เพื่อให้ได้สิทธิในการยกเว้นเกณฑ์ทหาร กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนต้องยอมที่จะให้แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าข่ายเป็นบุคคลที่ไม่สมบูรณ์ และต้องมีการออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าเป็น ‘ผู้ป่วยโรคจิตถาวร’ ที่แม้ภายหลังจะถูกปรับเป็นคำว่า ‘ผู้มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด‘ (Gender Identity Disorder) ที่แม้คำอาจดูดีขึ้น แต่ก็ยังทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกปฏิบัติราวกับว่าการมีเพศวิถีที่ไม่ใช่ชายหญิงเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นความเจ็บป่วยที่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มายืนยันอยู่ดี
การทำให้เพศวิถีกลายเป็นความผิดปกติที่อธิบายได้ในทางการแพทย์เช่นนี้ วางอยู่บนฐานคิดแบบพวกคนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobe) ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศคือผู้ป่วย และอัตลักษณ์ทางเพศอื่นนอกจากชายหญิงเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา การบำบัดแก้เพศวิถี (Conversion Therapy) จึงได้เกิดขึ้นจากฐานความเชื่อนี้
การบำบัดแก้เพศวิถีคือความพยายามในการจะแก้ไขผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มีเพศวิถีแบบชายหญิงตามเพศกำเนิด อะไรที่อยู่นอกเหนือจากบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) จึงต้องได้รับการรักษา ซึ่งการบำบัดแก้เพศวิถี นอกจากจะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในแง่ของการลบเลือนอัตลักษณ์ทางเพศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจต่อผู้ที่เข้ารับการบำบัดอีกด้วย
“ผู้เข้ารับการบำบัดจะได้ดูภาพที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ และเมื่อเกิดอารมณ์ พวกเขาก็จะได้รับยาที่ทำให้อาเจียน” เคียรา เบคคาลอสซี (Chiara Beccalossi) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลินคอล์น เล่าถึงตัวอย่างการบำบัดแก้เพศวิถีที่ผู้เข้ารับการบำบัดต้องเผชิญ บันทึกไว้จนถึงปี 1970 ซึ่งมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การพูดคุยเชิงจิตวิทยา เคมีบำบัด การใช้ไฟฟ้าช็อต ฯลฯ และนอกจากวิธีที่เธอพูดถึง การบำบัดแก้เพศวิถีนั้นอาจเป็นไปได้ถึงขั้นการข่มขืนเพื่อแก้เพศ (Corrective Rape) เลยทีเดียว
ปัจจุบัน การบำบัดแก้เพศวิถีที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนก็ยังคงดำเนินอยู่ แม้ในประเทศที่เป็นเสรีนิยมและมีภาพลักษณ์สนับสนุนความหลากหลายทางเพศก็ตาม
ในปี 2018 ผลการสำรวจกลุ่ม LGBTQ+ จำนวน 108,000 คน ในพื้นที่สหราชอาณาจักร พบว่ามี 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเข้ารับการบำบัดแก้เพศวิถี และมีผู้เคยได้รับการชักชวนถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ด้วยกัน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ไม่ควรประมาทสำหรับสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
บางประเทศมีการดำเนินมาตรการต่อต้านการบำบัดแก้เพศวิถีอย่างจริงจัง เช่น เยอรมนี ได้ออกกฎหมายสั่งห้ามการบำบัดแก้เพศวิถีสำหรับผู้เยาว์ รวมถึงคุ้มครองผู้ใหญ่ที่อาจถูกบังคับหรือข่มขู่ให้เข้ารับการบำบัด บราซิลเป็นประเทศแรกๆ ที่ออกกฎหมายห้ามบำบัดแก้เพศวิถีตั้งแต่ปี 1999 หรือที่ซามัวมีกฎหมายระบุชัดเจนว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิต
ขณะที่ในสหราชอาณาจักร แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาประกาศว่าต่อต้านการบำบัดแก้เพศวิถี แต่กลับกลายเป็นว่ากฎหมายนั้นไม่ได้รวมกลุ่มทรานส์เจนเดอร์เข้าไปอยู่ในความคุ้มครองด้วย ล่าสุดจึงได้มีผู้ชุมนุมรวมตัวกันออกมาประท้วงที่ Downing Street เพื่อเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวว่า มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งที่ทรานส์เจนเดอร์ก็เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกบังคับให้บำบัดแก้เพศวิถีเช่นกัน
การบำบัดแก้เพศวิถี รวมถึงการทำให้อัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศกลายเป็นความเจ็บป่วยที่ต้องรักษา เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงอคติที่สังคมยังคงมีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่หากจะลดอคติเหล่านี้ต้องมีการแก้ไขตั้งแต่กฎหมายของรัฐอันเป็นตัวการกีดกันสิทธิที่กลุ่ม LGBTQ+ พึงมี
เพศวิถีควรเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล โดยไม่ต้องใช้บรรทัดฐานใดมาวัดว่าเพศไหนคือปกติ เพศไหนคือไม่ปกติ หรือต้องให้แพทย์มาออกใบรับรองยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อที่จะบอกว่าเราเป็นใคร
ที่มา
https://www.pinknews.co.uk/…/what-is-conversion-therapy/
https://www.bbc.com/news/explainers-56496423
https://www.bbc.com/news/uk-60988210
https://www.stonewall.org.uk/…/which-countries-have…
Tags: Gender, LGBT, LGBTQ, ความหลากหลายทางเพศ, LGBTIQ+, การบำบัดแก้เพศวิถี, The Proud of Pride