‘รูปทรงเรขาคณิตหลากสี คล้ายเกม Block Puzzle พร้อมกับใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม’ 

ข้อความข้างต้นคงเป็นคำนิยามที่ดีเยี่ยมสำหรับ ‘มาสคอต’ ของเทศกาลกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในช่วงปลายปี 2568 ได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นั่งหัวโต๊ะการประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 โดยมีวาระสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนโลโก้ รวมทั้งสัญลักษณ์นำโชค หรือที่เรียกว่า ‘มาสคอต’ (Mascot) จากเดิมที่เป็น ‘ช้างถือคบเพลิง’ มาเป็น ‘รูปทรงเรขาคณิตหลากสี’ ใช้ชื่อว่า ‘เดอะสาน’ (The Sans) เพื่อสะท้อนถึง ‘ความหลากหลาย’ แต่ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสังคมไทย

สรวงศ์ระบุต่อว่า เดอะสานจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเฉลิมฉลอง ความคิดสร้างสรรค์ การเชื่อมโยงวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมความหลากหลายในกีฬาและสังคม

นับว่าเป็นเรื่องปกติที่เห็นกันจนชินตาว่า เมื่อมีเทศกาลกีฬาไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับภูมิภาค ตลอดจนระดับโลก เช่น การแข่งขันโอลิมปิก (Olympics) สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ นั่นก็คือ ‘มาสคอต’ ที่แต่ละประเทศจะออกแบบออกมาให้มีความน่ารัก เรียกความเอ็นดูจากผู้รักกีฬาทั่วโลก

คงต้องบอกกันก่อนว่า เดิมทีแล้วมาสคอตไม่ได้ถูกใช้ครั้งแรกที่การแข่งขันกีฬา แต่ถูกใช้ใน ‘ภาคธุรกิจ’ มาสคอตตัวแรกที่ปรากฏคือ ‘บีเบนดัม’ (Bibendum) โดยแบรนด์ยางรถยนต์ระดับโลกอย่างมิชลิน (Michelin) ในปี 1898 

เจ้ามาสคอตตัวอ้วนสีขาวถูกใช้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสินค้าและภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร เนื่องจาก ‘ความพิเศษ’ ของมาสคอตคือ การช่วยเชื่อมประสานความรู้สึกระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคให้ใกล้ชิดได้ง่ายมากขึ้น

ขณะที่ฟากของการกีฬา เราเริ่มเห็นการใช้มาสคอตเป็นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1968 ที่เมืองเกรอนอบล์ (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส ในชื่อของ ‘ชุสส์’ (Schuss) ที่ได้รับการออกแบบเป็นนักสกีที่มีหัวเป็นลูกบอลสีแดงขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามมาสคอตตัวนี้ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC)

จนถึงตอนนี้หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ทำไมเทศกาลกีฬาจึงต้องมีมาสคอต ในคอลัมน์ Game On วันนี้ เราจะพาผู้อ่านไปค้นหาคำตอบว่า เหตุใดการแข่งขันกีฬาจึงมักมีมาสคอตสุดน่ารักมาสร้างสีสันอยู่เสมอ

เหตุผลแรกที่กล่าวได้อย่างเต็มปาก คงหนีไม่พ้นเหตุผลที่ว่าด้วย ‘การเป็นตัวแทน’ บอกเล่าเรื่องราวของประเทศเจ้าภาพ อย่างในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว เมื่อปี 2018 ที่เมืองพยองชาง (PyeongChang) ประเทศเกาหลีใต้ เลือกใช้ ‘ซูโฮรัง’ (Soohorang) เสือขาวตัวอ้วนสะท้อนความเชื่อของชาวเกาหลียุคโชซอนว่า เป็นสัญลักษณ์ของผู้คุ้มครองจากภัยอันตราย ยังทั้งยังมีความหมายถึง ‘ความซื่อสัตย์’ และ ‘ความแข็งแกร่ง’

ในอีกแง่หนึ่งเจ้าซูโฮรังยังสามารถสะท้อนถึงความภูมิใจของชาติ โดย โจเซฟ ซีลีย์ (Joseph Seeley) นักประวัติศาสตร์เกาหลีศึกษา กล่าวว่า ชาวเกาหลีใต้เปรียบแผนที่ภูมิศาสตร์ของคาบสมุทรเกาหลีเป็น ‘เสือ’ ที่มีความเกรี้ยวกราดและเข้มแข็งกว่าสัตว์ชนิดอื่นบนโลก

หรืออีกกรณีหนึ่งกับ ‘ปารีสเกมส์ 2024’ การแข่งขันกีฬาระดับโลกที่หวนคืนสู่ดินแดนแห่งชีสและไวน์ในรอบ 100 ปี ได้เลือกใช้ ‘ฟรีเจส’ (Phryges) หมวกทรงสามเหลี่ยม สวมใส่รองเท้าผ้าใบด้วยหน้าตายิ้มแย้มสดใส พร้อมคว้าใจใครหลายๆ คนทันทีที่พบเห็น

นอกเหนือจากความน่ารักที่เจ้าฟรีเจสครอบครองไว้แล้วนั้น ในตัวของมันเองกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวสะท้อนถึงค่านิยมทางการเมือง การต่อสู้ และการได้มาซึ่งเสรีภาพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของชาวฝรั่งเศสและระบอบประชาธิปไตย

‘ฟรีเจส’ ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจาก ‘หมวกฟรีเจียน’ ซึ่งเป็นหมวกที่ชาวนาและทาสจะสวมใส่หลังถูกปลดปล่อยจากเจ้านาย ในยุคจักรวรรดิโรมัน อีกทั้งยังเป็นหมวกที่ปรากฏบนภาพ ‘Liberty Leading the People’ ภาพเขียนแห่งประวัติศาสตร์ ‘วันปฏิวัติฝรั่งเศส’

“เราเลือกหมวกฟรีเจียน เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่ง สำหรับประเทศฝรั่งเศส และสำหรับชาวฝรั่งเศส มันเป็นสิ่งที่รู้จักกันดีมากซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ” โทนี เอสตองเกต์ (Tony Estanguet) ประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิก ปารีส 2024 กล่าว

อีกหนึ่งเหตุผลของการใช้มาสคอตในเทศกาลกีฬาคือ การให้ ‘คุณค่า’ กับบางสิ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 โอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียว (Tokyo) ประเทศญี่ปุ่น ได้เลือกมาสคอต ‘มิไรโทวะ’ (Miraitowa) มาสคอต 2 ตัว อย่างมิไร (Mirai) และโทวะ (Towa) สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีเยี่ยม กล่าวคือ การผสานความวัฒนธรรมดั้งเดิมและเทคโนโลยีก้าวหน้า ทำให้เห็นความคุณค่าทั้งสองสามารถไปควบคู่กันได้

โดยความพิเศษของเจ้ามาสคอตทั้งสองคือ การถูกโหวตเลือกจาก ‘เด็กประถมศึกษา’ กว่า 1.67 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในเทศกาลที่เป็นดั่งหน้าตาของประเทศในปีนั้น

ปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวที่มีสัดส่วนของอัตราการเกิดที่ต่ำมาก ดังนั้นการมอบโอกาสให้กับเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในเทศกาลระดับโลก จึงเป็นการกล่าวโดยนัยว่า เสียงของเด็กๆ ทุกคนในดินแดนอาทิตย์อุทัยทุกคนจะถูกรับฟัง

นอกจากนั้นแล้ว ‘มาสคอต’ ในเทศกาลกีฬาก็ยังคงทำหน้าที่เฉกเช่นในอดีตนั้นคือ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั่วโลกกับกีฬาให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศให้สนุกสนานในการเชียร์การแข่งขัน

จะเห็นได้ว่า บทบาทของมาสคอตจึงมีความสำคัญมากกับเทศกาลกีฬาต่างๆ ทั่วโลก เพราะไม่เพียงแต่เป็นกระบอกเสียงเชิญชวน หรือทำหน้าที่ทางการตลาดเท่านั้น แต่สัญลักษณ์ตัวแทนที่น่ารักเหล่านี้ ยังเป็นถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งต่อวัฒนธรรม อุดมการณ์ หรือชุดความคิดที่ประเทศเจ้าภาพต้องการบอกเล่า ให้เหล่าผู้เดินทางมาชมกีฬากว่าล้านชีวิตให้เข้าใจอีกด้วย

Tags: , , , ,