การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 หรือ FIFA World Cup ในปีนี้ค่อนข้างเงียบเหงา ความเหงาที่ว่าเกิดขึ้นจากเหตุผลหลายประการ และในความเฉยชาที่ว่าก็ซ่อนประเด็นร้อนระอุเอาไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อนที่ประชาคมโลกในยุคปัจจุบันค่อนข้างให้ความสนใจอย่าง ‘สิทธิมนุษยชน’ กับ ‘การเหยียดเพศ’ ที่ปีนี้เจ้าภาพบอลโลกอย่าง ‘ประเทศกาตาร์’ มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เข้มงวดต่อสองประเด็นที่กล่าวมา 

เดือนมิถุนายน 2022 ฟีฟ่าออกแถลงการณ์เตือนแฟนบอลทั่วโลกที่จะเดินทางมายังกาตาร์ว่า รัฐบาลได้แบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดงานสังสรรค์ และการมีเพศสัมพันธ์กันคนที่ไม่ใช่คู่สมรส 

กลายเป็นว่าข้อบังคับในการจะไปชมฟุตบอลโลกครั้งนี้มีทั้งห้ามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ห้าม LGBTQ+ แสดงออกถึงความรักในพื้นที่สาธารณะ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามคนทุกเพศมีเพศสัมพันธ์แบบ One Night Stand ซึ่งในประเด็นการร่วมเพศกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรส อาจทำให้มีความผิดตามกฎหมายจำคุกไม่เกิน 7 ปี 

ยังไม่รวมเรื่องข้อสงสัยที่ว่าสนามฟุตบอลสุดหรูที่เร่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับงานครั้งนี้ ต้องแลกมาด้วยชีวิตของแรงงานข้ามชาติหลายพันคน ที่ตอนนี้ความตายของพวกเขาก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา 

เกิดอะไรขึ้นกับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 กันแน่?

 

สิทธิมนุษยชนติดลบในสังคมที่ยังมองว่า LGBTQ+ คือตราบาป

ย้อนกลับไปยังปี 2019 นัสเซอร์ อัล-เคเตอร์ (Nasser al-Khater) ผู้อำนวยการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เคยตอบคำถามถึงกรณีที่ว่าประเทศกาตาร์พร้อมต้อนรับนักกีฬาและแฟนบอลที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่จะเดินทางมายังงานฟุตบอลโลกหรือไม่ โดยเขาระบุว่า 

“กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ว่าแฟนบอลจะเป็นเพศอะไร มีความชอบแบบใด นับถือศาสนาหรือมีเชื้อชาติใด เราพร้อมต้อนรับและดูแลความปลอดภัยของทุกคน

“อย่างไรก็ตาม กาตาร์เป็นประเทศเรียบง่ายที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม การแสดงออกถึงความรักในพื้นที่สาธารณะยังคงเป็นเรื่องที่สังคมไม่สามารถยอมรับได้ในวัฒนธรรมนี้”

นัสเซอร์ยังกล่าวอีกว่าแฟนบอลสามารถแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและธงที่มีความหมายถึงความหลากหลายทางเพศในสนามได้ตามปกติ เมื่อผู้อำนวยการการจัดงานยืนยันแบบนี้ ก็ดูเหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล แต่กลายเป็นว่าพอใกล้ถึงวันแข่งขันเข้าทุกที รัฐบาลกาตาร์ได้ออกคำชี้แจงและข้อบังคับหลายอย่างที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ‘ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนเสียเท่าไร’ 

องค์กรเพื่อความหลากหลายทางเพศกว่า 16 แห่งทั่วโลก ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) เพื่อย้ำถึงแนวทางและนโยบายเพื่อความปลอดภัยแก่ LGBTQ+ ที่จะเดินทางไปยังกาตาร์ เพราะหลังจากคำยืนยันของนัสเซอร์ ทางประเทศผู้จัดก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรเพิ่มเติมอีกเลย

อับดุลอาซิซ อับดุลลาห์ อัล อันซารี (Abdulaziz Abdullah Al Ansari) ประธานคณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติกาตาร์ และหัวหน้าความปลอดภัยการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องแบนธงสีรุ้ง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

นั่นหมายความว่าในทุกการแข่งขันจะต้องไม่มีธงสีรุ้งอยู่ในสนามฟุตบอล รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของเมือง เนื่องจากธงดังกล่าวขัดต่อหลักศาสนา รวมถึงเหตุผลที่ว่าจำเป็นต้องแบนเพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่ถือธงสีรุ้ง (อาจหมายถึงข้อกังวลว่าคนพื้นที่เห็นธงแล้วเกิดความไม่พอใจ สุ่มเสี่ยงให้เกิดการปะทะหรือทำร้ายร่างกายกันได้)

อับดุลอาซิซ อันซารี ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เขาไม่ได้อยากจะปลดธงสีรุ้งออกจากสนาม แต่ทุกคนที่มายังสนามการแข่งขันต่างต้องการมาดูการแข่งฟุตบอล มาดูเกมกีฬา ไม่ใช่มาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งขอให้ทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวกาตาร์ด้วย เพราะกฎหมายและข้อบังคับที่ทำกันมานานไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 28 วันที่แข่งขันฟุตบอลโลก

แถลงการณ์ดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์ไปทั่วโลก บางส่วนเห็นด้วยและยินยอมที่จะไม่นำธงสีรุ้งเข้าไปยังสนามแข่ง บางส่วนแอบขุ่นเคืองใจเล็กน้อย และมีหลายเสียงที่ออกมาตั้งคำถามกับแถลงการณ์ที่ว่า ดังเช่น คริส เปาอูรอส (Chris Paouros) นักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติในสหราชอาณาจักร มองว่าการชี้แจงของอับดุลอาซิซนั้นย้อนแย้ง ไม่ชัดเจน มองแค่มุมฝั่งตัวเองเพียงอย่างเดียว ส่วนตัวแทนจาก FARE หน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติ แสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่ LGBTQ+ ต้องระวังในกาตาร์ไม่ใช่ผู้คนทั่วไป แต่หมายถึงรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2022 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch: HRW) ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Reuters ว่าเจ้าหน้าที่ในกองกำลังรักษาความปลอดภัยกาตาร์ทำร้ายร่างกายและจับกุม LGBTQ+ หลายสิบคน เพียงเพราะพวกเขาออกมาพูดเรื่องสิทธิในเรือนร่าง และสิทธิที่พวกเขาจะแต่งกายให้ตรงตามความต้องการของตัวเอง แม้การแต่งกายนั้นจะไม่ตรงกับเพศสภาพแต่กำเนิดก็ตาม 

พยานจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม ยืนยันว่ามีเพื่อนในชุมชน LGBTQ+ หลายคนถูกควบคุมตัวและหายไปนานหลายเดือน บางคนหายตัวไปเป็นปี ก่อนจะรู้ว่าคนเหล่านั้นถูกรัฐบาลจับไปคุมขังโดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา หลายคนถูกทุบตี ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าแล้วถูกบันทึกภาพขณะร่างเปลือยเปล่า หากสิ่งที่เล่ามานั้นเป็นความจริง ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดความเป็นมนุษย์จากช่องโหว่ทางกฎหมายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาได้นานถึง 6 เดือน 

สิ่งที่จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกขังกลับออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง มีเพียงแค่ต้องยอมลงชื่อในสัญญาที่ระบุว่าพวกเขาจะต้องหยุดทำกิจกรรมใดๆ ที่ส่งผลต่อศีลธรรมและความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ยังต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อเปลี่ยนความคิดทางเพศ (ที่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า ‘บำบัดแก้เกย์’) 

เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยออกมาปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว ยืนยันว่ากาตาร์ไม่เคยเลือกปฏิบัติ และยังคงให้การสนับสนุนผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ 

เหตุการณ์การจับกุมผู้ประท้วงเรื่องเพศ จับกุมผู้ที่แต่งกายไม่ตรงตามเพศแต่กำเนิด กับแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงไม่สอดคล้องกันเรื่อยมา 

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 คาลิด ซัลมาน (Khalid Salman) อดีตนักเตะทีมชาติกาตาร์ ทูตฟุตบอลโลกและหนึ่งในตัวแทนเจ้าภาพ ให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมนีเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ+ แรกเริ่มเขาแนะนำตัวเองว่าไม่ได้เป็นชาวมุสลิมเคร่งศาสนา แต่อย่างไรก็ตามรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดหลักศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในกาตาร์นับถือ ซ้ำร้ายความรักของคนเพศเดียวกันร่วมเพศยังถือว่าสร้างความเสียหายทางจิตใจ จนเกิดเสียงวิจารณ์ว่าประเทศเจ้าภาพจะตอกย้ำซ้ำเติมสร้างวาทกรรมว่า LGBTQ+ เป็นสิ่งชั่วร้ายไปจนถึงเมื่อไหร่ 

คำพูดของเขาทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ราชา ยูเนส (Rasha Younes) นักวิเคราะห์เกี่ยวกับสิทธิ LGBTQ+ ขององค์กร Human Rights Watch กล่าวถึงความคิดเห็นของซัลมานว่าเป็นอันตรายและทำให้หลายฝ่ายต้องกังวล

“สิ่งที่เกิดขึ้นอาจแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกาตาร์ สะท้อนถึงผลกระทบที่คนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องพบเจอ”

มีนักฟุตบอลจำนวนมากแสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดของประเทศเจ้าภาพ แฮร์รี่ เคน (Harry Kane) นักเตะชาวอังกฤษกล่าวว่าในการแข่งขันฟุตบอลโลก เขาจะสวมปลอกแขนกัปตันที่เขียนข้อความว่า One Love และมีรูปหัวใจสีรุ้งอยู่ตรงกลาง แม้ฟีฟ่าจะแจ้งกฎชัดเจนว่า ‘นักกีฬาจะต้องไม่สวมอุปกรณ์หรือเครื่องแต่งกายที่มีสโลแกน รูปภาพ ถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา หรือเรื่องส่วนตัว’  

 

สนามฟุตบอลที่สร้างจากเลือดและความตายของแรงงานหกพันคน?

เรื่องราวยังคงดูวุ่นวายมากขึ้นไปอีกเมื่อสำนักข่าว Daily Mail ในประเทศอังกฤษลงข่าวว่าได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ถูกเกณฑ์มาสร้างสนามที่ใช้แข่งฟุตบอลโลกทั้งจากอินเดีย ปากีสถาน เคนยา ฯลฯ บังคับให้ทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมงท่ามกลางอากาศร้อนจัด จนทำให้แรงงานจำนวนมากเสียชีวิตจากภาวะไหลตายเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอและร่างกายขาดสารอาหาร 

สำนักข่าว The Guardian ก็ตามติดประเด็นนี้ไม่แพ้กัน โดยรายงานว่ามีแรงงานที่เสียชีวิตจากการสร้างสนามฟุตบอลขนาดใหญ่มากถึง 6,500 ราย และครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมากนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือได้รับความยุติธรรมจากผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด 

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการรวบรวมของ บารุน กิเมียร์ (Barun Ghimire) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ที่เตรียมยื่นฟ้องเอาผิดกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลก เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิแรงงาน ใช้งานกลางแดดนานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง ซ้ำยังจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นธรรมด้วยเงินเพียงแค่ 8.30 ปอนด์ต่อวัน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 380 บาท)

จนถึงตอนนี้รัฐบาลกาตาร์ยังไม่ออกมายืนยันว่ามีการใช้แรงงานเกินควรจริงหรือไม่ นอกจากอ้างว่ารัฐบาลยังไม่เคยได้รับรายงานปัญหาดังกล่าว และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่ามีแรงงานที่ต้องเสียชีวิตจากการสร้างสนามฟุตบอลไปแล้วกี่ราย 

สิ่งนี้ทำให้เกิดการทิ้งคำถามปลายเปิดว่า ทำไมเราถึงต้องเข้าร่วมชมกีฬาในสนามกีฬาที่แลกมาด้วยเลือดของผู้คนมากมายขนาดนี้ 

กาตาร์ลงทุนลงแรงไปกับการจัดงานครั้งนี้ในระดับมหาศาล วัดได้จากการทุ่มเงินมากกว่า 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.3 ล้านล้านบาท) เพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ที่พักสำหรับนักกีฬาและผู้มาเยือน สร้างสนามฟุตบอลติดแอร์ กำลังพล การบริการ รวมถึงเพื่อใช้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ฯลฯ

ข่าวฉาวเกี่ยวกับสิทธิแรงงานมีส่วนทำให้สหภาพฟุตบอลเดนมาร์ก (DBU) แสดงจุดยืนผ่านการลดกิจกรรมในกาตาร์ โดยทางสหภาพฯ ชี้แจงว่าพวกเขาไม่อยากมีส่วนร่วมในการสร้างกำไรให้ประเทศเจ้าภาพ สิ่งที่ทำได้ก็คือลดกิจกรรมต่างๆ เช่น ครอบครัวของนักเตะจะไม่ร่วมเดินทางไปด้วย รวมถึงการยกเลิกทริปอื่นๆ ในกาตาร์ด้วยเช่นกัน 

 

FIFA กับวลียอดฮิตอย่าง “อย่าเอาการเมืองมาปนกับกีฬา?”

งานฟุตบอลโลก 2022 ที่จัดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม เคยเป็นงานที่ใครๆ ต่างตั้งตารอ แต่ด้วยประเด็นดราม่าหลายทาง กับเสียงวิจารณ์มายัง FIFA และประเทศเจ้าภาพ วันที่ 4 พฤศจิกายน จิอานนี่ อินฟานติโน่ (Gianni Infantino) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ออกจดหมายถึงทีมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก ขอให้มุ่งความสนใจไปยังฟุตบอล และอย่านำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับกีฬา

“ฟีฟ่าพยายามเคารพความเชื่อและความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่โลกมีจุดแข็งหนึ่งอย่างที่เรียกว่า ‘ความหลากหลาย’ ที่ผู้คนจะต้องเคารพในความหลากหลายที่ว่า โดยไม่คิดว่าผู้ใด วัฒนธรรมใด และชาติใด จะเหนือกว่าผู้อื่น กาตาร์จะต้อนรับทุกคนโดยไม่สนใจเพศ ศาสนา รสนิยม สัญชาติ และอยากให้ทุกคนวางเรื่องราวอื่นๆ แล้วให้ความสนใจกับการแข่งในสนาม และฟุตบอลนั้นเป็นกลาง”

ถัดมาอีกหนึ่งวันหลัง FIFA ออกแถลงการณ์ ชีค มูฮัมเหม็ด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อัษษานี (Sheikh Mohammed bin Abdulrahman bin Jassim Al-Thani) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า แม้กาตาร์จะเผชิญกับข้อครหาหลายอย่าง ทั้งประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นเรื่องสิทธิแรงงาน หรือเรื่องการทุจริตเพื่อให้ได้เป็นเจ้าภาพ แต่การแข่งขันฟุตบอลโลกจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป 

“มีไม่ถึง 10 ประเทศด้วยซ้ำที่บอยคอตกาตาร์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีส่วนใดๆ กับการจัดงานครั้งนี้เลย และผู้คนทั่วโลกก็กำลังตั้งตารอที่จะได้ร่วมเฉลิมฉลองไปกับการแข่งขัน โดยวัดจากตั๋วเข้าชมที่ถูกขายไปมากกว่า 97%”

อีกหนึ่งประเทศที่ค่อนข้างแสดงออกถึงประเด็นเจ้าภาพบอลโลกคือ ‘อังกฤษ’ ทั้งตัวของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เจมส์ เคลฟเวอลี (James Cleverly) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้มาเยือนจะต้องเคารพวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ จนทำให้หลายเสียงหันมาวิจารณ์เขาแทนกาตาร์

แกรี ลินิเกอร์ (Gary Lineker) อดีตนักเตะและพิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศว่า “มันถูกต้องแล้วหรือที่คุณจะห้ามไม่ให้ผู้คนแสดงพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นเกย์”

ลูซี พาวเวลล์ (Lucy Powell) รัฐมนตรีเงา กระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬาแห่งสหราชอาณาจักร มองว่าคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศค่อนข้างไร้สาระถึงขั้นใช้คำว่า “เป็นคำพูดที่หนวกหูและน่าตกใจมาก กีฬาควรเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่กลายเป็นว่าแฟนบอลหลายคนไม่สามารถเดินทางไปดูกีฬาที่ตัวเองชอบได้ จะให้โทษว่าเป็นความผิดของแฟนบอลเหล่านั้นที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง แล้วเสี่ยงจะถูกทำร้ายหากวัดจากสถิติเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกาตาร์ แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจบางคนเลือกทำคือปกป้องค่านิยมการเลือกปฏิบัติ”

สตีฟ ค็อกเบิร์น (Steve Cockburn) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและการเงิน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) แสดงความคิดเห็นว่าถ้าประธาน FIFA ต้องการให้โลกมุ่งความสนใจไปแค่การแข่งขันฟุตบอล วิธีแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุดคือการจัดการกับปัญหาสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เอาปัญหาทั้งหมดซุกไว้ใต้พรมแล้วมาขอร้องให้โลกต้องเห็นใจ 

“สิ่งแรกๆ ที่ FIFA ควรทำก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น คือจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายต่อแรงงานข้ามชาติ ควบคู่กับการสร้างความมั่นใจว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ถูกคุกคาม แต่น่าแปลกใจมากที่พวกเขายังไม่คิดทำอะไรสักอย่าง 

“จิอานนี่ อินฟานติโน่ อาจพูดถูกที่ว่าฟุตบอลไม่มีสุญญากาศทางการเมือง แต่กลับกัน มีคนงานหลายแสดนคนต้องเผชิญกับการถูกกดขี่ ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดเพียงเพื่อให้การแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้เกิดขึ้น เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ได้”

แม้ประเทศเจ้าภาพและ FIFA จะออกมาร้องขอให้หลายประเทศที่ประณามกาตาร์ หยุดเอาการเมืองมาปนกับกีฬา แต่ขณะเดียวกัน ตัวแทนกาตาร์ก็เคยให้สัมภาษณ์ถึงรัสเซียหลายครั้ง เช่น ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ออกมาแสดงความขอบคุณรัสเซียที่ให้การสนับสนุนเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นอย่างดี ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสองประเทศที่จะเดินไปด้วยกันจนกว่าการแข่งขันฟุตบอลจะสิ้นสุดลง ท่ามกลางหลายประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซียจากการยกกองทัพบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 

 

 

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2022/11/08/football/qatar-fifa-world-cup-ambassador-homosexuality-spt-intl/index.html 

https://www.theguardian.com/football/2022/nov/08/qatar-world-cup-ambassador-homosexuality 

https://www.theguardian.com/football/2022/nov/07/six-in-10-in-uk-oppose-qatar-hosting-world-cup-over-anti-gay-laws 

https://sportstar.thehindu.com/football/fifa-world-cup/qatar-world-cup-2022-fifa-lgbtq-rights-protest-fifa-museum-zurich-amnesty-international-football/article66112572.ece 

https://www.bbc.com/news/uk-63401193 

https://www.france24.com/en/tv-shows/the-debate/20221027-the-shadow-workers-of-qatar-is-the-world-cup-host-sportswashing-its-reputation 

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,