“คุณมีเพศสัมพันธ์ได้ คุณแต่งงานได้ แต่อย่าเพิ่งตั้งครรภ์ตอนนี้ เหล่าคุณพ่อทั้งหลายช่วยควบคุมตัวเองด้วย คุณจะมีเพศสัมพันธ์ก็ได้ตราบใดที่ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด” 

นี่คือบางส่วนของเสียงประกาศจากรถประชาสัมพันธ์ที่ปรากฎตัวในเมืองใหญ่และตามชุมชนต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากความกังวลของรัฐบาลอินโดนีเซียว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับให้ประชาชนทุกคนอยู่ในเคหสถานอาจสร้างผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือภาวะเบบี้บูมหรือทารกเกิดใหม่จำนวนมากหลังพ้นช่วงการระบาดของโควิด-19

โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กตัวเตี้ย (Child Stunting) ซึ่งหมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยเนื่องจากขาดสารอาหารรวมถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน 4 ปีข้างหน้า ผ่านนโยบายสนับสนุนการวางแผนครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ จึงแจกอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดให้แก่ครอบครัวที่ยากจน นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดหาตัวแทนภาครัฐหรือที่ปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัวไปเยี่ยมบ้านพร้อมกับให้คำแนะนำให้การคุมกำเนิดแก่คู่แต่งงานใหม่ทุกระดับรายได้

หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ (National Population and Family Planning Agency) ระบุว่าผู้หญิงชาวอินโดนีเซียที่เข้ารับการคุมกำเนิดกว่าครึ่งหนึ่งเลือกใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนซึ่งต้องมาฉีดที่คลินิกเป็นประจำทุกเดือนหรือสามเดือน อีก 20 เปอร์เซ็นต์ใช้ยาคุมกำเนิดซึ่งต้องมารับยาทุกเดือนตามแผนประกันสุขภาพของรัฐ ขณะที่ถุงยางอนามัยถึงแม้จะสามารถซื้อหาได้ไม่ยาก แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนักโดยเฉพาะในกลุ่มคู่รักที่แต่งงานแล้ว

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากหยุดเดินทางไปคลินิก สาเหตุหนึ่งเนื่องจากคลินิกปิดทำการ ขณะที่ประชากรจำนวนไม่น้อยก็ไม่ต้องการเสี่ยงที่จะติดเชื้อ การรับอุปกรณ์คุมกำเนิดจึงหยุดชะงักลง หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติประมาณการว่ามีคู่แต่งงานราว 10 ล้านคู่ที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดในช่วงที่รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์

ในเดือนเมษายน รัฐบาลอินโดนีเซียปรับวิธีการกระจายอุปกรณ์คุมกำเนิดโดยแจกจ่ายร่วมไปกับชุดอาหารฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับบริการฉีดยาคุมกำเนิดแบบถึงประตูบ้านและรณรงค์ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และรถประชาสัมพันธ์

แฮสโต วาร์โดโย (Hasto Wardoyo) สูตินรีแพทย์และผู้อำนวยการหน่วยงานด้านวางแผนครอบครัวคาดว่าในต้นปีหน้าจะมีทารกเกิดใหม่เพิ่มเติมจากปกติราว 370,000 คนถึง 500,000 คน ซึ่งจำนวนไม่น้อยจะเกิดในครอบครัวที่ยากจน เป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้กับครอบครัวเผชิญภาวะขัดสนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2020/06/10/world/asia/indonesia-coronvirus-baby-boom.html

https://www.abc.net.au/news/2020-05-28/indonesia-predicts-coronavirus-baby-boom-hundreds-of-thousands/12286576

https://www.thejakartapost.com/news/2020/05/13/with-limited-access-to-birth-control-indonesia-set-to-see-a-covid-19-baby-boom.html

ภาพ:  Antara Foto / REUTERS 

Tags: ,