีย’

– มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. ‘ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 116 พิมพ์ตามฉะบับหลวงตรา 3 ดวงเล่ม 1’ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, 2529)

Tags: , , , , , , , ,