“ขอบใจนะสำนักข่าววาไรตี้ ทั้งสำหรับรางวัลและที่อุตส่าห์สาวไส้เรื่องเพศของฉันที่งานพรมแดงตั้งแต่ 11 โมงเช้า แทนที่จะเอาเวลาไปสัมภาษณ์เรื่องอื่นที่สำคัญกว่านั้น ฉันชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง กรุณาเลิกยุ่งกับฉันเรื่องนี้สักที ไม่มีใครแคร์หรอกจ้า”
บิลลี ไอลิช (Billie Eilish) นักร้องซูเปอร์สตาร์สาวในวัย 21 ปี เจ้าของผลงาน ‘What Was I Made For’ เพลงประกอบภาพยนตร์แห่งปีอย่าง Barbie (2023) โพสต์เนื้อหาดังกล่าวลงในบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวในช่วงเช้าของวันที่ 4 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา หลังจากงานพรมแดงของวาไรตี้ (Variety) เพียง 2 วันเท่านั้น
แม้จะเป็นเพียงข้อความสั้นๆ แต่ก็มากพอที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับตัวเธอทั้งในทางที่ดีและไม่ดีไปทั่วทุกแพลตฟอร์มโซเชียลฯ ทั้งนี้ ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากบทสัมภาษณ์ที่เปิดเผย ‘ความรู้สึกดึงดูด’ ต่อผู้หญิงด้วยกันของบิลลีถูกเผยแพร่ เธอได้สูญเสียผู้ติดตามในอินสตาแกรมไปแล้วมากกว่า 1 แสนคน
บิลลี ไอลิช กับความรู้สึก ‘พึงใจ’ ในเพศหญิงด้วยกัน
ย้อนกลับไปเกือบ 3 สัปดาห์ก่อน บทสัมภาษณ์ Cover Story ของบิลลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ ‘Power of Women in Hollywood’ โดยสำนักข่าววาไรตี้ ได้ถูกเผยแพร่ผ่านทางช่องทางต่างๆ โดยในตอนหนึ่งของบทความดังกล่าว บิลลีได้เปิดอกพูดคุยถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อผู้หญิงและความเป็นหญิง เธอเล่าว่า ตัวเองใช้ชีวิตช่วงที่ผ่านมาโดยหลงคิดไปเองว่าผู้หญิงคนอื่นอาจจะไม่ได้ชอบเธอ
“ฉันไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองสามารถรีเลตกับผู้หญิงด้วยกันสักเท่าไรนัก” เธอเท้าความเช่นนั้น แต่อย่างไรก็ยังยืนยันต่อทันทีว่า “ฉันรักพวกเธอมาก รักและรู้สึกดึงดูดต่อพวกเธอในฐานะผู้คน ฉันรู้สึกพึงใจต่อผู้หญิงจริงๆ นะ”
ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น รสนิยมทางเพศของเธอได้กลายมาเป็นประโยคพาดหัวให้กับสำนักข่าวทั่วโลก เสียงตอบรับแตกออกเป็นสองฝั่ง แน่นอนว่าฝั่งหนึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนและชื่นชมที่เธอสามารถพูดถึงมันได้อย่างสบายๆ
ส่วนอีกฝั่งนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกที่หลากหลายผสมปนเปกัน มีทั้งผิดหวัง ไม่เข้าใจ ไปจนถึงสงสัยว่าเธออาจไม่ได้เป็นเควียร์จริงๆ และการ ‘คัมเอาต์’ เนียนๆ ในครั้งนี้คงเป็นหนึ่งในเทคนิคอันแพรวพราวที่ทีมพีอาร์ของบิลลีคิดขึ้น เพื่อดึงความสนใจให้ผู้คนหันมาพูดถึงเธออีก
แน่นอนว่าบัญชีโซเชียลฯ ของบิลลีเต็มไปด้วยคำยินดีและคำถามมากมายโดยไม่ต้องสงสัย แต่ผู้สื่อข่าวคนแรกๆ ที่ยิงคำถามให้เธอยืนยันเกี่ยวกับการคัมเอาต์และอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองต่อหน้ากล้องที่ออกอากาศสด เป็นนักข่าวจากวาไรตี้
“ฉันไม่ได้ตั้งใจจะเปิดตัว คิดแต่ว่า ‘มันน่าจะชัดอยู่แล้วไม่ใช่หรือ?’ ฉันไม่เคยรู้เลยว่าคนดูกันไม่ออก ฉันแค่ไม่เชื่อเรื่องการ ‘Coming Out’ เลยน่ะ” บิลลีตอบคำถามด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและท่าทางเป็นกันเอง
แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าหลังจากนั้นไม่นาน เธอได้โพสต์รูปพร้อมแคปชันใจความประชดประชัน และตำหนิสำนักข่าววาไรตี้ที่ยิงคำถามสัมภาษณ์จี้เรื่องเพศของเธอ ด้วยโทนเสียงที่ไม่จริงจังนักลงในบัญชีอินสตาแกรมของตน (บิลลีใช้คำว่า ‘out’ ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า แฉ/เปิดโปง/สาวไส้/เปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอม)
“เป็นฉันก็โกรธนะ นักข่าวถามล้ำเส้นจริงๆ”
“ปังมาก แม่ก็คือแม่”
“จบนะ”
ข้างต้นคือเสียงตอบรับจากฝั่งหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน…
“คนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศในบทความก่อนคือตัวบิลลีเองต่างหาก นักข่าวคนนั้นแค่ถามเพื่อคอนเฟิร์มข้อมูล ไม่มีใครแฉเธอสักหน่อย”
“ก็เปิดตัวตอนให้สัมภาษณ์เอง แล้วพอเขาถามดันมาร้องแรกแหกกระเชอ”
“บิลลี เธอเข้าใจความหมายของคำว่าแฉจริงหรือเปล่า”
ชุมชน LGBTQIA+ กับการถูกคาดหวังให้ต้อง ‘เปิดตัว’
จากสถิติพบว่า ผู้ที่รู้สึกดึงดูดและรักชอบกับคนหลากหลายเพศ ซึ่งจัดว่าอยู่ใต้ร่มไบเซ็กชวล (Bisexual) เช่นบิลลีนั้น มักต้องเผชิญกับขั้นตอนและผลลัพธ์ของการเปิดตัวที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าผู้ที่เปิดตัวว่ารักชอบเพศเดียวกับตนเอง (เช่น เกย์หรือเลสเบี้ยน) ในรูปแบบของอคติทางเพศ ความไม่เข้าใจ หรือไม่เชื่อว่าอัตลักษณ์ทางเพศนี้มีอยู่จริง ผ่านวาทกรรมที่เหยียดหยามไบเซ็กชวล (Biphobic) เช่น
‘เสือไบ’
‘ไบเซ็กชวล หรือเรียกอีกอย่างก็คือพวกใจโลเล เจ้าชู้ ไม่รู้จักพอ’
‘หญิงไบคือหญิงสเตรทที่เรียกร้องความสนใจ ส่วนชายไบ แท้จริงก็แล้วก็คือเกย์ที่ไม่กล้ายอมรับว่าเป็นเกย์’
ซึ่งถูกสมาทานโดยทั้งคนนอกและคนในคอมมูฯ LGBTQIA+ ด้วยกันเอง
ในประวัติศาสตร์เควียร์ การ ‘เปิดตัว’ หรือ ‘Coming Out’ ถูกมองเป็นก้าวหนึ่งของชีวิตที่สำคัญและท้าทายที่สุดสำหรับคอมมูฯ เพศหลากหลายทั่วโลก อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ การออกมาเปิดเผยและ/หรือเลิกปิดบังเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองจากคนรอบตัว
อย่างไรก็ดี เริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่หันมาตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่องการเปิดตัวว่าอาจเป็นเพียงวิถีปฏิบัติที่ล้าสมัย เป็นสิ่งที่ ‘ไม่จำเป็น’ หรือแม้กระทั่ง ‘ไม่ควรทำ’ อีกต่อไปแล้ว เพราะนัยหนึ่ง การที่ LGBTQIA+ ถูกคาดหวังว่าจะเปิดตัวอย่างน้อยสักครั้งในช่วงหนึ่งใดช่วงใดของชีวิต ในขณะที่เหล่า ‘ชายจริงหญิงแท้’ ที่เกิดมา ‘ตรงเพศ’ ทั้งหลาย กลับสามารถใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือป่าวประกาศกับใครว่า “ฉันเป็น Cis Straight!” ก็ถือเป็นปรากฏการณ์จากการ Coming Out ที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม
นอกจากนี้ การสืบทอดภาพจำที่ว่า มีเพียงคนไม่กี่กลุ่มในสังคมเท่านั้นที่ต้องเข้าสู่กระบวนการเปิดตัว ยังเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) ที่ปล่อยให้คนที่มีอัตลักษณ์ตรงเพศ (Cisgender) และเพศวิถีแบบรักต่างเพศ (Heterosexual) เท่านั้น ที่สามารถผูกขาดนิยามของการเป็น ‘คนปกติ’ ที่ไม่จำเป็นต้อง ‘เปิดตัว’ เอาไว้อีกด้วย
จริงอยู่ที่บิลลีเปิดเผยต่อสื่อว่าเธอชอบผู้หญิงเป็นครั้งแรก แต่เธอไม่ได้พูดถึงมันด้วยเจตนาที่จะ ‘ประกาศ’ หรือ ‘เปิดตัว’ นอกจากนี้ เธอยังไม่ได้กล่าวแปะป้ายตัวเองด้วยชื่ออัตลักษณ์ทางเพศใดๆ เลยแม้แต่น้อย แค่หยิบยกความรู้สึกส่วนตัวขึ้นมาพูดถึงในบทสัมภาษณ์ ในลักษณะเดียวกับการพูดถึงผลงานเพลงหรือประสบการณ์อื่นๆ ในชีวิตเท่านั้น
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากคนที่ไม่เชื่อในการ Coming Out อย่างบิลลีจะรู้สึกไม่ชอบใจที่มีคนมาคอยตั้งคำถาม หรือมีสื่อมาจี้ให้เธอ ‘ยืนยัน’ เพศวิถีของตัวเองต่อสาธารณชน
“เรามีตัวตนอยู่เฉยๆ แค่นั้นไม่ได้หรือ ฉันก็เป็นของฉันแบบนี้มาตั้งนาน โดยที่ไม่ได้พูดถึงมันเท่านั้นเอง” บิลลีกล่าว
อ้างอิง
https://www.them.us/story/billie-eilish-coming-out-interview-variety-red-carpet
Tags: เปิดตัว, Gender, เควียร์, ไบเซ็กชวล, LGBTQIA+, เพศหลากหลาย, Coming Out, บิลลี ไอลิช