ล่วงเข้าสู่ปี 2022 เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วหนึ่งเข็มเป็นอย่างน้อย เพื่อความอุ่นใจยามออกไปทำกิจกรรมพบปะผู้คนนอกบ้าน
อย่างไรก็ดี ในแวดวงกีฬา เรื่องของวัคซีนกำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่โต เมื่อนักกีฬาระดับโลกหลายรายต่างอยู่ในช่วงเผชิญทางแยกระหว่าง ‘ฉีด’ หรือ ‘ไม่ฉีด’ เนื่องเพราะมาตรการเข้าประเทศของหลายชาติที่บังคับให้ผู้เข้าประเทศต้องฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น รวมถึงตามมาตรการของทัวร์นาเมนต์กีฬาระดับโลกที่กำลังใกล้ถึงช่วงแข่งขันเต็มที
1.
ประเด็นวัคซีนโควิด-19 กับนักกีฬาระดับโลก เริ่มกลายเป็นที่สนใจจากกรณีที่ โนวัค ยอโควิช (Novak Djokovic) นักเทนนิสชายมือวางอันดับหนึ่งของโลก พลาดโอกาสเดินทางไปป้องกันแชมป์รายการออสเตรเลียนโอเพน (Australian Open) สมัยที่ 9 ซึ่งเริ่มทำการแข่งขันไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม เนื่องจากถูกทางการประเทศออสเตรเลียยกเลิกวีซ่า และเชิญให้ออกจากประเทศ
สาเหตุดังกล่าวไม่ได้มาจากเรื่องอื้อฉาว แต่เป็นเพราะนักเทนนิสมือหนึ่งยังไร้บัตรเมดิแคร์ (Medicare) ที่ชาวต่างชาติจะได้รับ หากฉีดวัคซีนครบอย่างน้อย 2 โดส มาเป็นหลักฐานใช้ขออนุญาตเข้าประเทศตามข้อบังคับ หรือพูดง่ายๆ คือเจ้าตัวยังไร้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ นั่นเอง
แน่นอนว่าข้อกฎหมายบังคับย่อมอยู่เหนือกว่าตัวปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะมีดีกรีกวาดแชมป์อะไรมาก็ตาม ย่อมไม่มีอภิสิทธิ์เหนือนักกีฬาคนอื่น ฝั่งผู้จัดอย่างการแข่งขันอย่างสมาคมเทนนิสออสเตรเลีย (Tennis Australia) ก็ยอมกลืนน้ำลายวิ่งเต้นออกมาปกป้อง พร้อมระบุว่าทางผู้จัดมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลการแข่งขัน ฉะนั้นจะฉีดหรือไม่ฉีดก็ต้องได้สิทธิ์แข่งขัน สวนทางกับช่วงปลายปี 2020 ที่ผู้จัดประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้เข้าร่วมต้องฉีดวัคซีน ถึงจะต้องเหลือนักกีฬาเข้าร่วมเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ทว่าจนแล้วจนรอดนักเทนนิสอันดับหนึ่งของโลกต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หมดโอกาสป้องกันแชมป์และลุ้นเงินรางวัลกว่า 4.4 ล้านดอลลาร์ฯ
แต่ประเด็นยังไม่จบง่ายๆ เพราะยอโควิชไม่ต่างจากวีรบุรุษของชาวเซอร์เบีย ผู้คนในกรุงเบลเกรดต่างออกมาประท้วงปกป้องเจ้าตัวถึงขั้นแขวนป้ายเรียกการกระทำของทางการประเทศออสเตรเลียว่าเป็นพวก ‘Corona Fascism’ ไม่ต่างจากพวกคลั่ง ‘เผด็จการลัทธิฟาสซิสต์’ ทำเอานายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน และประชาชนออสเตรเลียบางส่วนไม่พอใจ บ้างถึงขั้นไม่เผาผีต้อนรับ
2.
ไม่ใช่แค่กรณีของโนวัค ยอโควิช ที่ทำให้โลกกีฬาต้องตั้งคำถามเรื่องการฉีดวัคซีน เพราะกีฬาชนิดอื่นในสหรัฐฯ อย่างอเมริกันฟุตบอล NFL หรือบาสเกตบอล NBA ก็เกิดคำถามเช่นกัน แม้จะเป็นชาติที่แค่เดินวอล์กอินเข้าร้านขายยาก็เลือกได้ทันทีว่าจะฉีดวัคซีนชนิดไหน แล้วทำไมบรรดานักกีฬาบางส่วนกลับเลือกไม่ฉีด โดยเฉพาะเมื่อสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เชื้อได้รวดเร็วกำลังระบาดจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ
National Football League (NFL) ผู้จัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลสหรัฐฯ เคยออกมาพูดถึงประเด็นนี้ว่ามีนักกีฬาที่ลงทะเบียนแข่งขันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ทว่าผู้เล่นควอเตอร์แบ็กชื่อดังประจำทีมกรีนเบย์ แพ็กเกอร์ส อย่าง แอรอน ร็อดเจอร์ส กลับเป็นหนึ่งใน 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยังเลือกไม่ฉีด และขอเลือกติดเชื้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ โดยอ้างศาสตร์โฮมิโอพาธีย์ (Homeopathy) จนกลายเป็นข่าวซุบซิบว่าเจ้าตัวไปชักชวนผู้เล่นคนอื่นๆ ให้ปฏิเสธการฉีดวัคซีนเช่นกัน
ส่วนฝั่งกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างฟุตบอล ที่ประเทศอังกฤษ ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ก็ออกมาเปิดเผยว่ามีนักกีฬาฟุตบอลระดับอาชีพในทะเบียนรายชื่อตั้งแต่ระดับพรีเมียร์ลีกถึงลีกทู ราว 1 ใน 4 จงใจหลีกเลี่ยงการเข้ารับฉีดวัคซีน และนักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกอีกกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ ยังรับวัคซีนไม่ถึง 2 เข็ม ซึ่งถ้าเพียงแข่งขันกันเองในประเทศอาจไม่เป็นปัญหานัก ยกเว้นทีมที่ถือสิทธิ์ไปเล่นระดับบอลยุโรปหรือทัวร์นาเมนต์รับรองระดับโลก ยกตัวอย่างกรณีที่สโมสรใหญ่อย่างเชลซีกำลังประสบชะตากรรมสุ่มเสี่ยง อาจไม่สามารถส่งผู้เล่นที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนลงเล่นรายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพ และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก เดือนกุมภาพันธ์ได้ ตามกฏข้อบังคับเข้าประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับฝรั่งเศส ที่เป็นเจ้าภาพแต่ละรายการตามลำดับ
3.
“สำหรับนักกีฬา ร่างกายคือสิ่งที่พวกเขาหวงแหนที่สุดในชีวิต ฉะนั้นพวกเขาจะไม่ยอมรับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย หากไม่ได้รับเหตุผลที่ดีมากพอ”
ประโยคข้างต้นเป็นการอธิบายของ ดร.ดาเรน บริตตัน อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา สาขาการกีฬา มหาวิทยาลัยโซเลนต์ (Solent University) ประเทศอังกฤษ ถึงเหตุผลสำคัญที่นักกีฬาบางส่วนยังเลือกหันหลังให้กับการฉีดวัคซีนต้านโควิด เพราะกังวลถึงผลลัพธ์ต่อประสิทธิภาพร่างกายโดยเฉพาะหัวใจ ที่อาจทำให้ต้องจบอาชีพก่อนกำหนด
ถึงกระนั้น ดร.ดาเรนกลับมองว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักกีฬาไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมากพอ แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือองค์กรอาหารและยาหลายประเทศจะรองรับความปลอดภัย รวมถึงแนวทางการดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีนก็ตาม
ทางด้าน ดร.กาวิน วีดอน อาจารย์อาวุโสด้านกีฬา สุขภาพ และร่างกาย ประจำมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเทรนต์ (Nottingham Trent University) ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยมองว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าแปลกใจนัก เพราะนักกีฬาก็ไม่ต่างจากปุถุชนทั่วไป ที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อวัคซีน หนักสุดถึงขั้นออกมาเดินถนนประท้วง แต่ประเด็นสำคัญคือ หากนักกีฬาเหล่านั้นเป็น ‘ตัวแทน’ หรือ ‘ต้นแบบ’ แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน พวกเขาควรพิจารณาให้ดีก่อนออกมาพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อวัคซีน ซึ่งอาจกลายเป็นการชักชวนให้ประชาชนเลือกไม่ฉีดวัคซีนกลายๆ และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไม่มีสิ้นสุด
“เราอาจจะคิดว่านักกีฬาคือผู้ที่อยู่เหนือกว่ามนุษย์คนอื่น แต่ความจริงแล้วพวกเขาก็มีอารมณ์อ่อนไหว เชื่อทฤษฎีสมคบคิดและเชื่ออะไรต่างๆ ได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ฉะนั้นยิ่งพวกเขามีอิทธิพลต่อสังคม ผู้เชี่ยวชาญควรออกมาให้ความรู้เรื่องวัคซีนแก่พวกเขาอย่างถูกต้อง เพื่อให้นักกีฬาเป็นแบบอย่างตามที่ควรจะเป็น” ดร.กาวินกล่าว
4.
แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะยังไม่มีบทสรุปลงโทษนักกีฬาที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่ก็เริ่มได้เห็นข้อบังคับห้ามเข้าร่วมแข่งขันในหลายชนิดกีฬามากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่โควิดยังไม่กลายเป็นโรคประจำถิ่น วงการกีฬาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบว่าการฉีดหรือไม่ฉีด อะไรปลอดภัยกว่ากัน
อย่างไรก็ดี การหาคำตอบอาจไม่สำคัญไปกว่าแนวทางการหาข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกัน โดยไม่ละเมิดสิทธิตัวนักกีฬา ไม่เสียหายต่อสโมสรต้นสังกัด และไม่เดือดร้อนต่อผู้อื่นในสังคม หรือร้ายแรงถึงขั้นแตกหักทางความคิด ตราบที่มนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคม
น่าจับตาดูกันว่า 11 เดือนที่เหลืออยู่ของปี 2022 เรื่องวัคซีนกับนักกีฬาจะเดินไปในทิศทางใด
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/health-59958952
https://www.marca.com/en/more-sports/2021/10/28/617aae5fe2704e6f9a8b459b.html
https://www.nbcsports.com/washington/wizards/list-vaccinated-unvaccinated-nba-players-ahead-season
Tags: นักกีฬา, วัคซีน, Game On, Vaccine Passport, วัคซีนพาสปอร์ต