ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘นิยายวาย’ หรือวรรณกรรมชายรักชาย (Boy’s Love) กลายเป็นหนึ่งในกระแสที่เติบโตเร็วที่สุดในวงการบันเทิงเอเชีย โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Danmei (ตันเหม่ย) ที่แปลตรงตัวว่า ‘ความงดงามอันวิไล’ นิยายหลายเรื่องได้รับความนิยมจนถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ดังระดับชาติ เช่น The Untamed หรือ Word of Honor ที่มีฐานแฟนคลับกระจายอยู่ทั่วโลก

ทว่าความสำเร็จดังกล่าวกลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีน ‘จับตามอง’ อย่างเงียบๆ มาหลายปีกับข้อครหาเส้นบางๆ ระหว่าง ‘จินตนาการ’ กับ ‘ความผิดทางกฎหมาย’ ที่กำลังถูกตีเส้นใหม่อย่างเข้มงวด และหนึ่งในเป้าหมายหลักคือ นิยายวายหรือ Danmei วรรณกรรมชายรักชายที่กลายเป็นปรากฏการณ์วัฒนธรรมของยุค

จีนเปิดปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มนักเขียน Danmei บนเว็บไซต์วรรณกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2025 ที่ผ่านมา ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า เนื้อหาที่พวกเธอผลิตเข้าข่าย ‘ลามกอนาจาร’ และ ‘เป็นภัยต่อเยาวชน’ แม้บางเรื่องจะไม่มีฉากร่วมเพศอย่างชัดเจนก็ตาม หลายคนถูกปรับเป็นเงินมหาศาล บางคนถูกตัดสินจำคุก ขณะที่อีกจำนวนมากยังคงถูกสอบสวนโดยไม่มีความชัดเจนว่าผิดตามข้อกฎหมายใดกันแน่ ซึ่งนักเขียนเหล่านี้ส่วนใหญ่คือ ผู้หญิงวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่เคยเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยของการเล่าเรื่องที่แตกต่าง

กรณีดังกล่าวจุดกระแสวิพากษ์ในโลกออนไลน์ทั้งในจีนและต่างประเทศ หลายคนตั้งคำถามว่า รัฐมีสิทธิแค่ไหนในการนิยามว่า ‘อะไรคือความเหมาะสม’ ทำไมนิยายที่สะท้อนความรักที่ต่างไปจากบรรทัดฐานจึงกลายเป็นภัยต่อความมั่นคง

กฎหมายลามกอนาจารกับบทลงโทษนักเขียนวายหญิงในจีน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2025 จีนดำเนินการจับกุมนักเขียนนิยาย Danmei หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘นิยายวาย’ อย่างเข้มข้น โดยมีนักเขียนอย่างน้อย 30 คนถูกตั้งข้อหา ‘ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกเพื่อหวังผลกำไร’ ตามกฎหมายอาญาปี 1997 และฉบับแก้ไขปี 2004-2010 ซึ่งอาจนำไปสู่โทษปรับหรือจำคุกนานกว่า 10 ปี หากผู้เขียนมีรายได้จากผลงานเกินเกณฑ์ที่กำหนด

นักเขียนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัย 20-30 ปี บางคนยังเป็นนักศึกษาหรือทำงานพาร์ตไทม์ และเขียนนิยายเป็นรายได้เสริม รายได้ของพวกเธอไม่ได้สูง บางรายมีรายรับเพียง 4,000-5,000 หยวน (ประมาณ 1.8 หมื่น-2.3 หมื่นบาท) แต่หากผลงานมียอดคลิกเกิน 5,000 ครั้ง ก็เพียงพอให้ตำรวจนำข้อหาสื่อลามกมาใช้ดำเนินคดีได้

แม้หลายคนเผยแพร่งานผ่านแพลตฟอร์ม Haitang Literature City ซึ่งตั้งอยู่ในไต้หวัน แต่ก็ยังถูกจับกุมและสอบสวนในจีนแผ่นดินใหญ่ ลักษณะดังกล่าว เรียกว่า ‘Offshore Fishing’ หรือการจับกุมข้ามเขต กล่าวคือแม้นักเขียนจะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุและไม่มีผู้อ่านในจังหวัดนั้นเลย ตำรวจก็ยังสามารถเรียกตัวไปสอบสวนได้ โดยอ้างว่า เนื้อหาที่เขียนเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีผู้เสียหายที่ชัดเจนเลยก็ตาม

นอกจากนั้นขั้นตอนการควบคุมตัวก็เต็มไปด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ถอดเสื้อผ้า ถ่ายภาพ และบังคับให้ลงนามในเอกสารการสอบสวนอย่างก้าวร้าว บางคนถูกควบคุมตัว บางคนได้รับการประกันตัว แต่เกือบทุกรายถูกปรับเงินจำนวนมาก บางรายถูกเรียกปรับเป็น 2 เท่าของรายได้ทั้งหมดจากการเขียนนิยาย ซึ่งมีตั้งแต่ประมาณ 2.7 หมื่น-5.6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9 แสน-1.9 ล้านบาท) กลายเป็นว่า สิ่งที่ควรเป็นผลตอบแทนจากความคิดสร้างสรรค์ ถูกตีความว่าเป็น ‘เงินจากที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย’ ไปโดยปริยาย

เมื่อรัฐใช้นิยาม ‘ลามก’ ที่คลุมเครือเป็นเครื่องมือกวาดล้าง Danmei

ปัญหาสำคัญคือ ความไม่ชัดเจนของนิยาม ‘ลามกอนาจาร’ ซึ่งเปิดทางให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง หลายครั้งนักเขียนถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่เนื้อหาลามกทั้งที่ไม่มีฉากร่วมเพศอย่างชัดเจน หรือมุ่งเน้นเรื่องราวความรักโรแมนติกมากกว่าอีโรติก เพียงแค่มีฉากจูบหรือแสดงความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างตัวละครชาย ก็อาจถูกตีความว่าเบี่ยงเบนหรือผิดปกติได้ตามมุมมองของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

การกวาดล้างเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการชิงหล่าง (Qinglang) ซึ่งเริ่มในปี 2021 ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานควบคุมโลกไซเบอร์ของจีน (Cyberspace Administration of China) โดยมีเป้าหมายในการควบคุมเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชน ทว่าการกวาดล้าง Danmei กลับสะท้อนให้เห็นว่า รัฐใช้นโยบายนี้เพื่อควบคุมความคิดมากกว่าจะคุ้มครอง

หลายกรณีแสดงให้เห็นว่า การใช้กฎหมายไม่ได้ยึดตามหลักความเสมอภาค แต่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางเพศและวัฒนธรรม นักเขียนชายบางคนที่แต่งนิยายลามกระหว่างชาย-หญิง กลับไม่ได้รับบทลงโทษเทียบเท่ากับนักเขียน Danmei ทั้งที่เนื้อหามีฉากร่วมเพศชัดเจนกว่า นำไปสู่คำถามต่อความยุติธรรมในระบบกฎหมายของจีน ซึ่งทั้งในและนอกประเทศต่างจับตามอง

บาดแผลและความกลัวของนักเขียน Danmei ผู้ถูกหมายหัว

“ฉันถูกเตือนไม่ให้พูดถึงเรื่องนี้” ผู้ใช้งานชื่อ ปิงปิง อานัน ยงฟู หนึ่งในบัญชีบน Weibo ที่ออกมาเล่าประสบการณ์ถูกดำเนินคดีจากการเขียนนิยายวาย ซึ่งโพสต์ของเธอกลายเป็นไวรัล ก่อนจะลบข้อความและเขียนขอบคุณผู้สนับสนุน พร้อมยอมรับว่าเธอทำผิดกฎหมาย หลังจากนั้นเธอก็ลบบัญชีไปอย่างเงียบงัน

หญิงสาวอีกรายซึ่งอายุเพียง 20 ปี เล่าว่า ตำรวจแนะนำให้เธอพูดคุยกับทนาย และคืน ‘รายได้ผิดกฎหมาย’ เพื่อให้ได้รับโทษเบาลง “ฉันยังเด็กมาก และฉันก็ทำลายชีวิตตัวเองตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลยด้วยซ้ำ”

ขณะที่ จ้าว อู่ นักเขียนนิยาย Danmei มาเป็นเวลา 20 ปี กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ฉันไม่เคยคิดว่า คำทุกคำที่เคยเขียนจะย้อนกลับมาหลอกหลอนฉัน แต่ฉันจะไม่หยุดเขียน เพราะนี่คือความสุขของฉัน และคือสายสัมพันธ์ที่ฉันมีต่อชุมชน”

สำหรับนักเขียนหญิงเหล่านี้ การทำงานในเงามืดอาจเป็นทางเลือกเดียวในประเทศที่ยังตีตราเรื่องเพศและความหลากหลาย แต่เมื่อถูกเปิดโปง ความฝันก็กลายเป็นฝันร้ายและบางคนอาจหายวับไปจากโลกวรรณกรรมอย่างน่าเศร้า

รัฐอำนาจนิยมกับความกลัวต่อเรื่องเล่าที่ควบคุมไม่ได้

แม้รัฐบาลจีนจะไม่ได้ออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQIA+ อย่างรุนแรงเหมือนบางประเทศ แต่ก็ไม่เคยยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดเผย รัฐเลือกใช้นโยบาย ‘ควบคุมและกำกับ’ อย่างแนบเนียน ผ่านกฎหมาย สื่อ และระบบการศึกษา เพื่อกำหนดกรอบของความรักและเพศสภาพให้อยู่ในรูปแบบที่ยอมรับได้

ในโลกของนิยายวาย ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชายเปิดพื้นที่ให้ผู้ชายสามารถอ่อนแอ เจ็บปวด ร้องไห้ และพึ่งพากันได้อย่างเท่าเทียม ความรักไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้บทบาท ‘ชาย-หญิง’ แบบเดิม ซึ่งแนวคิดนี้อาจขัดแย้งกับภาพของ ‘ชายแท้’ ชายที่ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้นำ ทหาร หรือผู้เสียสละเพื่อชาติ ตามแบบฉบับรัฐนิยมที่รัฐบาลจีนพยายามปลูกฝัง

นิยายวายส่วนใหญ่ผลิตโดยนักเขียนหญิงธรรมดา เติบโตบนอินเทอร์เน็ต ผ่านการมีส่วนร่วมของแฟนคลับและคอมมูนิตี้ผู้หญิงนับล้าน กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘วาทกรรมต้านอำนาจ’ ที่ผู้หญิงใช้สื่อสารความรู้สึก อารมณ์ และอัตลักษณ์ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

เนื้อหาวายจึงไม่เพียงถูกมองว่าเบี่ยงเบนทางเพศ แต่ยังถูกตีตราว่าเป็นภัยเงียบที่อาจทำให้ผู้ชายจีน ‘อ่อนแอ’ หรือ ‘หลงผิด’ และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของชาติในระยะยาว ขณะเดียวกัน ทางการจีนยังมองว่า การเสพนิยายวายอาจทำให้ผู้หญิงจำนวนมากไม่อยากแต่งงานหรือมีลูก ซึ่งขัดกับนโยบายของรัฐที่พยายามกระตุ้นให้ประชากรมีบุตรมากขึ้น

ในโลกที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานดั้งเดิมมากขึ้น การปราบปรามนิยายวายจึงอาจไม่ใช่การจัดระเบียบวัฒนธรรม แต่คือการแสดงอำนาจของรัฐต่อประชาชนที่กำลังใช้ ‘พื้นที่จินตนาการ’ เป็นเครื่องมือปลดปล่อยตัวเองจากกรอบที่รัฐกำหนด จินตนาการที่อาจเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม และบทบาทของประชาชนในแบบที่รัฐไม่ได้วางเอาไว้

แล้วเสรีภาพในการเล่าเรื่องยังเหลืออยู่แค่ไหนในโลกที่รัฐถือปากกา

อ้างอิง

https://www.abc.net.au/news/2025-06-12/police-in-china-arrest-female-writers-over-homosexual-novels/105403258

https://www.bbc.com/news/articles/c056nle2drno

https://www.bbc.com/thai/articles/ce8zzdv9464o

https://www.nytimes.com/2025/06/28/world/asia/china-boys-love-women.html#selection-1107.108-1107.127

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2867589

https://www.them.us/story/china-gay-erotica-arrests-danmei

Tags: , , , , , ,