‘โอลิมปิก’ นับเป็นทัวนาเมนต์การแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลก และมีอายุเก่าแก่ถึง 776 ปี โดยจัดขึ้นเว้นระยะห่างทุกๆ 4 ปี ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล มีจุดกำเนิด ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ ต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน ทว่าหากลองดูตามตารางปฎิทิน ปี 2020 กลับว่างเปล่าไร้วี่แววของการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินี้
สาเหตุหลักที่ทำให้มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถจัดขึ้นได้ เป็นเพราะการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ จนทำให้ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จำเป็นต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นช่วงเดือนกรกฏาคม ปี 2021 เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาจากหลากหลายประเทศที่เข้าร่วม
แต่จวบจนปัจจุบันในปี 2021 สถานการณ์โควิด-19 กลับยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร ท่ามกลางเข็มนาฬิกาที่ขยับเข้ามาทุกขณะ และญี่ปุ่นยังคงมีอัตราเฉลี่ยผู้ติดเชื้อวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
ญี่ปุ่นยังคงยืนยันที่จะจัดการแข่งขันตามเดิม
ท่ามกลางความหวั่นวิตกของแต่ละชาติกับความเสี่ยงในการนำนักกีฬาเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกม 2020 เจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นกลับยืนยันถึงความสามารถในการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาครั้งที่ 32 ตามเดิม โดย โยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Duga) นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นอ้างว่า การจัดการแข่งขันโอลิมปิกถือเป็นสัญลักษณ์ของมนุษยชาติ ต่อการเอาชนะโรคโควิด-19 ทั้งยังเป็นการโชว์ศักยภาพของประเทศกับการฟื้นตัวจากภัยธรรมชาตสึนามิตั้งแต่ปี 2011 แต่เหตุผลที่ตามมาคือ เหตุผลของญี่ปุ่นถือเป็นการดื้อแพ่งของเจ้าภาพเกินไปหรือไม่?
จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยซันโน (Sanno) ในประเทศญี่ปุ่น พบว่าประชาชนจำนวนร้อยละ 66.2 สนับสนุนให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิก และโอลิมปิกฤดูหนาว โดยให้จัดขึ้นแบบปราศจากผู้ชม ส่วนอีกร้อยละ 26.6 ยังยืนยันที่จะเข้าร่วมรับชมการแบบใกล้ชิดติดขอบสนาม ซึ่งหลังผ่านการเลื่อนจัดแข่งขันเนื่องจากโควิดปี 2020 ในเวลานี้ ประชาชนชาวญี่ปุ่นเริ่มสนใจการกลับมาจัดการแข่งขันกีฬามากขึ้น อย่างกีฬาฟุตบอลเจลีก ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงก็เริ่มอนุญาตให้ผู้ชมเข้าสนามได้แล้วเฉลี่ยมเกมละ 5,000 คน ท่ามกลางมาตรการดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวด
แต่ก็มีคำถามว่า สมควรจริงหรือกับการปล่อยคนดูเข้าสู่สนาม เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ย่อมต้องมีผู้ชมชาติอื่นเข้ามาปะปนด้วย และอาจจำกัดระยะห่างรักษาความปลอดภัยได้ยากกว่าการจัดการเฉพาะคนในชาติ ที่มีพื้นฐานระเบียบเป็นของตัวเองอยู่แล้ว
กระทั่งท้ายที่สุดช่วงเดือนมีนาคม รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องจำยอมด้วยการสั่งห้ามผู้ชมชาวต่างชาติเช้าสู่สนาม แต่ยังคงอนุญาตให้คนในชาติเข้าชมได้อยู่ ในสัดส่วนที่จะถูกจัดให้เหมาะสมต่อปริมาณความจุของสนาม
เสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักกีฬาหรือเปล่า?
ตัวเลขราวๆ 12,000 ชีวิต คือจำนวนนักกีฬาจาก 206 ประเทศ ที่คาดการณ์ว่าจะสามารถเดินทางมาแข่งขันยังกรุงโตเกียวได้ ในแง่ของผู้ชม เจ้าภาพญี่ปุ่นถือว่าตัดสินใจได้เด็ดขาดหากยังต้องการจัด กับการลดสัดส่วนคนดูออกไปจนเหลือแค่คนในชาติ ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ง่าย แม้ต้องสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวและแฟนกีฬาต่างชาติมหาศาลเกือบๆ 1.5 แสนล้านเยน (ราว 4 ล้านล้านบาทไทย) แต่ถือเป็นทางออกที่ดีสุดต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในขั้นตอนเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเหมือนเช่นประเทศอื่นๆ
แต่สำหรับนักกีฬา การที่ต้องเดินทางมาเก็บตัวยัง ‘หมู่บ้านนักกีฬา’ ถือเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนอาจกลายเป็นคลัสเตอร์กลุ่มก้อนใหญ่ได้ ยิ่งไปกว่านั้ โควิดที่แฝงมากับร่างกายนักกีฬา อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดข้ามถิ่น ร้ายที่สุดที่อาจเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สร้างความโกลาหลไม่จบสิ้น
ในเมื่ออีกไม่กี่เดือนจะถึงเวลาของการแข่งขัน แต่หลายประเทศยังอยู่ในขั้นตอนฉีดวัคซีน คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จึงเสนอสมุด ‘เพลย์บุ๊ก’ (Playbook) คู่มือที่ครอบคุมแนวปฎิบัตของนักกีฬายาวไปจนถึงสตาฟ สปอนเซอร์ และสื่อมวลชนที่เดินทางมาเข้ามาพักค้างรอทำการแข่งขัน ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือแนวทางการปฎิบัติตามแบบยุคมินิมอลอย่างการ ‘เว้นการรักษาระยะห่าง’ เป็นหลัก ไปจนถึงการปฏิบัติตามกฎขององค์การอนามัยโลก และเจ้าหน้าที่ดูแลสุขลักษณะที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมาดูแลสุขภาพนักกีฬาในหมู่บ้าน
อีกทั้งนักกีฬาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยข้องกับการเข้ามาเก็บตัวยังหมู่บ้านจำเป็นต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง และทดสอบอีกครั้งเมื่อถึงญี่ปุ่น จนถึงช่วงเข้าเก็บตัวในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งจะมีการตรวจวัดผลทุกวัน
ความลำบากในการฝึกซ้อมของตัวนักกีฬา
แม้สถานการณ์โควิดจะยังหนักหน่วง แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ยังคงวางแผนจัดการแข่งขันทุกประเภทตามเดิม รวมถึงการผุดไอเดียแข่งขันกีฬาอี-สปอร์ต ‘Olympic Virtual Series’ แต่สำหรับนักกีฬาบางรายอาจไม่รู้สึกยินดียินร้ายไปด้วย เมื่อพวกเขาต้องฝึกซ้อมแบบกักตัวเพื่อไม่ให้ตนเองติดเชื้อ และครบตามตารางเทรนนิง
ตัวอย่างของปัญหานี้ อาทิ โคดี้ มิลเลอร์ (Cody Miller) นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐฯ อดีตเจ้าของเหรียญทองสองสมัย ที่ทำได้เพียงฝึกซ้อมอยู่ที่บ้าน และต้องแปรสภาพสระว่ายน้ำของเขาให้มีอุปกรณ์อันเหมาะสมกับสถานการณ์แข่งจริง เขาลงทุนติดตั้งเครื่องสร้างกระแสน้ำที่สามารถกะแรงทวนออกมาในความแรงแตกต่างกันไป แต่กว่าจะมีสถานที่ฝึกซ้อมส่วนตัว บางวันเขาจำเป็นต้องขับรถวนออกไปหาสถานที่ฝึกซ้อมอย่างน้อย 3-4 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ปิดตัวลงหมดจากสถานการณ์โควิดระบาด เทียบกับการได้ฝึกซ้อมพร้อมเพื่อนร่วมทีมและโค้ชฝึกสอนย่อมดีกว่า
โอลิมปิกครั้งนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม
ล่าสุด ช่วงต้นปี 2021 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลกับทางรัฐบาลญี่ปุ่น ต่างมั่นใจว่าวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ไฟจากคบเพลิงจะถูกจุดขึ้นในโตเกียว แม้ต้องจัดท่ามกลางเสียงเชียร์คนดู ความสนุกแบบกระท่อนกระแท่น เพราะผู้ชมส่วนใหญ่ทำได้แค่เฝ้ามองการแข่งขันผ่านหน้าจอ รวมถึงปัญหาโควิด-19 และปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ หากการจัดการแข่งขันเป็นไปได้ด้วยดี ย่อมส่งผลถึงความเชื่อมั่นต่อทั่วโลกกับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังโควิดซาลงไป รวมถึงบ่งบอกให้รู้ว่า ญี่ปุ่นสามารถก้าวผ่านวิกฤติได้เสมอ แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ผลลัพธ์ที่ตามมาก็มีราคาแพงให้ต้องจ่ายเช่นกัน
อ้างอิง
http://www.asahi.com/ajw/articles/14317795
https://www.bbc.com/sport/olympics/56461152
https://kslsports.com/451944/olympic-rule-book-unveil/
https://swimswam.com/cody-miller-iu-pros-were-training-in-evansville-prior-to-olympic-delay/
Fact Box
- การเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2020 นับเป็นครั้งแรกที่ถูกเลื่อนด้วยสาเหตุจากโรคระบาด และเป็นครั้งที่4 ที่เกิดเหตุการณ์เลื่อนการแข่งขัน โดยสามครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นเมื่อปี 1916 กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน จากสาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี 1940 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน ด้วยสาเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ปี 1944 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งยังไม่สามารถทำการแข่งขันได้ เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2